Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หลังจากผ่านพ้นวิกฤติการเมืองช่วงเมษา-พฤษภา ๕๓ ทำให้หลายคนรู้สึกโล่งอกกับปัญหาเฉพาะหน้าหรือเรื่องที่เป็นกังวลอยู่ลึกๆ ในใจ หลังสิ้นเสียงระเบิดและกลิ่นคาวเลือดมีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์มากมาย ไม่ต่างจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมาในอดีต ผู้ชนะมักเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์เสมอ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นประวัติศาสตร์หรือเค้าโครงของประเทศไทยบิดเบี้ยวตลอดมาทุกยุคทุกสมัย
 
วันนี้กระแสการปฏิรูปกำลังมาแรง นักวิชาการก็จะปฏิรูป นักแรงงานก็จะปฏิรูป แล้วคนอย่างผมที่ไม่อยากร่วมวงด้วยกับใครจะอยู่ตรงไหนของสังคม ผ่านมาได้สี่ปีนิดๆ กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่หลายคนบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะมีผลกระทบมากมายขนาดนี้ แม้แต่ผู้กระทำการอย่าง พลเอกสนธิ เองยังคาดไม่ถึงว่าสังคมไทยจะเกิดความแตกแยกได้มากมายขนาดนี้
 
ท่ามกลางวาทกรรมและการช่วงชิงการนำทางการเมืองของแต่ละฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งยิ่งไต่เต้าขึ้นสูงเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นมากเท่านั้น เพราะการจะไปถึงจุดหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการแก่งแย่งช่วงชิง จะต้องหยาบคายไร้มโนธรรม จะต้องฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ นี่แหละสังคมที่เราอยู่จึงเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงไม่มีที่สิ้นสุด และถึงแม้พวกนักการเมือง พวกนักกฎหมายและพวกเศรษฐีที่ดินจะพร่ำเพ้อถึงสันติภาพและการเลือกตั้งมากเพียงใด คำพูดที่เปล่งเสียงออกมานั้นก็หามีความหมายไม่ มันเป็นเพียงแค่มายาจริตจอมปลอมเท่านั้นเอง หรืออาจเพียงเพราะแค่ต้องการให้ภาพของตนเองดูดีขึ้น
 
เมื่อเราผ่านพ้นวิกฤติการเมืองมาได้อย่างล้มลุกคลุกคลานที่หลายคนบอกว่าให้ลืมซะแล้วหันหน้ามาปรองดองกัน ให้ตายเถอะผมคงลืมมันไม่ได้เพราะผมไม่ใช่ ควาย ที่ใครจะมาออกคำสั่งให้ซ้ายหันหรือขวาหันก็ได้อย่างใจนึก อยากจะให้จำอะไรก็ต้องจำหรืออยากให้ลืมอะไรก็ต้องลืม มันไม่ง่ายอย่างที่นักบุญทั้งหลายพ่นน้ำลายใส่กันหลอก แต่เราจะมาหยุดพักพูดเรื่องการเมืองกันสักนิดก่อน
 
เราหันมาพูดเรื่องสถานการณ์แรงงานกันบ้างเป็นอย่างไรในปีนี้ ในภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่สูง แต่ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มหรือรวมตัวของคนงานเพื่อจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้างก็มีสัดส่วนในอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน
 
ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ในภาคตะวันออกมีสหภาพแรงงานกว่า ๑๐๐ แห่งทะยอยยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างซึ่งเป็นชาวต่างชาติ โดยที่ประเด็นหลักๆ ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การขอโบนัสประจำปี ซึ่งหลายสหภาพแรงงานก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเป็นที่น่าพอใจของสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหลายรวมทั้งเหลือบแรงงาน(หรืออาจจะเรียกว่าเห็บหรือหมัดก็ได้นะ) ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแต่พลอยได้รับผลประโยชน์จากการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไปด้วย หลายคนได้วางโครงการสำหรับการใช้เงินไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับเงินก้อนนั้นนัก เพราะว่าเจ้าหนี้คงจะหักหมดไม่เหลือไว้ให้แน่นอน หลายคนมีรอยยิ้มพร้อมเสียงหัวเราะอย่างดีใจเมื่อเห็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานหรือเมื่อบริษัทปิดประกาศเรื่องการจ่ายโบนัส มันเป็นเหมือนรางวัลสำหรับชีวิตหลังจากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งปี
 
            ตัวอย่างการจ่ายโบนัสในบริษัทต่างๆ ในภาคตะวันออกที่เจรจายุติแล้วแล้ว
 
 

แต่ในอีกมุมหนึ่งของโรงงานมีพนักงานจำนวนหนึ่งยังคงก้มหน้าทำงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เขาเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะลาป่วย ไม่มีสิทธิที่จะลากิจ เพราะนั่นหมายถึงรายได้ที่จะต้องหดหายไป เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างในวันหยุด และไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ปรับค่าจ้างประจำปีถ้าค่าจ้างของเขาสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่รัฐบาลประกาศกำหนด ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการใดๆ ที่สหภาพแรงงานร้องขอ และที่สำคัญที่สุดคือเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับโบนัสเช่นเดียวกับพนักงานประจำทั่วไป ทั้งๆ ที่งานที่ผลิตออกไปขายให้กับลูกค้านั้นส่วนหนึ่งเกิดจากหยาดเหงื่อและแรงกาย หรือบางครั้งมาจากคราบน้ำตาของพวกเขาเอง เขาได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากพนักงานประจำของบริษัทอย่างสิ้นเชิงในทุกๆ ด้าน ยกเว้นเรื่องของการทำงานเท่านั้นที่เขาต้องทำมากและเสี่ยงกว่าพนักงานประจำ แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับคืนมามันช่างน่าขมขื่นยิ่งนัก เขาเหล่านั้นคือลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรง หรือที่ทุกคนเรียกกันจนติดปากว่า “Subcontract”
 
หลายแห่งพนักงานเหมาค่าแรงตกเป็นเครื่องมือของนายจ้างในการนำมาต่อรองหรือลดบทบาทของสหภาพแรงงาน แต่บางแห่งพนักงานเหมาค่าแรงก็ตกเป็นเครื่องมือของสหภาพแรงงานในการต่อรองกับนายจ้าง โดยบอกว่าให้ออกมาร่วมกดดันต่อสู้ร่วมกันแล้วชัยชนะจะเป็นของทุกคน เมื่อการเจรจายุติ สมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ แต่พนักงานเหมาค่าแรงที่ออกมาร่วมต่อสู้กลับถูกเลิกจ้างโดยไม่มีใครออกมารับผิดชอบหรือเหลียวแล ในขณะที่พนักงานประจำ จำนวนมากกำลังสาละวนกับการวางแผนการใช้เงินโบนัส ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน จะซื้ออะไรไปฝากพี่น้องที่ชนบท
 
แต่คนงานเหมาค่าแรงเขาไม่กล้าแม้แต่จะคิด เพราะเพียงลำพังค่าแรงที่ได้รับในแต่ละเดือนก็แทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น สำหรับการวางแผนของพนักงานเหมาค่าแรงหลายคนในช่วงเทศกาลหยุดยาวในปีใหม่ที่จะถึงนี้จึงเป็นตารางการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โดยหวังว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีกสักนิดเพื่อเป็นค่าเทอมให้กับลูก หรือส่งให้กับครอบครัวที่รอรับการเยียวยาอยู่ที่ชนบท นานแค่ไหนแล้วที่เขาเหล่านี้ต้องอดทนทำงานหนัก เสี่ยงอันตราย และส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลานานหลายชั่วโมง จนร่างกายเสื่อมโทรมและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำๆ เพียงเพื่อแลกกับเศษเงินของนายจ้างเป็นค่าแรงราคาถูกที่พอแค่เลี้ยงชีพได้ไปวันๆ แต่คนที่ได้ประโยชน์และเสวยสุขจากหยาดเหงื่อและแรงงานของพวกเขาเป็นเพียงแค่คนไม่กี่คน คือบริษัทนายหน้าค้ามนุษย์ รวมทั้งบริษัทที่ใช้บริการการจ้างงานเหมาค่าแรงเอง เขามีความผิดอะไร ทำไมเขาไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมเหมือนกับผู้ใช้แรงงานทั่วไป
 
เมื่อมองย้อนกลับมาดูแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๔(๗) ซึ่งได้เขียนไว้อย่างสวยหรูว่า ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธ์เลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการโดยที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
 
และในขณะเดียวกันก็มีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) .. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๑/๑ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการจ้างงานในระบบเหมาค่าแรงโดยมีเนื้อหาที่น่าจะเป็นประโยชน์กับลูกจ้างในระบบเหมาค่าแรง คือ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว
 
ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
 
แต่ในความเป็นจริง แรงงานเหล่านั้นกลับถูกเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันกับคนงานประจำ เสมือนว่า พวกเขาเป็นคนอีกชั้นหนึ่งของโรงงาน ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในอดีตประเด็นการจ้างงานเหมาค่าแรงถือว่าเป็นประเด็นที่ร้อนแรงทุกคนในสังคมต่างให้ความสนใจ และพยายามผลักดันให้เขาเหล่านั้นได้รับสิทธิที่เป็นธรรมและเท่าเทียม แต่วันนี้ทำไมกระแสความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมถึงได้เงียบหายไป หรือ เขาเหล่านี้ได้ถูกลืมไปแล้วจากสังคม................
 
ยกเลิกสัญญาทาส ยุติเหมาค่าแรง ยุติความยากจน


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net