Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงปลายปี 2553 ข่าวที่ร้อนแรงไม่แพ้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เห็นจะได้แก่กรณีที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างที่ใช้แรงงานสามสัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาวและกัมพูชาต้องหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา

แรงงานกลุ่มที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงิน ได้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานประเภทคนรับใช้ในบ้านและกรรมกร รวมทั้งหมด 4 กลุ่ม กลุ่มใหญ่สุดได้แก่ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติซึ่งเดิมเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานเป็นรายปี ต่อมาคือกลุ่มที่รับการพิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานหรือเข้ามาตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (MOU)

อีกสองกลุ่มคือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านติดพรมแดนไทย เข้ามาโดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวหรือตามฤดูกาลในท้องที่ติดชายแดน และสุดท้ายคือกลุ่มคนต่างด้าวที่ถูกเนรเทศตามกฎหมายและได้รับการผ่อนผันให้ประกอบอาชีพระหว่างรอการเนรเทศ

ทั้งนี้ กำหนดการจัดเก็บเงินเป็นระยะเวลา 6 เดือน ลูกจ้างสัญชาติพม่าและสัญชาติลาวเดือนละ 400 บาท รวมทั้งสิ้น 2,400 บาท ลูกจ้างสัญชาติกัมพูชาเดือนละ 350 บาท รวมทั้งสิ้น 2,100 บาท ที่น่าสังเกตคือหากสถานประกอบการนำส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบ 6 เดือน นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน แต่ไม่มีโทษทางอาญาคือปรับหรือจำคุกแต่อย่างใด

เหตุที่กฎหมายอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทยรวมแล้วไม่เกิน 4 ปี จากนั้นต้องเว้นวรรคกลับประเทศของตน 3 ปี จึงจะกลับเข้ามาทำงานในไทยอีกครั้ง เนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงที่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2551 มาตรา10 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า5ปีและมีคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสามารถขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมากเกินไป

แนวคิดของรัฐเดิมเห็นว่าการผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นภาระที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ กระทรวงแรงงานจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร(Repatriation Fund) ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เพื่อมีทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่าย โดยแรงงานต้องเสียเงินเองและขอรับคืนเมื่อเดินทางกลับ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ชี้แจงว่าหลายประเทศทำกันอยู่

คาดว่ากระทรวงแรงงานจะมีเงินเข้ากองทุนกว่า 2,000 ล้านบาทจากจำนวนแรงงานหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยและทำงานเพื่อรอการส่งกลับปัจจุบันประมาณ 932,255 คน (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2553 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน)

สำหรับอัตราเรียกเก็บเงินจำนวน 2,100-2,400 บาท ประกอบด้วยค่าจัดทำทะเบียน (ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ) ค่ารถ ค่าอาหาร(ตามอัตราของกระทรวงการคลัง) ที่ควบคุมตัวรอส่งกลับและค่าโดยสาร(ตามอัตราของกรมการขนส่งทางบก) ที่อุตส่าห์รวมค่าความเสี่ยงของน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย และคำนวณหาค่าเฉลี่ยจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

วิเคราะห์เฉพาะค่าโดยสาร ใครที่เคยนั่งรถโดยสารประจำทางไปที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากคงทราบว่าแม้เดินทางไปกลับย่อมจะเสียเงินไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนเงินสองพันกว่าบาทสามารถแปรเปลี่ยนเป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปถึงกรุงย่างกุ้งได้เลย ซึ่งน่าคิดว่าพาหนะที่จะนำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายที่ชายแดนจะเป็นรถบัสวีไอพีหรือเป็นรถสองแถวที่ขนผู้โดยสารอัดแน่นแบบที่เคยเห็นกันจนชินตา

วิธีคิดในเรื่องการควบคุมตัวและส่งกลับนี้สะท้อนความคิดของผู้มีอำนาจว่าแรงงานเหล่านี้ต่อให้เป็นแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติเข้าเมืองถูกกฎหมายแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นเสมือนผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยที่กระทำผิด จึงต้องกักตัวไว้ตรวจสอบจนสิ้นสงสัย ไม่ต่างจากแรงงานข้ามชาติหลายพื้นที่ที่พิสูจน์สัญชาติแล้วก็ยังคงถูกรีดไถอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ภาระเฉพาะหน้าขณะนี้คือการต้องนำส่งเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกภายในวันที่ 15 มกราคม 2554 มองอย่างเห็นใจฝ่ายลูกจ้างจะพบว่าช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงานจะต้องเสียเงินอยู่แล้วอย่างน้อย 3,800 บาท ส่วนหนึ่งนายจ้างสำรองจ่ายและหักค่าจ้างภายหลัง ส่วนหนึ่งก็ถูกหักค่าจ้างไว้ล่วงหน้าแล้วจึงเท่ากับซ้ำเติมแรงงานราคาถูกที่หาเช้ากินค่ำให้ต้องรับภาระเพื่อให้ได้เป็นแรงงานถูกกฎหมายตาม “หน้าที่” มิหนำซ้ำช่วงนี้แรงงานข้ามชาติต้องเสียเงินทำหนังสือเดินทางชั่วคราว ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน กองทุนส่งกลับฯ ถูกหักเงินประกันสังคมร้อยละ5ทุกเดือนเฉียดเป็นเงินหมื่น ในอนาคตยังมีค่าธรรมเนียมการทำงานและการจ้างคนต่างด้าว (levy)จ่อคิวรอเก็บเป็นรายต่อไป

เมื่อการจะยกระดับเป็นแรงงานถูกกฎหมายกลับมีต้นทุนสูง ย่อมสวนทางกับเหตุผลของผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากประสบภาวะขาดแคลนแรงงานและต้องการลดต้นทุนการจ้างให้ต่ำที่สุด หากมีค่าใช้จ่ายมากก็เท่ากับผลักให้นายจ้างจำต้องหันไปเลือกใช้แรงงานหลบหนีเข้าเมืองที่“เสียเงินเบี้ยบ้ายรายเดือน”เพียงครั้งเดียวแต่ประหยัดต้นทุนกว่าหลายเท่า

หันไปมองฝ่ายนายจ้างบ้าง เริ่มต้นปี 2554 ก็ต้องจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนใหญ่ยอมรับและเข้าใจได้ แต่เมื่อมาเจอของขวัญปีใหม่เป็นค่าธรรมเนียมส่งกลับฯ สองพันกว่าบาท ดูจะเป็นสิ่งที่ "มาเร็ว" และ"เคลมเร็ว"ไปหน่อย ด้วยนายจ้างส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทัน แม้กรมการจัดหางานได้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) แต่ยังถือว่าไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ดังนั้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผู้ประกอบการทั้งในจังหวัดระนอง และสมุทรสาคร ประกอบด้วยหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมการประมง ชมรมต่างๆ ฯลฯที่ร่วมมือร่วมใจกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยแถลงการณ์ของสองจังหวัดล้วนสอดคล้องกันว่าการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นภาระต่อนายจ้างและลูกจ้าง อันอาจส่งผลให้ต้องหันไปใช้แรงงานนอกระบบแทน สุดท้ายจึงใช้มาตรการจากหนักไปหาเบาคือเสนอให้พิจารณายกเลิก ทบทวนหรือชะลอการนำส่งเงินออกไปสักระยะ

ปรากฏการณ์คัดค้านการเก็บค่าธรรมเนียมส่งกลับคนต่างด้าวจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างนับว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่เริ่มต้นจากคนหัวอกเดียวกันย่อมเห็นใจกัน ลำพังเพียงเสียงของลูกจ้างต่างชาติอาจไม่มีความหมายนัก แต่เมื่อรวมกับเสียงของนายจ้างที่หนักแน่นและสั่นสะเทือนย่อมดังไปถึงผู้มีอำนาจ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าแรงงานข้ามชาติควรเป็นผู้รับภาระจ่ายเงินค่าส่งกลับตนเอง แต่เห็นว่า"การกลับ"น่าจะเป็นไปโดยง่าย สะดวกและราคาถูกกว่า"การอยู่" โดยอัตราเรียกเก็บควรอยู่บนฐานที่สมเหตุสมผล สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม สำหรับแรงงานข้ามชาติ เงิน 2,000 กว่าบาทนั้นอาจถือว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงเมื่อเทียบกับค่านายหน้าหลักหมื่นที่จ่ายตอนเข้ามาเมืองไทย ตราบที่ต้องอดทนเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและคนข้างหลัง แม้จะเป็นเพียง“แรงงานราคาถูก”ให้คนไทยใช้และผลักไสเมื่อหมดอายุการใช้งาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net