Skip to main content
sharethis
 ชื่อบทความเดิม: ประเทศไทยต้องไม่นิ่งเฉยยินยอมให้มี “ใบอนุญาตฆ่า” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
 
 
 
มติสหประชาชาติเกี่ยวกับความคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกอาจฟังดูคลุมเครือสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่ไม่มีอะไรจะชัดเจนยิ่งไปกว่าภาพของวัยรุ่นชายสองคนผูกผ้าปิดตาและกำลังถูกชายใส่หน้ากากเอาห่วงเชือกมาคล้องคอไม่กี่นาทีก่อนที่จะถูกแขวนคอเพราะข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน
 
 
ภาพที่น่าตกใจนี้ถูกใช้เป็นฉากหลังในงานแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อเตือนให้ผู้ร่วมงานได้ระลึกถึงความป่าเถื่อนที่มีการกระทำต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศและโครงการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจัดงานแถลงข่าวนี้ขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออกเสียงในวันนี้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพื่อสนับสนุนความคุ้มครองต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกจากการถูกเอาชีวิตเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศของตน
 
เมื่อเดือนที่แล้ว คำว่า วิถีทางเพศ ในฐานะเหตุผลความคุ้มครองหนึ่ง ถูกลบออกจากมติสหประชาชาติว่าด้วยการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเร่งรัด หรือตามอำเภอใจ ประเทศไทยงดออกเสียงในการลงคะแนนข้อเสนอเลือกปฏิบัติดังกล่าว ซึ่งเปรียบเหมือนใบอนุญาตให้ฆ่าผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ แม้ว่าประเทศไทยจะนั่งเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอยู่ในขณะนี้
 
แต่เนื่องจากในวันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะลงคะแนนเสียงอีกครั้งเพื่อรับรองมติที่ผ่านการแก้ไขนี้ จึงได้มีความพยายามที่ได้รับความสนับสนุนโดยเลขาธิการสหประชาชาตินายบันคีมูน และทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ เพื่อจะใส่คำว่า วิถีทางเพศ รวมทั้งเพิ่มคำว่า อัตลักษณ์ทางเพศ กลับเข้าไปในมติเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
เหตุผลที่จำต้องมีความคุ้มครองดังกล่าวเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนแก่ใครก็ตามที่สนใจรับฟังข้อมูล ในงานวันศุกร์ที่ผ่านมา นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับมาจากประเทศอิรักได้เล่าให้ฟังถึงการรณรงค์เพื่อ “ชำระสังคม” ในอิรักเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การฆ่าฟันผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไม่ยั้งมือโดยกองกำลังเถื่อนติดอาวุธและกองกำลังความมั่นคงที่เป็นคนของรัฐเอง เธอได้สัมภาษณ์ชายรักชายสิบคนที่อยู่ระหว่างการซ่อนตัวและคำให้สัมภาษณ์เหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง เช่น การตามรังควาน การรุมข่มขืน การทรมาน คำขู่ฆ่า การลักพาตัว การทำให้หายสาบสูญ และฆาตกรรม 
 
“พวกเขาเล่าให้ฟังถึงเพื่อนที่ถูกฆ่าเพราะเป็นชายรักชายหรือเป็นกะเทย ศพที่ถูกทำร้ายถูกนำมาทิ้งไว้กลางถนน คนที่หนีไปได้ก็ถูกเอารูปมาติดประกาศพร้อมเสนอค่าหัวเป็นรางวัลให้แก่คนที่จับได้” นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า ชายทั้งสิบคนนี้มีเพื่อนที่ถูกฆ่าไปอย่างน้อย 25 คน นักเคลื่อนไหวชาวอิรักผู้หนึ่งประมาณว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกฆ่าไปทั้งหมดมากกว่า 60 คน แต่ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า
 
บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวนี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในตะวันออกกลางเท่านั้น การกวาดล้างผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยมักเป็นผลจากความรู้สึกเกลียดชังความหลากหลายทางเพศในระดับสูงสุด ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีมหาดไทยประเทศนามิเบียให้โอวาทแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จบการศึกษาใหม่ให้ “กำจัดพวกเบี่ยงเบนให้หมดไปจากแผ่นดินนามิเบีย”
 
ประเทศยูกานดากำลังผลักดันกฎหมายที่ได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มคริสเตียนหัวรุนแรงเพื่อลงโทษประหารชีวิตต่อคนรักเพศเดียวกัน หนังสือพิมพ์ในประเทศดังกล่าวตีพิมพ์รายชื่อและภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศและยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนที่ถูกกล่าวถึง ณ ปัจจุบัน (พฤษภาคม 2553) มีเจ็ดประเทศที่อนุญาตให้ลงโทษประหารชีวิตแก่บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน ได้แก่ อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดิอาระเบีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย และไนจีเรีย
 
ศาสตราจารย์ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือกล่าวว่า “ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่จะส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศในระดับสากล เรามีบรรยากาศที่เอื้อต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีมาตรา 30 ที่ให้ความความคุ้มครองห้ามเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ” และยังย้ำว่าการงดออกเสียงของประเทศไทยนั้นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือพันธะกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามที่ได้ลงนามไว้ในอนุสัญญาต่างๆ
 
เมื่อมองจากหลายๆ ด้าน ประเทศไทยกำลังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่ได้มีความก้าวหน้าไปสู่การให้ความเคารพต่อสิทธิความหลากหลายทางเพศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในปี 2550 ศาลฎีกาประเทศเนปาลสั่งให้รัฐบาลรับประกันสิทธิของ “เพศที่สาม” โดยขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกัน ส่วนเมื่อปีที่แล้ว ศาลสูงแห่งกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียได้ตัดสินยกเลิกกฎหมายลงโทษความสัมพันธ์เพศเดียวกันที่มีมานาน 150 ปี และในประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนเมษายนนี้เอง ศาลฎีกาได้ตัดสินให้พรรคการเมืองของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีชื่อว่า AngLadLad สามารถลงแข่งขันรับเลือกตั้งเพื่อเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ในวุฒิสภาได้ แม้ว่าจะถูกคณะกรรมการเลือกตั้งพยายามขัดขวาง
 
นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยกล่าวไว้ในการหาเสียงเมื่อปี 2550 ว่า “ทางพรรคหวังให้สังคมยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลเพศที่ 3 อยากให้ทุกคนมองถึงความสำคัญของเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคมมาก่อน และจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยนำเอาเรื่องของเพศมาเป็นประเด็น และหวังให้สังคมกล้ายอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน”
 
หากนายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติตามคำให้สัญญาดังกล่าว ก็คงไม่มีเวลาใดที่จะดีไปกว่านี้แล้ว ประเทศไทยสมควรต้องลงคะแนนเสียงในวันนี้เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก เพราะไม่มีสิทธิใดที่สำคัญเป็นพื้นฐานยิ่งไปกว่าสิทธิในการมีชีวิตอยู่
 
 
 
http://www.nationmultimedia.com/2010/12/20/opinion/Thailand-must-not-condone-a-licence-to-kill-gays-30144774.html
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net