Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา รวบรวมเรื่องราวการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่และการเผชิญหน้ากับพายุดีเปร สชั่นของ 4 โรงพยาบาลในสงขลาเล่าสู่กันฟัง "ประชาไท" นำเสนอโดยแบ่งเป็นสามตอน

ชื่อชุดบทความเดิม
ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ 2010
และพายุดีเปรสชั่น บทเรียนจากภาคสาธารณสุข

เรียบเรียงโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา

ปี 2553 บทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า โลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกแล้ว น้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ที่เกิดขึ้นไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง มาภาคกลาง ภาคอีสานและภาคใต้ ได้สร้างความสูญเสียอย่างมาก โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยในหลายพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ประสบการณ์การรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ 2010 ของ 3 โรงพยาบาลในจังหวัดสงขลาคือโรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี และโรงพยาบาลจนะ รวมถึงประสบการณ์การเผชิญหน้ากับพายุดีเปรสชั่นของโรงพยาบาลสทิงพระ ที่โรงพยาบาลเหล่านั้นได้เขียนมาเล่าสู่กันฟัง เป็นบทเรียนที่เห็นภาพของความโกลาหลและการจัดการที่เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่น่าสนใจยิ่ง

ภาค 1: เมื่อน้ำท่วมโรงพยาบาลนาทวี บทเรียนที่ควรแบ่งปัน

อำเภอนาทวี เป็นอำเภอเศรษฐกิจดีอีกอำเภอของจังหวัดสงขลา เต็มไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ มีโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ขนาด 120 เตียงตั้งอยู่ เป็นโรงพยาบาลระดับ 2.2 ของกระทรวงสาธารณสุข คือมีแพทย์เฉพาะทาง ในช่วงที่ประสบเหตุน้ำท่วมในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2553 นี้ คุณหมอสุวัฒน์ วิริยพงษ์สกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาทวี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ

มุ่งสู่นาทวี
ตอนประมาณตี 4 ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 หนุ่มน้อยชื่อ “ชาย” แฟนของน้องเจ้าพนักงานเภสัชกรรมได้โทรมาปลุกผม แจ้งว่าน้ำขึ้นสูงมาก กำลังทะลักเข้าโรงพยาบาลนาทวี ผมรับโทรศัพท์ทีแรกยังไม่เชื่อ เพราะสักเที่ยงคืน เพิ่งคุยกับทีมงานที่ดูแลเครื่องสูบน้ำของชลประทาน ซึ่งได้มาติดตั้งในโรงพยาบาลและเริ่มสูบน้ำได้ตั้งแต่ช่วงเย็นแล้ว ปกติถ้าเป็นแบบนี้ก็จะอุ่นใจ เพราะเครื่องพญานาคทั้งสองตัวขนาด 12 นิ้ว ฝนตกหนักๆ มาสักชั่วโมง อีก 2 ชั่วโมงก็แห้ง แต่ปรากฏว่าฝนดันตกตลอด ผมคิดได้แต่เพียงว่า ให้กั้นกระสอบทรายที่พอมีให้สูงไว้ก่อน ส่วนตัวเองจัดแจงหยิบเสื้อผ้าติดมือไปสองสามชุดก่อน

ระหว่างทางฝนยังคงตกหนักตลอด ที่ปัดน้ำฝนเร่งเต็มสตรีมแล้วก็ยังต้องค่อยๆ ขับรถไปได้อย่างช้าๆ สายฝนที่เย็นฉ่ำ แต่ใจมันร้อนรุ่ม ความเร็วสัก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดูมันช่างชักช้าเหมือนเต่าคลานเลยทีเดียว ผมเพิ่งทราบข้อมูลเมื่อมาทบทวนเหตุการณ์ว่า “ฟ้ารั่ว” ในช่วง 2 วันนี้เป็นอย่างไร เช่นที่อำเภอนาทวี ปกติฝนจะตกเฉลี่ยทั้งปีที่ 1200-1500 มิลลิเมตร มาปีนี้ แค่ 2 วัน 31ต.ค-1พ.ย. ตกไป 504 มิลลิเมตร เรียกว่าเป็น 1/3 ของฝนทั้งปี

ระหว่างทางผมผ่านอำเภอจะนะก่อน ดูปริมาณน้ำสองข้างทางแล้วมีลุ้นว่า น้ำไม่มากกระมัง หารู้ไม่ว่า จะนะเป็นส่วนปลายน้ำ น้ำยังเดินทางมาไม่ถึง เวลาผ่านไปสัก 1 ชั่วโมง พอเริ่มเข้าเขตอำเภอนาทวี ต้องเปลี่ยนใจครับ เริ่มเห็นชาวบ้านย้าย วัว ควาย และข้าวของมายังท้องถนน ฝนเริ่มซาเม็ดลง เหยียบคันเร่งเร็วขึ้นหน่อย ใจเตลิดคิดไปถึงเรื่องอื่น คิดถึงการซ้อมแผนอุทกภัยที่เตรียมซ้อมกันในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 2 พ.ย. หรือเราจะได้เจอของจริงเลย

พอเข้าเขตตลาดนาทวี ลงจากสะพานข้ามคลองนาทวี มองลงไป สามแยกวังโต้ยาวไปสุดลูกตา ตลอดทางไปอำเภอเทพา ผมไม่เห็นพื้นผิวถนนแล้ว เห็นมีรถกระบะวิ่งสวนมาได้ แสดงว่ารถยังพอฝ่ากระแสน้ำได้ เลี้ยวขวาที่สามแยกวังโต้ มุ่งหน้าสู่ รพ.ระยะทางราว 1 กิโลเมตรถึงหน้าสนามกีฬาเทศบาล สองข้างทาง มีรถจอดซ้อนกัน 3 แถว ตรงนี้เป็นเนินสูงหน่อย ผู้คนต่างนำยานพาหนะจอดหนีน้ำกัน ผมขับรถ Volvo คู่ใจเกือบถึงหน้า รพ. ลำบากเสียแล้วล่ะ น้ำมากจริงๆ ต้องหันหัวรถกลับมาจอดหน้าสนามกีฬาเหมือนคนอื่นๆ บ้าง ผมเดินเท้าสัก 200 เมตร จนถึงแนวรั้ว รพ.

หน้ารั้วโรงพยาบาลเห็นสมาชิกชาวโรงพยาบาลสัก 5-6 คน รวมตัวกันอยู่หลังแนวเขื่อนกระสอบทรายหน้า รพ. ถนนทางเข้า รพ.กระแสน้ำเชี่ยวมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถกระบะคันหนึ่งจอดบนถนนใหญ่ ใช้เชือกผูกกับรถยึดโยงกับเสาภายใน รพ. เพื่อไว้เกาะเดินเข้าไปได้ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ผมตัดสินใจเดินเกาะเชือกฝ่ากระแสน้ำโดยมีพนักงานขับรถคอยเดินขนาบเข้าไปได้

สิ่งแรกผมที่ทำคือ ขี่จักรยานตระเวนดูรอบ รพ. น้ำขึ้นเร็วมากจริงๆ ครับ รอบ รพ.เรามีเขื่อนกั้นน้ำสูงประมาณ 2 เมตร จุดต่ำสุดของเขื่อนอยู่บริเวณฝั่งที่ติดกับสำนักงานขนส่งจังหวัด เราประชาสัมพันธ์เสียงตามสายระดมคนที่มีอยู่ในบ้านพักทั้งชายหญิงและญาติผู้ป่วย ช่วยกันบรรจุทรายใส่กระสอบ ผมอาจจะใช้คำผิดครับ ใส่ถุงดำมากกว่า เพราะกระสอบตามแผนเดิม จะเอาเข้ามาเตรียมในช่วงสายของวันนี้ เพื่อจะซ้อมแผนในวันรุ่งขึ้น น้อง รปภ.ประยุกต์โดยใช้ถุงดำซ้อนกัน 3 ชั้นเพื่อป้องกันการแตก ก็พอบรรเทาไปได้บ้าง เราช่วยกันลำเลียงขนกระสอบถุงดำไปเสริมแนวเขื่อนฝั่งขนส่ง แต่ดูแล้วยังไม่เพียงพอแน่ ผมร้องขอกระสอบไปยังท่านนายอำเภอและพี่ๆ ที่ สสจ.สงขลา เผื่อว่าจะยื้อกันลองดูสักตั้ง

ปฏิบัติการย้ายผู้ป่วยก่อนน้ำเข้าโรงพยาบาล
ประมาณ 10 โมงเช้า ท่านนายอำเภอฝ่ากระแสน้ำด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อทรงสูง ผ่านมาทางประตูสำรองของ รพ.มาได้ ผมวานให้ท่านช่วยตรวจสอบปริมาณน้ำจากต้นน้ำ ทั้งจากตำบลประกอบ ตำบลสะท้อน และที่สำคัญคืออุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ท่านบอกผมว่า “น้ำยังมีอีกมากครับคุณหมอ”

ผมตัดสินใจใช้แผนขั้นสุดท้ายคือย้ายคนไข้ออกจากโรงพยาบาลทั้งหมด ถึงแม้ในขณะนั้นภายในโรงพยาบาลยังแห้ง แต่ภายนอกโรงพยาบาลเราถูกรายล้อมด้วยน้ำหมดแล้ว อยู่ได้เพราะเขื่อนกั้นน้ำและเครื่องสูบน้ำทำงานอยู่ตลอดเวลา ผมสั่งการให้หัวหน้าพยาบาลและหัวหน้าตึกเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดย set priority case เป็นประเภทตามความเร่งด่วนไว้

ประมาณ 11 โมง ของวันที่ 1 พฤศจิกายน รถยีเอ็มซี 3 คันจากค่ายทหาร ร5 พัน3 โดยการประสานงานของท่านนายอำเภอ พร้อมกำลังเกือบ 20 นาย เริ่มมาลำเลียงย้ายผู้ป่วย คนแรกที่ผมคิดถึงคือกัลยาณมิตรคนสำคัญ คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ที่โรงพยาบาลจะนะ ซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตร จัดการรับคนไข้ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อ 35 คนที่เหลือไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลนาหม่อม รวมส่งผู้ป่วยไปทั้งหมด 44 คน

ชุดแรกที่ส่งต่อคือกลุ่มเด็กที่ต้องใช้ incubator โชคดีมากครับ ที่เพิ่งซื้อตัวใหม่มา 2 ตัว ราคาตัวละ 5 แสน รู้เลยครับว่าคุ้มกับการรักษาชีวิตเด็กตัวน้อยๆ ได้อีก 2 คน การขนย้ายผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทุลักทุเล เพราะไม่ใช่ย้ายแต่ผู้ป่วย แต่หมายถึงญาติและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วยด้วย

ผู้ป่วยเที่ยวสุดท้ายถูกส่งต่อไปประมาณ 6 โมงเย็น พลทหารขับรถบอกผมขากลับเที่ยวสุดท้ายว่า ขับไปก็นั่งภาวนาสวดมนต์ไป ให้ปลอดภัยทุกๆ คน ชื่นชมน้องพยาบาลมาก เขาให้กำลังใจพลขับ พร้อมดูแลคนไข้ระหว่างทางไปด้วย ท่านที่นึกภาพไม่ออก ลองคิดดูว่า ระยะทาง 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงเป็นอย่างไร

ปฏิบัติการสู้สักตั้ง
สักบ่ายโมงสิ่งที่เราหนักใจที่สุดคือเขื่อนบริเวณฝั่งสถานีขนส่งนั้นทานความแรงของน้ำไม่ไหวแล้ว น้ำทลายเขื่อนเข้ามาจนพังพินาศ เสียงน้ำตกไหลเข้าโรงพยาบาลจนทีมงานสูบน้ำประสานมาว่าขอหยุดสูบเพราะสู้ไม่ไหวแล้ว ผมสั่งการทางวิทยุให้สูบน้ำต่อ เพื่อยื้อกับเวลาที่เราต้องย้ายคนไข้และย้ายข้าวของให้ได้มากที่สุด ระหว่างนี้การเคลื่อนย้ายท่ามกลางกระแสน้ำที่ขึ้น เชี่ยวและแรง เราใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง แบ่งกำลังกันย้ายข้าวของส่วนหนึ่ง ย้ายผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งที่ยังหลงเหลือ

อุปกรณ์ส่วนที่ย้ายไม่ได้เป็นอุปกรณ์ตัวใหญ่ เช่น ยูนิตฟัน เครื่องนึ่ง เครื่องอบผ้า เครื่องซักผ้า ก็พยายามถอดมอเตอร์ออก พนักงานช่างมือสั่นพลางถอดอุปกรณ์พลาง

พอสัก 4 โมงเย็น น้ำสูงมากจนพ้นแนวเขื่อนรอบโรงพยาบาล ถึงแม้เราจะเร่งบรรจุกระสอบทรายกลางสายฝน อุดรูรั่ว เสริมคันดินให้สูงขึ้น ยื้อเวลา เพราะคาดว่ามันไม่น่าจะสูงกว่านี้ แต่ผิดคาด น้ำมามากทั้งเร็วและแรง คราวนี้เครื่องสูบน้ำทั้ง 2 เครื่องเอาไม่อยู่ จนต้องยอมแพ้ น้ำจึงเข้าท่วมโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำบริเวณตึกอุบัติเหตุ ราว 1 เมตร บ้านพัก 1.5-2 เมตรต้องอพยพอยู่ตึกใหม่ทั้งหมด

ในวันนั้นไฟดับทั้งอำเภอ ทีมงานยังช่วยกันสร้างเขื่อนป้องกันโรงไฟฟ้าสำรองซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดต่อไป ช่วยกันวิดน้ำ สูบน้ำ ผลัดเวรเฝ้ากันทุกชั่วโมง จนถึงรุ่งเช้า เพราะถ้าไม่มีไฟ คนที่บนตึกในโรงพยาบาล 80 ชีวิตก็คงลำบาก ในจำนวนนี้มีคนไข้ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่เขากลับไม่ได้ เพราะน้ำท่วมเมืองไปหมดแล้ว

หลังจากนั้นเราก็ลุ้นกันว่า น้ำจะเข้าตึกใหม่ 2 ชั้นที่เรากำลังอยู่หรือไม่ โล่งใจเอาตอนเที่ยงคืน น้ำเริ่มทรงตัว อีกแค่คืบหน้า เราอาจต้องอพยพขึ้นชั้น 2 คืนนี้ชาวโรงพยาบาลนอนกันบนตึกใหม่กันอย่างอบอุ่น แต่ทุกคนก็หลับๆ ตื่นๆ พะวงกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เนื่องจากการสื่อสารถูกตัดขาดหมด

น้ำลดกับภารกิจที่ยังรอคอย
เช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 น้ำเริ่มลดระดับช้าๆ พอระดับน้ำภายนอกเริ่มลดต่ำกว่าภายในโรงพยาบาล สมาชิกช่วยกันกั้นกระสอบทรายใหม่ เริ่มระดมสูบน้ำออกอีกครั้ง แต่มีโจทย์ใหญ่ตามมาคือ น้ำมันสำรองใกล้หมด ทั้งใช้กับเครื่องปั่นไฟ และเครื่องสูบน้ำ หัวจ่ายน้ำมันในปั้มน้ำมันไม่ทำงานเพราะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ กัดฟันวัดดวงเราใช้เวลา 24 ชั่วโมง ก็สามารถทำให้น้ำภายในไม่ท่วมในอาคาร แล้วรีบล้างโคลน ไม่งั้นจะล้างยากมาก จึงใช้ไดโว่สูบน้ำที่กำลังลดนี่แหละฉีดล้างเบื้องต้น ได้ผลดีมาก เรียกว่าเอาเกลือจิ้มเกลือ

สำหรับการบริการ ทีมงานโรงพยาบาลปรับแผนโดยแบ่งกำลังไปออกหน่วยตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยขอรถทหารลุยเข้ามารับคุณหมอกัมปนาท จันทนะ และคณะไปออกหน่วยให้บริการชาวบ้านบริเวณชั้นสองธนาคารการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งอยู่ในเขตชุมชน อีกส่วนหนึ่งเริ่มมีคนไข้อาศัยรถยีเอ็มซีทหารเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล เราปรับรูปแบบที่ตึกใหม่ให้เป็นทั้ง ER LR และOPD ห้องยาแบบย่อส่วน เป็น 2 จุดใหญ่ที่ให้บริการประชาชน

ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่เริ่มลงไปสำรวจความเสียหายที่บ้านพักกัน โดนกันไปเต็มๆ ทุกบ้าน ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอน โซฟา จมน้ำจมโคลนกันเห็นๆ วันนี้ระบบสื่อสารบางส่วนเริ่มฟื้น สื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ ทีวี วิทยุหลายช่องมาสัมภาษณ์ ถึงแม้ข่าวจะไม่ค่อยออก เพราะความสนใจไปอยู่ที่หาดใหญ่เป็นหลัก แต่พวกเราก็มีความสุขที่ฝ่าวิกฤติมาได้ คืนนี้นอนกันบนตึกใหม่อีกเช่นเคย

เช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน เป็นวันแห่งการขัดล้างโรงพยาบาล ระดมคนลงล้างตามจุดสำคัญ โชคดีว่าระบบประปาของโรงพยาบาลช่างเราซ่อมได้แล้ว เริ่มมีน้ำใช้บ้าง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ติดน้ำอยู่ภายนอกเริ่มทยอยเข้ามาช่วยขัดล้าง โชคดีที่สองคือ ได้น้ำมันสำรองมาจากสงขลา โดยการประสานจากสสจ. รถทหารบรรทุกมาให้อุ่นใจไปอีกมาก

ช่วงเย็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลามาเยี่ยมให้กำลังใจ หลังจากนั้นเราสรุปงานประจำวัน เราตั้งเป้าว่าพรุ่งนี้ต้องเปิดบริการในส่วนหน้า คือ OPD และ ER ให้ได้

ในวันนั้นแม้โรงพยาบาลจะยังไม่เปิด แต่เราไม่ได้ปิดโรงพยาบาล คนไข้ที่หาทางมาจนได้ ส่วนใหญ่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเกือบทั้งนั้น ในช่วงวิกฤตินี้มีคนไข้ในสะสมเพิ่มขึ้นจนเกือบ 20 คน ถึงแม้ระบบออกซิเจนไม่ทำงาน X’ray ยังจมน้ำ ห้อง lab ก็จม แต่ทีมเจ้าหน้าที่ก็สามารถดูแลได้ตามสมควร

4 พฤศจิกายน สามารถเปิด OPD ได้ 3 ห้อง ช่วงสายๆ ทีม IT จัดการระบบให้ใช้งานได้บางส่วน ทหารจาก ร.5 พัน 3 ทีมเทศบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลล้างโรงพยาบาลรอบที่ 3 ซึ่งยังมีโคลนติดอยู่โดยรอบอีกครั้ง ต้องขอรถน้ำและรถดับเพลิงจากเทศบาลระดมมาช่วยกัน อีกส่วนก็เปิดบริการไปด้วย ถึงแม้ระบบยังไม่พร้อม เลยต้องมาใช้ระบบมือ (manaul) ทั้งหมด

ทีมจากศูนย์ช่างคือศูนย์วิศวกรรมจากสงขลาได้เข้ามากินอยู่พักค้างคืนตั้งแต่เมื่อวาน มาดูเครื่องซักผ้า อบผ้าให้ ช่วงเย็นสามารถงานอย่างละ 1 เครื่อง ทางทีมซักฟอกจัดเวรเป็นกะทำงานกัน 24 ชั่วโมง ทยอยซักผ้าที่จมน้ำกองเป็นภูเขาน้อยๆ คาดว่าใช้เวลาสัก 3 วัน น่าจะบรรเทาไปได้บ้าง

ทีม IT ก็ทำงานกันโต้รุ่ง ระบบบริการ HOSxp เริ่มใช้การได้บริเวณ OPD ห้องยา ER จนใช้ได้สัก 60 %
ส่วนระบบบริการเมื่อวาน ER เริ่มเปิดเวรบ่าย WARD เปิดได้ทั้งหมด 60 เตียง ทยอยรับผู้ป่วยจาก รพ.อื่นๆ มาแล้ว LAB เริ่ม CBC UA ได้ วันนี้เราจัดการเรื่องขยะเป็นหลัก ทีมเทศบาลมาช่วยเก็บ เริ่มทยอยเก็บในส่วนงานสนับสนุน ล้างบริเวณคลังพัสดุ

วันที่ 5 ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ได้ผ่านวิกฤตและเปิดบริการเต็มรูปแบบแล้ว

ภาค 2: ประสบการณ์วุ่นๆ ของโรงพยาบาลจะนะที่น้ำเกือบท่วม

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดสงขลาจากพายุดีเปรสชั่นที่ขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ลุ่มน้ำนาทวี เป็นอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่มีเรื่องราวน้ำท่วมใหญ่มาเล่าสู่กันฟัง อำเภอนาทวีอยู่บนเชิงเขา มีทางน้ำและคลองที่ไหลลงสู่อำเภอจะนะ ดังนั้นหากน้ำท่วมอำเภอนาทวี น้ำก็จะท่วมจะนะในอีกไม่นาน

ความวุ่นวายก่อนน้ำเข้าเมือง
ที่โรงพยาบาลจะนะน้ำเข้ามาที่สุดในประวัติศาสตร์การตั้ง รพ.นับตั้งแต่ปี 2516 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เมื่อน้ำป่าไหลบ่าเข้าตัวอำเภอนาทวี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนา ณ อำเภอนาทวี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงถูกน้ำท่วม น้ำเข้าตึกผู้ป่วย ไฟฟ้าดับ ทำให้ต้องมีการทยอยขนคนไข้กับรถทหารมารักษาต่อที่โรงพยาบาลจะนะรวม 35 คน กว่าจะเสร็จก็ตกเย็น ทีมของโรงพยาบาลจะนะฝากข้าวกล่องกลับไปกับรถทหารให้เจ้าหน้าที่นาทวี 100 กล่องเป็นอาหารเย็นที่กินตอนค่ำ ยอดวันนั้นคนไข้อยู่ที่ประมาณ 80 เตียง

โชคดีที่จะนะน้ำขึ้นตอนค่ำ และส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้าว่าน้ำจากนาทวีซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตรมาแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งก็รีบสมัครใจกลับบ้าน ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านในสถานการณ์วิกฤต คนไข้คนเฝ้าคงอยากกลับไปขนของหนีน้ำกัน ก็ถือว่าโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงมีคนไข้ไม่แน่นเกินไป ตอนนั้นหมอเภสัชพยาบาลจะนะก็ปั่นป่วนกับคนไข้ที่ทะลักเข้ามาเหมือนน้ำป่า พอตกค่ำเรื่องคนไข้ก็เข้าที่เข้าทาง

ช่วงเช้าวันนั้น เมื่อคาดเดาได้ว่าน้ำท่วมใหญ่แน่ ทางโรงพยาบาลก็มีการประสานรถเติมออกซิเจนเหลวให้เข้ามาเติมออกซิเจนเหลวให้เต็มเป็นกรณีพิเศษโดยที่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเติม ซึ่งบริษัทเขาอยู่ที่หาดใหญ่ก็ยินดีมาเติมให้ ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปตลาดตุนอาหารสดเพิ่มขึ้นอีก เผื่อว่าจะท่วมหลายวัน ตุนน้ำมันสำหรับรถทุกคันให้เต็มถัง สั่งก๊าซหุงต้มถังใหญ่มาเพิ่มอีก 2 ถัง น้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟพร้อมแล้ว ข้าวสารอาหารแห้งพร้อมนานแล้ว เงินสดในมือก็พร้อมมีเงินอยู่เกือบ 50,000 บาท เพราะช่วงน้ำท่วมไฟดับ ธนาคารปิด ATM ไม่ทำงาน เงินสดเท่านั้นที่จะจับจ่ายได้

ข่าวน้ำจะท่วมจะนะ ในบ่ายวันนั้น ญาติคนไข้ก็พาคนไข้ขาประจำ 3-4 คน เช่นคนไข้ถุงลมโป่งพอง คนไข้สูงอายุที่บ้านชั้นเดียว พามาฝากนอนที่โรงพยาบาล แบบนี้เรียกว่า ชาวบ้านเขาทีการเตรียมตัว

ตอนเย็นเลิกงาน เป็นช่วงวัดใจ น้ำกำลังเข้าจะนะ ใครจะกลับบ้านเพราะห่วงบ้านก็คงเดาได้ว่า คงกลับมาไม่ได้แล้วในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่รีบกลับก็คงไม่ได้กลับ ผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่า ปีนี้ดูท่าน้ำสูงกว่าทุกครั้ง หมอที่อยู่เวรก็เป็นน้องๆ ใช้ทุน ภรรยากลับบ้านแล้ว คงไปขนของที่ร้านขายยา ขออยู่เป็นกำลังใจและอำนวยการตามหน้าที่ให้โรงพยาบาลแล้วกัน ก็เลยนอนที่โรงพยาบาล

โกลาหลเมื่อน้ำเริ่มเข้าโรงพยาบาล
ตกค่ำน้ำขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอย่างน่ากลัว ในตลาดท่วมหมดแล้ว แต่ตัวโรงพยาบาลตั้งในที่ที่สูงที่สุดของตลาด มองไปเห็นโรงพัก ที่ว่าการอำเภอ ท่วมแล้ว น้ำเข้าโรงพยาบาลเริ่มท่วมโรงซักฟอก เครื่องซักผ้าเริ่มจมไปสัก 1 ฟุต ก็ยังพอไหว สัก 3 ทุ่ม ผู้คนในโรงพยาบาลแตกตื่น เพราะกลัวว่าน้ำที่ท่วมถนนในโรงพยาบาล ซึ่งสูงกว่าถนนภายนอกเป็นฟุต แต่น้ำที่สูงขึ้นจนน่ากลัวว่าจะท่วมรถ จึงต้องมีการจัดระเบียบการจอดรถกับอย่างโกลาหล ทั้งรถส่วนตัวและรถโรงพยาบาล เอาขึ้นจอดตรงทางเชื่อมบ้าง ขึ้นที่สูงสักนิดบ้าง จนเรียกว่ามีรถจอดเต็มทางลาดที่เอาผู้ป่วยเข้าตึกบริการ หากมีคนไข้มาต้องกางร่มแล้วหามมาขึ้นทางบันได เพราะรถจอดเต็มหมดแล้ว แต่คืนนั้นคนไข้น้อยมาก ส่วนใหญ่คงโกลาหลกับการขนของหนีน้ำ และถนนเส้นหลักน้ำท่วมจนยากที่จะเดินทางแล้ว

ตกค่ำนั้นเองไฟฟ้าก็ดับลงทั้งอำเภอ เครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลดังกระหึ่มในท่ามกลางความเงียบสงัด แสงไฟทั้งอำเภอมีแต่โรงพยาบาลเท่านั้นที่สว่าง มองไปจากชั้น 4 ของอาคารผู้ป่วยในเห็นแต่โรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ ที่มีท้องฟ้าสีสว่าง ซึ่งแปลว่าทั้งอำเภอน่าจะมีเพียง 3 แห่งที่มีไฟฟ้า เรียกว่า โคตรน่าอิจฉาที่สุดในอำเภอ ส่วนโรงพักและที่ว่าอำเภอที่ควรเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนนั้นมืดสนิท

การสื่อสารถูกตัดขาดหลังไฟฟ้าดับไม่นาน เข้าใจว่าเสารับส่งสัญญาณมือถือคงแบตตารี่หมด โทรศัพท์พื้นฐานใช้ไม่ได้ เป็นคืนที่เงียบสงบ ดึกน้ำทรงตัว ไม่ท่วมสูงจนเข้ารถที่จอดไว้ ท่าทางจะไม่วิกฤตกว่านี้แล้ว

มื้อเช้าทุกคนไปกินข้าวต้มไก่ได้ที่โรงครัว โรงครัวเลี้ยงอาหารทุกมื้อกับทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนไข้ ญาติและเจ้าหน้าที่ ถนนไม่มีรถวิ่ง มีแต่คนเดินลุยน้ำระดับเอวเดินชมเมืองในอีกบบรรยากาศ หมอในโรงพยาบาลวันนี้มีตั้ง 4 คน ช่วยกันไป round ward 2 คน อีก 2 คนก็อยู่เฝ้าห้องฉุกเฉิน เป็นวันที่มีคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยที่สุด คือประมาณ 30 คน และไม่น่าเชื่อว่ายังมีคนเดินลุยน้ำมาโรงพยาบาลตั้ง 30 คน เกือบครึ่งหนึ่งคือคนไข้กลุ่มสำคัญที่โรงพยาบาลจะนะให้บริการเขามายาวนาน คือคนไข้กลุ่มที่ติดเฮโรอีน แล้วมารับยาเมธาโดนทดแทนทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ไม่น่าเชื่อคนกลุ่มนี้แม้น้ำจะท่วม แต่เขาก็บากบั่นลุยน้ำมากินยา แสดงว่าโรคสมองติดยานี้ทรมานจริงๆ น้ำท่วมหากพอมาได้ก็ยังมาดีกว่าขาดยา

ฟอร์มาลีนกับเรื่องราวที่นึกไม่ถึง
ตอนเช้านั้นเอง พยาบาลได้แจ้งว่าคนไข้บนตึกอาการหนัก เป็นผู้ป่วยชายสูงอายุที่มาจากนาทวี เป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว กลับมานอนรักษาต่อที่นาทวีได้ 1 วันก็ต้องย้ายหนีน้ำมาที่โรงพยาบาลจะนะ

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรรกิจ เล่าว่า ผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึม หายใจติดๆ คุยกับญาติว่าคงไม่ไหว ญาติเข้าใจลงความเห็นร่วมกับหมอว่าไม่ส่งต่อ สภาพของผู้ป่วยชัดเจนแล้วว่าไม่นานคงสิ้นลมแน่ ผมเลยถามหาฟอร์มาลีนจากห้องยา ปรากฏว่าไม่มี ไม่ได้เตรียมไว้ ไปได้จากห้อง lab ที่เขาไว้ดองชิ้นเนื้อมาแค่ 400 ซีซี ก็ยังดี โรงพยาบาลชุมชนไม่มีตู้เย็นเก็บศพ หากเสียชีวิตอีกวันเดียวก็เน่าเหม็นแล้ว พอเที่ยงผู้ป่วยก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ พยาบาลก็เริ่มหยดฟอร์มาลีนทางน้ำเกลือ เพื่อรักษาศพไว้ ไม่รู้เมื่อไรจะกลับบ้านได้ในสภาวะที่น้ำท่วมสูงเช่นนี้

ช่วงบ่าย 3 โมง รถทหารคันใหญ่มาส่งยาน้ำท่วม แล้วเขาจะไปส่งยาต่อที่โรงพยาบาลนาทวีต่อพอดี มีคนไข้และญาติขอติดรถเสี่ยงไปลงกลางทางหลายคน ผมเลยขอฝากศพนี้ไปกับญาติฝากไปให้ถึงตลาดนาทวีด้วย ปรากฏว่าคนอื่นที่จะพลอยไปกลับรถขอลงหมดทั้งคัน ไม่มีใครยอมไปด้วยเลย โวยวายกันบ้าง ผมก็บอกว่า คนเป็นไม่เน่ารอได้ คนตายรอไม่ได้ กลับไปที่ตึกคนไข้ไปพักและหาข้าวกินก่อนแล้วกัน แล้วรถทหารที่ขนยาและศพก็ออกไปจากโรงพยาบาล

คุณหมอที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาก็มีคนไข้เสียชีวิตในโรงพยาบาลตอนน้ำท่วมอำเภอเช่นกัน แต่โรงพยาบาลรัตภูมิแก้ปัญหาด้วยการให้คนลุยน้ำไปยืมโลงเย็นมาจากวัดมาเสียบไฟฟ้าที่โรงพยาบาล รอจนน้ำลดจึงส่งมอบศพให้ญาติไปทำพิธีกรรมต่อไป

น้ำเริ่มลด ชีวิตแห่งความวุ่นวายก็เริ่มต้น
ในวันที่ 2 โรงพยาบาลตึกหน้าไม่มีน้ำใช้ เพราะเครื่องสูบน้ำบาดาลขึ้นหอถังสูงจมน้ำเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเราไม่เคยนึกถึง มอเตอร์เครื่องสูบน้ำจมน้ำ แต่ตึกผู้ป่วยในยังมีน้ำใช้เพราะเป็นคนละระบบกัน ความเดือดร้อนจึงไม่มาก เครื่องปั่นไฟยังทำงาน 24 ชั่วโมง น้ำมันที่มีพอใช้อีก 2 วัน โรงพยาบาลกลายเป็นที่รับบริการชาร์จแบตตารีมือถือประจำอำเภอ

คืนที่ 2 น้ำเริ่มลดลงในช่วงค่ำ ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำท่วมลดลงคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทันที น้ำลดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เริ่มขึ้น แต่การสื่อสารยังแย่มาก ทำให้การตรวจสอบเส้นทางการส่งต่อยากลำบาก ว่าเส้นทางไหนไปได้ไปไม่ได้ หลักๆ ก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลสงขลา เพราะหาดใหญ่ยังจมน้ำอยู่ ตกดึกการไฟฟ้าเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า แต่การสื่อสารยังยากลำบาก

ภาพรวมโรงพยาบาลก็มีอาคารซักฟอกจ่ายกลาง อาคารกายภาพบำบัด ศาลาละหมาด ซึ่งเป็นอาคารแนวเดียวกันที่ตั้งในที่ลุ่มที่สุดของโรงพยาบาลท่วมระดับเกือบหัวเข่า ความเสียหายมีเล็กน้อยคือ เครื่องซักผ้าเสีย เครื่องสูบน้ำ และเครื่อง compressor เป่าลมของยูนิตทำฟัน แต่ทั้งหมดนี้ซ่อมได้

วันที่ 3 น้ำในโรงพยาบาลแห้งสนิทแล้ว ถนนเส้นหลักเดินทางได้ มีแต่บ้านที่อยู่ในที่ลุ่มที่ยังมีน้ำท่วม คนไข้เริ่มมาโรงพยาบาลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนไข้เรื้อรังเบาหวานความดันที่ยาลอยไปกับสายน้ำแล้ว หมอที่ติดน้ำอยู่หาดใหญ่ก็มาโรงพยาบาลได้แล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นพอรับมือกับผู้ป่วยไหว คนที่อยู่เวรสลับกันเฝ้าโรงพยาบาลมาตลอด 2 วันก็ไปพัก คนใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน

เพราะหมอในโรงพยาบาลจะนะมีน้อย และชาวบ้านต้องการยาพื้นฐานมากกว่าต้องการหมอ ทางโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเลยจัดหน่วยพยาบาลออกไปกับรถพยาบาลฉุกเฉินไปแจกจ่ายยา ออกไปเป็น 3 สาย แวะเป็นจุดจุดละสัก 1 ชั่วโมง แล้วก็ไปต่อจุดอื่น บางส่วนก็ฝากยาสามัญประจำบ้านไว้ที่บ้าน อสม.ให้เป็นจุดกระจายยา จัดบริการแบบนี้สัก 3 วันก็หยุดลงเพราะน้ำลด ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งตนเองและเดินทางสะดวกแล้ว

สภาพหลังน้ำท่วม พบแต่ขยะทั้งอำเภอ บ้านชาวบ้านกว่าครึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว น้ำท่วมครั้งนี้สูงกว่าทุกครั้ง ทำให้บ้านชั้นเดียวนั้นน้ำท่วมสูงจนข้าวของเสียหายหมด โดยเฉพาะรถเครื่องและเครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำหมด เสื้อผ้าที่นอนหมอนฟูกเปียกน้ำจนแทบจะใช้ไม่ได้ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงด้านสุขภาพจิตมากเป็นพิเศษ แต่แต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป คุณหมอสุภัทรบอกว่า “ผมคิดเอาเองว่า ชาวบ้านเขาเผชิญความทุกข์ยากมาทั้งชีวิต ความคิดฆ่าตัวตายหรือเครียดจัดจนต้องมาหาหมอจึงไม่มากเหมือนคนเมือง”

สุดท้ายต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่เลือกทำเลในการตั้งโรงพยาบาลจะนะได้เหมาะสมแล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net