Skip to main content
sharethis

5 ม.ค. 54 - เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพในส่วนของราชการที่รับผิดชอบดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาในการพัฒนากฎหมาย   ขณะเดียวกันการสร้างการรับรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนดังกล่าวสู่สาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนับว่ายิ่งสำคัญ เพื่อร่วมกันผลักดันให้กฎหมาย “กองทุนสื่อ”ที่จะออกมานั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนอยากเห็น

เวทีสาธารณะ “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ”จึงเกิดขึ้นโดยมีการระดมสมองเพื่อให้กองทุนสื่อฯเป็นไปตามความต้องการของประชาชนโดยรวม และแบ่งกลุ่มย่อยช่วยกันคิด “อยากเห็น อยากให้” กองทุนสื่อฯเป็นอย่างไรในกลุ่มต่างๆ โดย

ในกลุ่มเด็กและเยาวชนทำสื่อ นายฉัตรชัย เชื้อรามัญ  กล่าวว่า “สิ่งที่อยากเห็นหากเกิดกองทุนสื่อฯ นอกจากการสนับสนุนด้านงบประมาณ คือ อยากให้หาวิธีการสนับสนุนกลุ่มเล็กๆที่ทำงาน รวมทั้งคำนึงถึงทุกกลุ่ม เช่น เด็กพิการ เด็กชายขอบ กลุ่มเหล่านี้ทำงานเรื่องสื่ออยู่แล้วจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร คำว่าสร้างสรรค์แค่ไหน ขอให้ชัด อยากให้สื่อที่พูดถึงอัตลักษณ์และตัวตนมากกว่าสื่อที่ออกจากส่วนกลางและบอกว่าควรเป็นอย่างไร”

ภาระหน้าที่ของกองทุนสื่อฯควรสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อน ช่วยคนที่เขาทำงานอยู่แล้วและพัฒนาคนทำสื่อ ประสานงานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พบปะ ทำงานร่วมกัน รวมทั้งควรแยกสื่อให้ชัดเจน เช่น สื่อแอนนิเมชั่น เด็กต้องการอะไรจากสื่อนี้และเปิดโอกาสให้ร่วมเรียนรู้ไปกับผู้ใหญ่ เปิดช่องทางการสื่อสาร และรับฟังความเห็น หรือสื่อสารการทำงานกับเครือข่ายเพื่อให้ตัดสินใจได้ตรงกับคนพื้นที่

การระดมความเห็นของกลุ่มเด็กและเยาวชนทำสื่อยังเสนอที่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบด้านสื่อ เช่น การพูดคุยเรียนรู้ร่วมกัน และมีการเสนอว่าน่าจะมีกระบวนการติดตาม เฝ้าระวัง และลงไปตรวจสอบสื่อต่างๆด้วย อีกทั้งอยากให้คณะทำงานมีตัวแทนของแต่ละภูมิภาคร่วมทำงานกับส่วนกลาง เปิดเวที ช่องทางการทำงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างโมเดลการทำงานให้เห็นชัดเจนเพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานต่อไปได้

ขณะที่ในกลุ่มหนังสือและวรรณกรรมซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กอย่างมากนั้น นางสุดใจ พรหมเกิด กล่าวว่า กลุ่มอยากเห็นกองทุนสื่อฯเป็นกองทุนของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน“อยากให้การสนับสนุนความรู้การอบรมตั้งแต่ระดับผู้ผลิตสื่อ รวมทั้งมองไปถึงว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการกระจายสื่อดีๆหรือการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น หนังสือดีๆบางครั้งขาดหายไปจากตลาด บทบาทอีกอย่างหนึ่งที่อยากให้มีคือ การสร้างสรรค์ผู้ผลิต เช่น จัดฝึกอบรม หรือให้โอกาสผู้ผลิตเข้าถึงกองทุนสื่อฯได้ง่าย และยังมองรวมไปถึงการขจัดสื่อร้ายโดยให้มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การผลิตสื่อสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ชุมชน ถ้าเป็นไปได้ยังอยากให้มีเทคโนโลยี เช่น สำนักพิมพ์เป็นของตัวเองเพื่อช่วยบริหารจัดการ ทำให้หนังสือราคาถูกลงและเข้าถึงได้ง่าย

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญไปที่วรรณกรรมเยาวชน ท้องถิ่นหรือเรื่องราวที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เยาวชนลุกขึ้นเป็นผู้ผลิตเองเพราะกระบวนการที่เด็กผลิตสื่อทำให้เด็กกลั่นกรองทางความคิดและรู้เท่าทันสื่อไปด้วย”

ในมุมของกลุ่มสื่อทางเลือกและสื่อพื้นบ้าน  นางสาววีราภรณ์ ประสพรัตนสุข  กล่าวว่า  กลุ่มนำเสนอเรื่องปัจเจกบุคคลที่เข้ารับทุนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กร เช่น ในกลุ่มคุยกันว่าเรามีพ่อเพลง แม่เพลงจำนวนมาก แต่ว่าคนเหล่านี้ไม่สะดวกจะเข้าถึงเอกสารที่มีตัวหนังสือที่ค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นเงื่อนไขการรับทุนควรเป็นเอกสารที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ทุกชุมชน รวมทั้งอยากเห็นกองทุนสื่อฯมีความยืดหยุ่นในการสนับสนุนทุนต่อปัจจัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่แตกต่างกัน และมีการจัดหาที่ปรึกษาของพื้นที่ให้ดำเนินการด้านเอกสารต่างๆในการขอทุน เนื่องจากคนพื้นที่อาจมีข้อจำกัดดังกล่าว

ความคาดหวังหากเกิดกองทุนสื่อฯ คือ การสนับสนุนงบประมาณ สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมทั้งในระดับนโยบาย  ระดับผลิตสื่อและระดับการจัดการสื่ออย่างยั่งยืน รวมทั้งต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการผลิตสื่อและสร้างความเท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ส่งต่อมาที่กลุ่มนักวิจัยด้านสื่อเพื่อการพัฒนาเด็ก  พญ.พรรณพิมล วิปุลากร นำเสนอว่า หากมีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เกิดขึ้น เช่น อยากให้สนับสนุนการทำงานวิจัยในสถาบันการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ให้สถาบันการศึกษามีความเข้มแข็งในการทำงานวิจัยสื่อเพื่อเด็กตั้งแต่ต้นทาง “ไม่เฉพาะว่าเป็นคณะนิเทศศาสตร์เท่านั้นแต่คณะอื่นๆก็น่าจะมีส่วนร่วมตรงนี้ได้ และการทำงานวิจัยด้านสื่อเพื่อการพัฒนาเด็กไม่ควรจะเป็นเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ แต่ต้องเป็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้อยากให้งานวิจัยเข้าไปสนับสนุนนวัตกรรม อาทิ การเรียนรู้เท่าทันสื่อทั้งในระบบโรงเรียนและครอบครัว รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ได้กว้างมากขึ้น หรือมีชุดข้อมูลพื้นฐานในการทำงาน คู่มือกระบวนการทำงานผลิตสื่อ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยเต็มรูปแบบแต่ชุดความรู้นี้สามารถเก็บข้อมูลเพื่อให้คนทำงานต่อไปใช้อ้างอิงได้ เป็นต้น” 

ด้าน นางวิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.นำเสนอมุมมองของกลุ่มสื่อกระแสหลัก ที่ว่ากองทุนนี้ต้องสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ที่ไม่ใช่เพียงแค่กองทุนไปหนุนให้เกิดการผลิตสื่อ แต่เป็นกองทุนไปสร้างไปสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสื่อ เกิดผู้ที่คิดจะสร้างสรรค์สื่อ ทำให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่รับผิดชอบ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้   กองทุนต้องเข้าไปหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตมีความยั่งยืน อยู่ได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันกองทุนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทั้งการใช้สื่อ การใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้การผลิตสื่อต้องมีการวิเคราะห์คำนึงถึงทั้งเนื้อหาและบริบทของผู้รับสื่อ ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น รายการที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย รายการสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

เวทีสาธารณะครั้งนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนในแขนงต่างๆ ภาคราชการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชน โดยเสียงเหล่านี้ล้วนอยากเห็น อยากให้กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เป็นของทุกคนอย่างแท้จริงในที่สุด ประชาชนทุกคนสามารถติตตามและมีส่วนร่วมในการจับตากองทุนสื่อฯได้ทางhttp://www.facebook.com/thaimediafund.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net