Skip to main content
sharethis

10 ธ.ค. 53 - มติชนออนไลน์รายงานว่าชมรมประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "10 ธันวา วัน′พระราชทาน′ รัฐธรรมนูญ" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม โดยมีวิทยากรเข้าร่วมงานสัมนาได้แก่ ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, นายชาตรี ประกิตนนทการ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายสุธาชัย กล่าวว่า เมื่อ78 ปีก่อนวันนี้เป็นวันที่รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วและกำลังรอเตรียมลงนาม ถือว่าเป็นวันที่ประสบความสำเร็จในการประนีประนอมและถือได้ว่าเป็นหลักการ ที่เห็นร่วม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ถัดจากฉบับที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ร่างขึ้น โดยที่ในตอนนั้นยังไม่ได้ใช้คำว่ารัฐธรรมนูญแต่ใช้คำว่าพระราช บัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว

แม้ว่าจะมีการประนีประนอมแต่ยังคงเห็นร่องรอยของความแตกต่าง โดยเมื่อปีพ.ศ. 2475 การมีรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ปัจจุบันเรามักอธิบายว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองแล้วก็จบไป คราวนี้เราก็มีปัญหาว่าทำไมมันถูกฉีกบ่อย โดยปัจจุบันนี้แค่พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับเดียวทำให้ไม่ต้องใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ได้

"รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่ต่ำที่สุดหรือเปล่า แม้พ.ร.ก.ฉบับเดียวก็อยู่สูงกว่ารัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันถ้าเราเข้าใจในความหมายนี้ก็ไม่ผิด แต่ใน 2475 จะเข้าใจไปในแนวคิดลัทธิรัฐธรรมนูญ (คือมองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด)"

ในทางการเมืองการมีกับไม่มีรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นการที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมาจึงเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อย้อนดูว่าเมื่อรัชกาลที่ 7ลงพระนามแล้ว รัฐธรรมนูญมีความหมายตามที่นายปรีดี พนมยงค์อธิบายว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญญาระหว่างกษัตริย์กับตัวแทนของราษฎรที่ พระองค์ลงสัญญาว่า นับแต่นี้จะปกครองโดยจำกัดอำนาจและเคารพสิทธิราษฎร ซึ่งในความหมายเชิงสัญลักษณ์อำนาจการปกครองสูงสุดที่พระราชทานมาแล้วก็กลาย มาเป็นของประชาชน

ความสำคัญในการมีรัฐธรรมนูญคือปัจจุบันมีคำที่เรียกว่านิติรัฐ คือ rule of law หรือการปกครองโดยกฎหมาย

กฎหมายคือ สัญญาประชาคม กติกาที่มาจากข้อตกลงร่วมกันในสังคมจึงไม่ใช่คำสั่งของใครฝ่ายเดียว ดังนั้นกฎหมายในแนวคิดจึงเป็นเรื่องสัญญาประชาคม  เมื่อมีการปกครองโดยกฎหมายจึงเป็นความจำเป็นอย่างมากที่ต้องออกกฎหมายใหม่ จำนวนมาก เพราะการบริหารจะอ้างพระราชโองการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องบอกเสมอว่าอำนาจนั้นมาตามกฎหมายฉบับไหน

ต่อมาเมื่อเราไปอ่านหนังสือสมัยนั้น จะพบคำว่าหลักวิชา ซึ่งเป็นคำใหม่โดยพวกนักวิชาการรุ่นใหม่ ไม่เหมือนระบบเดิม หมายถึงแนวทางการบริหารการปกครองใดๆก็ต้องเป็นที่รู้อย่างชัดเจนเรียนได้ ศึกษาได้ ซึ่งก่อนพ.ศ. 2475 ไม่ได้เป็นแบบนั้น ความรู้ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของประชาชน

ประการต่อมาคือเรื่องสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน การที่ประชาชนต้องมีสิทธิในทางการเมือง รัฐบาลสมัยใหม่ต้องทำให้เป็นนโยบาย ตรงนี้เองคือการประกาศว่าราษฎรต้องมีสิทธิ อย่างเช่น ทรัพย์สิน การเมือง เสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางการเมืองต่อมา การที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนประชาชนถือว่าพ้นจากความเป็นไพร่

เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าลัทธิรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดมิติใหม่มากมายหลาย ประเด็น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วการรัฐประหารทุกครั้งก็ฉีกและร่างใหม่จนมีรัฐธรรมนูญ มาแล้ว 18 ฉบับในเวลา 78 ปี ซึ่งเราอาจเป็นประเทศที่มีการประกาศรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการฉีกและร่างใหม่ ถ้าถือความหมายของรัฐธรรมนูญในเชิงนามธรรมแล้วถือว่ามีความต่อเนื่องเพราะ เมื่อฉีกทิ้งก็ต้องร่างใหม่

สรุปว่า เมื่อปี 2475 เกิดลัทธิรัฐธรรมนูญ จึงเกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมที่ชนชั้นนำจำเป็นต้อง ยอมให้ ซึ่งจะถูกหรือผิด ดีหรือเลวก็มีผลตามมา

นายชาตรี กล่าวว่า สำหรับวันรัฐธรรมนูญแล้วคิดว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญน่าสนใจ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้เป็นอนุรักษ์นิยมคิดว่าพิธีกรรมเป็นแค่เปลือกที่รก รุงรัง แต่อยากให้มองพิธีกรรมในฐานะกระบวนการทางสังคมที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลังและอำนาจ

พิธีกรรมมีบทบาทหน้าที่อย่างน้อยสี่ประการคือ เป็นเครื่องมือในการอธิบายและจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและสิ่งเหนือธรรมชาติ สองคือ เป็นเครื่องมือในการจินตนาการความเป็นชาติเดียวกัน สามคือบทบาทในโลกสมัยใหม่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม สี่คือพิธีกรรมเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งสู่อีกหนึ่งทั้ง ในระดับปัจเจกและสังคม เป็นการจำลองอุดมการณ์บางอย่างจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เช่นการรับพระราชทานปริญญา จากสถานะอีกคนหนึ่งเป็นอีกสถานะหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นต่อธรรมชาติของมนุษย์

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่มีพิธีกรรมสำคัญแต่เป็นเหตุการณ์สำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีการสร้างพิธีกรรมทำให้อุดมการณ์แบบนั้นไม่ได้ถูก อธิบาย การจำลองอุดมการณ์ไม่ถูกเปลี่ยนผ่านสู่รูปธรรมที่เป็นสัญลักษณ์ที่คนทั่วไป รับรู้ได้ แต่แนวความคิดของการเปลี่ยนผ่านกลับถูกอธิบายและจำลองแนวคิดผ่านพิธีกรรมที่ เรียกว่าพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ

"ในบริบทสังคมไทยพิธีกรรมไม่ใช่แค่เปลือกตามที่พวกหัวก้าวหน้าคิด แต่ทำหน้าที่เป็นทั้งเปลือกและแก่นในสังคมไทย"

หากมองย้อนมาสู่บริบทการเมือง สำหรับคนที่คิดว่าเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยตามที่หวังมีสิ่งที่ไม่ควรมอง ข้ามคือพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองไทย

ด้านนายพิชญ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า จุดบกพร่องสำคัญคือเราไม่สามารถอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเชื่อหรือเห็นว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

เงื่อนไขสำคัญถ้าเราอยู่ในสังคมรัฐธรรมนูญคือต้องยอมรับว่าอำนาจ อธิปไตยเป็นของเรา แต่ไม่ควรมองว่าเสียงข้างมากถูกต้องทั้งหมด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่เคยบอก และในรัฐธรรมนูญมีกฎอีกขั้นในอีกระดับให้เข้าถึง คือ แม้ว่าประชาชนเป็นเสียงข้างมากก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปให้เป็นกฎที่มาจากรัฐ ธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากเราได้

ประการต่อมาคือเราจะทำอย่างไรให้จำกัดอำนาจรัฐ โดยที่รัฐไม่สามารถละเมิดความเป็นมนุษย์ของเรา

ที่มา:

10 ธ.ค. ชำแหละรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นกฎหมายที่ต่ำที่สุด? (มติชนออนไลน์, 10-12-2553)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1291899942&grpid=01&catid=&subcatid=

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net