Submitted on Tue, 2011-01-04 01:11
ภาพรวมการบังคับใช้กฎมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ มาตรการทดแทนหากยกเลิก และผลกระทบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎอัยการศึก ข้อเสนอแนะ “สมควรยกเลิก” จากศอ.บต.
มติยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ของคณะรัฐมนตรีมี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ดูจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ได้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อย่างรุนแรงก็ตาม
ดังนั้น การยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ รัฐจึงต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากพอสมควร ซึ่งต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาสำคัญในบันทึกข้อความของสำนักงานบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่มีส่วนทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในบางพื้นที่
บันทึกข้อความดังกล่าวจัดทำโดยนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) เพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยใน 3 ประเด็น อันประกอบด้วย
กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน มาตรการทดแทน หากจะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
000
กฎหมายพิเศษในชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เริ่มประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และได้มีการขยายเวลาการประกาศใช้เรื่อยมา
ปัจจุบันมีการขยายระยะเวลาการประกาศใช้เป็นครั้งที่ 22 มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2553 และสิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2554
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ รวมทั้งในเขตพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 ได้มีประกาศการยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทน
มาตรการตรวจค้นและการควบคุม
มาตรการตรวจค้นและการควบคุมตัวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 2 กรณี คือ
ใช้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร
ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือกักบุคคล ที่สงสัยว่า เป็นราชศัตรู หรือเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ หรือคำสั่งของฝ่ายทหารไว้สอบถามได้ ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว แล้วแต่ทหารจะกำหนด และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว
ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ใด ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน
โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย แต่ต้องขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันจับกุม ถ้าจำเป็นให้ขยายเวลา ควบคุมครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
กล่าวคือ การจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัย จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยจะดำเนินการได้ต่อเมื่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครองทั้ง 3 ฝ่าย มีความเห็นตรงกัน เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นและเร่งด่วน
สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว จะต้องเป็นสถานที่ที่มีการประกาศ และไม่ใช่สถานีตำรวจ หรือเรือนจำ เช่น ศูนย์พิทักษ์สันติ หรือศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว (การประกันตัว) ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
การตรวจค้นและการจับกุม ควบคุมตัวในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ในพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ถึง 30 พฤศจิกายน 2553 เพื่อป้องกันปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้ใช้อำนาจในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด
ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ ได้แก่ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหรืองดการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด
รวมทั้ง ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่กำหนด ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน และห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยานพาหนะ
ในการปฏิบัตินี้ ผอ.รมน. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ ผอ.รมน. มอบหมาย เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ดังนั้น การตรวจค้น และการจับกุมตัวบุคคลใดๆ ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน จึงต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่เป็นความผิดซึ่งหน้า หรือเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนการควบคุมตัวที่สถานีตำรวจได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากจะทำการควบคุมตัวต่อ จะต้องนำผู้ถูกจับไปยังศาลเพื่อขออนุญาตควบคุมตัวต่อ โดยศาลเป็นผู้ออกหมายขัง ณ เรือนจำ หรือสถานที่อื่นที่ศาลกำหนด
ทั้งนี้ ศาลอาจออกหมายขังได้ไม่เกินครั้งละ 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 84 วัน ตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด
ส่วนการตรวจค้นนั้น ห้ามทำการค้นในที่รโหฐาน โดยไม่มีหมายค้น เว้นแต่ ปรากฏความผิดซึ่งหน้าในที่รโหฐาน หรือเหตุอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ผลกระทบของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากผลการศึกษาวิจัย โดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 สรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการควบคุม และป้องปรามการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และประเมินว่า ประสบผลสำเร็จในการตรึงสถานการณ์ไม่ให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำศาสนา เอ็นจีโอและกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมตัว กลับเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ ยังส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าว พบว่า ผลกระทบแง่ลบ ที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน
อาทิ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่และการประสานงานที่ไม่สอดคล้อง ส่งผลต่อผู้ต้องสงสัย ในกรณีการถูกออกหมายจับและมีชื่อติดค้างอยู่ตลอด เนื่องจากหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีอายุความ หรือปัญหาเชิงเทคนิค
อย่างเช่น ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกตัวมาสอบถาม สอบสวน และถูกปิดล้อมตรวจค้นภายใต้กฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายศาล แต่ชาวบ้านหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้เข้าใจว่า เป็นผลมาจาก การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบโดยตรงกับความรู้สึกและจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่รู้ และไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเข้าใจผิดคิดว่า รัฐใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากเกินไป เป็นต้น
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ข้อดี คือ
- เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน ของพนักงานสอบสวน ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
- เป็นการใช้อำนาจ โดยการเพ่งเล็งไปที่ผู้กระทำการอันก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย หากผ่านกระบวนการซักถามแล้ว ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใดๆ ก็จะได้รับการปล่อยตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องถูกดำเนินการตาม ป.วิ.อาญา ซึ่งจะทำให้ต้องเสียเวลาและถูกควบคุมตัวนานกว่า
- ประชาชนส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เนื่องจากได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวก รวดเร็วขึ้น และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ทำให้โอกาสในการก่อเหตุร้าย กระทำได้ยาก
- เป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะถูกกดดันจากแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ข้อเสีย
- การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีรัฐบาลและทำลายความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
- เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอาจส่งผลกระทบในด้านลบ คือ การใช้อำนาจเกินขอบเขต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์
- เป็นการยอมรับว่าสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุน
การใช้กฎอัยการศึก
ข้อดี คือ
- ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ที่อยู่ในสถานการณ์ หรือสภาวะสงคราม หรือการจลาจล หรือมีเหตุอันจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อเสีย
-เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
-เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ความเห็นต่อกรณีหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
ข้อดี
- การละเมิดสิทธิเสรีภาพจะน้อยลง
ข้อเสีย
- การดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยกระทำได้ยากขึ้น
ข้อเสนอแนะกรณียังไม่สมควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
จากการประเมินผลกระทบโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า เจ้าหน้าที่มีความเห็นเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกฉินฯ สามารถดำเนินการด้านการป้องกันปราบปรามได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
ประกอบกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงมีการก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่อง การให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว จึงยังมีความจำเป็น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้อำนวยความปลอดภัยแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น พบว่า ผลกระทบแง่ลบ ที่เกิดจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนมาก เกิดจากปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน
ดังนั้น หากจะมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวต่อไป สมควรจะต้องมีมาตรการรองรับเพิ่มเติม และให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) การใช้อำนาจตรวจค้น และการจับกุม เห็นควรให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย มีมาตรการในการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านความรู้สึกประชาชนในการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และความรู้สึกถูกคุกคามความสงบสุขจากเจ้าหน้าที่รัฐ
2) จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายพื้นที่ พบว่า ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ยังมีความหวาดระแวงต่อกันสูงมาก
ทั้งนี้ อาจสืบเนื่องมาจากการสับเปลี่ยนกำลังพลบ่อยเกินไป และเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่เข้าใจและไม่คุ้นเคยกับประเพณี วัฒนธรรมและประชาชนในพื้นที่ มีการส่งต่อข้อมูลกัน โดยที่ไม่มีเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ดังนั้น จึงเห็นควรรีบปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดกำลังพล โดยให้มุ่งเน้นกำลังพลในพื้นที่ และเป็นกองกำลังประจำถิ่น ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งจะทำให้กระบวนการใช้อำนาจโดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะหมดไป
3) ให้ความสำคัญ และมีนโยบายที่เข้มงวด จริงจังกับการทำความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย
ให้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กรอบนโยบายการเมืองนำการทหาร และยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา และมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด รวดเร็วกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่กระทำการใดๆ เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนากองกำลังประจำถิ่นในชุมชน เช่น อส. ชรบ. เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และเมื่อพื้นที่ใดมีความสามารถในการปกป้อง คุ้มครองตนเองได้ ก็ให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษในชุมชน เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนอื่น
5) ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน บนพื้นฐานของการอำนวยความปลอดภัย และการอำนวยความเป็นธรรมที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
6) เห็นสมควรผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้มีบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน เช่น พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล และทนายความ ที่มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญการเป็นพิเศษ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาชญากรรมในพื้นที่มีความสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงเป็นกระบวนการและเป็นองค์กรปิดลับ
รวมทั้งการพัฒนาวิทยาการและบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนให้ความสำคัญกับมาตรการคุ้มครองพยาน และการเยียวยาผู้รับผลกระทบในกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทุกฝ่าย
7) เห็นควรให้ กยต. (คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้) นำร่างหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เพื่อประกาศเป็นหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ได้รับการชดเชย ช่วยเหลือ ในอัตราวันละ 350 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่เริ่มมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการพยายามแก้ไขปัญหา และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญควบคู่กันไปด้วยในเวลาเดียวกัน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มประกาศใช้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว ประมาณ 5,313 คน วงเงินงบประมาณหากมีการชดเชยย้อนหลัง ประมาณ 30 ล้านบาทเศษ
ข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากศูนย์พิทักษ์สันติ
การปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
|
ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2548 – 31 ตุลาคม 2553 (06.00 น.)
|
|||
ยะลา
|
ปัตตานี
|
นราธิวาส
|
รวม
|
|
การควบคุมตัว
|
921
|
465
|
663
|
2,049
|
การปล่อยตัว
|
777
|
303
|
496
|
1,576
|
การดำเนินคดี
|
133
|
159
|
165
|
457
|
คงเหลือ
|
11
|
3
|
2
|
16
|
ข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์
ปี
|
จำนวน (คน)
|
2548
|
25
|
2549
|
134
|
2550
|
1,968
|
2551
|
653
|
2552
|
377
|
2553
|
107
|
รวม
|
3,264
|
ข้อเสนอแนะกรณีสมควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
เนื่องจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลากับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่เป็นมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่เห็นด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ และชุมชนชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ ก็ยังเห็นว่า ควรจะใช้กฎหมายนี้ในพื้นที่ต่อไป
ประกอบกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีจุดอ่อนในแง่การสร้างเงื่อนไขในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีข้อควรพิจารณา คือ
1) หากรัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องนำกฎหมายพิเศษอื่นมาบังคับใช้ในพื้นที่ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นต้น
โดยระยะแรก ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานของ กอ.รมน. ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
2) พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้อาศัยกระบวนการศาลยุติธรรมอย่างเต็มที่ และถูกมองในแง่ลบจากประชาชนในการยุติความรุนแรง จึงเห็นควรให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ เพราะว่าพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักร แม้จะมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การดำเนินคดี ใดๆ อันเนื่องมาจากกฎหมายดังกล่าว ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และไม่ได้ให้อำนาจพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย
3) รัฐบาลสามารถกำหนดพื้นที่บางพื้นที่เพื่อเป็นการนำร่องทดลองการยกเลิกกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งพื้นที่ที่จะมีการนำเอา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้
ทั้งนี้ หากพื้นที่ใด กลับมีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลสามารถประกาศยกเลิกกฎหมายบางฉบับ ในบางพื้นที่ และสลับกับการประกาศใช้กฎหมายบางฉบับในบางพื้นที่ เพื่อให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลาดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเพียงฉบับเดียวเต็มพื้นที่
4) จากสภาพปัญหาที่ผ่านมา พบว่า การบังคับใช้กฎหมายใดๆ เป็นการชั่วคราวนั้น จะมีปัญหาด้านการรับรู้ และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการนำกฎหมายมาใช้ จึงทำให้เกิดข้อพิพาทบาดหมางระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย กับประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย
ส่งผลให้เกิดอคติและหวาดระแวงต่อกัน และทำให้กฎหมายถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการใช้อำนาจกับประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน ดังเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย
ดังนั้น หากจะมีการนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมควรที่จะต้องมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการชี้แจง ทำความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเสียก่อน
โดยในระยะแรกยังไม่สมควรยกเลิกกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทันที รวมทั้งให้มีกระบวนการเผยแพร่ความรู้และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) โดยตรงด้วย
5) การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควรมีการพัฒนาบุคลากรและบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเป็นระบบ เช่น บุคลากรในองค์กรตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม
รวมทั้งผู้ที่จะเป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่จะร่วมเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
6) ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจร่วมกันของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ต่อแนวคิดการเมืองนำการทหาร การจัดการในสังคมพหุวัฒนธรรม การจัดการความขัดแย้ง และสันติศึกษาในกระบวนการยุติธรรม