Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์แนวโน้มสังคมไทยปี 2554 จากประสบการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อความขัดแย้งยังไม่ถูกแก้ให้ตรงจุด วิกฤตใหม่ๆ จะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหาที่ยังตอบไม่ได้คือการปะทุของวิกฤตรอบใหม่จะเป็นแบบไหน แล้วประชาธิปไตยไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

 
ภาพรวมประเทศไทย
 
สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนคือ ความขัดแย้งระหว่างตัวระบบการเมืองกับประชาชนซึ่งแสดงออกด้วยความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2552-2553 ในรูปการใช้กำลังทหารของรัฐหลายครั้ง ในปี 2554 ความขัดแย้งนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะประชาชนจำนวนมากไม่พอใจระบบการเมืองทั้งหมดเรื่องที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ และความพยายามของตัวระบบการเมืองเองในการปรับตัวเพื่อตอบสนองคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากมีการปราบปรามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ผ่านการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ เห็นได้ชัดเจนว่าล้มเหลวและไม่ได้ผล
 
การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยชุดของ นพ.ประเวศ วะสี หรือนายอานันท์ ปันยารชุน หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ในด้านหนึ่งก็ยังไม่พบผลงานที่มีความคืบหน้า ในอีกด้าน ข้อเสนอในหลายเรื่องของคณะกรรมการเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะปฏิบัติตาม นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกทีรัฐบาลจะทำแบบนี้ เพราะคณะกรรมการพวกนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะหน้ามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว 
 
ขณะที่ความพยายามของรัฐบาลในการชะลอความขัดแย้งผ่านการแก้ปัญหาด้วยวิธีการปฏิรูปต่างๆ ดูเหมือนว่าไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากสังคม รัฐบาลเองก็เหมือนไม่เข้าใจด้วยว่าวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล หรือระหว่างประชาชนกับระบบการเมืองทั้งระบบในเวลานี้ได้ต้องมีการปฏิรูปสังคมอย่างกว้างขวางจริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้พยายามทำอย่างเต็มที่ ที่ทำไปบ้างก็ดูช้าหรือไม่ก็น้อยเกินไป ฉากที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 คือความขัดแย้งระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับระบบการเมืองจะมีไม่เปลี่ยนแปลง
 
แนวโน้มที่ 2 ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นปี 2554 คือ ตัวระบบการเมืองข้างในมีความพยายามในการปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ในรอบปี 2552-2553 สิ่งที่เราเห็นตัวระบบการเมืองทั้งระบบไม่มีความพยายามปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้ามกลับมีความพยายามจะให้ระบบการเมืองรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนกลุ่มเดียวมากขึ้น เราจะเห็นกรณีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก และการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหาร เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการพยายามทำให้อำนาจทางการเมืองกับอำนาจทางทหารกระชับเป็นปึกแผ่นกัน และใช้ความเป็นปึกแผ่นของกองทัพเป็นฐานอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มจะเป็นต่อไปในปี 2554
 
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 ก็คือว่า สภาพของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้ง โอกาสที่รัฐบาลชุดนี้จะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ภายใต้บริบทแบบนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ กองทัพจะกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดในปี 2554 โดยปริยาย นี่คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่ในอำนาจในช่วงปี 2553 ได้ คือได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ พอถึงปี 2554 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เมื่อกองทัพมีความเข้มแข็งจนอาจไม่จำเป็นต้องฟังเสียงรัฐบาลเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ตรงนี้จะสร้างปัญหาการเมืองชุดใหม่ขึ้นมาอย่างแน่นอน
 
แนวโน้มที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นคือ การปรับตัวของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่าในปี 2552-2553 ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองมารวมศูนย์อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2554 คือฝั่งพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไรในแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาธิปไตยให้มากที่สุด ตรงนี้เป็นประเด็นที่ดูแล้วยังไม่มีความชัดเจนเท่าไร ในกรณีฝั่งพรรคเพื่อไทยการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันการเมืองต่างๆ หลังจากถูกสลายการชุมนุมในปี 2553 แทบไม่ได้เล่นบทอะไรในการที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการเมืองหรือปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม หรือถ้ามีก็เรียกว่าน้อยมาก
 
สิ่งที่อาจเป็นเรื่องอันตรายด้วยซ้ำไปในอนาคตก็คือว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้ที่จะชนะจากแรงเหวี่ยงที่ประชาชนมีความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ต้องยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณออกจากเวทีการเมืองไป 5 ปีแล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่สามารถพัฒนาให้เป็นสถาบันการเมืองที่จะผลิตนโยบาย หรือมีผู้นำที่เป็นทางเลือกของระบบการเมืองทั้งระบบได้ เรื่องนี้จึงยังไม่แน่นอน และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีโอกาสสูงที่จะชนะมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นรัฐบาลนานกว่า มีผลงานมากกว่า ถึงแม้ตัวผู้นำจะไม่ได้รับความนิยมเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ผู้นำในระบบแล้ว จึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป
 
แนวโน้มที่น่าคิดคือเสียงของคนส่วนใหญ่คราวนี้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะมียุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างไรในการต่อสู้เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในสถานการณ์แบบนี้ หลังจากแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาเราเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ค่อยเน้นเรื่องประชาธิปไตยมากเท่ากับเน้นเรื่องการประนีประนอมกับชนชั้นนำเดิม ในปี 2552-2553 พรรคเพื่อไทยหรือฝ่ายประชาธิปไตยประสบความสำเร็จกว่าในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะสามารถอ้างว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่แนวโน้มแย่ที่สุดที่อาจเกิดในปี 2554 คือพรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายที่ชนะก็ไม่ได้เน้นเรื่องการปฏิรูปประชาธิปไตยเท่ากับการประนีประนอมกับคนชั้นนำเดิม
 
ตรงนี้จะเป็นปัญหาของระบบการเมืองในอนาคตมากขึ้น กลายเป็นระบบการเมืองที่ทุกอย่างในปี 2554 จะล็อกกันหมดคือ ด้านหนึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในการผลักดันประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างระบบการเมืองกับประชาชนจะยิ่งถ่างกว้างขึ้น ถ้าพูดอีกแง่หนึ่งเป็นวิกฤตของระบบการเมืองที่จะขยายตัวขึ้น ปี 2552-2553 เห็นว่าวิกฤตการณ์นี้นำไปสู่การจลาจล การชุมนุม และนำไปสู่การใช้กำลังของรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ปี 2554 วิกฤตการณ์เดิมจะยังมีอยู่ และยังมีวิกฤตใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ปัญหาที่ยังตอบไม่ได้คือการปะทุของวิกฤตรอบใหม่จะเป็นแบบไหน
 
 
ปัญหาระบบนิติธรรม
 
กระบวนการยุติธรรมในปี 2554 จะมีปัญหาเรื่อง 2 มาตรฐานเหมือนเดิม และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ในแง่หนึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ที่การตัดสินของศาลหลายเรื่องมีความคลุมเครือและอธิบายไม่ได้ ปัญหาแบบนี้หนักขึ้นในปี 2553 เพราะในกรณีหลังปี 2549 ความไม่พอใจที่คนมีต่อระบบเกิดจากความเชื่อว่ามีพลังอื่นนอกเหนือระบบยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงจนระบบไม่สามารถทำงานอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ปี 2553 หลักฐานอะไรหลายๆ อย่างที่ปรากฏผ่านสื่อหรือเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าปัญหาของตัวองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากการแทรกแซงของพลังภายนอก แต่ตัวองค์กรเองก็มีปัญหาภายในเต็มไปหมด ความเชื่อถือที่คนมีต่อตัวระบบจึงน้อยลงกว่าเดิม
 
โดยตัวองค์กรแบบนี้ไม่มีโอกาสที่จะปฏิรูปตัวเองได้อยู่แล้ว ถ้าไม่เกิดพลังสังคมจำนวนมากเข้ามากดดัน เพียงแต่ว่าขณะนี้เสียงเรียกร้องของสังคมให้มีการปรับองค์กรหรือทำให้องค์กรมีลักษณะตอบสนองมากขึ้นไม่ถูกรับฟัง ปัญหาที่จะเป็นประเด็นมีอยู่ข้อเดียวคือ ทำอย่างไรให้ความไม่พอใจที่มีต่อองค์กรเหล่านี้ยกระดับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันได้ ตรงนี้น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ยังไม่เกิด จริงๆ คนที่มีศักยภาพทำให้เกิดเรื่องนี้ได้มากที่สุดคือสถาบันการเมือง และพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นองค์กรที่ทำบทบาทตรงนี้ แต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยอยู่ในสภาพที่ระมัดระวังในการพูดเรื่องนี้มากเกินไป ส่งผลให้โอกาสที่จะเปลี่ยนจึงยังไม่เกิดขึ้น
 
 
การเคลื่อนไหวภาคประชาชน
 
สิ่งที่จะเกิดกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาธิปไตยในปี 2554 ในแง่หนึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ในปี 2553 ซึ่งแต่เดิมกลุ่มคนเสื้อแดงมีความหลากหลายทางความคิดมาก แยกเป็นฝ่ายที่มาชุมนุมเพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายที่ไม่ชอบการรัฐประหาร ไม่ชอบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ หรือฝ่ายที่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเมืองแบบใหม่ก็มี ความคิดเหล่านี้ได้โอกาสแสดงออกในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมด้วยการผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 คือการถูกปราบขนานใหญ่โดยที่ฝ่ายรัฐไม่แสดงความรับผิดชอบ จะยิ่งผลักผู้ชุมนุมจำนวนมากในช่วงปี 2553 ให้มีลักษณะถึงรากถึงโคนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชุมนุมเพราะชอบ พ.ต.ท.ทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
 
ปรากฏการณ์สำคัญตอนนี้คือมีการตั้งคำถามถึงระบบการเมืองทั้งระบบมากขึ้น และปี 2554 แนวโน้มการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการพูดถึงองค์กรนำแบบที่ นปช. อาจไม่ใช่ศูนย์กลางองค์กรเดียวเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า นปช. ไม่แสดงให้ผู้ร่วมชุมนุมในปี 2553 เห็นว่าสามารถเป็นหัวหอกในการเรียกร้องประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่คนจำนวนมากถูกปราบและไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้า นปช. ไม่สามารถเล่นบทบาทนี้ได้อย่างชัดเจน การคิดถึงองค์กรนำแบบใหม่อาจจะมีมากขึ้น และความคิดในการตั้งคำถามถึงระบบการเมืองทั้งระบบในปี 2554 จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือวิกฤตการณ์การเมืองมีโอกาสยกระดับไปสู่สิ่งที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2553 สิ่งที่สำคัญที่สุดในปี 2553 คือคนจำนวนมากไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองหรือสถาบันการปกครองอื่นๆ ต่อไป ความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์โดยเฉลี่ยแย่อยู่แล้ว ความเชื่อในสถาบันนิติบัญญัติความก็ไม่ได้มากขึ้น สถาบันศาลเป็นสิ่งที่คนเชื่อถือน้อยลง ส่วนกองทัพอยู่ในสภาพคล้ายๆ กัน ในปี 2554 ความเชื่อถือในสถาบันหลักทั้งหมดจะเสื่อมลงอย่างรุนแรง จึงน่าเป็นห่วงว่ารูปแบบของวิกฤตการเมืองที่จะปะทุขึ้นจะเป็นรูปแบบไหน เพราะคนเสื้อแดงที่ใช้วิธีการชุมนุมกลับจบลงด้วยการถูกปราบ คำถามคือแล้วเขาจะออกมาต่อสู้ด้วยวิธีการอะไร
 
การยกระดับของความขัดแย้งที่รุนแรงแบบนี้ผลักให้มวลชนมีความคิดในลักษณะถอนรากถอนโคนมากขึ้น ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการชุมนุมไม่ใช่วิธีการต่อสู้ที่ได้ผลอีกต่อไป ถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย ในแง่นี้ การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมในปี 2553 เป็นเรื่องที่ผิดพลาดที่สุด เพราะรัฐบาลทำให้คนจำนวนมากเห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองผ่านวิธีการสันติทำงานไม่ได้ เรื่องนี้ผิดมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ทำให้ระบบการเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสันติวิธี ซึ่งปี 2553 รัฐไม่ได้สื่อสารแบบนี้กับประชาชน ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก
 
ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในส่วนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำนั้น ฯโดยตัวเองจะไม่มีความหมายอะไร เพราะในปี 2552-2553 จะเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯเหมือนถูกประวัติศาสตร์กวาดลงเวทีไปแล้วชนิดไม่เหลือซาก ยกตัวอย่างการชุมนุมครั้งสุดท้ายของกลุ่มพันธมิตรฯ คนตั้งคำถามว่าชุมนุมไปเพื่ออะไร ในแง่หนึ่งกลุ่มพันธมิตรฯมีปัญหาตั้งแต่เริ่มเรียกร้องมาตรา 7 และสนับสนุนการรัฐประหาร เพราะอุดมการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย 
 
กลุ่มพันธมิตรฯ มีพลังทางการเมืองตั้งแต่แรกเพราะความช่วยเหลือจากชนชั้นนำบางกลุ่มที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในแง่นี้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นแค่หุ่นเชิดของชนชั้นนำทุกกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร ซึ่งมีทั้งชนชั้นนำในระบบการเมืองและนอกระบบการเมือง มวลชนจำนวนมากของกลุ่มพันธมิตรฯ มาจากผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่รู้จะเอาชนะ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไรในการต่อสู้แบบปรกติ นอกจากนี้ยังมีกองทัพหรือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้กลุ่มพันธมิตรฯเป็นเครื่องมือในการล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งในสถานการณ์แบบปัจจุบันนี้ คนเหล่านี้ไม่มีเหตุที่จะสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อีกต่อไป กลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2554 มีแนวโน้มจะเป็นตัวตลกในประวัติศาสตร์มากขึ้น ชุมนุมในเรื่องที่ไม่มีเหตุผลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
 
มวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งนานจะยิ่งน้อยลง รวมทั้งการสนับสนุนจากชนชั้นนำด้วย เพราะชนชั้นนำที่เคยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ มีคนที่ทำงานให้เขาได้ดีกว่าอยู่แล้วในปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ อีกต่อไป ปัญหานี้จึงอยู่ที่ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าจะเข้าใจหรือไม่ว่าบทบาทในทางประวัติศาสตร์ของตัวเองจบลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 และองค์กรของตัวเองก็อยู่ในสภาพที่ล้มละลาย การตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นดัชนีของความล้มเหลว เพราะพรรคการเมืองใหม่แทบไม่ได้เสียงใน กทม.เลย ตรงนี้เป็นดัชนีบอกทุกอย่างอยู่แล้วว่าการสนับสนุนที่คน กทม.ให้กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเรื่องชั่วคราวและเกิดขึ้นบนเงื่อนไขการเมืองเฉพาะหน้า คือการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
 
 
 
ที่มา: นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 292 วันที่ 1 – 7 มกราคม พ.ศ.2554 หน้า 18-19 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข ต่อมาผู้ถูกสัมภาษณ์ ได้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนให้ชัดเจนมากขึ้น และส่งให้ประชาไทเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net