Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. เวลา 10.00น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดการเสวนาเรื่อง “ประชาวิวัฒน์ หรือปฏิรูปประกันสังคม...หลักประกันที่แท้จริงของชีวิตแรงงาน”

ก่อนหน้านี้  รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาเปิดเผยว่าจะประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ ซึ่งจะนำไปสู่การประกาศมาตรการในการแก้ไขปัญหา และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในวันที่ 9 ม.ค. นี้ เพื่อยืนยันถึงความเป็นรูปธรรมการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ โดยระบุว่านโยบายนี้มีความแตกต่างจากประชานิยม ที่ใช้อำนาจทางการเมืองและระบบอุปถัมภ์เป็นที่ตั้ง และแตกต่างจากรัฐสวัสดิการตรงที่ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐเป็นที่ตั้ง เพราะแนวคิดเรื่องประชาวิวัฒน์นั้น เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และเป็นศูนย์รวมของการพัฒนา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ ผู้ตรวจการกรมสำนักงานประกันสังคม และผู้อำนวยการโครงการประกันสังคมตามมาตรา 40 หนึ่งในคณะทำงานนโยบายประชาวิวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน คณะทำงานซึ่งได้รับการคัดเลือกประมาณ 70 คนได้ใช้เวลานาน 5 สัปดาห์เพื่อเสนอมาตรการต่างๆโดยนำกรอบความคิดมาจากการรับฟังความเห็นในโครงการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคม ที่ก้าวข้ามสังคมสงเคราะห์และประชานิยม

นายรักษ์ศักดิ์ กล่าวถึงข้อสรุปที่ได้เพื่อแก้ปัญหากรณีแรงงานนอกระบบ 20 กว่าล้านคนซึ่งยังเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ตามมาตรา 40 ว่า จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขในมาตรา 40 แทนการแก้ทั้งฉบับซึ่งมีความยุ่งยาก เนื่องจากการเมืองไม่นิ่ง โดยจะลดอัตราเงินสมทบลง และปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้น รวมถึงผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ฉบับแก้ไข เพื่อให้รัฐร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ และให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นเงินประเดิมเบื้องต้นในกองทุนประกันสังคม เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่กองทุนประกันสังคม

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แม้จะยังไม่เห็นรายละเอียดของนโยบายประชาวิวัฒน์ชัดเจน แต่เท่าที่ตรวจสอบมองว่านโยบายนี้คล้ายการโฆษณาสินค้าของรัฐบาล ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสร้างหลักประกันในชีวิตได้เพียงใด เพราะเป็นนโยบายที่คิดกันในเวลาเพียง 5 สัปดาห์ ขณะที่เครือข่ายแรงงานได้คิดเรื่องนี้และเรียกร้องกันมานานแล้ว โดยมีข้อเสนอในการปรับโครงสร้างคณะกรรมการประกันสังคม และขยายความคุ้มครองออกไปสู่ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ แรงงานนอกระบบทั้งหมด รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายด้วย

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า  เป็นที่น่าเสียดายว่าในคณะกรรมการนโยบายที่เสนอทางแก้ปัญหาของแรงงานนอกระบบไม่มีตัวแทนของคนงานเข้าไปด้วย มีเพียงนักวิชาการสายแรงงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม มองว่า รูปแบบที่รัฐเสนอมานั้นยังกว้างเกินกว่าที่จะจับต้องได้

นางสุจิน กล่าวเสริมว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านนั้นไม่ควรถูกจัดอยู่ในแรงงานนอกระบบ เพราะมีนายจ้างชัดเจน นอกจากนี้แนวทางที่เสนอมาถือว่าเป็นเรื่องเก่า หากจะให้เป็นเรื่องใหม่ รัฐจะต้องร่วมจ่ายสมทบ และให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบทั้งหมด อันรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าว ยังมีการพูดถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติด้วย โดยนายบัณฑิต แป้นวิเศษประธานเครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ระบุว่า แรงงานข้ามชาติในไทยมีประมาณ 3 ล้านคน โดยเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานราว 9 แสนคน แต่เข้าสู่ประกันสังคมตามมาตรา 33 จำนวน 8 หมื่นคน ซึ่งเกิดจากขั้นตอนและค่าใช้จ่ายยุ่งยากในการพิสูจน์สัญชาติ ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากการประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบเท่ากับคนไทยในมาตรา 40 ก็ไม่เหมาะสม คืออาจจะไม่ได้ใช้ในอนาคต 2 กรณีคือ ประกันการว่างงานและชราภาพ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจะทำงานในประเทศไทยได้เพียง 4 ปีและต้องกลับประเทศ 4 ปีจึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้ ดังนั้นจึงควรปรับปรุงให้สอดคล้องและเป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนา ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดเวที "สมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรง งานไทย" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คนเข้าร่วม โดย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือ การปฏิรูปประกันสังคม โดยเสนอให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง  ขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ และเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประกันสังคมได้ทุกแห่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net