Skip to main content
sharethis

บริษัทเอพีพีซีมอบเงิน “ค่าลอดใต้ถุน” ให้ชาวบ้านไร่ละพัน ในพื้นที่ทำเหมืองโปแตซ แต่มีผู้มารับค่าลอดใต้ถุน 450 ไร่ จากพื้นที่ขอประทานบัตร 27,000 ไร่ ด้านกลุ่มอนุรักษ์ชี้จ่ายค่าลอดใต้ทุนไม่มีระบุในกฎหมาย เป็นเรื่องแยกแยะใครหนุน/ค้าน เหมือง แนะให้ดู “พิจิตร” เป็นตัวอย่าง รับค่าลอดใต้ถุนเหมืองท้อง แล้วบริษัทห้ามโวยหากมีเรื่อง

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.54 ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอเปอร์เรชั่น จก. หรือ เอพีพีซี. บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นายวิสุทธิ์ จิราธิยุติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอพีพีซี. ลุงทุนบินมาจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นประธานมอบเงิน “ค่าลอดใต้ถุน” ครั้งที่ 1 จำนวนไร่ละ 1,000 บาท แก่ประชาชนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน พื้นที่ในเขตประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี พร้อมแถลงข่าวและเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงมาทำข่าว โดยใช้เวลาแถลงและเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามประมาณครึ่งชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศกลับค่อนข้างซบเซาเนื่องจากมีเจ้าของที่ดินเฉพาะในเขต อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวนเพียง 64 รายเท่านั้น มารับมอบค่าลอดใต้ถุน โดยคิดเป็น450 ไร่ๆละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 454,240 บาท ทั้งๆ ที่มีพื้นที่ขอประทานบัตรมากถึง 27,000 ไร่ ผจก.ใหญ่ เอพีพีซี. ยอมรับไม่ตรงตามเป้าเหตุมีอุปสรรค

โดยนายวิสุทธิ์ จิราธิยุติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอพีพีซี กล่าวว่า พื้นที่เขตเหมือง (ใต้ดิน) โปแตชมีกว่า 27,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง, ต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม “ค่าลอดใต้ถุน” เป็นค่าตอบแทนพิเศษที่ เอพีพีซี. ได้มอบให้ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเหนือเหมืองไร่ละ 1 พันบาทเป็นการเบื้องต้น เป็นเจตนาของ เอพีพีซี มอบให้ไม่ผูกพันกับในทุกกรณี และเป็นเงินให้เปล่าที่ไม่มีระเบียบบังคับ โดยยังไม่มีการสำรวจว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินกี่ราย หรือกี่ไร่ เป็นการแจ้งให้ผู้มีสิทธิมาขึ้นทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีมาขึ้นทะเบียน 300 ราย

เจ้าของที่ดินมาขึ้นทะเบียนตอนแรกน้อย จึงสามารถตรวจสอบได้เพียง 64 ราย ในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ แต่ก็มีมาขึ้นทะเบียนมากเมื่อไม่กี่วัน เราพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีหลายประการ ทั้งเจ้าของที่ดินเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ, เอกสารสิทธินำไปจำนองที่สถาบันการเงิน โดยไม่ได้เก็บสำเนาไว้จำนวนพื้นที่เป็นแปลงเล็กๆ จำนวนเงินที่จะได้รับไม่มากนัก และการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเรามาซื้อที่ดินเพียงไร่ละไม่กี่บาท แต่คงไม่ใช่การต่อต้านของคนในพื้นที่” นายวิสุทธิ์ กล่าว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอพีพีซี ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการ หลังจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทำการรังวัดขึ้นรูปแผนที่แล้ว ก็จะเดินหน้าตามที่ กพร.แนะนำ และจะทำตามรัฐธรรมนูญ ปี 50 ม.67 วรรคสอง ทุกประการอย่างเคร่งครัด โดยกำลังคัดเลือกที่ปรึกษาเข้ามาจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม, สังคม, สุขภาพ หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจ เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมครบถ้วน รวมไปถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศในส่วนที่ เอพีพีซี ขาดความชำนาญ เร็วที่สุดปีหน้าน่าจะสามารถก่อสร้างได้

ด้านนางจันทา สัตยาวัน ชาวบ้านหนองตะไก้ และมีกรรมสิทธิ์ที่ดินกว่า 100ไร่ อยู่ภายในเขตการขอประทานบัตรของ เอพีพีซี แต่ไม่ได้ไปยื่นเอกสารเพื่อขอรับค่าลอดใต้ถุนกับบริษัทฯ และได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การจัดฉากจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนของบริษัทฯ ไม่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านก็เพราะชาวบ้านตระหนักดีว่าผลกระทบจากการทำเหมืองที่จะเกิดขึ้นนั้นมันมหาศาล และชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งบริษัทฯจะใช้เงินมาซื้อชีวิตชาวบ้าน พวกเขาจึงไม่เห็นด้วย   

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ พยายามจะสร้างภาพเพื่อให้คนข้างนอกเห็นว่าเขาเข้ากับชุมชนได้ ชุมชนยอมรับ โดยใช้วิธีการเอาเงินหว่าน แต่ไม่เคยให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับชาวบ้าน ซึ่งพวกเราเห็นว่าจำนวนเงินที่ได้มานั้นใช้แล้วก็หมดไป แต่เหมืองจะอยู่กับพวกเราไปจนถึงลูกหลาน และที่ดินของพวกเราก็สามารถใช้ทำมาหากินได้ตราบนานเท่านาน เมื่อเหมืองเกิดขึ้นมีผลกระทบ ดินเค็ม น้ำเค็ม ที่ดินทำกินไม่ได้ ลูกหลานเจ็บไข้แล้วเมื่อนั้นเราจะอยู่กันอย่างไร ซึ่งมันไม่คุ้ม” นางจันทากล่าว

ขณะที่นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนอยากตั้งคำถามกับบริษัทฯ ว่าบริษัทฯ แจกเงินเพื่ออะไร เพราะการจ่าย “ค่าลอดใต้ถุน” ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ในกฎหมาย แต่ตนเห็นว่าบริษัทฯ มีเป้าหมาย เพื่อต้องการแบ่งแยกชาวบ้านให้เห็นว่าใครคัดค้าน ใครเห็นด้วยกับโครงการฯ มากกว่า ซึ่งก็มีบทเรียนให้เห็นแล้วในพื้นที่อื่น

“เอพีพีซี กำลังจับชาวบ้านเป็นตัวประกัน เพราะการจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนจะเป็นการผูกมัดชาวบ้าน ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะบอกว่าไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ แต่มีประสบการณ์ให้เห็นแล้วกรณีชาวบ้านในพื้นที่เหมืองทองคำ จ.พิจิตร ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินให้กับชาวบ้านในลักษณะคล้ายๆ กันนี้โดยให้ชาวบ้านเอาเอกสารสำคัญเกี่ยวกับที่ดินมายืนยัน แล้วบริษัทจ่ายเงินให้พร้อมกับสลักหลังเอกสารว่า ห้ามชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้านหรือคัดค้านบริษัทอีก” นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า การจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนจะเพิ่มความขัดแย้งให้กับพื้นที่มากยิ่งขึ้น เพราะชาวบ้านที่ไปขึ้นทะเบียนขอรับเงินกับบริษัทฯ ก็จะออกมาต่อต้านและกล่าวหากลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่าขัดขวางการได้เงินของพวกเขาเหล่านั้น นายสุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net