สัมภาษณ์ : ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ‘EIAท่าเรือตีค่าทะเลปากบาราเสื่อมโทรม’

 

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันจังหวัดสตูล เสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโอกาสได้พบเห็นความมั่งคั่งของทะเลสตูล ในมุมที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ทว่า ความมั่งคั่งเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ
ทัศนะของศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มองผ่านรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของโครงการนี้ จึงน่าสนใจยิ่ง


..........................................................


ทะเลสตูลมีทรัพยากรอะไรบ้างและมีความสำคัญอย่างไร

ถ้าเรามองจากแผนที่ จะเห็นว่าใต้จังหวัดภูเก็ต หรืออ่าวพังงาลงมาคือ ช่องแคบมะละกา มีเกาะสุมาตราอยู่ทางซ้าย
สภาพแวดล้อมตั้งแต่อ่าวพังงาจนถึงจังหวัดสตูล มีการสะสมของธาตุอาหารที่มาจากทางบกและทางทะเล จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าธาตุอาหารสูง มีแหล่งหญ้าทะเล มีชายฝั่งที่มีหาดทราย มีเกาะต่างๆ มีแนวปะการัง

สตูลอยู่ในช่องแคบมะละกา มีทั้งแหล่งหญ้าทะเล แหล่งปะการังอุดมสมบูรณ์ รวมถึงแนวปะการังอันสวยงาม ตรงนี้เป็นบริเวณที่ผสมผสานกันของความอุดมสมบูรณ์ ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

มองจากแผนที่โลกจะเห็นว่า ด้านซ้ายเป็นคาบสมุทรอินเดีย ด้านขวาเป็นคาบสมุทรแปซิฟิก สตูลอยู่ตรงรอยต่อช่องแคบมะละกา เราเห็นความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ที่เราพบ มีเฉพาะในมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น เราจึงเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

ทรัพยากรทางธรรมชาติในทะเลสตูลที่อ่อนไหวที่สุด
ปะการังในทะเลทั้งหมด รวมทั้งหญ้าทะเล เรากังวลว่าถ้าสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะควบคุมมลพิษได้หรือเปล่า เพราะถ้าควบคุมไม่ได้ มันจะสะสมตามชายฝั่งบริเวณเดียวกับแหล่งสะสมธาตุอาหาร

บริเวณที่ตั้งของโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีภูเขาเกาะแก่งล้อมรอบ ต่างกับทะเลที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่นั่นถ้าน้ำมันรั่วหรือมีมลพิษไหลลงทะเล มันจะถูกคลื่นพัดพาไปหมด เพราะเป็นทะเลเปิด ด้านหลังไม่มีภูเขา

บริเวณชายฝั่งแถบอันดามันตอนล่าง ถ้าเกิดมลพิษมันจะไม่ไปไหน มลพิษ ขยะทุกอย่างจะถูกพัดมาแถวนี้ ถ้ามีอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมันจะถูกสะสมอยู่แถวนี้หมด เพราะด้านหลังเป็นภูเขา ลมพัดพามลพิษไปปะทะภูเขาออกไปไหนไม่ได้ มันจะตกตะกอนหรือลอยอยู่บริเวณนี้ มันจึงเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อมลภาวะต่างๆ ประเด็นนี้ไม่ค่อยมีคนพูดกัน ทั้งๆ ที่นักวิชาการทางทะเลรู้ดี

ทำไมถึงมีลักษณะอย่างนี้

เพราะมันเป็นช่องแคบคือ ช่องแคบมะละกา ที่มีเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซียบังอยู่ มีกระแสลมพัดเข้ามาในช่องแคบ บางฤดูมันก็พัดออกไป น้ำทะเลในช่องแคบมะละกา จึงขึ้นลงตามฤดูกาล กระแสน้ำหลักของช่องแคบมะละกาจะพัดขึ้นบน ยกเว้นบริเวณอ่าวริมชายฝั่ง จะมีกระแสน้ำวนอยู่ในนั้น ธาตุอาหารก็สะสมบริเวณชายฝั่ง

ถ้าเรามองตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา จะเห็นป่าชายเลนและหาดโคลนตลอดแนว ถ้ามองตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นไป จะเป็นหาดทราย เพราะบริเวณนั้นกระแสน้ำในทะเลพัดลง เมื่อมาเจอกับกระแสน้ำที่พัดขึ้นมาจากช่องแคบมะละกา ทั้งสองกระแสน้ำที่มาชนกัน จะวนออกทะเลนอก ถ้ามีมลพิษไหลลงทะเลบริเวณนี้ จะถูกกระแสน้ำพัดออกทะเลนอกหมด ไม่สะสมบริเวณชายฝั่ง

ส่วนบริเวณตั้งแต่อ่าวพังงาลงมา มลพิษจะไม่ถูกคลื่นพัดพาไปไหน มันจะสะสมอยู่บริเวณเดียวกับแหล่งสะสมของธาตุอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบหรือไปสะสมอยู่ในตัวสัตว์ที่มากินธาตุอาหารบริเวณนี้ด้วย

ชายหาดหรือชายฝั่งที่มีธาตุอาหารสังเกตอย่างไร

เป็นชายหาดดำไม่สกปรก เป็นหาดโคลนออกสีน้ำตาล ไม่ใช่ดำแบบน้ำเน่า ธาตุอาหาร ได้แก่พวกสารอินทรีย์ เป็นซากพืชซากสัตว์ แบคทีเรียทะเล ไส้เดือนทะเล สัตว์หน้าดินจะกินธาตุอาพวกนี้ แล้วพวกมันก็เป็นอาหารของสัตว์ทะเลต่อไป

ในทะเลสตูลสามารถแบ่งจุดได้ไหมว่า มีทรัพยากรอะไรอยู่ตรงไหน

หมู่เกาะตะรุเตากับหมู่เกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซีย มีแนวปะการังที่หลากหลายและดีที่สุดในทะเลอันดามันตอนล่าง อาจจะดีกว่าแหล่งปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา แต่ไม่ค่อยมีคนมาเที่ยว จึงไม่ดัง

บริเวณชายฝั่งบนเกาะตะรุเตา ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ หลักๆ เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน เป็นแหล่งอนุบาลปลาเก๋า เกาะตะรุเตาช่วงเดือนมีนาคม จะมีประมงพื้นบ้านออกหาปลาเก๋า และยังเป็นแหล่งประมงปูม้า ปลาหมึก

ชายฝั่งทะเลตรงนี้ มีระบบนิเวศน์ครบทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและหมู่เกาะตะรุเตา มีครบทุกระบบนิเวศน์ทางทะเลคือ ระบบนิเวศน์ที่มีป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย หาดโคลน แหล่งปะการัง หญ้าทะเล ทุกอย่างสมบูรณ์

เป็นระบบนิเวศน์ทางทะเลที่นักวิชาการทางทะเลถือว่าสำคัญ มีไม่กี่ที่แหล่งมีระบบนิเวศน์ครบทุกอย่างแบบนี้ สตูลมีทุกอย่างของระบบนิเวศน์ทางทะเล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำทางทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน

ถ้าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เส้นทางเดินเรือต้องผ่านบริเวณนี้

ใช่ ต้องผ่านเส้นทางนี้

จากการเก็บข้อมูล เห็นความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสตูลอย่างไร

ความเปลี่ยนแปลงหลักๆ มาจากการท่องเที่ยว จากอวนลากและอวนปลากะตัก ที่เกาะหลีเป๊ะไม่มีการควบคุมน้ำทิ้ง จับปลามากเกินไป จับสัตว์น้ำใกล้ฝั่งเกินไป จับปลาสวยงามไปขาย ตะกอนหน้าดินไหลลงทะเล เป็นสาเหตุหลักทำให้ปะการังตาย เพราะไหลลงไปถมปะการัง

ขยะสารพัดอย่างในทะเล ตั้งเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ถูกพัดเข้าฝั่งหมด ตั้งแต่อ่าวพังงา เกาะพีพี เกาะภูเก็ต ไล่ลงมาถึงสตูล ทุกอย่างที่อยู่ในทะเล จะถูกพัดเข้าฝั่งหมด

เพราะฉะนั้น ทำใจไว้ได้เลยว่า ถ้ามีมลพิษอะไรลงทะเล จะถูกพัดเข้าฝั่ง ถ้ามีน้ำมันรั่วจากเรือกลางทะเล มันก็จะถูกพัดเข้าฝั่ง

ในระบบนิเวศใต้ทะเลสตูล สัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนมีสภาพอย่างไร

ให้นึกถึงพื้นที่ที่มีโคลนเยอะๆ พวกสัตว์หน้าดินจะกินสารอินทรีย์ที่อยู่หน้าดิน แล้วเจริญเติบโต กุ้ง ปู ลูกปลาก็มากินสัตว์หน้าดินพวกนี้อีกที สัตว์หน้าดินคือฐานห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ เป็นตัวแปลงสารอินทรีย์ต่างๆ ให้กลายมาเป็นเนื้อให้สัตว์อื่นมากิน

ส่วนแพลงก์ตอนในทางวิทยาศาสตร์แปลผลค่อนข้างจะยาก เพราะมันล่องลอยในน้ำ

จำนวนสัตว์หน้าดิน ที่แสดงตามตารางผลการสำรวจนิเวศวิทยาทางน้ำ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ(EIA) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและถมทะเล ระยะที่ 1 มีน้อยกว่าความเป็นจริง จำนวนชนิดที่พบในแต่ละสถานีน้อยกว่าความเป็นจริงมาก

อาจมีการวางแผนในการศึกษาไม่ดีพอ ทำให้พบน้อยกว่าความเป็นจริง แม้จะเป็นการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างฤดูกาล ก็ยังพบตัวเลขแสดงจำนวนชนิดน้อยด้วยกันทั้งคู่ เช่น พบเพียง 4 ชนิดหรือ 7 ชนิด ต่อตารางเมตร ซึ่งผมว่าน้อยกว่าความเป็นจริง ความชุกชุม หมายถึงจำนวนตัวที่พบต่อตารางเมตรก็น้อยกว่าความเป็นจริงด้วย

ถ้ามีการออกแบบการศึกษาให้ดี หรือเหมาะสม จะไม่ทำให้ได้ผลการศึกษาจำนวนสัตว์หน้าดินที่น้อยกว่าความเป็นจริง เช่น ไส้เดือนทะเล หรือสัตว์จำพวกไส้เดือนทะเล สัตว์จำพวกกุ้ง ปู มันเยอะกว่านี้ ถ้าดูจากสภาพแวดล้อมแถวนั้น ผมเคยคิดจะชวนชาวบ้านไปเก็บตัวอย่างมาดู มาเทียบกับผลการศึกษานี้

ความหลากหลายก็น้อย ตัวเลขแสดงค่าดัชนีความหลากพันธุ์ควรจะอยู่ที่ 2 กว่าๆ ถึง 3 ตัวนี้มีสูตรคำนวณอยู่ ตัวเลขอย่างนี้ทำให้คนมองภาพว่า ทะเลที่นี่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ดูแล้วขัดแย้งกับที่ชาวบ้านจับสัตว์น้ำแถวนั้นได้เยอะ ยิ่งเป็นบริเวณปากแม่น้ำด้วยแล้ว ตัวเลขมันต้องเยอะกว่านี้

ตัวเลขออกมาอย่างนี้ ถ้าคนอื่นมาดูคิดว่า โอ้โห ที่นี่ความหลากหลายต่ำมาก เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลย ค่าดัชนีมันต้อง 2.5 ขึ้นไป ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลได้ค่าดัชนีความหลากพันธุ์ที่ 2 ขึ้นไปทั้งนั้น แต่ค่าดัชนีที่แสดงในตารางต่ำเกินไป บางสถานีเก็บข้อมูลได้ค่าดัชนีความหลากพันธุ์แค่ 1.39 ต่ำมาก

ในความเห็นของผม ผลการศึกษาในเรื่องสัตว์หน้าดิน ได้ตัวเลขที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ข้อมูลออกมาแบบนี้ คนจะแปลผลว่า ทะเลที่นี่ไม่สมบูรณ์และไม่มีคุณค่า

สัตว์หน้าดินบริเวณนี้มีเยอะ หลายพันธุ์ชนิด มันควรจะได้ตัวเลขเยอะกว่านี้ ดูยังไงก็น้อยเกินไป เคยมีนักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปเก็บข้อมูลที่เกาะลิดี ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เมื่อหลายปีมาแล้ว มันเยอะกว่านี้

การเก็บข้อมูล ต้องเลือกพื้นที่เก็บ เก็บมาแล้ว จะล้างดินอย่างไร เพื่อให้สัตว์อยู่ครบ ได้มาก็ต้องเอากล้องมาส่องข้างใต้อีก เพื่อดูว่ามีสัตว์หน้าดินเหลืออยู่ในตะแกรงร่อนหรือไม่ ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ วิธีการเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ใช้ที่ตักดินใต้น้ำประมาณ 0.1 ตารางเมตร ตักดินขึ้นมาแล้วนำมาใช้ตะแกรงร่อน

โครงการที่อาจารย์กำลังศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดสตูลคือ โครงการอะไร

เป็นโครงการจัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เราศึกษาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อหาว่า ทะเลอันดามันในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีจุดเด่นอะไรบ้างที่พอจะนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

ที่จริงแล้วในยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ เรามองว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด มีคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้ อิงอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก

การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เรามองทะเลอันดามันของไทยน่าจะเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยว ที่น่าจะเป็นมรดกโลกได้

เรามองการพัฒนาที่สามารถอนุรักษ์ไปพร้อมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ ถ้าทรัพยากรสมบูรณ์ การใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวก็สามารถสร้างรายได้เช่นเดียวกับชาวประมงพื้นบ้าน ถือเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน

เรามองว่า กิจกรรมใดที่จะสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรทางชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นเรื่องอันตราย เราอยากพัฒนาให้เป็นไปตามที่เราและชาวบ้านอยากเห็น

ระยะเวลาโครงการ

ผมใช้เวลาทั้งหมด ๓ ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นการเขียนรายงานเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แต่ยังมีกระบวนการอีกเยอะกว่าจะเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกได้ เป็นการศึกษาในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้งหมด ๑๘ แห่ง ในฝั่งอันดามัน มีทีมงานทั้งหมด ๓๐ คน
 

 

 




........................................

 

หมายเหตุ1ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล (รายงานฉบับสมบูรณ์) ในภาคผนวก ญ เรื่องผลการสำรวจทางนิเวศวิทยาทางน้ำ ระบุว่ามีการสำรวจนิเวศวิทยาทางน้ำ 3 ครั้งในพื้นที่ปากบารา โดยมีผลสรุปดังในตาราง

 

ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2546

 

สถานีที่ 1

สถานีที่ 2

สถานีที่ 3

สถานีที่ 4

สถานีที่ 5

ความชุกชุมต่อตารางเมตร(ตัว)

50

420

90

 

 

จำนวนชนิด

3

12

5

6

5

ค่าดัชนีความหลากพันธุ์

0.57

2.35

1.56

1.57

0.87

 

ครั้งที่ 2 มีนาคม 2547

 

สถานีที่ 1

สถานีที่ 2

สถานีที่ 3

สถานีที่ 4

สถานีที่ 5

ความชุกชุมต่อตารางเมตร(ตัว)

60

225

135

210

390

จำนวนชนิด

4

10

7

8

7

ค่าดัชนีความหลากพันธุ์

1.39

2.18

1.89

1.91

1.13

 

ครั้งที่ 3 พฤษภาคมและกรกฎาคม 2549

พฤษภาคม 2549

 

สถานีที่ 1

สถานีที่ 2

สถานีที่ 3

สถานีที่ 4

สถานีที่ 5

ความชุกชุมต่อตารางเมตร(ตัว)

44

66

330

176

44

จำนวนชนิด

1

2

1

8

2

สถานีที่ 1 บริเวณใกล้เคียงปากคลองปากบารา

สถานีที่ 2 ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเขาใหญ่

สถานีที่ 3 ทิศตะวันออกของเกาะเขาใหญ่

สถานีที่ 4 ทิศใต้ของเกาะเขาใหญ่

สถานีที่ 5 ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเขาใหญ่

กรกฎาคม 2549

 

สถานีที่ 6

สถานีที่ 7

ความชุกชุมต่อตารางเมตร(ตัว)

330

220

จำนวนชนิด

7

5

            สถานีที่ 6 บริเวณพื้นที่ทิ้งตะกอนของโครงการในระยะดำเนินการ ห่างจากท่าเรือน้ำลึก 7.5 กิโลเมตร

            สถานีที่ 7 บริเวณพื้นที่ทิ้งตะกอนของโครงการในระยะก่อสร้าง ห่างจากท่าเรือน้ำลึก 30 กิโลเมตร

 

 

 

หมายเหตุ2อีไอเอฉบับนี้ จัดทำโดย

 

บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด หรือ ซีเท็ค(SEATEC)

281 ซอยพานิชอนันต์ สุขุมวิท 71 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

โทรศัพท์ 0 2713-3888 โทรสาร 0 2713- 3889

 

บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด

151 อาคารทีม ถนนนวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 โทรศัพท์ 0 25099000 โทรสาร 0 2509-9000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท