Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ให้แก่ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ย้ำรัฐบาลมุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายในทุกด้าน

วันที่ 17 ธ.ค. 2553 เวลา 11.45 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวมอบนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย แก่ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ในการประชุมมอบนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย "นายกรัฐมนตรีพบ CGEOs" จัดโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการประชุมและกล่าวมอบนโยบายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย สรุปสาระสำคัญว่า ประเด็นปัญหาในเรื่องของการส่งเสริมสถานสภาพสตรี ความเสมอภาคหญิงชาย และการพัฒนาในภาพรวม ไม่ใช่เป็นปัญหาซึ่งมีอยู่เฉพาะในสังคมไทย แต่เป็นปัญหาซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทางสหประชาชาติ ที่องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในสหัสวรรษ ที่มีเป้าหมายให้กระบวนการการพัฒนาในแต่ละประเทศสามารถที่จะตอบสนองประชากรได้ทุกกลุ่ม และสามารถกระจายประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการจัดการประชุมเพื่อประเมินความก้าวหน้าในเรื่องของการบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ ที่สหประชาชาติเมื่อประมาณปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในส่วนของประเทศไทยเราสามารถที่บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้เป็นส่วนใหญ่ และยังมีเวลาในการที่จะพยายามทำให้เกินเป้าหมายที่เป็นเป้าหมายพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเป้าหมายแห่งสหัสวรรษบวก ทั้งนี้ ในการรายงานผลของการประเมิน และการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในเรื่องนี้ มีการพัฒนาทางด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคของหญิงชาย ที่ปรากฏว่าประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่การบรรลุเป้าหมายในด้านอื่นค่อนข้างที่จะทำได้ดีมาก จึงเป็นจุดหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนในส่วนของผู้ที่รับผิดชอบทั้งในภาครัฐ และในภาคเอกชนในสังคมด้วย ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทั้งหญิงชาย และการสร้างโอกาสให้แก่สตรี ยังคงเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนมีความจำเป็นที่จะต้องระดมกำลังและประสานความร่วมมือกันเพื่อที่จะแก้ไขในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ตระหนักถึงประเด็นของความเสมอภาคของหญิงชายและสิทธิของสตรีมาโดยลำดับ นับตั้งแต่บทบัญญัติที่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับปัจจุบัน จนถึงการที่ประเทศไทยมีการรับรองอนุมัติกรณีระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการผลักดันเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยได้มีบทบาทมีส่วนร่วมในการทำงานทางด้านนี้ เมื่อมีพันธกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในอนุสัญญาระหว่างประเทศ และจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเราได้พยายามที่จะปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติมกฎหมาย หรือตรากฎหมายใหม่ ซึ่งนำไปสู่เรื่องการพัฒนาความเสมอภาคของหญิงชายและการให้โอกาสและสิทธิของสตรีมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันนี้คณะรัฐมนตรีได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างประเทศ พ.ศ. .... โดยอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมไปถึงการที่เรายังคงดำรงข้อสงวนในอนุสัญญา ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการที่จะมีการยกเลิกข้อสงวนต่าง ๆ ดังนั้น เรื่องการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเป็นการรองรับ ยืนยัน และแสดงเจตนารมณ์ในการที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคของหญิงชายนั้น เป็นนโยบายที่มีความชัดเจน และยังมีความต่อเนื่อง และจะมีการผลักดันต่อไปในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาหนึ่งของสังคม ที่ตนได้พยายามกระตุ้นทุกหน่วยงานให้ตื่นตัว ในเรื่องของการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรหรือโดยไม่มีความพร้อม ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งตนยังรู้สึกดีใจว่าเริ่มได้ยินเสียงของสังคมดังขึ้นว่า ปัญหาเช่นนี้เป็นปัญหาที่ผู้ชายจะต้องมีส่วนรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น แทนที่จะมองว่าเป็นเพียงปัญหาของผู้หญิงเท่านั้น และจะมีปัญหาอีกมากซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ตนได้เข้ามาทำงาน 2 ปีนี้ได้พยายามที่จะผลักดันเพื่อให้เกิดความเริ่มต้นจากการรับรู้ ไปสู่ความเข้าใจ ไปสู่การตื่นตัวเพื่อที่จะนำไปสู่มาตรการที่มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องหนึ่งที่ได้มีการพยายามผลักดันมากเป็นพิเศษและจะอยู่ในแผนของการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป คือการเอื้ออำนวยต่อผู้หญิงที่ทำงานและมีภาระในเรื่องของการเลี้ยงดู ซึ่งนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดัน คือการมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่กำหนดเป้าหมายว่าจะต้องมีครบทุกตำบล และการผลักดันให้มีการดูแลเรื่องนี้ในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการ ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วครับแต่ว่ายังไปได้ช้ากว่าที่หลายฝ่ายต้องการจะเห็น และในส่วนที่ยังไม่สามารถผลักดันได้ดังใจคือการที่จะทำให้มีการยกเว้นภาษีอากร หรือให้สิทธิประโยชน์จูงใจทางด้านภาษีอากร เพื่อให้ผู้ประกอบการสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็ก หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ทำงานและมีภาระทางด้านนี้ ฉะนั้นจากนี้เราจะพิจารณาเพียงแต่ภาพใหญ่ของกฎหมาย หรือกฎระเบียบไม่ได้ แต่ถึงเวลาที่จะต้องทำงานลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้น ดูความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เพื่อที่จะเดินหน้าในการกำจัดข้อจำกัดเรื่องของโอกาสต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสตรี ซึ่งสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมของผู้คนในสังคม ที่จะประสบความสำเร็จได้คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องครอบคลุมให้ได้ทุกภาคส่วน

" ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้จะมีบทบาทสำคัญทั้งสิ้น ในการที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากการถูกกำหนดให้เป็นผู้บริหารทางด้านนี้ คือจะต้องสามารถนำไปสู่เรื่องของการกำหนดนโยบาย ควบคุมดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี แล้วก็ทำให้มีการดำเนินงานไปในทางทิศทางเดียวกัน คือการเสริมสร้างปรับเปลี่ยนเจตคติด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ทั้งในหน่วยงาน แล้วก็ในภารกิจการงานซึ่งหน่วยงานของท่านมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปหรือบุคคลภายนอก ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างความตื่นตัว ความเข้าใจก็คงยังเป็นหน้าที่หลักที่ต้องดำเนินการ แล้วจะต้องให้สภาวะแวดล้อมทั้งหลายนั้นเอื้อต่อการคำนึงถึงมิติหญิงชาย และเอื้อต่อประสิทธิภาพของการทำงานสูงสุด ทั้งนี้ ในเรื่องของการมีสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก ห้องให้นมหรืออะไรก็ตาม ถ้าหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเริ่มต้นผลักดันได้เป็นรูปธรรม นอกจากเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานแล้วนี้ จะเป็นรูปธรรมที่ทำให้คนมีความตระหนักในมิติในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น ในการสร้างความเข้าใจในวงกว้าง" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นหลักที่จะต้องถือเป็นนโยบายสำคัญ นอกเหนือจากที่เป็นนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับท่านผู้บริหารหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบในเรื่องการเสริมสร้างความเสมอภาค ขอให้ได้ทำความเสมอภาคทั้งสองส่วน คือความเสมอภาค ความเป็นธรรมของข้าราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในหน่วยงาน และส่วนที่สองความเสมอภาคหรือความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับผลจากการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานด้วย โดยผู้บริหารหน่วยงานจะต้องมีหน้าที่นำเอาเรื่องมิติของหญิงชายและความเสมอภาค เข้าไปอยู่ในการทำงานด้วย ทั้งนี้ ที่สุดแล้ว ความสำเร็จของงานทางด้านนี้จะอยู่ที่การที่ผู้ปฏิบัติเปิดใจยอมรับเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และนำไปสู่การสามารถที่จะเปิดใจคนอื่น ที่ยังอาจจะไม่ตระหนักหรือยังขาดทัศนคติที่สอดคล้องกับเรื่องของความเสมอภาค ซึ่งทั้งหมดต้องยึดมั่นในเรื่องหลักการของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงและชายที่เท่าเทียมกัน และความรักความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ล่วงละเมิดต่อกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมให้เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมดีงาม มีความเป็นธรรม มีความสงบสุข มีความสมานฉันท์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net