สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 6 - 17 ธ.ค. 2553

มหาชัยเปิดต่อใบอนุญาต ต่างด้าวพม่า-ลาว-กัมพูชา

นายพิชิต นิลทองคำ จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้กำหนดการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้า เมืองสัญชาติพม่า-ลาว-กัมพูชาที่ได้รับอนุญาตทำงานซึ่งหมดในปี 2554 จำนวน 2 กลุ่ม คือกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2554 และกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ที่จะต้องดำเนินการต่ออายุในอนุญาตทำงาน จำนวน 99,286 คน

โดยขณะนี้ใบอนุญาตทำงานที่ได้รับ อนุญาตกำลังจะหมดอายุซึ่งแรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ปี 2554 ให้แล้วเสร็จก่อนใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุมิฉะนั้นจะไม่ได้รับผ่อนผันให้ อยู่ในราชอาณาจักร ประกอบกับกฎกระทรวงแรงงานกำหนด และจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อป้องกันคนต่างด้าวกลับออก ไปนอกราชอาณาจักรมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นผลให้นายจ้างต้องหักเงินคนต่างด้าวสัญชาติพม่า-ลาว-กัมพูชาในเดือน ธันวาคม 2553 และนำส่งเข้ากองทุนฯ งวดแรกภายในวันที่ 15 มกราคม 2554 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว กลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้ขอให้นายจ้างพาแรงงาน ต่างด้าวไปตรวจสุขภาพได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2554 พร้อมทั้งเตรียมนำเอกสารหลักฐานไปยื่นคำขอต่อใบอนุญาตทำงานที่สำนักงาน จังหวัดสมุทรสาคร และเพื่ออำนวยความสะดวก สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร จะเปิดให้บริการทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ

(บ้านเมือง, 7-12-2553)

เตือนหักเงินต่างด้าวเข้ากองทุนส่งไม่ครบเก็บนายจ้างร้อยละ 2

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหาการงาน กล่าวว่า นายจ้างที่พาแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ไปต่อใบอนุญาตทำงาน จะต้องหักค่าจ้างจากแรงงานต่างด้าวเพื่อนำส่งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าว กลับอออไปนอกราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2553 โดยเริ่มเก็บงวดแรกในวันที่ 1-17 มกราคม 2554

ทั้งนี้นายจ้างจะต้องหักเงินค่าจ้าง จากแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และลาวเดือนละ 400 บาท เป็นเวลา 6 เดือน รวม 6 เดือน รวมทั้งสิ้น 2,400 บาท ส่วนแรงงานสัญชาติ กัมพูชา หักเดือนละ 350 บาท รวม 6 เดือน จำนวน 2,100 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่คิดตามระยะทางไปยังชายแดน ค่าเดินทางและค่าอาหาร โดยให้นายจ้างหักเงินจากลูกจ้างต่างด้าวแล้วนำส่งที่สำนักงานจัดหางาน จังหวัด หรือสำนักจัดหางานกรุงเทพฯเขตพื้นที่เพื่อนำส่งเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ส่วนกรณีที่มีการเปลี่ยนนายจ้าง ก่อนที่ลูกจ้างจะส่งเงินเข้ากองทุนครบ 6 งวด ตามที่กำหนดนั้น อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า ให้นายจ้างใหม่มีหน้าที่หักเงินค่าจ้างของลูกจ้างจนครบ หากนำส่งไม่ครบ 6 งวด นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของเงินค่าจ้างที่ไม่ได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม หากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับถิ่นกำเนิดถาวร สามารถรับเงินค่าส่งกลับได้เต็มจำนวนที่นำส่งส่วนกรณีที่เดินทางกลับไปพัก แล้วกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง ก็ไม่ต้องส่งเงินสมทบใหม่ เพราะมีเงินสมบทที่จ่ายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งลูกจ้างคนต่างด้าว หรือผู้ถูกสั่งเนรเทศกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และเพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวหลบหนีนายจ้าง

(คมชัดลึก, 7-12-2553)

สาวโรงงานไม่กล้าแต่งงานกลัวรายได้ไม่พอเลี้ยงลูก

7 ธ.ค. 53 - น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอพบว่ามี 10% ที่ไม่กล้าแต่งงานเพราะเกรงว่ารายได้ประจำวันจะไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดู ลูกซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อีก 50% เมื่อแต่งงานแล้วเลือกที่จะมีลูกเพียงคนเดียวและอีก 30% มีลูก 2 คน

จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าค่าแรง ขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ ที่แท้จริง ไม่ได้สะท้อนภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน คสรท.ยืนยันว่าอัตราค่าแรงที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต้องอยู่ที่ 421 บาท/วัน การที่ค่าแรงต่ำจนคนไม่กล้าแต่งงานมีลูกจะส่งผลต่ออนาคตของกำลังแรงงานใน อนาคตเพราะกำลังแรงงานก็จะมีน้อยลงในอนาคต

วันที่ 9 ธ.ค. คณะกรรมการค่าจ้างกลางจะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง จากแนวโน้มคงปรับที่ 10 บาทซึ่งเราคิดว่ายังไม่สะท้อนความเป็นจริงในการใช้ชีวิตอยู่ดี อีกทั้งค่าแรงยังมีความเหลื่อมล้ำกันสูงมากที่กทม.ค่าแรง 206 บาท/วัน ขณะที่พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร ตากมีค่าแรงแค่ 151-152 บาท/วัน ดังนั้นขอให้พิจารณาตัวเลขที่สะท้อนคุณภาพชีวิตแรงงานและมีค่าจ้างที่เท่า กันทั่วประเทศน.ส.วิไลวรรณกล่าว

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาท/วันนั้น คสรท.ขอเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำพูดด้วย อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนเป็นที่ผิดหวังของผู้ใช้แรงงาน เพราะถ้านายกฯพูดแล้วทำไม่ได้หลังจากนี้จะหวังอะไรจากคนที่เป็นผู้นำประเทศ ได้อีก

(โพสต์ทูเดย์, 7-12-2553)

7 แรงงานไทยกลับจากลิเบียรอดพ้นขุมนรกกลับสู่บ้านเกิดแฉความอัปยศ

7 ธ.ค. 53 - ความคืบหน้าปัญหาแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.53 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มแรงงานไทย 7 คนได้รับการส่งตัวกลับประเทศไทยตามความต้องการแล้วเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้งได้รีบรุดมาขอบคุณและขอความช่วยเหลือจาก "นสพ.สยามรัฐ" ตีแผ่ความเดือดร้อนของแรงงานไทยในลิเบียต่อไป หลังจากพวกเขาไปทำงานลิเบียผ่านบริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนาจำกัด โดยทำงานกับนาย จ้างบริษัท แรนฮิลล์(RANHILL) แล้วเงินเดือนค่าจ้างไม่ได้รับตรงตามที่บริษัทนายจ้างระบุเอาไว้ก่อนเดินทาง อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างใหม่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น วันหนึ่งเดินทางกลับไปกลับมาไซต์งานระยะ 3-6 กิโลเมตร ขณะที่ต้องกู้หนี้ยืมสินจ่ายค่าหัวคิวรายหนึ่งมากกว่าแสนบาทซึ่งแรงงานไทย ไซต์งานนี้มีประมาณ 1,400 คน และต่างคนก็อยากกลับบ้านเกิด

นายบุญเริ่ม คงเนียม ชาว ต.คันโซ้งอ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก 1 ใน 7 แรงงานที่กลับประเทศไทย เปิดเผยว่า พวกตนอยากกลับประเทศไทยนานแล้ว แต่บริษัทนายจ้างไม่ยอมให้กลับ ตนก็อดทนทำเรื่องขอกลับ 3-4 เดือน จึงได้กลับมา แต่ต้องถูกหักเงินเดือน3 เดือน เป็นค่าเครื่องบินตกคนละ 7 หมื่นบาท โดยนายจ้างไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรอะไรชัดเจนเลยว่าหักค่าอะไรเท่า ไหร่บ้าง

"ผมไปทำงานเดือน ม.ค.53 ต่อมาไม่กี่เดือนก็อยากกลับไทย เพราะสภาพการเงินไม่ดี ก่อนไป บริษัทจัดหางานบอกว่าจะได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 2.5 หมื่นบาท ไม่รวมค่าโอที แต่พอไปแล้วได้เงินเดือนแค่ 1 หมื่นกว่าบาท โอทีก็ไม่มี ซึ่งนับว่าน้อยมากไม่พอค่าใช้จ่าย ไม่พอดอกเบี้ยเงินกู้มาเสียค่าหัวคิว 1.3 แสนบาท หากทำงานในประเทศไทยเดือนหนึ่งได้มากกว่านั้นด้วย อีกทั้งเงินเดือนล่าช้าไม่ตรง ผมได้เล่าเรื่องความทุกข์ยากให้ภรรยาฟังและภรรยาอยากให้กลับมาทำงานที่บ้าน เรา ได้อยู่ใกล้ลูกเมียด้วย จึงได้ร้องเรียนมายัง นสพ.สยามรัฐ ซึ่งขอขอบคุณ นสพ.สยามรัฐที่ทำให้พวกผมไม่ต้องทนทุกข์ยากได้กลับมาบ้าน" แรงงานลิเบียระบายความอัดอั้นตันใจและว่า ความทุกข์ยากการกินการอยู่ไม่ดีอย่างไรก็เป็นไปตามข่าวที่นสพ.สยามรัฐนำเสนอ ไปแล้ว ซึ่งในวันพุธที่ 8 ธ.ค.นี้ ก็จะร่วมเป็นตัวแทนแรงงานไปร้องทุกข์กับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อยืนยันถึงความเดือดร้อนที่ได้รับและขอให้ช่วยเหลือเอาค่าตั๋วเครื่อง บินและค่าหัวคิวคืนด้วย

ด้านนายทินกร โคตรภูธร ชาว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ กล่าวยืนยันความเดือดร้อนเหมือนแรงงานรายอื่นๆ โดยตนเองเสียค่าหัวคิว 1.55 แสนบาท นายจ้างบอกก่อนไปว่าเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นบาท แต่เอาจริงๆ ได้แค่ 1.2 หมื่นบาท ค่าโอทีไม่มี คนงานจึงอยากกลับบ้านมาก หากให้กลับโดยที่ไม่หักเงินเดือนเป็นค่าตั๋วเครื่องบินแล้วคนงาน 1.4 พันคน คงขอกลับกันหมด ซึ่งตนอยากให้กรรมาธิการการแรงงานช่วย เรียกร้องเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินและค่าหัวคิวคืน

"ตั้งแต่ นสพ.สยามรัฐนำเสนอข่าวความเดือดร้อนแรงงานไทยในลิเบีย ทางนายจ้างได้ปรับปรุงบางอย่างดีขึ้นบ้าง เช่นขึ้นเงินเดือนให้นิดหน่อย เปิดให้มีการทำงานโอทีหรือจัดรถรับ-ส่งคนงานไปไซต์งาน แต่ก็มีแค่รถบรรทุก 4 คัน ส่วนคนงานทั้งไทยและต่างประเทศมีเป็น 4 พันคน รวมทั้งมีการจัดเลี้ยงอาหารแจกของชำร่วยระบุว่าคนงานไทยทำงานได้เกินเป้า หมายจึงได้รับการขอบคุณ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการจัดฉากสร้างภาพโชว์ว่าดีหรือเปล่า"

(สยามรัฐ, 7-12-2553)

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา เตรียมผลักดัน กม.แรงงานหลายฉบับ

7 ธ.ค. 53 - นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล  สว.สมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวว่าในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการได้พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้ม ครองแรงงานไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและได้ส่ง กลับไปสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกาศเป็นกฎหมายแล้ว

นายสุวิศว์  กล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ถือเป็นกฎหมายใหม่ที่จะขยายการคุ้มครองแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดให้นายจ้างต้องมีสัญญาจ้างงานและกำหนดวันจ่ายค่า แรงอย่างชัดเจน ซึ่งเดิมการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะสามารถสร้างความเป็นธรรมและคุ้มครองแรง งานได้มากขึ้น

นอกจากนี้นายสุวิศว์ ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... ที่ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อกำหนดนโยบายการจัดการโรงงานหรือสถานที่การทำงานให้เป็นไปตามร่างพระราช บัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งระบบ นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสามารถดำเนิน การได้ทั้งหมดและทำหน้าที่แทนกรมสวัสดิการแรงงาน ซึ่งคณะกรรมาธิการได้พิจารณาบนพื้นฐานความต้องการของแรงงาน เพื่อให้กฎหมายสามารถแก้ปัญหาของแรงงานและคุ้มครองสวัสดิการของแรงงานได้ อย่างแท้จริง

(แนวหน้า, 7-12-2553)

กกร.-นักวิชาการหนุนให้รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอีก 10 บาท/วัน

7 ธ.ค. 53 - ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) และนักวิชาการหนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 10 บาทต่อวัน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มากนัก หรือแค่เพียง 5% ของต้นทุนเท่านั้น แต่สามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้น

"เห็นด้วยกับกรณีที่คณะกรรมการ ไตรภาคีจะมีการประชุมการปรับขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำของลูกจ้างในอัตรา 10 บาทต่อวันในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวคิดเป็นเพียง 5% ของต้นทุนเท่านั้น ขณะเดียวกันยังถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้แรงงานตามค่าครองชีพที่ สูงขึ้น"นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าว

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายคาดว่าการปรับ ขึ้นค่าแรงนั้นจะมีผลทำให้ผู้ ประกอบการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นนั้นเป็นหน้าที่ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้อง ควบคุมดูแลให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนมากจนเกินไป แม้ว่าขณะนี้จะมีปัจจัยที่มากระทบต่อต้นทุน เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันหากมีการกดราคาสินค้ามากเกินไปก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า เศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ในกรอบ 4-5% แต่มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีจะขยายตัวสูงกว่า 5% หากไม่มีปัจจัยลบที่รุนแรง โดยปัจจัยลบที่ภาคเอกชนมีความกังวล ได้แก่ ปัญหาค่าเงินบาท การเมือง เศรษฐกิจโลก และต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเชื่อว่าเมื่อมีค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการมีผล ผลิตสินค้าที่ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล 10 บาท แต่ไม่เกิน 30 บาท ซึ่งส่วนตัวมองว่าระดับที่เหมาะสมคือ 250 บาท/วัน เพราะปัจจุบันแรงงานไร้ฝีมือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แต่หากรัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าระดับดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบอัตราเงิน เฟ้อ การว่างงาน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้

ส่วนแนวคิดที่จะช่วยเหลือแรงงานนอก ระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบนั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ภาครัฐไม่ควรช่วยเหลือแรงงานนอกระบบด้วยนโยบายประชาชนนิยม แต่ควรทำในรูปแบบรัฐสวัสดิการเพื่อให้การช่วยเหลือมีความยั่งยืน โดยควรนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมและให้แรงงานจ่ายสมทบร่วมกับภาครัฐ และควรทำควบคู่ไปกับการออมแห่งชาติ เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น

(อินโฟเควสท์, 7-12-2553)

คสรท.แถลงคณะกรรมการค่าจ้างหยุดล็อคเลขปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท

7 ธ.ค. 53 - นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และผู้นำแรงงานจากสหพันธ์แรงงาน ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านเลขล็อคค่าจ้างขั้นต่ำ ยืนยันค่าจ้างต้องเป็นธรรม”  ณ ห้องปะชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวถึงการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อประกาศจุดยืนการปรับค่าจ้างของคณะกรรมการค่าจ้างต้องสอดคล้องกับความ เป็นจริง และความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ได้มีการทำผลสำรวจจากหลายสำนักก็ยังคงเห็น ด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาท ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอยืนบนหลักการเดิมเสนอต่อคณะ กรรมการค่าจ้างที่จะประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 9 ธันวาคม 2553 นั้น การที่จะล็อคปรับค่าจ้างเพียง 10 บาท ตอนนี้ไม่สอดคล้องต่อสภาวะเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน แล้ว ขอให้พิจารณาเสียใหม่ให้เกิดความสอดคล้องต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานด้วย และต่อประเด็นของท่านนายกก็อยากให้รักษาจุดยืนที่เสนอไว้ ที่ 250 บาทต่อวัน เพราะหลักการดังกล่าวนี้แรงงานส่วนใหญ่พอรับได้ ดีกล่าวการกลับคำพูดเสนอปรับเพียง 10-11 บาท

นางสาววิไลวรรณ กล่าวอีกว่า จากการทำผลสำรวจแรงงานหญิงในโรงงาน 300 คน ในโรงงาน 3 แห่ง แถบจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม พบว่าการทำงานหนัก การทำงานล่วงเวลา เนื่องจากค่าจ้างต่ำ และต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวในการส่งเงินกลับต่างจังหวัดของแรงงานหญิง ส่งผลแรงงานหญิงที่ทำงานในโรงงานอายุ 40 ปีขึ้นไปจำนวน 20%ไม่ยอมแต่งงาน มีแรงงานหญิงที่แต่งงานจำนวนเพียง 50% จะมีบุตรเพียงคนเดียว เหตุเพราะไม่สามารถที่จะดูแลบุตร และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีต่อครอบครัวได้ และบางครอบครัวต้องแตกแยกเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว อยากต่อการดูแลบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ส่งกลับต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงแทน และเพียง 30% ที่มีการแต่งงานแล้วมีลูก 2 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ส่งกลับบ้านต่างจังหวัดให้พ่อแม่เลี้ยงเช่นกัน ทำให้คุณภาพชีวิตเด็กต้องขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ ที่อาจเห็นหน้ากันปีละครั้งเท่านั้น เหตุผลที่มีลูกน้อยเพราะผู้ใช้แรงงานต้องทำงานหนักไม่มีเวลาที่จะสร้างครอบ ครัวที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ฉะนั้น ค่าจ้างที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคนที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งอาหารที่ดี มีที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเดินทาง ค่าการศึกษา สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่แรงงานปัจจุบันมีค่าจ้างที่สูงสุด 206 บาทต่อวัน กรุงเทพ สมุทรปราการ และค่าจ้างสุดต่ำ 151 บาทต่อวันที่จังหวัดพิจิตร และแพร่ มีความแตกต่างกันทางรายได้มากถึง 55 บาทต่อวัน ระหว่างกรุงเทพ กับต่างจังหวัด การปรับค่าจ้างที่ผ่านมาไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงาน และรัฐบาลยังไม่เคยเห็นคุณค่าของแรงงาน นางสาววิไลวรรณ กล่าว

มาตรฐานค่าจ้างในภูมิภาคเอเชีย ความสำคัญในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ นัยยะสำคัญในการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อยังชีพ เมื่อปี ค.ศ. 1944 ในแถลงการณ์ฟิลาเดเฟียซึ่งมีนโยบายเรื่องข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานที่ได้ กล่าวถึง ค่าแรงขั้นต่ำเพื่อการยังชีพเป้าหมายคือการนิยามความหมาย เพื่อบรรลุถึงระดับค่าแรงที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพของคนงาน และส่วนแบ่งที่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับมูลค่าที่พวกเขาผลิตได้ เพื่อสร้างมาตรฐานเรียกค่าจ้างที่เพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานรายได้ที่ต้องการสำหรับคนงานหนึ่งคนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ที่มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน (ผู้ใหญ่ 2 คน และเด็ก 2 คน) โดยใช้เวลาทำงาน 48 ชั้วโมงต่อสัปดาห์

ส่วนนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานศูนย์แรงงานนอกระบบ กทม.ได้แสดงความเห็นต่อมุมมองรัฐในการพยายามลดความเหลื่อมล่ำว่าในส่วนของ แรงงานนอกระบบที่มีจำนวน 24 ล้านคนประกอบด้วยผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับงานไปทำที่บ้าน คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้างเกษตรพันธสัญญา ฯลฯ ท่าทีที่รัฐบาลพูดถึงการสร้างหลักประกันทางสังคม ทั้งรายได้ และระบบประกันสังคม นั้นตนเห็นด้วย แต่หลักการไม่ควรต่างจากแรงงานในระบบ การประกันสังคมที่จะขยายในส่วนของมาตรา 40 เพื่อให้เกิดความคุ้มครองตามความต้องการของแรงงานคือต้องขยายสิทธิประโยชน์ 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพจากเดิมมีเพียง 3 กรณี คือ ทุพพลภาพ คลอดบุตร เสียชีวิตรัฐ ควรส่งเงินสมทบในส่วนของรัฐด้วย เพราะปัจจุบันเหมือนว่าจะให้แรงงานนอกระบบเป็นผู้ซื้อประกันจากรัฐ โดยจ่ายน้อยสิทธิประโยชน์ก็น้อยไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม และไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ ทำให้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล่ำได้

ส่วนกรณีการส่งเงินสมทบนั้นก็ต้อง สอดคล้องกับรายได้ จึงสนับสนุนให้รัฐปรับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน เพื่อให้ค่าจ้างส่วนของแรงงานนอกระบบได้ถูกปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

(นักสื่อสารแรงงาน, 7-12-2553)

สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานเตรียมบุกกระทรวงจี้ขึ้นขั้นต่ำ 10 บาททั่วประเทศ

8 ธ.ค. 53 - นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจะนำกลุ่มผู้ใช้แรงงานประมาณ 1,000 คนไปชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงานเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำสำหรับปี 2554 เป็น 10 บาททั่วประเทศในวันที่ 9 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางจะมีการประชุมพิจารณาตัวเลขรอบ ใหม่

เราทำแบบสอบถามไปยังสหภาพแรงงาน ต่างๆประมาณพันชุดและกว่า 80% ตอบกลับมาว่าพอใจที่ตัวเลข 421 และ 250 บาทแต่มองว่าคงเป็นไปได้ยากดังนั้นถ้าปรับขึ้นอีก 10 บาทก็ถือว่าน่าพอใจ แต่จากการสอบถามตัวแทนลูกจ้างในคณะอนุกรรมการฯพบว่ามีการหารือว่าจะขยับขึ้น อีกเป็น 8.5 บาทซึ่งก็ยังเป็นตัวเลขที่รับไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นเราจะขอแรงจากสหภาพแรงงานแห่งละ 10-20 คนมารวมตัวกันกดดันกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่มีประชุมนายมนัสกล่าว

นายสุนันท์ โพธิ์ทอง ประธานอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกล่าวว่าตัวเลขที่จะเสนอเข้าคณะ กรรมการค่าจ้างกลางยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้แต่เชื่อว่าเป็นอัตราที่ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยพอใจ แต่อาจมีแรงงานบางกลุ่มที่ต้องผิดหวังเนื่องจากเคยเสนออัตราค่าจ้างไว้สูง ถึง 421 บาท

อย่างไรก็ตาม การพิจารณายังคงดูเป็นรายจังหวัดเนื่องจากมองว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละ จังหวัดแตกต่างกันแต่เชื่อว่าการปรับค่าจ้างปีนี้ตัวเลขจะไม่หนีกันมากนัก เพราะต้องบวกค่าคุณภาพชีวิตเข้าไปด้วย ต่ำสุดน่าจะได้ไม่น้อยกว่า 8 บาท

ขณะที่วันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างตามค่าครองชีพที่แท้จริงที่อัตรา 421 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตามหากจะปรับขึ้นเป็น 250 บาทตามที่นายกรัฐมนตรีเคยให้นโยบายไว้ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่ยืนยันว่าปรับขึ้นแค่ 10 บาทยังไม่เพียงพอที่จะให้ผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่ดีได้อย่าง แน่นอน

(โพสต์ทูเดย์, 8-12-2553)

ดีเดย์ 9 ธ.ค.เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

8 ธ.ค. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่กระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยว่า ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 9ธ.ค. คาดว่าที่ประชุมจะได้ข้อสรุปตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ และสามารถประกาศใช้ได้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ 2554นี้ทั้งนี้ในการพิจารณาค่าจ้างต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงและสามารถชี้ แจงที่มาของการปรับค่าจ้างได้ ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 54 จะอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าอาจจะมีทั้งผู้ที่สมหวังและผิดหวัง เนื่องจากต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และความเป็นไปได้ด้วย

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรง งานไทยเสนอให้มีการนำตัวเลขอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำที่ผู้ใช้แรงงานเสนอวันละ 421 บาท พรรคเพื่อไทย 350 บาท และอัตราเดิม 250 บาท ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ เข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้าง นายสมเกียรติ กล่าวว่า ตัวเลขที่เสนอมาคณะกรรมการค่าจ้างกลางได้นำมาพิจารณาทั้งหมด แต่หลักสำคัญคือต้องการให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ที่เหมาะสม ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทั้งสามตัวเลขที่เสนอมาอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ และยืนยันว่าไม่ได้ซื้อเวลาในการปรับค่าจ้าง

"250 บาท ตามที่นายกฯบอกก็อาจจะอีกสักระยะหนึ่งคงไปได้ หรือ 350 บาทที่เพื่อไทยพูดและ 421 บาท อาจจะไปถึงในเวลาถัดออกไป แต่คนไทยต้องพัฒนาตนเองด้วย นายจ้างก็จะเพิ่มค่าจ้างสูงขึ้นตามความสามารถ" นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ  กล่าวอีกว่า  หากได้ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำปี 54 แล้วต้องแจ้งให้นายจ้างทราบ เพื่อปรับโครงสร้างค่าจ้างของตนในสถานประกอบการ ว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าใด ก่อนที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 54 ทั้งนี้คิดว่าค่าจ้างในปัจจุบันสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มาก และคิดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ไม่กระทบกับค่าจ้างในปัจจุบัน หากตัวเลขใกล้เคียงกันก็สามารถปรับได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 400,000 คน

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 ธ.ค. เวลา 09.30 สมาชิกองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยจำนวนประมาณ 1,000 คนจากทั่วประเทศ จะเดินทางไปกดดันคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่หน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 10 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตามที่พวกเราได้เคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ เพราะเราไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่าคณะกรรมการค่าจ้างกลางจะเห็นชอบตามนั้น จริงหรือไม่ นอกจากนี้ พวกเราต้องการฟังท่าทีของคณะกรรมการค่าจ้างฯต่อข้อเสนอขององค์การฯที่เคย เสนอให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำออกเป็น 3 โซน โดยแบ่งออกเป็น โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุด โซนจังหวัดรอบนอกที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และมีจำนวนแรงงานเป็นจำนวนมาก และโซนภูมิภาคซึ่งมีขนาดทางเศรษฐกิจไม่ใหญ่มากนัก.

(เดลินิวส์, 8-12-2553)

ลูกจ้างประท้วงกดดันขึ้นค่าแรง 10 บาท

9 ธ.ค. 53 - กลุ่มลูกจ้างจากองค์การแรงงานแห่ง ประเทศไทย แรงงานบางส่วนจากจังหวัดสมุทรปราการ และ พระนครศรีอยุธยา นำโดย นายมนัส โกศล ได้ถือป้ายเรียกร้องขึ้นค่าแรงอย่างเป็นธรรม พร้อมเปิดเวทีไฮปาร์คเพื่อกดดันให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางซึ่งกำลังประชุม สรุปตัวเลขค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำครั้งสุดท้ายที่กระทรวงแรงงาน ให้ปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกพื้นที่ 10 บาท โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันค่าครองชีพทั่วประเทศไม่ต่างกันมาก ขณะที่ราคาน้ำมันในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯ โดยเห็นว่าอัตรา 10 บาท เป็นอัตราที่นายจ้างรับได้ ซึ่งหากคณะกรรมการค่าจ้างไม่รับข้อเสนอนี้ ทางกลุ่มแรงงานจะนัดชุมนุมและหามาตรการกดดันต่อไป

ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการค่า จ้างกลางซึ่งมี นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ยืนยันว่าการพิจารณาค่าจ้างจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยยึดตัวเลขดัชนีผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ และสามารถชี้แจงที่มาของการปรับค่าจ้างได้ ซึ่งยอมรับการขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งจะมีทั้งผู้ที่สมหวังและผิดหวัง อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวง ได้เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า กรอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะอยู่ที่ 10-12 บาท แล้วแต่พื้นที่ โดยจะดูความเหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ก็จะยึดหลักความเป็นธรรม อัตราค่าจ้างใหม่นี้จะประกาศใช้ให้ทันในวันที่ 1 มกราคม 2554 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานทุกคน ปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ประมาณ 4 แสนคน

(ครอบครัวข่าว, 9-12-2553)

เตรียมเทคโนโลยีฯ เก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว 6 แสนคน ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งกลับ

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ได้ประชุมร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมการต่อใบอนุญาตของแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานจะหมด อายุลงในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีอยู่กว่า 6 แสนคน

โดยในปีนี้จะมีการเก็บเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร รวมทั้งการวางระบบคอมพิวเตอร์ที่ต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จัดเก็บข้อมูล

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพไทยสามารถสกัดกั้นไม่ให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศได้ กว่าร้อยละ 22 ของการหลบหนีเข้าเมืองในปีที่ผ่านมา จากเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 20

ส่วนกรณีที่จะให้ลดการจัดเก็บเงินกองทุนเพื่อการส่งกลับฯ ตามระยะทางนั้งคงแก้ไขไม่ทันเนื่องจากได้ประกาศเป็นกฎกระทรวงแล้ว

สำหรับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน เพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ โดย พม่า ลาว จำนวน 2,400 บาท และกัมพูชาจำนวน 2,100 บาท ซึ่งจะแบ่งเก็บเป็น 6 งวด รวมปี 2554 คาดว่าจะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้มากกว่า 1.2 พันล้านบาท

(คมชัดลึก, 9-12-2553)

ส.ว.ขอเพิ่มประกัน บ.ส่งแรงงานไปต่างประเทศ

8 ธ.ค. 53 - นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศว่า ปัจจุบันมีท่าทีว่าจะขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับการแก้ปัญหาแรง งานที่ไปทำงานต่างประเทศและถูกบริษัทนายหน้าเอาเปรียบหรือโกงเงิน ซึ่ง กมธ. พบเป็นประจำและเกิดขึ้นมานานแล้ว แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้บริษัทที่ส่งคนงานไปต่างประเทศต้องมีเงินประกันจำนวน 5 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันและจ่ายชดเชยให้คนงานกรณีเกิดปัญหากับบริษัทแต่ก็ไม่ เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่แรงงานเสียไป จึงเห็นว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มวงเงินประกันของบริษัทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของ แรงงานไทย

(เดลินิวส์, 9-12-2553)

เหยื่อแรงงานลิเบีย บุกยื่นข้อมูล'กมธ.' มัดบริษัทนายหน้า เล่นวิชามารป้ายสี

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.53 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนแรงงานไทยที่กลับจาก ไปทำงานในประเทศลิเบียผ่านบริษัท จัดหางานเงิน และทอง พัฒนา จำกัด ส่งไปยังบริษัทนายจ้างแรนฮิลล์(RANHILL)ไซต์งานเมืองพาจูลีจำนวน 3 คน ได้เดินทางเข้าพบ นายสถาพรมณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมยื่นหนังสือร้อง ทุกข์เพิ่มเติมและชี้แจงยืนยันปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานไทยต่อคณะ กรรมาธิการการแรงงาน อาทิเงินเดือนค่าจ้างน้อยกว่าที่บริษัทนายจ้างระบุเอาไว้ก่อนเดินทางไป, มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างผิดไปจากที่ทำไว้ในประเทศไทย, การทำงานเกินสัญญาจาก 8 ชั่วโมง เป็น10 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าล่วงเวลา(โอที), ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดี เป็นต้น ตามที่มีการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

ต่อมา นายบุญเริ่ม คงเนียม ชาวต.คันโซ้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เปิดเผยภายหลังเข้าพบกรรมาธิการการแรงงาน ว่า ได้เข้าชี้แจงและยื่นหนังสือยืนยันปัญหาแรงงานไทยกับบริษัทนายจ้างแรนฮิลล์ เป็นความจริง โดยแรงงานไซต์นี้กว่า 1,200 คน มีความประสงค์อยากเดินทางกลับประเทศไทย เพราะเงินเดือนค่าจ้างน้อยไม่ตรงตามที่บอกไว้ก่อนเดินทางไป ทำให้ทุกคนรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายค่าหนี้สิน หากทำงานในประเทศไทย ยังได้อยู่ใกล้บ้านช่วยภรรยาและได้รับความ อบอุ่นกับลูกๆ และญาติพี่น้องยังจะได้ดีกว่า

"แม้แรงงานอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ยังทำงานไม่ครบสัญญา 2 ปี บริษัทไม่มีนโยบายให้เดินทางกลับ หากใครขอเดินทางกลับต้องเขียนเหตุผลบิดเบือนข้อเท็จจริง อย่าพาดพิงบริษัทนายหน้าหรือบริษัทนายจ้างในทางเสียหาย กลัวเสียประวัติและภาพลักษณ์หรือถูกทางราชการเอาผิด จึงบีบให้เขียนขอกลับอย่างสวยหรู อ้างเหตุผลส่วนตัว และบริษัทนายจ้างจะหักเงินเดือนค่าจ้าง 3-4 เดือนประมาณ6-7 หมื่นบาท เอาไว้เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ดังนั้นแรงงานส่วนใหญ่จึงจำยอมอดทนทำงานเพราะเสียดายเงินค่าเครื่องบิน" นายบุญเริ่มกล่าวและว่า เรื่องราวปัญหาความเดือดร้อนได้รับการตอบสนองเหลียวแลจากนายสถาพรและคณะ กรรมาธิการการแรงงานด้วยความกระตือรือร้นเอาใจใส่อย่างดีมาก โดยท่านจะหารือว่า จะช่วยเหลืออย่างไรต่อไป ซึ่งทางตัวแทนแรงงานในลิเบียต้องขอขอบพระคุณอย่างสูง

"ผมเป็น 1 ใน 7 แรงงานลิเบีย ที่เพิ่งกลับมาวันที่ 3 ต.ค.53 หลังจากภรรยาอยากให้กลับ เพราะเงินได้รับน้อยทำงานที่บ้านและทำไร่ทำนายังดีกว่า ตอนนี้ภรรยาดีใจมาก"เหยื่อแรงงานลิเบีย กล่าว

ด้าน นายชัยชนะกร ประเคน ชาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เหยื่อแรงงานในลิเบียอีกราย กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะกรรมาธิการการแรงงานที่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาแรงงานลิเบีย ซึ่งต่อไปคงต้องรอว่าทางกรรมาธิการจะดำเนินการอย่างไร

"สำหรับผมกลับมาไทยวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับบ้านไม่ได้ เพราะแม่ยายและภรรยาไม่ให้เข้าบ้าน โดยเข้าใจผิดคิดว่าผมได้รับเงินเดือนค่าจ้างมากตามที่สายนายหน้าบอกก่อนไป ว่าได้เดือน 4-5 หมื่นบาทแต่พอไปแล้วได้ไม่ถึง ไม่มีโอที พอส่งเงินให้ทางบ้านก็ไม่พอใจหาว่าเราไปใช้จ่ายนอกลู่นอกทาง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงเราไม่ได้เงินมากอย่างนั้น ถ้าจะกลับมาก็โดนหักเงินเดือน5 หมื่นบาทอีกต่างหาก"

เหยื่อแรงงานลิเบีย กล่าวอีกว่า เกือบ1 เดือนแล้ว ที่ระหกระเหินเร่ร่อนไปพักอาศัยอยู่บ้านเพื่อน กลับบ้านไม่ได้ มิหนำซ้ำทางบริษัทนายหน้าได้ใส่ร้ายป้ายสีตน เพราะตนเรียกร้องเงินเดือนค่าจ้างและการทำงานที่ถูกต้องกับตำแหน่งตั้งแต่ อยู่ลิเบีย โดนนายจ้างโทรศัพท์ มาฟ้องภรรยาและแม่ยายบอกว่าตนหัวแข็งไม่ทำงาน จึงถูกส่งตัวกลับทั้งที่ขอกลับมาเอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดจนภรรยาไม่ยอมพูดด้วย

(สยามรัฐ, 9-12-2553)

คนงานบริดจสโตนร้องค่าแรง

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 9 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปทุมธานี ว่า ที่หน้าโรงงาน บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด เลขที่ 14/3 ถ.พหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีมีกลุ่มคนงานของสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตนจำนวนมาก ปิดหน้าโรงงานเพื่อประท้วงนายจ้างกรณีการเจรจาข้อเรียกร้องประจำปี 2553 ไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากมีการเจรจากันถึง 7 ครั้ง และมีการไกล่เกลี่ยกันที่แรงงานสัมพันธ์ แต่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็ตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดข้อพิพาทแรงงานและมีการประท้วงนัดหยุดงานเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงมาดูแลความสงบ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถใช้ ถ.พหลโยธินด้านขาเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลให้การจราจรชะลอตัวและติดขัดเป็นบางช่วง

นายบุญเลิศ ดาบุตรดี ประธานสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตน กล่าวว่า หลังจากที่ตัวแทนสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท และมีการเจรจากับนายจ้าง ซึ่งมี นายสมชาย เฟื้องแดงกรรมการผู้จัดการ เป็นตัวแทน แต่ไม่สามารถตกลงข้อเรียกร้องกันได้ ในที่สุดจึงเกิดข้อพิพาทแรงงานกันขึ้น ส่วนกรณีที่มีการปิดหน้าโรงงานนั้น ทางสหภาพแรงงานไม่มีนโยบายที่จะให้ทำเช่นนั้น แต่เป็นความกดดันของคนงานที่ตกลงข้อเรียกร้องไม่ได้ตามที่เขาต้องการ คงต้องพยายามหาข้อยุติให้ได้ แม้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ถนนต้องขอโทษด้วย

(ข่าวสด, 10-11-2553)

ยอดแรงงานนอกระบบทะลุ 24 ล้านคน

10 ธ.ค. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบปี 2553 พบว่า มีทั้งสิ้น 24.1 ล้านคน หรือ 62.3% ของแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ 38.7 ล้านคน และพบว่าแรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 14.5 ล้านคน หรือ 60% ขณะที่อยู่ในภาคการค้าและการบริการ 31.4% และภาคการผลิต 8.6% ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 41.6% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 21.3% ภาคกลาง 18.8% ภาคใต้ 12.9% ส่วน กทม.มีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด 5.4%


นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า แรงงานนอกระบบที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและรวมที่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีมากที่สุดถึง 15.9 ล้านคน หรือ 65.9% รองลงมาจบมัธยมศึกษา 6.5 ล้านคน หรือ 26.8% และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ 7.1 % โดยแรงงานนอกระบบเป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับแรง งานในระบบ ดังนั้น หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น และภาครัฐควรช่วยแก้ปัญหาค่าตอบแทนน้อยมีจำนวนถึง 48.5% อันดับสองได้แก่ปัญหางานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง 21.5% อันดับสามได้แก่ทำงานหนัก 19% ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้

 (ไทยรัฐ, 10-11-2553)

ยอดแรงงานนอกระบบทะลุ 24 ล้านคน

10 ธ.ค. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบปี 2553 พบว่า มีทั้งสิ้น 24.1 ล้านคน หรือ 62.3% ของแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ 38.7 ล้านคน และพบว่าแรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 14.5 ล้านคน หรือ 60% ขณะที่อยู่ในภาคการค้าและการบริการ 31.4% และภาคการผลิต 8.6% ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 41.6% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 21.3% ภาคกลาง 18.8% ภาคใต้ 12.9% ส่วน กทม.มีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด 5.4%


นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า แรงงานนอกระบบที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและรวมที่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษา มีมากที่สุดถึง 15.9 ล้านคน หรือ 65.9% รองลงมาจบมัธยมศึกษา 6.5 ล้านคน หรือ 26.8% และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ 7.1 % โดยแรงงานนอกระบบเป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับแรง งานในระบบ ดังนั้น หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น และภาครัฐควรช่วยแก้ปัญหาค่าตอบแทนน้อยมีจำนวนถึง 48.5% อันดับสองได้แก่ปัญหางานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง 21.5% อันดับสามได้แก่ทำงานหนัก 19% ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้

 (ไทยรัฐ, 10-11-2553)

บ.ไทยบริดจสโตน ยอมเพิ่มโบนัส แต่ยันเอาผิดคนงานปิดทางเข้าออกบริษัท

11 ธ.ค. 53 - ความคืบหน้ากรณีสหภาพแรงงานบริษัท ไทยบริดจสโตน นำรถยนต์มาชุมนุมประท้วงบริเวณถนนพหลโยธิน หน้าโรงงาน พื้นที่ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม ที่โรงงาน บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด เลขที่ 14/3 ถนนพหลโยธิน  ขาเข้ากรุงเทพฯ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเรียกร้องเงินโบนัสเพิ่ม ทำให้การจราจรติดขัดอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาตัวแทนผู้บริหารบริษัทรับปากจะ เพิ่มเงินโบนัสให้ตามที่คนงานเรียกร้อง แต่เนื่องจากบริษัทยังยืนยันจะเอาผิดกับคนงานที่ชุมนุมปิดทางเข้าออกบริษัท ทำให้คนงานบางส่วนยังชุมนุมต่อ แต่ย้ายการชุมนุมขึ้นมาบนฟุตปาธบริเวณหน้าโรงงาน ส่งผลให้การจราจรด้านหน้าโรงงานคล่องตัวขึ้น

(มติชน, 11-12-2553)

ส.อ.ท.แนะรัฐ เร่งทำนโยบายแรงงานแห่งชาติ

11 ธ.ค. 53 - นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8-17 บาท ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2554 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม เช่น การ์เมนท์ หรือกลุ่มรับจ้างผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ที่ต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าง อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากค่าแรงของไทยสูงกว่า 2-3 เท่าตัว รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่ต้องใช้แรงงานคนมากกว่าเครื่องจักร ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเข้ามาดูแลกลุ่มดังกล่าว และควรเร่งจัดทำนโยบายแรงงานแห่งชาติ ไม่ใช่เพียงแค่การออกนโยบายประชานิยม โดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ อาจจะกระทบน้อย หรือไม่กระทบเลย เนื่องจากสินค้ามีมูลค่าสูง


รองประธานส.อ.ท. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมมีการเดินเครื่องผลิตร้อยละ 64 ของกำลังการผลิต ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของจำนวนแรงงานในระบบ 14 ล้านคน ซึ่งแทบจะไม่มีการว่างงาน และทำให้เห็นว่า ไทยยังต้องการแรงงานจำนวนมาก และยาวนานไปอีก 8-10 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง จึงเป็นที่มาของการจ้างแรงงานต่างด้าว รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลให้ค่าจ้างคนไทยและต่างด้าวเท่ากัน และมีระบบสวัสดิการเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีระบบการจ้างตามความสามารถและคุณภาพแรงงานด้วย


นายธนิต กล่าวอีกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นมาดังกล่าว จะทำให้ราคาสินค้าในปีหน้าสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อค่าแรงเพิ่ม ก็ควรเร่งพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ทำงานได้เพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ สภาอุตสาหกรรมฯ จะประชุมเพื่อสรุปผลกระทบและทำหนังสือชี้แจงไปยังรัฐบาล เพื่อให้รับทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นและหาทางรับมือปัญหาต่อไป

(ไทยรัฐ, 11-12-2553)

ย้อนอดีตปัญหาแรงงานไทยยังไม่เปลี่ยน แต่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

12 ธ.ค. 53 - นางสุนี ไชยรส กรรมการกิตติมศักดิ์ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า การต่อสู้ของแรงงานไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันยังมีประเด็นไม่แตกต่างกันมากนัก ได้แก่ การต่อสู้ให้ได้สิทธิ ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ โดยผลที่ได้รับคือ ผู้นำแรงงานถูกจับกุม เสียชีวิต จากการต่อสู้มายาวนาน และยังคงมีการต่อสู้ประเด็นเดียวกันนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่ต่างจากอดีต คือ การมีความเป็นประชาธิปไตยดีกว่ายุคเก่า และการต่อสู้มีเป้าหมายมากขึ้น จากการต่อสู้เพื่อตนเอง เป็นการต่อสู้เพื่อภาคประชาสังคม เพื่อแรงงานข้ามชาติ เพื่อแรงงานนอกระบบ เป็นต้น

สำหรับปัจจุบันการต่อสู้เพื่อแรงงาน ต้องการให้แรงงานทั่วประเทศมีค่าจ้าง ขั้นต่ำเท่ากันเนื่องจากทุกคนต้องซื้อของกินของใช้ในราคาที่เท่ากัน แต่กลับได้ค่าจ้างต่างกันระหว่าง 100-200 บาท มีการยื่นข้อเสนอขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 421 บาท โดยในเช้านี้ มูลนิธิฯ ได้จัดเสวนา ย้อนอดีตแรงงาน เปิดตำนานคนกล้า พลิกฟื้นศรัทธา ฝ่าข้ามวิกฤติณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีผู้นำแรงงานจากหลายยุคมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบอกเล่าการต่อสู้ เพื่อแรงงานจากอดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัว ภาพยนตร์สารคดีแรงงาน ในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยความยาว 35 นาที มีการนำภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เหตุการณ์เกี่ยวกับแรงงานไทยตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์การต่อสู้ของแรงงานที่หายาก เผยแพร่ให้กับองค์กรแรงงานทั่วประเทศ

(สำนักข่าวไทย, 12-12-2553)

สภาอุตฯรวมพลจี้ทบทวนค่าแรง

นายสมภพ ธีระสานต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุก จังหวัดเพื่อผลักดันรัฐบาลได้พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 โดยจะยื่นหนังสือเพื่อแสดงพลังพร้อมกันในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถดำเนินธุรกิจแข่งขันได้ต่อ ไปในอนาคต

นายสมภพ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 ทั่วประเทศ ในอัตรา 8-17 บาท ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับ ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการทั่วประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นปิดกิจการในอนาคต

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำควร มีการกำหนดในอัตราที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างและความสามารถในการดำเนินกิจการของ ผู้ประกอบการนายสมภพ กล่าว

นายสมภพ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้ทำหนังสือถึง ผวจ.กาญจนบุรี ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้โปรดผลักดันไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับ ภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้นทุนที่จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของโรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ

นายสมภพ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำข้อเสนอตัวเลขค่าจ้างที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำจังหวัดทั่วประเทศนำเสนอ เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด เนื่องจากทราบข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงภาวการณ์ครองชีพของลูกจ้างในจังหวัดเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้ นายสมมาต ขุนเศรษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. เพื่อหารือเกี่ยวกับการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไป และอาจจะเป็นการซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม

ด้านนายบุญเลิศ บูรณศักดา ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในอัตราดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบ การและตัวแรงงานเอง เนื่องจากเป็นการช่วยให้แรงงานมีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้นถึง 3-7% และยังส่งผลทำให้เกิดกำลังหมุนเวียนในเรื่องของการจับจ่ายภายในจังหวัดเอง ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของ จ.ขอนแก่น

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ สถานประกอบการได้มีแรงงานที่มีคุณภาพ บนพื้นฐานของความรู้ ความชำนาญ เพราะช่วยให้แรงงานเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวะค่าครองชีพสูง โดยไม่ต้องเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่ เพื่อหารายได้ให้เพียงพอนายบุญเลิศ กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 13-12-2553)

สปส.เตรียมเพิ่ม 6 สิทธิ

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.)เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนใน 6 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1.เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 12,000 บาท เป้น 13,000 บาท
2.เงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350บาท เป็น 400 บาท
3.ค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท หรือปีละไม่เกิน 600 บาท
4.สิทธิในการให้บริหารใส่รากฟันเทียม
5.เพิ่มสิทธิในกรณีรักษาโรคจิต
6.เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพจากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท

ทั้งนี้ สปส.หวังว่าจะให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการให้มากที่สุด จึงเตรียมจัดตั้ง "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" ในสถานประกอบการด้วย โดยจะขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการ พร้อมทั้งเตรียมอบรมเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประกันสังคม

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ สปส.ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าว แต่เห็นว่าสิทธิประโยชน์บางกรณีควรเพิ่มให้มากกว่านี้ เช่น เงินสงเคราะห์บุตร ควรเพิ่มเป็นรายละ 500 บาท และควรขยายความคุ้มครองจาก 6 ปี ให้เป็นลักษณะเดียวกับที่ให้ข้าราชการ

ส่วนกรณีที่เพิ่มสิทธิในการรักษาผู้ ป่วยโรคจิต ซึ่งเป็นโรคที่ยกเว้นการรักษาพยาบาลนั้น เห็นว่า สปส.ควรยกเลิกการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ ที่ได้รับการยกเว้น เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษา พยาบาล อย่างไรก็ตาม สปส.ควรปรับการบริการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพด้วย

ทั้งนี้มีปัญหาหรือข้อสงสัยเดี่ยวกับประกันสังคม สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่หมาย 1506 หรือ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

(คมชัดลึก, 13-12-2553)

กมธ.ผุดทีมดูแล-เจรจานายหน้า เร่งเยียวยาแรงงานไทยใน 'ลิเบีย'

13 ธ.ค. 53 - กรณีปัญหาแรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศลิเบียแล้วถูกบริษัทนายหน้าและ บริษัทนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ หลังจากวันที่ 8 ธ.ค.53 ตัวแทนแรงงานไทยที่ไปทำงานลิเบียผ่านนายหน้าบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ไปทำงานก่อสร้างกับบริษัทนายจ้างแรนฮิลล์ (RANHILL) ได้เดินทางเข้าร้องเรียน และยื่นเอกสารหลักฐานยืนยันความเดือดร้อนกับนายสถาพรมณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎรและได้เข้าชี้แจงปัญหากับ กรรมาธิการการแรงงานด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.53 นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงานได้นำเรื่องราวความเดือดร้อนของแรงงานไทยใน ลิเบียเข้าหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และมีมติว่ากรณีแรงงานไทยในลิเบียเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องได้รับการแก้ไขครบ วงจรทั้งระบบ จึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ ทั้งระบบโดยตนเป็นประธานและจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจากกรรมาธิการการ ต่างประเทศ กรรมาธิการยุติธรรม ส.ส. ส.ว.เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ กระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นต้น

"ตลาดแรงงานลิเบียเป็นตลาดใหญ่และ ตลาดใหม่ของแรงงานไทยที่มีโอกาสเติบโตไปได้อีกเยอะ เพราะผู้นำลิเบียกำลังสร้างบ้านเมืองใหม่หมด แต่ที่ผ่านมาการส่งออก แรงงานไทยไปยังไม่มีระบบระเบียบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานไม่ได้มีการจัดระบบ ระเบียบ ให้ดีซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นหากมีการแก้ปัญหา โดยสร้างระบบกฎเกณฑ์ให้ดีเหมือนกับแรงงานไปเกาหลีใต้, ไต้หวันที่รัฐบาลเข้า ไปจัดการทำสัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลจะเป็นการสร้างการขยายตลาดแรงงานไทยไป ลิเบียได้อีกเยอะมาก" นายสถาพร กล่าว

นายสถาพร กล่าวอีกว่า จุดอ่อนของแรงงานไทยในลิเบียที่ทางรัฐบาลไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาตั้งแต่แรก หากมีการแก้ปัญหาทำอย่างตรงไปตรงมาเปิดเผยและโปร่งใสก็จะดีไม่เกิดปัญหาเช่น ที่มีการร้องเรียนว่า การทำสัญญาที่เซ็นในประเทศไทยอย่างหนึ่งแต่พอไปที่ลิเบียแรงงานถูกมัดมือชก ให้เซ็นสัญญาใหม่เป็นภาษาอาหรับ ไม่มีภาษาอังกฤษและไทยกำกับ แรงงานเซ็นทำงานหน้าที่หนึ่งแต่ถูกเปลี่ยนไปอีกหน้าที่หนึ่ง ไม่ตรงตามความรู้ความสามารถ ค่าจ้างเงินเดือนที่บอกว่าสูงแต่พอไปจริงได้ไม่ตรง ค่าล่วงเวลาไม่มีเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงแต่ทำเกินไปเป็น 10 ชั่วโมงและสวัสดิการความเป็นอยู่ก็ไม่ได้มาตรฐาน จึงต้องมีการจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ดี

นายสถาพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่คือเรื่องค่าบริการหรือค่าหัวคิวสูงมากหลักแสนบาทขึ้นไป แต่พอแรงงานทำงานแล้วเงินเดือนค่าจ้างไม่ได้ตามที่โฆษณาเชิญชวนเอาไว้ พวกแรงงานก็อยู่ไม่ได้ ติดหนี้สินเงินกู้นอกระบบ ครอบครัวเดือดร้อน จนไม่มีกะจิตกะใจทำงานอยากเดินทางกลับเมืองไทยแต่ก็ถูกหักเงินเดือนค่าจ้าง เป็นค่าเครื่องบินอีกต่างหาก

"ส่วนที่แรงงานโดนบริษัทนายหน้าฟ้อง ร้องหมิ่นประมาท ทางคณะกรรมาธิการแรงงานก็จะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เป็นไรไม่ต้องห่วงคณะทำงานเราจะดูแลทั้งระบบ พร้อมเชิญบริษัทจัดหางานต่างๆ มาประชุมหารือร่วมกันหาทางออกและสร้างกฎกติกาที่เป็นระบบออกมา ไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ทุกคนจะมีแต่ได้กับได้กันหมด" ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานกล่าว

(สยามรัฐ, 13-12-2553)

ครม.อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

14 ธ.ค. 53 -นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงแรงงานในการพิจารณาประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2554 โดยรัฐมนตรีแรงงานชี้แจงในที่ประชุมว่า การพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำได้ทำตามขั้นตอน จากอนุกรรมการระดับจังหวัด จนถึงคณะกรรมการไตรภาคี การพิจารณาของ ครม.ครั้งนี้ ไม่ได้พิจารณาข้อทักท้วงจากภาคเอกชน เพราะยืนยันว่าดำเนินการมาตามขั้นตอน ผลดังกล่าวจึงให้ครอบคลุม 76 จังหวัด โดยมีการปรับเพิ่มตั้งแต่ 8-17 บาท/วัน โดย จ.ภูเก็ต ปรับเพิ่มสูงสุดในอัตราขั้นต่ำวันละ 221 บาท ขณะที่พะเยาเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 159 บาท/วัน โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า จากความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการปรับเพิ่มค่าจ้างให้ได้สูงสุดที่ 250 บาท/วัน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะผลักดันได้สูงสุดเพียงเท่านี้

สำหรับค่าจ้างหลังปรับแล้วของ จังหวัดต่าง ๆ เช่น กทม.และปริมณฑล วันละ 215 บาท ชลบุรี 196 บาท นครราชสีมา 183 บาท เชียงใหม่ 180 บาท นครศรีธรรมราช 174 บาท ประจวบคีรีขันธ์-สุราษฎร์ธานี 172 บาท กาญจนบุรี 181 บาท

(สำนักข่าวไทย, 14-12-2553)

ธปท.มองขึ้นค่าแรงกระทบเงินเฟ้อบ้าง เตือนรัฐสกัดพวกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า

14 ธ.ค. 53 - นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในปี 54 คงจะมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อบ้าง แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้ายังจะอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายที่ ธปท.กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องระมดัระวังการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เพราะจะกลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ ซึ่งอาจจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากกว่าผลกระทบโดยตรง

(อินโฟเควสต์, 14-12-2553)

ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์ชี้ปรับค่าแรง นายจ้างไม่ปลดคนออก

14 ธ.ค. 53 - นายยงยุทธ เม่นตระเภา ประธานสหภาพแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าจ้างที่ปรับขึ้น 8-17 บาท จริงๆไม่มากเกินความเป็นจริง ซึ่งนายจ้างสามารถปรับขึ้นได้อยู่แล้ว โดยตนเองเห็นด้วยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่เรียกร้องให้นายจ้างเปิดงบดุลบริษัทย้อนหลัง หลังจากที่ฝ่ายนายจ้างอ้างว่าไม่สามารถปรับขึ้นให้ได้ เพราะเชื่อว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้ไม่ได้มาก ดังนั้นการที่นายจ้างออกมาระบุว่าจะปรับลดคนงานลง หากให้ปรับค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางประกาศไป ซึ่งไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เป็นเพียงการขู่เท่านั้น เพราะวันนี้อุตสาหกรรมหลายสาขายังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ถ้าปลดคนงานจริงนายจ้างจะอยู่อย่างไร

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 ธันวาคม เวลา 10.30 น. ตนเองพร้อมด้วยลูกจ้าง 200 คน จะเดินทางมายื่นหนังสือกับ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เพื่อขอให้ทบทวนกรณีที่กรรมการค่าจ้างกลางมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่ว ประเทศ 8-17 บาท แต่ปรากฏว่าในจำนวนนี้มีจังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท จำนวน 31 จังหวัดจึงต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

 (สำนักข่าวแห่งชาติ, 14-12-2553)

พนง.ซันแอร์โร่นับพันรวมตัวประท้วงขอขึ้นโบนัส-ขู่หยุดงาน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. ได้มีพนักงานจากบริษัท ซันแอร์โร่ จำกัด ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวหยุดงานประท้วงที่โรงงานหน้าบริษัทฯ บริเวณริมถนนพหลโยธิน หมู่ที่ 3 ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี เพื่อขอให้ทางบริษัทฯ ปรับค่าขึ้นค่าโบนัสเพิ่มจากเดิมปีที่แล้วได้เดือนครึ่งปรับให้มาเป็น 3 เดือน เพราะว่าในปีที่ผ่านมา โบนัสที่ได้รับถูกทางบริษัทฯหักเงินในสวัสดิการ มากจึงทำให้พนักงานไม่พอใจจึงได้รวมตัวกันหยุดงานประท้วง

ส่วนในขณะ ที่มีพนักงานบริษัทฯ ได้รวมตัวกันหยุดงานประท้วงที่หน้าบริษัทฯ ยังไม่พบผู้บริหารของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องมารับเรื่องราวแต่อย่างใด ส่วนการรักษาความปลอดภัยได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลความเรียบร้อย

หนึ่งในพนักงาน เผยว่า ถ้าทางบริษัทฯ ไม่มารับเรื่องราวในการขอปรับค่าโบนัสเพิ่มทางพนักงาน จะทำการหยุดไม่ทำงานต่อไป.

(ไทยรัฐ, 14-12-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท