Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทันทีที่อ่านข้อความที่ส่งมาจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชนเสร็จสรรพ นางทม สินสุวรรณ หรือมะทม หญิงชราอายุ ๕๖ ปี ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความผิดหวังหลังจากที่รู้ว่า ชุมชนบ้านยางคต ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของสำนักงานโฉนดชุมชนด้วยเหตุผลของข้อมูลบางอย่างไม่สมบูรณ์ตามเกณฑ์ และมีชาวบ้านออกมาค้าน แม้จะรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าโอกาสที่ชุมชนดังกล่าวจะผ่านนั้นมีน้อย เพราะเงื่อนไขหลายอย่างของการพิจารณาปิดโอกาสของคนไทยพลัดถิ่นไปแล้ว แต่นางก็ยังหวังลึกๆ ว่าคณะกรรมการที่เคยลงมาเมื่อหลายเดือนก่อนจะเข้าใจข้อจำกัดของชุมชนคนไทยพลัดถิ่น จะเข้าใจบริบทของการดำรงอยู่ในพื้นที่การถูกดูเหยียดหยามที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของคนในชุมชนเดียว จึงไม่แปลกที่น้ำตาอันต่ำต้อยจึงพร่างพรูออกมาอย่างไม่อายคนรอบข้าง
 
ถนนแคบๆ โปรยด้วยหินหยาบซึ่งข้างทางมีต้นกาหยูและต้นปาล์มเป็นฉากประดับพาเราไปท้ายสุดของชุมชนอันเป็นบริเวณที่ตั้งที่ท่าเรือ ซึ่งชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่าบริเวณท่าเรือของชุมชนยางคต ที่ดิน ๑ ไร่ ๒งาน บ้านที่ไม่รู้จะเรียกว่าบ้านได้หรือเปล่าเพราะสภาพมันดูเพิงมากกว่าซึ่งคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ ๑๖ หลังคาเรือน เป็นพื้นที่ๆ ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวยื่นเพื่อขอเป็นโฉนดชุมชน
 
“ฉันว่าหวังมันจะเป็นผืนดินที่ฝังหน้าและอยู่ได้จนชั่วลูกชั่วหลาน” มะทมกล่าวประโยคแรกด้วยเสียงสะอื้น
 
นางเล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อ ๕๐ ปีก่อนชุมชนบ้านยางคต ที่บริเวณนี้เป็นป่ารกร้าง มีนายหมาดเส็น นายโต๊ะดลและนายยาย่า ชาวประมงได้เข้ามาจับจองที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนเป็นครอบครัวแรกๆ โดยยึดอาชีพประมงชายฝั่ง ประเภท ลอบปูดำ อวนปลาทราย อวนถ่วง อวนปลากระบอก หากุ้งเคยทำกะปิ หาเก็บหอยตามป่าชายเลนและเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน
 
ต่อมาที่บริเวณท่าเรือยางคต ครอบครัวนางติ่ง รขันโท ได้เข้ามาตั้งบ้านเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยได้ขออนุญาตผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สะดวกต่อการประกอบอาชีพประมง บริเวณท่าเรือยางคต ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ซึ่งเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่รกร้างใช้เป็นท่าเรือ ต่อมาเมื่อทางหน่วยงานราชการมาปรับพื้นที่ให้สามารถอยู่อาศัยได้และประกาศว่าเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ไม่มีสิทธิ์ซื้อขาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ นายผาด นาวาลอย คนไทยพลัดถิ่นสามีของนางได้เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อตั้งบ้านเรือน ก่อนชาวบ้านได้ทยอยมาสร้างบ้านอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นท่าเรือที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนชื่อเรียกว่าท่าเรือยางคตนั้นนางบอกว่าเรียกชื่อตามลักษณะตนยางในพื้นที่ เมื่อสมัยก่อนต้นยางที่มีลักษณะคดโค้งชาวบ้านเลยเรียกชื่อตามลักษณะของต้นยาง
 
“เมื่อก่อนที่ตรงนี้อยู่กันไม่มากมีไม่กี่หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นญาติๆ กัน เป็นลูกเป็นหลาน พอมีลูกก็แยกครอบครัวปลูกป่าอยู่ใกล้ๆ กัน พอได้ทำมาหากินไปวันๆ ตามประสาคนจน” นางเล่าต่อก่อนจะลงรายละเอียดถึงการต่อสู้เรื่องของที่ดิน
 
หากพิจารณาแล้วรอบๆ พื้นที่นำเสนอโฉนดชุมชนนั้นรอบด้านเป็นสวนปาล์มของนายทุน และด้านหน้าเป็นท่าเรือ ส่วนบ้านนั้นก็แอดอัดกันแนวซึ่งเมื่อวัดผืนที่แต่ละครัวแล้วมีคนละไม่กี่ตารางวาเท่านั้น
 
“ที่ตรงนี้มีทั้งหมด ๑๖ หลัง แต่เข้าร่วมโฉนดชุมชน ๑๑ หลัง รวมคนแล้ว ๔๒ คน เมื่อก่อนที่จะมีนโยบายโฉนดชุมชนออกมานั้น ทางกลุ่มก็ต่อสู้เรื่องที่ดินมาตลอด มีการรวมตัวกันทำผังชุมชน ทำข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการที่จะยืนยันถึงสิทธิที่อยู่อาศัย เดินทางไปประชุมตามเวทีต่างๆ มากมายเพื่อไปสร้างความเข้าใจและทำให้สังคมเห็นว่า เราอยู่มานาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะยึดโยงในอนาคตได้เลยว่า เราจะไม่ถูกไล่ที่หรือทางการจะย้ายเราไปไหน” มะทมเล่าต่อ
 
“ฉันและครอบครัวฉันเป็นสมาชิกในเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง ประจวบฯ มาตั้งแต่ปี ๔๕ รวมตัวกันเรียกร้องเรื่องสัญชาติและทำเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยควบคู่กันไปด้วย เพราะเราคิดว่าเมื่อได้สัญชาติไทยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะสุขสบายไปด้วย” มะทมกล่าวด้วยสีหน้าอิดโรย
 
ขณะเดียวกันหลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายโฉนดชุมชนออกมาเพื่อไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านที่อยู่ทับซ้อนในที่รัฐแล้ว ชุมชนยางคตก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ยื่นขอโฉนดชุมชน และเป็นพื้นที่นำร่องในจังหวัดระนอง แต่เนื่องด้วยโฉนดชุมชนเป็นเรื่องใหม่และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวมีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่จึงทำให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายทุนรอบพื้นที่ และชาวบ้านบางส่วนได้ออกคัดค้านการที่จะออกเป็นโฉนดชุมชน
 
“เพราะเรามันคนไทยพลัดถิ่น คิดจะทำอะไรกับเราก็ได้ แค่เพียงผืนดินเล็กๆ ที่ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวก่อนตาย เขายังออกมาคัดค้าน ทั้งๆ ที่ฉันพยามอธิบายกับผู้ใหญ่บ้านหลายครั้งแล้วว่า โฉนดชุมชนเป็นแค่การรับรองสิทธิให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยได้ชั่วลูกชั่วหลาน ไม่สามารถซื้อขายหรือเอาเข้าธนาคารได้ เขายังไม่เชื่อ พยามปลุกชาวบ้านว่าเราจะมายึดที่ดังกล่าวแล้วชาวบ้านจะไม่สามารถเข้าไปในท่าเรือได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เลย แล้ววันที่คณะกรรมการลงมาในพื้นจริง ทางคณะกรรมการก็ได้อธิบายหลักการของโฉนดชุมชนไปแล้ว แต่ยังมีการข่มขู่ว่าถ้าที่ตรงนี้ออกโฉนดชุมชนจะพาชาวบ้านออกมาคัดค้าน จะไล่พวกฉันคนไทยพลัดถิ่นออกจากชุมชน ทั้งๆ ที่ตรงนี้เป็นที่รัฐไม่สามารถซื้อขายได้อยู่แล้ว” มะทมลากยาวระบายความรู้สึก
 
ยังมีอีกหลายพื้นที่ในเครือข่ายที่อยู่ในลักษณะเดียวกันกับชุมชนบ้านยางคตที่พอรู้ว่าจะทำโฉนดชุมชนก็มีทั้งผู้ใหญ่บ้านหรือนายทุนที่หวังจะฮุบที่รัฐ ออกมาคัดค้านและข่มขู่ชาวบ้านทำให้บางที่ไม่สามารถจะดำเนินการทำโฉนดชุมชนได้ 
 
“มีหลายพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์จะดำเนินการโฉนดชุมชนได้แต่พอเกิดเหตุการณ์การข่มขู่ ชาวบ้านก็ถอดใจ” 
 
“ขนาดข้าวสารพระราชทาน ที่ลงมาแจกให้ชาวบ้านเจ้าหน้าที่ยังเลือกปฏิบัติให้เฉพาะคนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น ถามว่าพวกผมก็เป็นคนไทยเหมือนกันไหม ถามว่าคนไทยพลัดถิ่นหิวไม่เป็นหรืออย่างไร นับประสาอะไรกับโฉนดชุมชนที่หลักเกณฑ์จำกัดสิทธิของคนไทยพลัดถิ่นอยู่แล้ว แค่เราอยู่ในพื้นที่ก็ยากลำบากแล้วโดนกีดกัน โดนรังเกียจเหยียดหยามตลอดเวลา เรื่องไหนที่พอคนไทยพลัดถิ่นลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเองก็จะถูกตั้งแง่อยู่ตลอดเวลา” ใครคนหนึ่งโพล่งกลางวงด้วยอารมณ์ขุ่นมัว 
 
ขณะเดียวกับนายอนันทชัย วงศ์พฆัคร หนึ่งในคณะทำงานโฉนดชุมชนภาคใต้ ได้ออกความเห็นว่า “กรณีพื้นที่คนไทยพลัดถิ่นคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนควรที่จะเข้าใจบริบทการดำรงอยู่ให้ชัดเจนในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะพื้นที่ความขัดแย้งซึ่งต้องยอมรับว่าชุมชนที่คนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่นั้นมักถูกมองไปในด้านลบ การที่มีบางส่วนที่ชาวบ้านออกมาคัดค้านนั้นเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจและทัศนคติด้านลบ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ฉะนั้นหลักเกณฑ์ควรที่จะมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะบรรลุในการแก้ปัญหาเรื่องนี้” 
 
“ถึงแผ่นดินตรงนี้ไม่สามารถเป็นโฉนดชุมชนได้ ฉันและลูกหลานฉันจะขออยู่ที่นี่ จะไม่ไปไหน เพราะไม่รู้จะไปอยู่ไหนแล้ว พม่าไล่เราให้กลับเมืองไทย คนไทยยังจะไล่เราไปไหนอีก” มะทมกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแม้ว่าตอนนี้น้ำตาจะไหลอาบสองแก้มแล้วก็ตาม
 
บทสรุปชีวิตของคนไทยพลัดถิ่นวันนี้ยังมืดมน มืดมนท่ามกลางความมืดบอดทางประวัติศาสตร์และอคตินิยมที่ฝังรากลึกในสังคมมาช้านาน ในกระแสของการปฏิรูปหวังว่าคนเล็กๆ อย่างคนไทยพลัดถิ่นจะถูกเหลียวบ้างอย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net