Skip to main content
sharethis

ปปช.มีมติยกคำร้อง"เฉลิม" ร้องถอดถอน "อภิสิทธิ์ - กรณ์" กรณีส่ง SMS ประชาชน ชี้เป็นขอความร่วมมือจากภาครัฐ กรณีเขาพระวิหาร และตั้ง"กษิต"ร่วมครม. ให้ยกคำร้องเช่นกัน ส่วนกรณีซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืน หลักฐานพยานไม่เพียงพอมีมติให้ตกไป

 
23 ธ.ค.53 นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่าในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้ มีเรื่องสำคัญที่ขอแถลงให้สื่อมวลชนทราบ คือ เรื่องคำร้องขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกจากตำแหน่งกรณีมีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 กล่าว คือ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เกี่ยวกับกรณีที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 158 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง รวม 8 ข้อกล่าวหา และกรณีมีผู้กล่าวหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติว่า
 
ข้อกล่าวหาที่ 1. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยขัดขวางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีประกาศคัดค้านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 โดยไม่ส่งผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง และเรียกร้องขอให้พระมหากษัตริย์พระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ และร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องขอคืนพระราชอำนาจ
ข้อกล่าวหาที่ 2. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยฝ่าฝืนหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลไม่เพียงพอจนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการฝืนหลักการและประเพณีปฏิบัติ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สุจริต ไม่ยึดมั่นในหลักความชอบธรรม และกฎหมาย
ข้อกล่าวหาที่ 5. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ จงใจฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมอย่างร้ายแรง กรณีปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผยการรับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจากบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นตามที่กำหนดไว้ โดยรับรองงบดุลงบการเงินของพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นเท็จ
ข้อกล่าวหาที่ 7. ส่อว่าจงใจกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 กรณีออกหนังสือรับรองความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอันเป็นเท็จให้กับนายธานินทร์ ใจสมุทร เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาที่ 1, 2, 5 และ 7 ตกไป
 
ข้อกล่าวหาที่ 6. ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยทำให้ราชอาณาจักร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ภายใต้อธิปไตยของต่างประเทศและไม่กำกับ ดูแลเพื่อรักษาไว้ซึ่งดินแดนของประเทศ กรณีให้ประเทศเพื่อนบ้านทำถนนบุกรุกยึดครองใช้พื้นที่ดินแดนของประเทศไทยเป็นทางขึ้นเขาพระวิหาร
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ปรากฏว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประท้วงต่อรัฐบาลกัมพูชาเรื่อยมา มิได้ปล่อยให้ทำถนนรุกล้ำเข้ามายึดครองดินแดนทางขึ้นปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด ล่าสุดได้ประท้วงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ข้อกล่าวหาที่ 3. ส่อว่าใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในกรณีที่ได้แต่งตั้งให้นายกษิต ภิรมย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 มาตรา 6 ทวิ และมาตรา 11 กรณีเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการทำให้การบริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองหยุดชะงักลง คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุผลในการเสนอแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงเจตนารมณ์ในการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... ที่มีการกล่าวอ้างว่า เป็นไปเพื่อให้ นายกษิต ภิรมย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมประท้วงในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับประโยชน์จากการนำกฎหมายดังกล่าวไปอ้างอิงในการต่อสู้คดีหรือไม่ อย่างใด จึงมีมติมอบหมายให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม
ข้อกล่าวหาที่ 4. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่นหรือพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย ฯลฯ กรณีรู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ไปช่วยปฏิบัติราชการในกระทรวงต่าง ๆ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เนื่องจากข้อกล่าวหานี้ เป็นประเด็นเดียวกับคำร้องขอให้ถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้นำข้อกล่าวหานี้ไปรวมพิจารณากับเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้การไต่สวนข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ในระหว่างให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
ข้อกล่าวหาที่ 8. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 กรณีขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 3 ราย ส่ง SMS ไปให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทมือถือดังกล่าว จากการส่งข้อความไปยังมือถือของประชาชน และให้ประชาชนส่งข้อความกลับคิดค่าบริการ 3 บาท ทำให้บริษัทดังกล่าวมีรายได้จำนวนมาก
 
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ยังมีประเด็นตามคำร้องขอให้ถอดถอนที่จะต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม คือ การที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ และมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์จำนวนหนึ่งส่งข้อความกลับไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ทำให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มีรายได้ ครั้งละ 3 บาท ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์ เพื่อมิให้มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการให้บริการดังกล่าวหรือไม่ และการส่งข้อความ SMS ดังกล่าว นั้น เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 หรือไม่ จึงมีมติมอบหมายให้คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมก่อน นั้น
 
ในวันนี้(23 ธ.ค.53) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมพิจารณา รายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในข้อกล่าวหาที่ 3 และข้อกล่าวหาที่ 8 ที่กล่าวข้างต้น แล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ
ข้อกล่าวหาที่ 3. ส่อว่าใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในกรณีที่ได้แต่งตั้งให้นายกษิต ภิรมย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่กระทำ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 มาตรา 6 ทวิ และมาตรา 11 กรณีเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการทำให้การบริการของท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองหยุดชะงักลง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าทำการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ และได้เชิญ นายกษิต ภิรมย์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้มีการเสนอแต่งตั้งให้นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เนื่องจากเห็นว่า นายกษิต ภิรมย์ เป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ หลายประเทศ มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ และเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ซึ่งได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของนายกษิต ภิรมย์ แล้วก่อนเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทราบว่า นายกษิต ภิรมย์ ได้รับเชิญไปแสดงความคิดเห็น ในช่วงที่มีการชุมนุมเป็นระยะ ตั้งแต่ปี 2549 แต่เหตุดังกล่าวหาใช่คุณสมบัติต้องห้ามในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และการแจ้งความกล่าวหานายกษิต ภิรมย์ ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2538 มาตรา 6 ทวิ และมาตรา 11 นั้น เป็นการแจ้งความหลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายกษิต ภิรมย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว มิใช่แจ้งความดำเนินคดีไว้ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ดังนั้น การแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นไปตามขั้นตอนในการแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยทั่วไป
ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสนอกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... เพื่อช่วยเหลือนายกษิต ภิรมย์ ให้นำไปใช้อ้างอิงในการต่อสู้คดี นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... เพื่อต้องการปรับปรุงระบบการดูแลการรักษาความปลอดภัยให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการออกกฎกระทรวง หรือประกาศที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้มีการควบคุม กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกในเขตท่าอากาศยาน กรณีดังกล่าวเป็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ และได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อร่างพระราชบัญญัติว่าอาจเป็นการกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมควรบัญญัติให้เป็นกฎหมายกลางเพื่อให้สามารถปรับใช้กับท่าอากาศยานอื่น ๆ ได้ด้วย และได้มีการส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มิได้เป็นผู้เสนอหรือสั่งการให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบการดูแลการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นการยกเว้นความผิด หรือลบล้างความผิด หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด และในขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ คณะรัฐมนตรีก็มิได้ให้ความเห็นชอบในทันที หากแต่ได้มีการการพิจารณาให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อร่างพระราชบัญญัติว่าสมควรบัญญัติให้เป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้สามารถปรับใช้กับท่าอากาศยานอื่นและมีการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยปกติทั่วไป ไม่ปรากฏว่ามีการเร่งรัดดำเนินการหรือเพื่อช่วยเหลือนายกษิตย์ ภิรมย์ ให้ใช้อ้างอิงในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วจึงมีมติว่า ข้อกล่าวหาที่ 3 ไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
 
ส่วนข้อกล่าวหาที่ 8. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 กรณีขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 3 ราย ส่ง SMS ไปให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทมือถือดังกล่าว จากการส่งข้อความไปยังมือถือของประชาชนและให้ประชาชนส่งข้อความกลับคิดค่าบริการ 3 บาท ทำให้บริษัทดังกล่าวมีรายได้จำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ยังมีประเด็นตามคำร้องขอให้ถอดถอนที่จะต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม คือ การที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้มีการส่ง SMS ดังกล่าว โดยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์จำนวนหนึ่งส่งข้อความกลับไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ทำให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มีรายได้ครั้งละ 3 บาท ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เพื่อมิให้มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการให้บริการดังกล่าวหรือไม่ และการส่งข้อความ SMS ดังกล่าว นั้น เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 หรือไม่ นั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช จะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามลำดับ ได้เห็นชอบให้มีการสื่อสารกับประชาชนโดยวิธีการส่ง SMS และมอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งได้มีการนัดหมายผู้บริหารของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บริษัท เอ ไอ เอส บริษัท ดีแทค บริษัท ทรู มูฟ และบริษัท ฮัชท์ ให้มาประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซัน ในวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ในวันดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช ได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครือข่าย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS บริษัท โทเทิ่ลบริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และบริษัท ทรู มูฟ จำกัด สาระสำคัญของการประชุม คือ ขอให้ส่งข้อความถึงประชาชน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้เป็นผู้พิจารณาตรวจร่างข้อความการส่ง SMS ถึงประชาชน
จากการไต่สวนผู้แทนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครือข่าย ได้ให้ถ้อยคำว่า การส่ง SMS ดังกล่าว ได้ระบุให้ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่ง และเนื่องจากเห็นว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือกับทางราชการ จึงได้กำหนดชื่อผู้ส่งว่า UR_PM ย่อมาจาก YOUR PRIME MINISTER โดยให้ดำเนินการพร้อมกันภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อันเป็นการดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือจากภาครัฐ และไม่มีการกำหนดในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนในการดำเนินการ เพราะไม่ใช่เป็นการให้บริการในลักษณะหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการส่ง SMS ให้กับหน่วยงานของรัฐ นั้น บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครือข่าย ได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการมาโดยตลอด เช่น การประชาสัมพันธ์การจัดประชุมเอเปค เมื่อปี 2546 การแจ้งข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือวิกฤตการณ์แพร่กระจายของโรคระบาด การแจ้งข่าวรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 การประชาสัมพันธ์การจัดงานพระราชพิธีฯ จากกรมประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่ง SMS ดังกล่าว โดยมีผู้ใช้โทรศัพท์จำนวนหนึ่งส่งข้อความกลับไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ทำให้บริษัท ผู้ให้บริการโทรศัพท์มีรายได้ครั้งละ 3 บาท ได้มีการดำเนินการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เพื่อมิให้มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากการให้บริการดังกล่าวหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย จะได้รับเฉพาะค่าบริการ จำนวน 3 บาท กรณีที่ประชาชนตอบกลับมาเท่านั้น ซึ่งเป็นความสมัครใจของประชาชนที่ต้องการรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม โดยถือเป็นรายได้ของผู้ให้บริการแต่ละราย มิได้มีการแบ่งปันกันระหว่างบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย หรือผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น
เมื่อค่าบริการดังกล่าวถือเป็นรายได้ของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว การเสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ ของบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่นเดียวกับการเสียภาษีในการให้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) ในกรณีอื่นๆ โดยทั่วไป ซึ่งเงินค่าบริการในครั้งนี้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้รวมเป็นรายได้ของบริษัท โดยไม่ได้มีการแยกไว้เฉพาะส่วนของค่าบริการส่งข้อความ SMS ดังกล่าว อีกทั้ง ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปีแล้ว ซึ่งจากการขอทราบข้อเท็จจริงจากกรมสรรพากรในเรื่องนี้ กรมสรรพากรกรมสรรพากรได้แจ้งให้ทราบว่า บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้นำรายได้จากการที่ประชาชนใช้บริการส่งข้อความสั้น (SMS) ทั้งหมดบันทึกเป็นรายได้ เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้แล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดว่าเป็นบุคคลใดบ้างเนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ไม่ได้เก็บข้อมูลรายตัวไว้ และจากการไต่สวนปากคำตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย รับฟังได้ว่า การดำเนินการขอให้ส่ง SMS ดังกล่าว เป็นการดำเนินการในลักษณะการขอความร่วมมือจากภาครัฐ ไม่มีข้อตกลงในเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน หรือการยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทที่ดำเนินการจัดส่งข้อความสั้น (SMS) ดังกล่าวแต่อย่างใด
สำหรับการกระทำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช ดังกล่าวจะถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หรือไม่นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 วรรคหนึ่ง กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจ4รรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 กำหนดว่า การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยา หมายถึง การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากญาติหรือจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสต่างๆ โดยปกติตามขนบธรรมเนียม ประเพณีหรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทที่ปฏิบัติกันในสังคม และประโยชน์อื่นใด ให้หมายความรวมถึงการรับบริการด้วย ซึ่งแม้การขอรับบริการในการส่งข้อความสั้น (SMS) ตามเรื่องนี้ จะถือเป็นประโยชน์อื่นใด ตามที่กำหนดไว้ในบทนิยามของประกาศฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ขอให้ส่ง SMS ในลักษณะเป็นการขอความร่วมมือจากภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการข้อมูลจากประชาชนและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลต่อไป โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครือข่าย ก็เคยให้บริการในการส่งข้อความสั้น (SMS) ให้กับหน่วยงานของรัฐในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ และไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากมิใช่เป็นการหาประโยชน์ในเชิง
อีกทั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมว่าสมควรจะให้การสนับสนุนมากน้อยเพียงใด โดยบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 เครือข่ายได้พิจารณาส่งให้ตามความเหมาะสม มิได้ส่งให้กับลูกค้าของบริษัททั้งหมด ซึ่งตามหลักการของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103 เป็นการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองเป็นการส่วนตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การส่งข้อความสั้น (SMS) ในเรื่องนี้เป็นการดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือจากภาครัฐ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน มิใช่เพื่อประโยชน์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช โดยส่วนตัว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ส่วนในประเด็นที่กล่าวหาว่า การส่งข้อความสั้น (SMS) ดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 นั้นจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 สิงหาคม 2553 ขอทราบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีร้องขอให้ถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 3 ราย ส่ง SMS ไปให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ข้อความว่า “ผมนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ขอเชิญท่านร่วมนำประเทศไทยออกจากวิกฤติ/สนใจ ได้รับการติดต่อจากผมกรุณาส่งรหัสไปรษณีย์ 5 หลักของท่านมาที่เบอร์ 9191 (3บ.)” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทมือถือดังกล่าว และเป็นการรุกล้ำสิทธิในลักษณะของการถูกบังคับใช้บริการ ซึ่งสิทธิความเป็นส่วนตัวได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอทราบว่า การส่ง SMS กรณีดังกล่าว เป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 35 หรือไม่ ประการใด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 แจ้งว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่อาจไม่อาจดำเนินการตามคำขอของประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดังกล่าวได้ เนื่องจากการที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หมวด 3 ว่าด้วยการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาตรา 22 - 33 และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2545
หากยังคงประสงค์ขอทราบความเห็นในเรื่องดังกล่าว ขอให้ส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 25 และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2545 ข้อ 13 (4) ต่อไปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสมควรหยิบยกเรื่อง ดังกล่าวขึ้นพิจารณาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาหนังสือตอบชี้แจงข้อเท็จจริงของประธาน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้วเห็นว่า คำร้องขอให้ถอดถอนในประเด็นนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติ ตามที่ได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใด นอกเหนือจากที่ได้แจ้งให้ทราบแล้ว จึงไม่อาจส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาเพิ่มเติมได้
ดังนั้น เมื่อการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ข้อยุติเป็นเช่นนี้ การกระทำตามข้อกล่าวหาจะเป็นการละเมิดกระทบต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 35 หรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงที่ดำเนินการไต่สวนมาแล้ว รับฟังได้ว่าการส่งข้อความสั้น (SMS) ดังกล่าว เป็นการดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อนำข้อมูลจากประชาชนมาใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาลซึ่งเป็นไปด้วยความสมัครใจ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน รวมทั้งไม่ปรากฏว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานวุฒิสภาตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ต่อไป
 
ป.ป.ช.ไม่รับสอบ"ภาณุพงศ์"ซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืน
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงเมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) ว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) กับพวกรวม 19 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกลั่นแกล้ง นายมะกะตา ฮารง กับพวก ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันปล้นอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนรินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547
รวมทั้ง นายอนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กับพวก ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงปาดี และผู้ต้องหาในคดีปล้นอาวุธปืน ให้ได้รับโทษทางอาญา หน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ และร่วมกันทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพด้วยวิธีการอันทารุณนั้น
ผลการพิจารณาสรุปได้ว่า ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหาดังกล่าว มีการกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อบีบบังคับให้กลุ่มผู้ต้องหายอมรับสารภาพว่า นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส เป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดน และปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 แต่จากการไต่สวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไม่พบว่ามีร่องรอยบาดแผลตามร่างกายที่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าถูกตำรวจทำร้ายร่างกายตามที่กล่าวอ้างจริง
นอกจากนี้ ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ นายมะกะตากับพวกได้เบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีดังกล่าวว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย แต่ศาลอาญาได้วินิจฉัยว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายตามที่พยานกล่าวอ้าง ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
ด้านสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 10.30 น. เมื่อวานนี้ คนร้ายไม่ทราบจำนวนดักซุ่มอยู่ข้างทาง และใช้อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. และปืนสงครามอาก้า ยิงถล่ม นายครรชิต ดุลยาภรณ์ อายุ 49 ปี หัวหน้าสำนักงานที่ดินอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ขณะที่ขับรถกระบะออกจากบ้านในตัวเมือง จ.ยะลา เพื่อเดินทางไปทำงาน เหตุเกิดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 สายเก่า ช่วงบ้านเจาะกือแย-ตะบิ้ง หมู่ 3 ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี ทำให้ นายครรชิต ได้รับบาดเจ็บสาหัส เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เวลา 13.15 น. ศูนย์วิทยุ สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา รายงานว่า มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ขับรถกระบะ 4 ประตู ยี่ห้อมิตซูบิซิ สีเทา ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดยิง นายอะดือนา เจะแต อายุ 34 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าธง ได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะนายอะดือนากำลังพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปว่าสาเหตุของการลอบสังหารเป็นเรื่องส่วนตัวหรือสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก และกรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net