Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 ไทยอีนิวส์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์อานนท์ นำภา ทนายความที่ช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาคดีการเมืองกรณี 19 พฤษภาคม และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในทุกแง่มุมที่ผู้รักคววามเป็นธรรมอยากจะรู้ เช่น เข้ามาเกี่ยวข้องคดีต้องห้ามในวงการทนายนี้ได้อย่างไร ใครให้เงินมาว่าความ ทักษิณให้เงินไหม? ความหนักเบายากง่ายในคดีประเภทนี้ และอนาคตลูกความของเขา..พวกเขาที่อุทิศตัวต่อสู้และไปติดคุกแทนพวกเราๆ ที่ยังเป็นอิสรชนอยู่นอกกำแพงคุก และกำลังเพลิดเพลินฉลองปีใหม่อยู่ในเวลานี้

 


อานนท์ นำภา

Q : อยากให้ทนายอานนท์ นำภา เล่าให้ฟังความเป็นไปเป็นมาที่ได้มาเกี่ยวข้องกับคดีการเมืองด้วยว่า มีจุดเริ่มต้นจากไหน

A : เรื่องนี้ต้องเริ่มจากตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยครับ จริงๆ ตอนที่ผมสอบเอ็นทรานซ์ ผมเลือกลงคณะนิติศาสตร์เป็นอันดับแรก แต่มันคะแนนสอบไม่ถึง เลยจับพลัดจับผลู ไปเรียนสังคมวิทยาฯที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรียนได้แค่เทอมเดียวก็ต้องออก เพราะรู้ว่าตนเองชอบเรียนกฎหมายมากกว่า จึงออกมาเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ช่วงที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียน และเข้าไปทำกิจกรรมกับเพื่อนที่ธรรมศาสตร์นี่แหละ ที่ได้มีโอกาสได้รู้จักกับคนในวงการกิจกรรมนักศึกษา เช่น พี่โชติศักดิ์ (ที่ถูกดำเนินคดีไม่ยืนในโรงหนัง) พี่สงกรานต์ และรู้จักเพื่อนๆอีกหลายคน

ซึ่งคนเหล่านี้ก็เป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่ สมัยเรียนมหาลัย เราเป็นน้องใหม่ก็ได้ซึมซับมาด้วย และตอนเรียนที่รามฯก็มีโอกาสได้ออกค่ายบ่อยๆ ทำให้เห็นปัญหาสังคมมากขึ้น รวมทั้งก็ได้ร่วมขบวนชุมนุมของชาวบ้านหลายๆที่

กระทั่งเรียนจบที่ รามฯสามปี ก็ฝึกงานที่ออฟฟิศกฎหมายที่ทำคดีทางสังคม เช่น คดีชาวบ้านที่จ.ประจวบฯ ,จ.สระบุรี , คดีท่อแก๊ซไทย – มาเลเซีย และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคดี

เหตุการณ์มาพลิกผันเข้าสู่การทำคดีการเมืองอย่างจริงจังก็ตอน ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก ยังเป็นน้องเล็ก(นักกิจกรรมรุ่นเล็ก) ก็ได้ไปประชุมกับพี่ๆ และเริ่มจัดตั้งกลุ่ม “ เครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมหลายๆรุ่น

เช่น พี่หนูหริ่ง(สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด) พี่อุเชนทร์ เชียงแสน (อดีตเลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สนนท.) พี่โฉด (โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีไม่ยืนในโรงหนัง) รวมทั้งพี่ๆนักกิจกรรมเก่าๆอีกหลายคน

เดิมเราตั้งเวทีปราศัยในธรรมศาสตร์ และภายหลังก็มีการชุมนุมทุกวันอาทิตย์ และย้ายมาชุมนุมต้านการรัฐประหารที่สนามหลวงในเวลาต่อมา

ตอนนั้นผมมีหน้าที่เขียนบทกวีขึ้นไปอ่านครับ อันนี้ก็เป็นกวีจำเป็นทำนองนั้น ( เรื่องประกอบ:อ่านบทกวีชื่อ เหมือนบอดใบ้ ไพร่ฟ้ามาสุดทาง )

ส่วนคนที่ขึ้นพูดบนเวทีก็จะเป็นรุ่นใหญ่บ้าง กลางบ้าง เล็กบ้าน เช่น หมอเหวง โตจิราการ ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม-ฮาตะ พี่หนูหริ่ง และอีกหลายคน และหลังจากนั้น คดีการเมืองก็คืบคลานเข้ามาสู่ชีวิตผมอย่างเป็นทางการ

Q : ได้ทำคดีการเมืองไปกี่คดีก่อนจะมีเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม มีคดีอะไรบ้าง ลองเล่าตัวคดีให้ฟังคร่าวๆ

A : ก่อน ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คดีส่วนใหญ่ที่ทำเป็นคดีชาวบ้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหลัก

จริงๆ ต้องบอกว่าหัวหน้าออฟฟิศเป็นนักกฎหมายทางสังคม (พี่ทอม สุรชัย ตรงงาม) คดีเหล่านี้จึงได้รับการไว้วางใจให้ออฟฟิศผมทำเช่น คดีชาวบ้านที่ จ.ประจวบฯที่ค้านโรงถลุงเหล็ก ,ชาวบ้านที่สระบุรี ที่ต้านโรงไฟฟ้า และที่ จ.สงขลา ที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐกลับในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตาม ม.๑๑๒ ที่ทำก็เช่น คดีนายสุวิชา ท่าค้อ , คดีเวบไซต์ประชาไท และเป็นคนช่วยดูคดีนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง(กรณีไม่ยืนในโรงหนัง) และคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ซึ่งแน่นอนว่าเรายังเป็นวัยรุ่นก็ช่วยเป็นตัวประสาน ที่ทำเป็นตัวหลัก็คดีนายสุวิชา ท่าค้อ และคดีประชาไท ส่วนคดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็เป็นการร่วมงานกับทีมทนายอาวุโสของสภา ทนายความ

ส่วนคดี นายโชติศักดิ์ ต้องบออกว่าเป็นคดีรุ่นพี่ที่รู้จักสนิทสนมกันมาตั้งแต่เรียนมหาลัย คร่าวๆ น่าจะประมาณนี้

อ้อ ยังมีคดีของสหภาพแรงงานไทรอั้มพ์ของ พี่หนิง (จิตรา คชเดช) อีกคดี ซึ่งเป็นคดีที่สหภาพไปชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่โดนข้อหา ชุมนุมมั่วสุม และถูกสลายการชุมนุมโดยเครื่องแอลแลต (เครื่องทำลายประสาทหู) อันนี้รับผิดชอบหลัก แต่ก็ยังไม่ได้ขึ้นศาล ขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการ

Q : คดีการเมืองที่มาทำในกรณี19พฤษภาคม ทำกี่คดี ที่ไหนบ้าง หากสะดวกช่วยเล่าทีละกรณีให้ฟังด้วยก็ดีว่า แต่ละคดีเป็นอย่างไร ตั้งแต่ตัวความ โดนคดีแบบไหน เจอเหตุการณ์อะไรบ้าง

A : ต้องเริ่มจากตอนที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีการปิดเว็ปไซท์ประชาไทในวันรุ่งขึ้น ผมกับพี่ที่ออฟฟิศก็งานเข้า เราได้ฟ้อง นายกรัฐมนตรีกับ ศอฉ. ต่อศาลแพ่งให้เปิดเว็ปประชาไท ซึ่งคดีอยู่ศาลอุทธรณ์ในขณะนี้

ต่อมาภายหลังจากมีการสลายการชุมนุม รัฐบาลได้ดำเนินการจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และคนเสื้อแดง ประเภทที่เรียกว่ากวาดจับก็ว่าได้ ซึ่งหลังเหตุการณื ๑๙ พฤษภาคม ใหม่ๆ ศอฉ. ได้จับและควบคุมตัวนักกิจกรรมคือ พี่หนูหริ่งไปควบคุมตัวที่ค่ายตชด. คลอง ๕ จังหวัดปทุทธานี

ซึ่งตอนนั้นเองพี่หนูหริ่งก็มิ ได้เป็นที่รู้จักของคนเสื้อแดงเลย ผมกับพี่ๆ อดีตนักกิจกรรมได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นทนายความให้พี่แก ๒ คดี คือคดีชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย

อันนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำคดีแกนนำเลย ที่เราเข้าไปตอนแรกๆ ก็เพราะพี่หนูหริ่งเป็นนักกิจกรรมที่รู้จักกัน แต่ภายหลังแกมีบทบาทนำมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าผมกับพี่ๆ เพื่อน ๆ ทำคดีแกนนำไปโดยปริยาย

อีกคดีอันนี้ตลก แบบเศร้า ๆ เป็นคดีลุงบัง ลุงบังถูกควบคุมตัวเข้ามาที่ค่ายเดียวกับพี่หนูหริ่งไล่เลี่ยกัน แกไม่มีคนรู้จักและมมีคนไปเยี่ยมเลย

พี่หนูหริ่งอีกนั่นแหละที่ขอให้เราช่วยเหลือแก คือแกน่าสงสารมาก เราเลยให้ความช่วยเหลือโดยยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัว แต่พระเจ้า ต่อมาภายหลังแกถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๑๙ ในคดีก่อการร้าย คดีเดียวกับแกนนำเสื้อแดง ก็เลยทำให้เราต้องเข้าไปทำคดีเดียวกับแกนนำโดยปริยาย

ซึ่งสองคดีนี้แหละที่เป็นเหมือนประตูของการเข้ามาทำคดีของคนเสื้อแดงอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นที่รู้จักโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ประการใด

แต่ต้องบอกว่าที่มาทำไม่ได้ในฐานะทนายอะไรหรอกครับ แต่ผมเห็นด้วยกับพี่หนูหริ่งต่างหาก และเห็นด้วยกับการชุมนุมและการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงด้วย

ต่อมาก็ลงพื้นที่ไปจ.อุบลฯ โดยไปเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้น ซึ่งภายหลังทนายความในพื้นที่ก็รับไปทำต่อ

แล้วเราก็ได้รับการประสานให้ลงพื้นที่ที่ จ.มุกดาหาร เพราะได้ข่าวว่าทนายความเดิมที่นั่นไม่เวิร์ค ก็เป็นไปตามที่คาด ภายหลังจากทนายความคนเดิมที่มุกดาหารถอนตัวออก เราก็เลยเข้าไปทำอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ไปสอบข้อเท็จจริงเรียงคดี ซึ่งมีจำเลยกว่า ยี่สิบคน

คดีก็ยุ่งยากมากเพราะต้องทำงานประสานกับหลายฝ่าย และนอกจากงานคดีแล้ว เรายังได้ลงปูเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของจำเลยแต่ละคนด้วย เรียกว่าลงไปคลุกคลีกับเขาเลยทีเดียว

ที่มุกดาหารนี้มีความน่าสนใจตรงที่ชาวบ้านที่นี่เป็นเสื้อแดงแท้ครับ ประเภท “ไม่ได้จ้าง กูมาเอง” เลยทีเดียว แต่ที่เป็นปัญหาคือ ชาวบ้านที่นี่มีฐานะยากจน หลักประกันไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลยครับ เราในฐานะทนายความก็ต้องหาเงินไปเช่าหลักประกันให้ ก็หยิบยืมกันมาเป้นส่วนตัวหละครับ

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนเสื้อแดงเป็นอย่างดีอีกเช่นเคย จนเราสามารถประกันตัวจำเลยคดีเผาศาลากลางออกมาได้ถึง ๓ คน ซึ่งจังหวัดอื่นไม่สามารถประกันได้

และที่เรารู้สึก ผูกพันกับชาวบ้านเสื้อแดงที่นี่คือ เราได้เข้ามาสัมผัสถึงความยากลำบากแบบ “ดราม่า” ของที่นี่ ประเภทตามไปดูบ้านของจำเลยทั้ง ๒๐ คนเลยทีเดียว ซึ่งมีน้องทนายคนนึงถึงกับบอกว่า “เหลือแค่กวาดบ้านให้เท่านั้นหละพี่”

อันนี้มีเรื่องจะเล่าให้ฟังนิดนึงครับ คือเคสของนายวินัย เรื่องมันมีอยู่ว่า ทางทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งตัวจำเลยที่ป่วยไปทำการรักษาที่โรง พยาบาล แต่ศาลก็ไม่ได้อนุญาต จนเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องทำการส่งไปเสียเอง ผมกับน้องทนายความอีกสองคนก็ตามไปดูที่เรือนจำ ปรากฎว่า พอไปถึงเรือนจำ ได้มีจำเลยอีกคนนึง “กินน้ำยาปรับผ้านุ่ม” เพื่อฆ่าตัวตาย คือนายวินัยนี่เองครับ ประเภทพอเราไปถึงก็นอนกองที่พื้นแล้ว เลยพากันนำตัวขึ้นรถพยายบาลไปที่โรงพยาบาล ดีที่แพทย์ช่วยชีวิตไว้ทัน

ขณะอยู่ที่โรงบาลได้มีโอกาสพูดคุย จึงรู้ว่า แกตั้งใจฆ่าตัวตายในวันเกิดของลูกสาวแก คือเรื่องนี้มันดราม่ามากๆ ก็อีกนั่นแหละครับ เราก็เลยพากันซื้อเค้กวันเกิดไปให้ลูกสาวแกเป่าในโรงพยาบาล รายละเอียดของเรื่องนี้ผมขอเล่าให้ฟังในครั้งหน้านะครับ

คดีต่อมาที่ผมรับผิดชอบอยู่ คือ คดีขัดพรก. ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คดีรองเท้าแตะ อันนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไปตีความเรื่องวัตุถุที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไปถึงขนาดห้ามไม่ให้ขายรองเท้าแตะที่มีภาพใบหน้าของนายกฯและนายสุเทพ คดีนี้อยู่ระหว่างชั้นพนักงานอัยการ

ที่จังหวัดเชีบงใหม่และเชียงรายเราก็ได้ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือเหมือนกัน เช่น ที่เชียงใหม่ได้เข้าเยี่ยมจำเลยและให้ความช่วยเหลือครอบครัวจำเลย

โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย เราได้ให้ความช่วยเหลืออยู่ ๓ คดี คือคดีที่นักเรียน นักศึกษา ชูป้าย ๕ คน ตามที่เป็นข่าว ซึ่งคดีจบไปแล้วโดยตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคดีที่มีนักเรียนไปขายรองเท้าแตะหน้านายกฯกับสุเทพ ซึ่งคดีอยู่ในชั้นสอบสวนของพนักงานตำรวจ และสุดท้ายคดี เผายางรถยนต์ที่เกาะกลางถนน อีกหนึ่งคดี

ส่วนในกรุงเทพฯ นอกจากคดีพี่หนูหริ่ง และคดีลุงบังแล้ว ภายหลังจากที่เราเข้าเยี่ยมจำเลยในเรือนจำปรากฎว่า มีจำเลยคดีต้องหาว่าเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และปล้นทรัพย์แจ้งความประสงค์มายังเราให้เราไปช่วยคดีอีกเป็นจำนวน ๙ คน ในคดีนี้

Q : นอกจากคดีการเมือง 19 พฤษภาคมแล้ว ได้ทราบว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ทะลักมาหา?

A : คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็มีอยู่หลายคดีที่ผมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น คดี ประชาไท ( ทำเป็นคณะทำงานใหญ่), คดีพี่หนุ่ม เมืองนนท์ ( ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดม )ที่ ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบัน และเป็นผู้ดูแลเว็บ นปช.ยูเอสเอ คดีนี้สืบพยานในเดือนกุมภาพันธ์หน้า , คดีพี่หมี สุริยันต์ กกเปือย ที่โทรศัพท์ไปขู่วางระเบิดศิริราช คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นเดียวกัน , คดีพี่ คธา จำเลยคดีที่โพสข้อความเกี่ยวกับพระอาการประชวร แล้วถูกกล่าวหาว่าทำให้หุ้นตก คดีนี้อยู่ชั้นอัยการ ,คดีลุง อากง ที่ส่งเอสเอ็มเอสเข้ามือถือนายกฯ อันเป็นข้อความหมิ่นฯ คดีนี้จำเลยได้รับการประกันตัว และอยู่ชั้นพนักงานอัยการ

คดีของคนเสื้อแดงนับวันก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีเสื้อแดงนะครับ ถ้าถามว่าทิศทางของคดีเป็นยังไง ผมต้องขอบอกว่าเป็นคดีการเมืองแทบทั้งสิ้น การทำคดีก็ต้องทำแบบคดีการเมืองด้วย และเราก็คงต้องสู้กันต่อไป

Q : มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้างในการช่วยว่าความ

A : ปัญหาแรกและเป็นปัญหาหลักคือ คดีมันเยอะ และเราต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นทนาย และทำหน้าที่คอยดูแลครอบครัวเขาด้วย กล่าวคือ นอกจากต้องเข้าเยี่ยม สอบข้อเท็จจริงจำเลยในเรือนจำแล้ว เรายังต้องดู และ หรืออย่างน้อยก็ดูแลครอบครัวของจำเลยด้วย

แรกๆตอนลง พื้นที่มักมีปัญหาจุดนี้ครับ คือ ครอบครัวของคนเลื้อแดงส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นคนยากจน พอคนที่ถูกจับเป็นหัวหน้าครอบครัว ก็เลยไปกันใหญ่

บางครอบครัวแทบไม่มีจะกิน จำนวนทนายความอาสาก็มีน้อย ก็ต้องช่วยๆกันไปเท่าที่ทำได้

ที่ผมทำเป็นหลักก็คือเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา คนเสื้อแดงต่างจังหวัดเวลาพูดมันเสียงไม่ดังครับ แต่ถ้าพูดผ่านปากทนายความมันก็จะดังขึ้น ( ดูfacebookทนายอานนท์ )

เวลาลงพื้นที่เสร็จ เราก็นำเอาความเดือดร้อนเหล่านั้นมาตีแผ่ และเป็นเหมือนคนส่งสาร ระหว่างคนเสื้อแดงต่างจังหวัดกับเสื้อแดงในเมือง

อย่างที่มุกดาหาร ก่อนที่เราลงไปก็ไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามีคดีอะไรที่นั่น จนกระทั่งทีมทนายความ( อันประกอบด้วยผม น้องทนายอีกสองคน และเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของ ศปช.-ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 ) ลงไปในพื้นที่ จึงได้มีการนำเสนอสู่สังคมมากขึ้น

และถ้าพูดถึงเรื่องความยากลำบากของพี่น้องเสื้อแดงแล้ว ก็ต้องพูดเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวด้วย ชาวบ้านเข้าไม่มีหรอกครับหลักทรัพย์ประกันเป็นล้านเป็นแสนขนาดนั้น แค่ข้าวจะกรอกหม้อยังไม่มีเลย

ปัญหาประการที่สอง คือทนายในพื้นที่มีปัญหาในแนวสู้คดี และมีบางที่ไม่ได้ใส่ใจคดีชาวบ้านเสื้อแดงเท่าที่ควร มีกระทั่งเข้าไปแนะนำจำเลยในเรือนจำให้รับสารภาพ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันจะกระทบการสู้คดีของคนเสื้อแดงทั้งระบบ

แน่นอนว่าแม้แต่ส่วนกลางเอกก็มิได้เป็นเอกภาพเท่าที่ควร ยิ่งตอนหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ยังมั่วมากๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าร่องเข้ารอยแล้ว

อย่างที่ผมเรียนข้างต้น เราทำงานทางการเมืองกับสื่อกับชาวบ้านด้วย อันนี้เป็นงานที่เพิ่มขึ้นแต่ก็สำคัญและจำเป็น

และเมื่อทำมันอย่างจริงจัง มันก็ชักเริ่มจะสนุกกับมันมากกว่างานคดีเสียอีก เพราะมันถึงเนื้อถึงหนังดี แต่ก็ต้องถือว่าหนัก หากเราแบกรับทั้งสองบ่า แต่ยังยืนยันครับว่ามันมีความสุขจริงๆ

ปัญหาประการสุดท้ายเห็นจะอยู่ที่ตัวทนายความเองนั่นแหละ คือ ทนายอาสาทุกคนก็จะมีงานประจำของตัวเอง การทำงานจึงมักจะเป็นการใช้เวลาว่าง หรือเจียดเวลามาทำงานอาสากันเสียส่วนใหญ่ อันนี้ยกเว้นผมกับน้องอีกสองคนที่เข้ามาช่วยงานนะครับ เพราะผมเทเวลามาทำคดีของชาวบ้านเสื้อแดง และน้องสองคก็เพิ่งจบเนติฯ ยังไม่ได้บรรจุ หรือสอบที่ไหน

และนี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกออกจากงานเดิม เพื่อมาทำคดีชาวบ้านเสื้อแดงโดยเฉพาะ

Q : เรียนถามตรงๆว่าได้ค่าทนายความในการว่าความนจากใคร ตัวความ,ญาติ,พรรคเพื่อไทย,ส.ส.พื้นที่ หรือจากคุณทักษิณ

A : 555 พูดเรื่องค่าทนายเราไม่มีครับ เวลาลงพื้นที่ถ้าเป็นในกรุงเทพฯได้ค่าเดินทางและเบี้ยเลี้ยง ๕๐๐ บาท ถ้าออกต่างจังหวัดได้ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ๓ มื้อ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งตอนหลังมันต้องไปถี่และมีน้องทนายมาช่วยงานเพิ่ม จึงต้องลดลงเหลือ ๕๐๐ บาท/วัน

แต่อย่าไปคำนวนว่า วันละ ๕๐๐ เดือนนึงได้ ๑๕,๐๐๐ บาทนะครับ เพราะเราไม่ได้ทำงานกันทุกวัน มันก็ได้แต่วันที่ทำเท่านั้น บางที่ก็เดือนละ ๕- ๖ วัน ไอ้นั่งทำเอกสารที่ออฟฟิศนั้นไม่ได้นะครับ 555 แต่ก็เข้าใจได้ เพราะว่าต้องถือว่ามันเป็นงานอาสา

และอีกอย่าง ทนายอาสาทุกคนก็มิได้หวังจะมาร่ำรวยกับงานพวกนี้หรอก แต่อยากทำในเนื้องานจริงๆ ถ้าจะพูดกันตรงๆ ก็คือ ถือว่าเราโชคดีที่เรียนมาทางกฎหมาย และได้นำสิ่งที่เราเรียนมามารับใช้ชาวบ้าน ( อารมณ์มันเป็นแบบ ฮีโร่ ของชาวบ้านนะครับ) ซึ่งนี่แหละที่เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเรามาโดยตลอด อันนี้พูดเผื่อไปถึงอาสาสมัครที่ไม่ได้เป็นทนายแต่อาสามาช่วยงานนะครับ ต้องขอกราบหัวใจคนเหล่านี้เลยทีเดียว

ส่วนที่มาของเงินนั้น มาจาก ศปช. ครับ ซึ่ง ศปช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล และเผยแพร่ข่าวสารของคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ แต่อันนี้ก็ยังเกิดความไม่ค่อยแน่นอนในเรื่องการทำคดีเท่าไหร่ เพราะศูนย์ฯเองก้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ว่าจะทำคดีเป็นหลัก

ถ้าจะพูดกันจริงๆก้คือ งานคดีเป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าที่ต้องช่วยเหลือเท่านั้น งาน หลักของศูนย์ฯคืองานข้อมูลครับ โดยเฉพาะการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนที่มาของเงินมาจากการบริจาคของพี่น้องเสื้อแดงครับ เคยจัดคอนเสิร์ตที่ธรรมศาสตร์หาทุนหนนึง ได้มาหลักแสนมังครับ เทียบกับคณะกรรมการปฏิรุปที่รัฐบาลตั้งงบเป็นพันล้าน คนละเรื่องกันเลย

Q : มีทีมทนายอื่นๆอีกไหมนอกจากทนายอานนท์ที่ทำคดีพวกนี้ อย่างทนายคารม พลทะกลาง หรือทนายพวกเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

A : ทนายความเสื้อแดงผมขอแยกออกเป็น ๓ ส่วนครับ ส่วนแรกคือ ส่วนกลาง คือทนาย นปช.ซึ่งก็น่าจะเป็นทีมทนายของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละครับ อันนี้รับผิดชอบคดีส่วนกลาง

ส่วนที่สองคือ ทนายในพื้นที่ต่างจังหวัด อันนี้จะเป็นทนายความที่ ส.ส.ในพื้นที่จัดหา ซึ่งก็ได้รับเงินสนับสนุนจากส่วนกลาง ส่วนจำนวนผมไม่ทราบที่แน่นอน

และส่วนที่สามส่วนสุดท้ายคือ ทนายความอาสา ซึ่งก็น่าจะได้แก่ ศปช. คือพวกผมสามคน เป็นต้น

Q : ปัญหาอุปสรรคที่เจอในการทำคดีพวกนี้มีอะไรบ้าง

A : สำหรับผมไม่ค่อยมีครับ คงเพราะเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนอยู่แล้ว และมีทนายความที่ไม่สะดวกมาช่วยคดีเสื้อแดงเป็นที่ปรึกษาอีกทาง อีกอย่างก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องเสื้อแดงเป็นอย่างดี

Q : มีโครงการหรือแผนการจะดำเนินการอย่างไรต่อไปข้างหน้า ในกรณีนักโทษการเมืองติดยาว หรือยังมีนักโทษทางความคิดอย่างคดีหมิ่นฯ หรือคดีทางการเมืองทะลักเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

A : ใจผม ผมอยากทำสำนักงานที่เป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้เป็นชิ้นเป็นอัน จัด ระบบคดีให้สามารถเช็ค และให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และทั่วถึง โดยใช้ระบบทนายเครือข่าย และมีทนายความประจำ ๓ คน ทำหน้าที่ประสานงาน และเป็นเหมือนผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา เพราะผมคิดว่าคดีการเมืองโดยเฉพาะคดีเสื้อแดงยาวแน่ และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีหมิ่น ม.๑๑๒ ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนี้เองก็ถือว่าเยอะมาก

ที่สำคัญ แต่ละคดีก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทนายความเองก็ต้องหาตรงนั้นทีตรงนี้ที และคดีพวกนี้ก็ไม่ค่อยมีทนายความที่รับทำสักเท่าไหร่

หลังปีใหม่ผมตัดสินใจออกจากออฟฟิศเดิม เพื่อออกมาทำคดีให้เต็มที่ โดยที่ยังไม่ได้มีสำนักงานอะไรรองรับเป็นกิจลักษณะ คือได้เทหน้าตักแล้วก็ต้องทำให้ให้มันสุดๆ อะไรจะเกิดข้างหน้าก็ต้องยอมรับเพราะเราเลือกแล้ว แต่คงไม่ต้องบอกว่ามันเป็นอุดมกงอุดมการณ์อะไรหรอก ผมว่ามันก็เป็นเรื่องการสนุกในการทำงาน และเห็นว่างานที่ทำมันให้อะไรกับสังคม อีกอย่างก็อาจเป็นเพราะการโลดโผนของทนายความหนุ่มอายุแค่ ๒๖ ปีด้วยกระมัง 555

อย่างไรก็ตาม ผมก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่างานที่ทำมันมีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็เงินที่ซื้อข้าวใส่ปากนี่แหละ ผมคิดไว้ว่า ถ้ามีออฟฟิศ และมีทนายความประจำโดยมีเงินเดือนจำนวนนึง ก็น่าจะพอไปได้

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็คือ ออฟฟิศกับค่าตอบแทนทนายความ ออฟฟิศนั้นผมอาจพอหาได้แล้ว แต่ต้องใช้เงินปรับปรุงอีกสักเล็กน้อย ติดกระจกด้านหน้า ซื้อแอร์ และอุปกรณ์สำนักงานจำพวกโต๊ะทำงาน ตู้ เครื่องปริ๊นต์ถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่น่าจะเกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท

ค่าจัดการออฟฟิศต่อเดือนประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าตอบแทนทนายความ ๓ คน คือผม ๑๕,๐๐๐ บาท และน้องอีกสองคน คนละ ๑๒,๐๐๐ บาท รวม ๓๙,๐๐๐ บาท และค่าเดิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในคดีเช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยงทนายความเครือข่ายที่เข้ามาทำคดี ทั้งปีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท

รวมจากเค้าโครงงานทั้งงานคดี และงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน่าจะอยู่ประมาณ ล้านเศษๆ

Q : ทางศปช.ก็ไม่น่ามีงบให้ จะไปหาแหล่งทุนยังไงมาทำศูนย์ช่วยเหลือคดีการเมือง คดีหมิ่นฯ

A : 555 อันนี้ก็ขำๆ นะครับ ในวงการนักกิจกรรมมักแซวกันว่า เราชอบคิดชอบทำชอบไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เขาไม่มีที่พึ่ง ครั้นพอจะมาพูดเรื่องว่าจะให้ใครมาช่วยให้เราได้ทำงานนี่ ไปไม่เป็น พูดไม่ออก คือมันเขินครับ พูดว่าจะไปขอทุนใครมาทำงานนี่จริงๆ เขิน

แน่นอนว่าเรื่องหาทำศูนย์ช่วยคดีฯนี่ผมไม่ได้คิดเรื่องเงินมาเป็นอันดับแรกครับ คิดว่าอยากช่วยคนที่เขาเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง ทนายความโดยทั่วไปไม่มีใครอยากรับงานนี้ ต้องหาคนมีใจจริงๆ แต่ก็มีพี่สื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยหลายที่ รวมทั้งจากไทยอีนิวส์ก็ให้ความเห็นว่า ลองระดมทุนจากคนที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรมที่พอมีกำลังจะช่วยดีไหม? ...ผมก็ว่าหากพวกพี่ๆ จะช่วยได้ก็ดี ก็จะทำให้งานที่เราอยากทำนั้น มันสะดวกขึ้น พอเลี้ยงตัวได้ ก็น่าจะดี

ซึ่งอันนี้ผมไม่ซีเรียสนะครับ เงินเดือนที่ตั้งไว้ผมหมื่นห้า น้องอีกสองคน คนละหมื่นสอง ก็สามารถปรับลดได้หากเห็นว่ามันสูงไป อย่าว่าแต่ลดเลย ขนาดไม่มีให้ก็ยังจะทำเลยครับ อันนี้เป็นคำสัญญาครับ คือผมก็ไม่แน่ใจเรื่องการระดมทุนสักเท่าไหร่ และเข้าใจว่าแต่ละท่านก็ช่วยเสื้อแดงมาพอสมควรแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้าเราเห็นถึงความจำเป็นเหมือนกัน ก็เป็นอันว่า ท่านลงตังค์ ผมกับน้องลงแรง ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

Q : อยากพูดถึงคดีการเมืองยังไงบ้าง เท่าที่ทำคดีมาพอสมควร และคดีนักโทษการเมืองเสื้อแดงก็ปาเข้าไป7-8เดือน อะไรคือสิ่งที่ต้องตระหนักที่สุด

A : อันนี้ก็ต้องพูดกันตรงๆ อีกนั่นแหละครับ คือ ตัวแกนนำเองคงไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่จำเลยที่เป็นชาวบ้าน สิครับหนัก ไหนจะขาดรายได้ ไหนต้องเสียเวลามาสู้คดี ซึ่งแนวโนมก็จะมีการตามจับกุมเพิ่มอีก กล่าวคือ ที่เห็นๆ เป็นคดีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ถึงหนึ่งในสามของคนที่ออกถูกออกหมายจับนะครับ นั่นหมายความว่าที่เหลือก็อยู่ในระหว่างหลบหนี ซึ่งก็จะเป็นปัญหาระยะยาวอีกส่วน และอีกส่วนที่ผมเป็นห่วงคือ คนเสื้อแดงเองก็มีแนวโน้มที่จะถูกดำเนินคดีมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์เมื่อร้อนระอุแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีหมิ่น ฯ ซึ่งรัฐเองก็มีการกวาดจับเพิ่มเป็นรายวัน

สำคัญคืองานทางกฎหมายเอง นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นหลัก หรือเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่ผมเห็นก็มีแต่พี่น้องเสื้อแดงเราที่บางคนเป็นทนายความบ้าง หรือเป็นคนที่พอจะช่วยเหลือกันได้ตามฐานะ ก็คอยช่วยเหลือกันไป แต่ผมไม่อยากเห็นว่า มันเป็นการช่วยเหลือกันแบบตามมีตามเกิด

Q : พอจะเรียกว่าเป็นทนายเสื้อแดงได้ไหม

อันนี้แล้วแต่จะเรียกครับ แต่สำหรับผม ผมกับน้องทนายอีกสองคนก็เป็นแค่คนอยากทำงานช่วยชาวบ้านเท่านั้น ที่เหลือก็ ... ใจล้วนๆ ครับ ! 555

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net