Skip to main content
sharethis

“สื่อ” เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและมีอิทธิพลต่อคนในสังคม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือพื้นที่ “สื่อ” เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนนั้นมีน้อยเกินไป   หันไปทางไหนก็มีแต่การโฆษณาทั้งทางตรงและแอบแฝง และที่สำคัญสื่อต่างๆนั้นถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือที่ให้ความบันเทิงมากกว่าจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์  ปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากผู้ผลิตสื่อบางส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของเครือข่ายกว่า 37 องค์กร ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเด็ก  สภาเด็กและเยาวชน และภาคส่วนอื่น ๆ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของ “สื่อ” และอยากเห็นอนาคตของชาติมีสื่อสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือหนุนเสริมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ  จึงร่วมกันผลักดันให้เกิด  “พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ....” ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของคณะกฤษฎีกาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หาก “พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ผ่านการพิจารณาและออกประกาศใช้ได้ในที่สุด  จะทำให้ผู้ผลิตสื่อที่ต้องการสร้างสื่อดี ๆ ได้มีโอกาสทำได้จริงมากขึ้น  ทำให้ภาคประชาชนผู้บริโภคสื่อมีทางเลือกในการรับสื่อมากขึ้น รวมทั้งได้มีส่วนรวม แสดงความคิดเห็น แสดงพลังในการที่จะเปลี่ยนแปลงวงการสื่อซึ่งแต่เดิมถูกกำหนดแนวทางจากคนไม่กี่กลุ่ม  และที่สำคัญคือเด็กและเยาวชนกว่า 26 ล้านคนทั่วประเทศที่จะได้มีสื่อที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้พวกเขาได้เติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติ

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตของสังคมไทย เรามักจะพูดกันเสมอว่าสื่อเป็นผู้ที่มีส่วนอย่างมีนัยสำคัญ ทุกครั้งที่มีปัญหาในสังคมบ่อยครั้งมักได้ยินการโทษสื่อและพยายามจะหาวิธีจัดการกับสื่อ แต่ยิ่งพยายามหาวิธีแก้ปัญหาก็ดูเหมือนปัญหากลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาแสดงเรายังแก้ปัญหาด้านสื่อในเชิงสร้างสรรค์กันไม่สำเร็จ ในอนาคตอันใกล้หากเราจะมีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นมาและอยากกองทุนนี้ควรจะมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระที่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสูง องค์กรอิสระนั้นหมายความว่าเป็นองค์กรที่ปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์

“ทำอย่างไรเราจะให้คนทำสื่อมืออาชีพได้ทำสื่อน้ำดีให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสื่อแยกออกว่าทำงานแบบมืออาชีพหรือทำงานแบบมักง่าย มันเป็นเช่นนั้น ถ้าคนไทยได้บริโภคสื่อดีๆ วันหนึ่งเด็กจะเลือกเป็นว่าสื่อที่ดีและมีมาตรฐานที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมนั้นเป็นอย่างไร หรือสื่อที่ไม่รับผิดชอบ สื่อที่ทำกันอย่างมักง่ายก็จะลดน้อยลงโดยอัตโนมัติ ควรจะช่วยกันส่งเสริมให้มีกองทุนสื่อในเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้เกิดขึ้นให้ได้ และเราทั้งหลายผู้ใช้สื่อในชีวิตประจำวันนี่แหละจะช่วยกันลุกขึ้นมาก่อตั้งกองทุนสื่อดีๆ เพื่อขจัดสภาพแวดล้อมให้บ้านเมืองของเรามีสื่อน้ำดีเป็นปากเป็นเสียง และขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนเข็มทิศทางสติปัญญา เป็นขุมคลังทางปัญญาของคนทั้งประเทศ และอย่างน้อยที่สุดท่ามกลางความมืดมิดเราก็มีสื่อดีๆไว้เป็นที่ฝากความหวังด้วยอีกทางหนึ่ง”

ด้านนายเชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กที่ผ่านมาผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อให้มีช่วงเวลาของสื่อที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นหลังเด็กเลิกเรียน 

“เราได้ร่วมกันผลักดันยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลและสังคมไทย โดยเฉพาะสื่อมีความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเด็ก ซึ่งจะเห็นว่าสื่อปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อทีวีเข้ามามีอิทธิพลกับเด็กค่อนข้างมาก หลายบ้านมีสื่อทีวีทั้งในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือมีอินเทอร์เน็ต ฯลฯ หากเกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์จะสามารถมาช่วยสนับสนุนสื่อดีๆ สำหรับเด็กทั้งในเรื่องของงานวิจัย การผลิตสื่อสร้างสรรค์ การพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้มีการเฝ้าระวังสำหรับเด็ก เป็นต้น”

หลังจากเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กร่วมกับเครือข่าย 30-40 กว่าองค์กรและใช้เวลากว่า 7 ปีแล้วแต่ยังไม่เกิดกองทุนนี้ จึงอยากให้ช่วยกันจับตาดูว่า พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่และ เกิดคุณค่าแก่เด็ก เยาวชนอย่างไร อยากให้ทุกคนภาคพลเมืองช่วยจับตามอง ช่วยกันผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อดี สำหรับเด็กซึ่งหมายถึงลูกหลานของตัวเองในอนาคตด้วย

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า ขณะนี้สื่อของประเทศไทย มักจะอยู่ภายใต้แรงจูงใจทางด้านทุนกับแรงจูงใจของฝ่ายรัฐ กล่าวคือ รัฐและทุนพยายามจะใช้สื่อเพื่อเป็นประโยชน์หลักของตนเอง บางทีมากกว่าที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคสื่อ

 “การทำสื่อที่มีคุณภาพเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่เป็นประโยชน์กับเด็กและเป็นพื้นที่ที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งในด้านความคิด อารมณ์ ความเฉลียวฉลาด และความอยากรู้อยากเห็น เมื่อขาดสิ่งนี้จะไปขอพึ่งรัฐให้จัดสรรงบประมาณรัฐก็ทำได้ไม่ถนัด จะไปพึ่งทุน ทุนก็จะเกี่ยงว่าไม่มีการให้ทุนใช้จ่ายในส่วนนี้ หรือทุนก็เอาใจผู้บริโภคมากจนเกินไป คือ ทำสื่อไปตามกระแสโดยไม่เน้นเรื่องคุณภาพเท่าที่ควร”

สำหรับบางประเทศเห็นความสำคัญการพัฒนาการเด็กให้เป็นไปตามวัยและพยายามสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ การทำพื้นที่ให้เด็กมาใช้ เข้าใจและรู้เท่าทันสื่อให้มากกว่าจะปล่อยไปเป็นกระแสของราชการก็ดีหรือของทุนก็ดี ดังนั้นจึงขอสนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีกองทุนสื่อสร้างสรรค์ 

“เสนอว่า ถ้ามีกองทุนนี้ออกมาให้ได้ผลจริงจังตามเจตนารมณ์ก็จะมีอยู่ 2 ข้อที่จะฝากไว้เป็นความห่วงใย คือ อยากเห็นกองทุนนี้เป็นการบริหารจัดการที่ไม่ใช่ต้องฟังคำสั่งจากรัฐมนตรีหรือจากปลัดกระทรวง มีการบริหารจัดการเปิดกว้างในแง่ของการดูแลของสังคมต่อกองทุนไม่ใช่การดูแลของระบบราชการ

รวมทั้งอยากฝากภาครัฐที่มักจะมีแนวโน้มวางกฎเกณฑ์ กำกับว่าสื่อไหนเป็นสื่อดี สื่อไหนเป็นสื่อไม่ดี และจะพยายามไปควบคุมเรื่องสื่อไม่ดี แนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ต่างๆ จึงอยากจะเห็นกองทุนนี้เป็นกองทุนในลักษณะเชิงบวกในลักษณะการส่งเสริม ส่วนเรื่องที่จะไปควบคุมตรวจสอบดูแลสื่อก็น่าที่จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐโดยตรง ไม่เกี่ยวกับกองทุนนี้ และอยากให้กองทุนนี้มีการบริหารจัดการโดยภาคสังคมและเน้นการส่งเสริมสื่อที่เป็นประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด”

หลากหลายเสียงของผู้ใหญ่ที่ห่วงลูกหลาน ฝากถึงผู้มีอำนาจพิจารณาเพื่อให้เกิด “กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ออกมาเป็นเครื่องมือหนุนอนาคตของชาติอย่างแท้จริง และในวันพุธที่ 22 ธันวาคม 2553 นี้ โครงการจับตากองทุนสื่อฯภายใต้การสนับสนุนโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) จะจัดเวทีสาธารณะ “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ขึ้น ที่โรงแรมเอเชีย (ติดสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี) เปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อเยาวชนและสังคมแท้จริง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net