Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
จากข้อตกลงทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้กำหนดให้ประเทศในอาเซียนเดิม ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน ต้องลดภาษีสินค้าข้าวเป็นศูนย์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป และกำหนดให้ ประเทศ เขมร เวียดนาม ลาว และพม่า ที่ได้เข้ามารวมกับประชาคมอาเซียนในภายหลัง ต้องลดภาษีสินค้าข้าวเป็นศูนย์ในปี 2558 ดังที่เป็นข่าวคราวอยู่เป็นระยะนั้น ควรที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสนใจถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจาการเปิดตลาดการค้าข้าวดังกล่าว
 
แม้ว่าประเทศไทยได้แสดงถึงความพร้อมในการเปิดตลาดข้าวของประชาคมอาเซียน และมุ่งหวังว่าประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าสินค้าข้าวดังกล่าว เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้ดีกว่ากลุ่มประเทศสมาชิกผู้ส่งออกรายอื่นๆ การเปิดการค้าเสรีข้าวน่าจะทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวในปริมาณการค้าสินค้าข้าวมากขึ้นและจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าข้าวของโลกตามมา อย่างไรก็ตาม การที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปิดตลาดนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างการตลาดในทุกระดับ และรวมถึงภาคการผลิตข้าว ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความมีประสิทธิภาพในกระบวนการตลาดและกระบวนการผลิต
 
แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ในภาคปฏิบัติที่เป็นอยู่ กลับพบว่าประเทศไทยขาดการเตรียมความพร้อมอย่างมากในการฉกฉวยโอกาสที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดความชัดเจนในการพัฒนากลไกตลาดข้าวในประเทศให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นฐานในการรองรับการเปิดเสรีในการค้าสินค้าข้าว เช่น แทนที่จะพัฒนากลไกตลาดกลางข้าวในแหล่งผลิตข้าวสำคัญๆ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยน การตรวจสอบมาตรฐาน และใช้เป็นศูนย์กลางในการสร้างอำนาจการต่อรองราคาระหว่างเกษตรกรกับโรงสีข้าวและเป็นแหล่งอ้างอิงราคา แต่กลับมีนโยบายที่สร้างผลกระทบจนทำให้ตลาดกลางและท่าข้าวทั้งหลายต้องล้มหายตายจากไปหมด โดยเฉพาะโครงการรับจำนำ ทั้งนี้เพราะโครงการดังกล่าวได้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มโรงสีข้าวมีอำนาจทางการตลาด โดยเฉพาะโรงสีข้าวขนาดใหญ่ เพราะโรงสีจะได้รับผลประโยชน์จากการเป็นหน่วยรับฝากข้าวในโครงการรับจำนำ การเป็นผู้รับซื้อข้าวจากชาวนา การเป็นหน่วยแปรรูป และการเป็นหน่วยเก็งกำไร จึงทำให้เกิดการขยายตัวของโรงสีขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยพบว่า ขนาดเฉลี่ยของกำลังการผลิตของโรงสีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้นจาก 79 ตันต่อวันต่อราย มาเป็น 157 ตันต่อวันต่อราย และหากจะดูกำลังการผลิตของโรงสีโดยรวมจาก 28.6 ล้านตันในปี 2543 มาเป็น 67.5 ล้านตันในปี 2551 โรงสีขนาดใหญ่เหล่านี้ กระจายตัวผูกขาดอยู่ในแหล่งผลิตข้าวต่างๆ โดยเกือบจะไม่มีพฤติกรรมของการแข่งขันในเรื่องการรับซื้อข้าว
 
นอกจากนี้ ในภาคการผลิตข้าวก็พบว่านโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น นโยบายการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับเกษตรกร เป็นนโยบายที่ไม่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรเร่งพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยและเศรษฐกิจข้าวไทย เพราะไม่ได้มีกระบวนการใดๆที่จะไปช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เงินที่รัฐจ่ายเป็นค่าส่วนต่างของราคาข้าวที่รัฐประกันกับราคาอ้างอิงในปีที่ผ่านมามีสูงถึงประมาณเกือบ 40,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกันกับพบว่า เงินที่รัฐให้การสนับสนุนในงานวิจัยเรื่องข้าวก็มีอยู่เป็นจำนวนน้อย กรมการข้าวรายงานว่ามีงบวิจัยหากไม่รวมงบก่อสร้างมีไม่ถึง 120 ล้านบาทในงบประมาณปีปัจจุบัน และหากรวมถึงงบวิจัยแหล่งอื่นๆอีก ก็คาดว่าไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อปี หากเทียบกับปริมาณผลผลิตข้าวที่มีอยู่ 30 ล้านตัน จะเห็นว่ามีงบวิจัยต่อตันผลผลิตข้าวเพียงไม่ถึง 7 บาท
 
การสนับสนุนงบวิจัยจำนวนน้อยอย่างต่อเนื่องมาได้สร้างผลกระทบต่อจำนวนนักวิจัยที่กำลังหดหายไป ศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทยจึงไม่สามารถสู้กับเวียดนามได้ และในขณะเดียวกันกระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่คุ้มต้นทุน อันนำไปสู่วงจรอุบาทหรือการเป็นหนี้สินและตกอยู่ในภาวะยากจนตามมา
 
หากเทียบกับ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองรองจากประเทศไทย ที่ผ่านมาการผลิตข้าวของเวียดนามมีต้นทุนต่ำกว่าของไทยเกือบเท่าตัว การที่เวียดนามมีต้นทุนในการผลิตข้าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของไทย นั้นเป็นเพราะ เวียดนามให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยเรื่องข้าว เพราะนอกจากจะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้รับประสบการณ์ทางการศึกษาจากประเทศตะวันตกแล้ว รัฐยังเพิ่มการสนับสนุนการลงทุนวิจัยด้านข้าวเป็นจำนวนมากในปีนี้รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศที่จะเพิ่มเงินลงทุนวิจัยข้าวในทุกๆด้านรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน US$ ทั้งนี้เพื่อแย่งชิงโอกาสจากการเปิดตลาดข้าวเสรีไปสู่เกษตรกรของประเทศเขา การบริหารจัดการในนโยบายเรื่องข้าวของเวียดนามอย่างก้าวกระโดดดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว
 
การลงทุนวิจัยข้าวนั้นมีความจำเป็นเพราะนอกจากประโยชน์จากการวิจัยจะตกอยู่ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคแล้ว ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าวไทยให้มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้
 
ถึงเวลาแล้วยังที่ประเทศไทยจะได้มีการจัดตั้งกองทุนวิจัยข้าวเพื่อพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการตลาดทั้งนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสของการเปิดตลาดข้าวให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยและขณะเดียวกันจะเป็นการพัฒนาตลาดการค้าข้าวของไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของโลกตามมา.
 
 
-------------------------------------------
1> นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และรองศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net