Skip to main content
sharethis

“องอาจ” เผย ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 4 ม.ค.นี้ ให้สื่อมีเสรีภาพเสนอข่าว ไม่อยู่ภายใต้ราชการ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพ ชี้สื่อฯ ถูกละเมิดสิทธิ สามารถยื่นเรื่องร้องเรียน-บรรเทาความเสียหายได้

 
วันนี้ (3 ม.ค.54) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 4 มกราคมนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างที่ผ่านองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อรวมตัวกันยกร่าง ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดของตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมของการประกอบอาชีพ และมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม และมอบให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนจะบรรจุในระเบียบวาระของรัฐสภาต่อไป
 
นายองอาจ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ 7 หมวด ด้วยกันคือ 1.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2.จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 3.คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 4.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 5.การวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน 6.มาตรการส่งเสริมมาตรฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และ 7.โทษทางปกครอง 
 
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า สำหรับในเรื่องจริยธรรม ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้บัญญัติให้มีรายละเอียดอย่างน้อย 5 ข้อคือ 1.การเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.การเสนอความจริงด้วยความถูกต้องและครบถ้วนรอบด้าน 3.การให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว 4.การเคารพสิทธิมนุษยชน ของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าว 5.การซื่อสัตย์ สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
 
“การจัดทำข้อบังคับเรื่อง จริยธรรม เป็นเรื่องที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จะจัดทำกันขึ้นมาเอง โดยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิ์ ก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ และในระหว่างการพิจารณา คณะกรรมการอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิ์ เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเสียหายก็ได้” นายองอาจกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อไทย มักประสบปัญหาจากการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจตลอดเวลา โดยล่าสุด สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ยังได้ตั้งฉายานายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกมอบหมายให้ดูแลงานด้านสื่อ ว่า "กริ๊ง..สิงสื่อ" จากพฤติกรรมระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ที่มักโทรศัพท์สายตรงไปยังกองบรรณาธิการ-สถานีโทรทัศน์ เพื่อชี้นำและกำหนดทิศทางในการนำเสนอประเด็นข่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net