Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีชุมนุมศาลากลาง ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ สอบ อุตสาหกรรมจังหวัด ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ แกนนำหวั่นอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าข้างบริษัทสัมปทานเหมือง

วันนี้ (21 ธันวาคม) ณ  หลังศาลากลางจังหวัดอุดรธานี  ซึ่งอยู่ตรงบริเวณห้องทำงานของผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ได้มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ทำการชุมนุมเพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี และยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย  นายรังสรรค์   บุญสะอาด  วิศวกรชำนาญการพิเศษ  รักษาราชการแทนอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  ในกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ  โดยออกหนังสือราชการประชาสัมพันธ์ค่าตอบแทนพิเศษลอดใต้ถุน  ส่งไปยังหน่วยงานราชการและผู้นำส่วนท้องถิ่น  ในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี

โดยบรรยากาศการชุมนุมในช่วงเวลา 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ทำการตั้งขบวนบริเวณ  สถานีรถไฟ จังหวัดอุดรธานีแล้วเดินรณรงค์ไปตามถนนโพธิ์ศรีไปจนถึงบริเวณหลังที่ทำการศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้ใช้รถติดเครื่องขยายเสียง มีตัวแทนชาวบ้านสลับการขึ้นปราศรัย เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในเมือง  ต่อสถานการณ์การผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี  โดยเฉพาะกรณีการปักหมุดรังวัดที่ขัดรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานราชการในท้องถิ่นและส่วนกลางไม่มีความเป็นกลางเลือกข้างบริษัทโปแตซในการผลักดันโครงการเหมืองฯ  ทั้งนี้ การเดินรณรงค์ของชาวบ้านได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองอุดรฯ เป็นอย่างดี โดยคนเมืองที่ให้ความสนใจต่อปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ทำการซักถามพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านและรับเอกสารใบปลิวของชาวบ้านไปศึกษา  อีกทั้งได้มีกลุ่มชาวเมืองที่เข้ามาให้กำลังใจชาวบ้านในการชุมนุม  พร้อมทั้งนำยา อาหาร น้ำดื่มมาช่วยเหลือชาวบ้านตลอดทั้งวันอย่างมิขาดสาย

สืบเนื่องจาก  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร.  ได้ดำเนินการปักหมุดรังวัดเพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี  ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา  ซึ่ง กพร.  ได้ทำการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าได้ทำการปักหมุดรังวัด ในเขตคำขอประทานบัตรแหล่งอุดรใต้ แล้วเสร็จ 6 จุด จำนวน 4 แปลง เป็นเนื้อที่ 26,446 ไร่ หลังจากนั้น  ในวันที่ 3 พฤศจิกายน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  ก็ได้ทำการออกหนังสือราชการประชาสัมพันธ์ส่งไปยังนายอำเภอเมือง  นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม  และผู้นำชุมชน ในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ  เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองฯ  ไปลงชื่อเพื่อรับเงินค่าตอบแทนพิเศษลอดใต้ถุนในราคาไร่ละ 1,000 บาท  การดำเนินการของ กพร. ดังกล่าว  ได้เป็นที่กังขาถึงขั้นตอนการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกของชาวบ้านในพื้นที่  ทว่า พฤติกรรมของอุตสาหกรรมจังหวัดที่รับลูกต่อ จาก กพร.  โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ จำกัด ในการเดินหน้าโครงการเหมืองฯ  ได้เป็นเงื่อนไขให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ต้องออกมาชุมนุมคัดค้านเพื่อยื่นข้อเสนอให้มีการสอบสวนถึงพฤติกรรมของอุตสาหกรรมจังหวัด  เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกำชับให้ผู้นำท้องท้องถิ่นวางตัวเป็นกลาง และเสนอให้องค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการศึกษาผลกระทบในระดับยุทศาสตร์ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน หรือ SEA

ด้าน นายบุญเลิศ   เหล็กเขียว  แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวถึงการมาชุมนุมและรณรงค์ของชาวบ้านในวันนี้ว่า

“วันนี้เราได้เห็นแล้วว่า  ผู้ว่าอุดรได้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  เพราะเรามาทำการติดต่อขอพบผู้ว่ามาแล้วหลายครั้งแล้ว  เพื่อจะเล่าสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งกรณีเหมืองโปแตซให้ผู้ว่ารับฟังเพื่อช่วยแก้ไข  แต่ผู้ว่ากับหนีพวกเราทุกครั้ง  รวมทั้งครั้งนี้ด้วย  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปชาวบ้านจะพึ่งพาใครได้อีก  ส่วนการรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในเมืองต่อกรณีปัญหาเหมืองโปแตซนั้น  ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจเพราะคนในเมืองให้ความสนใจและมีความเข้าใจสภาพปัญหาและผลกระทบจากเหมืองเพิ่มขึ้น  และมีท่าทีในการสนับสนุนต่อจุดยืนของกลุ่มในการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตซต่อไป”

ด้านนายสุวิทย์   กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  ได้เสนอความคิดเห็นต่อปัญหากรณีการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี  แล้วนำมาซึ่งการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในวันนี้ ว่า

“สิ่งสำคัญคือ อุตสาหกรรมจังหวัด และ กพร. จะต้องสร้างความไว้วางใจแก่ชาวบ้านให้ได้ก่อน เพราะจะดำเนินโครงการขนาดใหญ่  ประชาชนจะต้องมีความเชื่อมั่น และให้การยอมรับ ว่าหน่วยงานรัฐมีความเป็นกลาง  แต่ที่ผ่านมา  พฤติกรรม ที่ กพร. และอุตสาหกรรมจังหวัดแสดงออกมันมีความโน้มเอียงในการเข้าข้างบริษัทในการผลักดันโครงการเหมือง  โดยเฉพาะกรณีที่ นายรังสรรค์ ทำหนังสือราชการประชาสัมพันธ์เรื่องเงินค่าลอดใต้ถุน  มันดูเหมือนว่าช่วยบริษัทในการติดสินบนชาวบ้านรึเปล่า  อีกทั้งเป็นการกระทำที่เกินบทบาทหน้าที่ อุตสาหกรรมกรรมจังหวัดน่าจะทำหน้าทีของตัวเองอย่างเป็นกลางเช่น การสร้างความเข้าใจถึงผลดีและผลเสียจากการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างชัดเจน”

สุวิทย์  ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ในส่วนเรื่องการทำ SEA หรือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสานนั้น  ทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะให้ กพร. เป็นผู้ดำเนินการ  เพราะไม่ได้ระบุไว้ในข้อกฎหมาย  ควรให้ องค์กรอิสระที่มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการ  เพราะถ้าเป็น กพร.  ซึ่งมีความโน้มเอียงในการสนับสนุนให้เกิดโครงการเหมืองแร่โปแตซอยู่แล้ว  เมื่อ กพร. เป็นดำเนินการศึกษา SEA  ผลการศึกษาก็จะออกมาว่าโครงการเหมืองแร่โปแตซต้องเกิด  ซึ่งเป็นเหมือนกับธงที่ตั้งไว้แล้ว”

ในช่วงเวลา 15.00 น.  ได้มีตัวแทนจากส่วนจังหวัดมารับหนังสือข้อเสนอของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  และหลังจากนั้น  แกนนำชาวบ้านได้ทำการอ่านแถลงการณ์เพื่อประณามพฤติกรรมข้าราชการที่วางตัวไม่เป็นกลางเลือกข้างบริษัทในการผลักดันโครงการเหมืองฯ  แล้วก็ทำพิธีเผาหุนฟางจำลองเป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ  เอื้ออำนวยความสะดวกให้บริษัทโปแตซผลักดันโครงการเหมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net