Skip to main content
sharethis
 
“ชนาธิป สุกใส” นักวิชาการจากศูนย์พลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Centre for Energy (ACE) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะเป็นผู้ศึกษาเรื่องการพัฒนาพลังงานชีวมวล ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของนโยบายพลังงานชีวมวลของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังต่อไปนี้


ชนาธิป สุกใส
 
ศูนย์พลังงานอาเซียน เป็นหน่วยประสานความร่วมมือทางด้านพลังงานระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีพลังงานแห่งอาเซียน หรือ AMEN
 
ศูนย์พลังงานอาเซียน เน้นศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวมวล หรือพลังงานชีวภาพ ใน 2 ส่วนคือ ในส่วนนโยบายเกี่ยวกับพลังงานชีวมวลของกลุ่มประเทศอาเซียน และสถานการณ์ทั่วไปของพลังงานชีวมวล
 
ภาพรวมของนโยบายทางด้านพลังงานชีวมวล กลุ่มประเทศอาเซียนมีแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางด้านพลังงาน (APAEC) ปี 2010 – 2015 ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานชีวมวลเข้าสู่ระบบให้ได้ 15% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด
 
ภายใต้แผนนี้ อาเซียนได้ส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้า และการใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวมวล โดยสร้างเครือข่ายวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน มีประเทศมาเลเซียกับประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน ส่วนด้านการส่งเสริมทางการค้า มีประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นผู้ประสานงาน
 
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงนโยบายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศอาเซียน ด้านการใช้พลังงานชีวมวลใหม่ มีประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน พร้อมกับร่วมมือกันพัฒนาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตและการใช้พลังงานชีวมวล มีประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ประสานงาน
 
หลายประเทศในอาเซียน ต่างมีเป้าหมายในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวภาพเป็นของตัวเอง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
 
สำหรับนโยบายและสถานการณ์ทั่วไปของพลังงานชีวมวลในแต่ละประเทศ มีดังนี้
 
เริ่มจากประเทศบรูไน ซึ่งมีและใช้น้ำมันกับก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะนี้ยังไม่เน้นที่จะหันมาใช้พลังงานทางเลือก แต่ก็มองถึงการพัฒนาพลังงานชีวมวลในระยะยาว ปัญหาของประเทศเล็กๆ เนื้อที่ไม่มากอย่างบรูไนก็คือ หากหันมาส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงาน ก็จะไปทับซ้อนกับพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร
 
ประเทศกัมพูชา มีนโยบายลดความยากจนของประชาชน โดยพยายามให้ประชาชนเข้าถึงการเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานได้ ประเทศกัมพูชาจึงให้ความสำคัญกับพลังงานชีวมวลมาก เห็นได้จากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง แต่ยังมีศักยภาพไม่มาก ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ ยังขาดทั้งเทคโนโลยีและข้อมูล
 
ช่วงนี้ รัฐบาลกัมพูชาจึงเน้นการวิจัยและพัฒนาเป็นหลัก โดยเริ่มจากการทำโครงการขนาดเล็ก เช่น โครงการรับซื้อถั่วจากชาวบ้าน นำมาผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น
 
ประเทศอินโดนีเซีย นโยบายพัฒนาพลังงานชีวมวลมีความชัดเจนมาก นอกจากจะตรากฎหมายออกมารองรับแล้ว ประธานาธิบดีศุสีโล บัมบัง ยุทโธโดโน ยังมีคำสั่งให้ปรับเป้าหมายการพัฒนาพลังงานชีวมวล โดยกำหนดไว้ในร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2016–2025 ให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล 5% จากปริมาณการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด 17%
 
ประเทศอินโดนีเซียมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานชีวมวลสูงมาก แข่งกันมากับประเทศมาเลเซีย ที่มีนโยบายพัฒนาพลังงานชีวมวลชัดเจน โดยกำหนดไว้ในนโยบายพลังงานแห่งชาติปี 2006 ให้ใช้พลังงานชีวมวลในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวมวล ตั้งเป้าพัฒนาพลังงานชีวมวลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
ภายใต้นโยบายนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐใช้ไบโอดีเซล B5 มาตั้งแต่ปี 2009 โดยในปี 2010 กระจายการใช้ไบโอดีเซล บี 5 ในหน่วยงานของรัฐครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดมาตรการสนับสนุนการส่งออกพลังงานชีวภาพ และการลงทุน มียุโรปเป็นตลาดหลัก โดยเตรียมจะส่งออกไปยังยุโรปในปี 2011
 
ประเทศลาว มีนโยบายลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานของครัวเรือนลง ให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานมากขึ้น กำหนดให้ประชาชน 90% มีไฟฟ้าใช้ แต่การปลูกพืชพลังงานรัฐบาลกลัวว่า จะไปแย่งพื้นที่ผลิตอาหาร รัฐบาลกำลังยกร่างแผนพัฒนาพลังงาน ปี 2025 จะเพิ่มแหล่งพลังงานอีก 30% ในจำนวนนี้เป็นพลังงานชีวมวล 10%
 
ประเทศพม่า ข้อมูลทางด้านพลังงานของประเทศพม่ามีไม่มาก มีเพียงข้อมูลเมื่อปี 2005 เพียงข้อมูลเดียว นั่นคือพล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย กำหนดพื้นที่ 500,000 ไร่ เพื่อปลูกมันสำปะหลังใน 14 รัฐของพม่า และในปี 2009 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB วางแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตไบโอเอทานอลขนาดเล็กในพม่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเริ่มตั้งโรงงานแล้วหรือยัง
 
ประเทศฟิลิปปินส์ มีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพมาตั้งแต่ปี 2007 โดยมองเรื่องการใช้พลังงานทดแทน และมุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
 
ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเล็กหาพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานยาก แต่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องพลังงานของประเทศอยู่ ประเทศสิงคโปร์จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการวิจัยและพัฒนาเป็นด้านหลัก
 
ประเทศไทย ในแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี 2008 – 2022 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทางเลือกเป็น 20% ของความต้องการใช้พลังงานสูงสุดของประเทศให้ได้ภายในปี 2022 ในแผนนี้กำหนดเป้าหมายการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลในภาคการขนส่ง ดังนี้
 
หนึ่ง แผนพัฒนาเอทานอล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเอทานอลในภาคการขนส่ง จากผลิตภัณฑ์กากน้ำตาล มันสำปะหลังและอ้อย โดยส่งเสริมให้มีการใช้ E20, E85 ในรถยนต์ให้ได้ 390,000 คัน ในปี 2014 และ 1,070,000 คัน ในปี 2018
 
สอง แผนพัฒนาไบโอดีเซล มีเป้าหมายให้มีการใช้ B5 ทั่วประเทศ และ B10 เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในปี 2010 จากนั้นบังคับใช้ B5 ในปี 2011 พร้อมกับวิจัยและพัฒนามาตรฐานไบโอดีเซล
 
ประเทศเวียดนาม มีเป้าหมายที่จะผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้ได้ 1.8 ล้านตัน ในปี 2025 คิดเป็น 5% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล แต่ในแผนนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก
 
เมื่อดูภาพรวมนโยบายด้านพลังงานชีวมวลของกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มีนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวลชัดเจนคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
 
ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นสูงมาก มีนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกชัดเจน มีการจัดระบบให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติตามแผนร่วมกัน
 
ส่วนประเทศอินโดนีเซีย มีความได้เปรียบตรงที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานมากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
 
ตอนนี้ประเทศอินโดนีเซียต้องการก้าวขึ้นเทียบชั้นกับประเทศมาเลเซีย แต่ยังทำไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวมวล และผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ของประเทศยังต่ำกว่าประเทศมาเลเซีย
 
ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน ยังคงคิดแค่นำพลังงานชีวมวลมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล ประเทศมาเลเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่วางแผนผลิตพลังงานชีวมวลจากผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันส่งออกไปขายยังกลุ่มประเทศยุโรป
 
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่เตรียมโครงสร้างทางด้านกฎหมายไว้รองรับการพัฒนาพลังงานชีวมวลไว้ค่อนข้างพร้อมกว่าทุกประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net