Skip to main content
sharethis

การต่อสู้อันยาวนานกว่า 40 ปี ของชาวบ้านจากผลกระทบการสร้างเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร (อ่าน: รายงาน: ทรหดกว่ายายไฮพังเขื่อน คนน้ำอูนกลืนน้ำตา 40ปี แผลนี้ไม่มีเยียวยา) โดยมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

ปี พ.ศ. 2506

-มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2506 เสนอโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รมต. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เกี่ยวกับการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างการชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

1.ให้ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เพื่อสงเคราะห์ราษฎรที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ (เขื่อนน้ำอูน) ตลอดจนราษฎรที่อยู่นอกเขตเวนคืน แต่จะต้องถกระทบกระเทือนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเวนคืน (โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ดินทำกิน 13 ไร่))

2.ทรัพย์สินของราษฎรที่อยู่นอกเขตการเวนคืนที่ดิน แต่ปรากฏว่าจะต้องได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการ ให้พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนให้ด้วย

-การอนุมัติให้สร้างเขื่อนน้ำอูน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตามแผนงานจนเสร็จสิ้นโครงการรวม  15 ปี (ปี พ.ศ.2510 – 2524)

ปี พ.ศ. 2507

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ในเรื่องการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

1.การจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ และบ้านเรือน ให้จ่ายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกราย

2.สำหรับค่าทดแทนที่ดิน ให้จ่ายแก่ผู้ไม่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเอง ที่รัฐจัดสรรให้ทุกราย ส่วนผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมฯ ควรพิจารณาจ่าย ดังนี้

ก.ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรให้มีสภาพคล้ายคลึงกัน และมีจำนวนเท่าเทียมกับที่ดินเดิมของราษฎร ก็ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้

ข.ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรมีสภาพแตกต่างกัน หรือมีพื้นที่น้อยกว่าที่ดินเดิม ก็ควรจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้ตามสมควร เพื่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนใช้เป็นทุนทำกินในที่ดินใหม่ในขั้นต้น หรือพิจารณาจ่ายให้เป็นทุนกู้ยืม

ปี พ.ศ. 2509

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2509 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คือ

1.เปลี่ยนแปลงหลักการจ่ายเงินชดเชย และการจัดสรรที่ดินใหม่ให้เหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ราษฎรที่จะต้องอพยพ และเห็นควรจ่ายเงินชดเชยให้แก่ทุกครอบครัวที่จะต้องอพยพจากเขตโครงการ รวมตลอดถึงการช่วยเหลือในการโยกย้ายไปยังที่ดินใหม่ ส่วนการราษฎรจะเลือกไปอยู่ในนิคมฯ หรือสถานที่อื่นควรจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของราษฎรเอง

2.ในหลักการควรถือว่า รัฐบาลมีพันธะที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพ โดยจัดให้ได้ประกอบอาชีพดีกว่า หรือ/หรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม และจะต้องให้ความช่วยเหลือในการอพยพทุกประการ โดยมิให้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับอพยพ

ปี พ.ศ. 2510-11

-เริ่มมีการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมในพื้นที่โครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร (ในขณะที่โครงการจัดตั้งนิคมฯ พื้นที่รองรับการอพยพไม่มีความพร้อมดำเนินการ)

ปี พ.ศ. 2511

-มติที่ประชุมในการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จากจังหวัดสกลนคร ให้ใช้พื้นที่ภูวง-ป่าภูล้อมข้าว-ป่าภูเพ็ก เขตอำเภอวาริชภูมิ และพรรณนานิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ซึ่งผู้แทน กรมป่าไม้ ไม่เห็นด้วยในการจัดสรรแก่ราษฎร จึงต้องเสนอรับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยมอบให้ กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินขอใช้พื้นที่ต่อไป

ปี พ.ศ. 2512

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2512 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย ในการขอใช้พื้นที่ป่าภูวง และป่าภูล้อมข้าว จัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูนรองรับการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมตามโครงการชลประทานน้ำอูน รวม 2 แปลง คือ

1.พื้นที่ป่าภูวง ในท้องที่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 35.820 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,387.5 ไร่

2.พื้นที่ป่าภูล้อมข้าว-ภูเพ็ก ในท้องที่อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 58.550 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,593.75 ไร่

ปี พ.ศ. 2514

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2514 เสนอโดย นายบุญรอด บิณฑสันต์ รมช. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง โดยจำแนกพื้นที่ป่าภูวง เนื้อที่ 63.093 ตารางกิโลเมตร หรือ 39,433.125 ไร่ ให้ กรมประชาสงเคราะห์ ไปดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2515

-เริ่มปิดเขื่อน และเก็บกักน้ำในเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และการอพยพราษฎรสิ้นสุดลง

-ได้มีการประชุมปัญหาราษฎรไม่อพยพไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ของ จังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีราษฎรเข้ามาบุกเบิกจับจองพื้นที่ บ้านดงคำโพธิ์ (เขตนิคมฯ) เมื่อปี 2503 เนื้อที่ประมาณ 15,000 ไร่ จึงไม่สามารถจัดสรรให้ราษฎรได้ (การประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับที่ดินของราษฎรที่ทำกินก่อนการขอใช้พื้นที่ของโครงการฯ)

ปี พ.ศ. 2516

-น้ำท่วมพื้นที่เก็บกักสูงสุดของเขื่อนน้ำอูน

-เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2516 ผกค. นำกำลังบุกเข้าโจมตีนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน เผาทำลายอาคารสถานที่ และเครื่องจักรกล ผู้ปกครองนิคมฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิต

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2516 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย อนุมัติหลักการเพื่อดำเนินการตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

-แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ราษฎรผู้ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมในการสร้างเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2516

-แต่งตั้งกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2516

ปี พ.ศ. 2518

-ได้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้อพยพจากเขตน้ำท่วม ระหว่างโครงการชลประทานน้ำอูน และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน

-รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อขอขยายเขตนิคมฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม

ปี พ.ศ. 2520

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2520 ให้โอนภารกิจการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน จาก กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหน้าที่ของ กรมชลประทาน กระทรงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแทน

ปี พ.ศ. 2532

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 อนุมัติหลักการให้ กรมชลประทาน จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ราษฎรที่ถือครองที่ดิน การทำประโยชน์ในที่ดิน ป่าสงวนฯ อุทยานฯ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่จะต้องเข้าถือครองทำประโยชน์ก่อนที่ กรมชลประทาน จะเข้ามาดำเนินโครงการสร้างเขื่อนน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2537

-เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมี พ่อทองดี ตุพิลา เป็นประธานเครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ และได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และ กอ.รมน. กองทัพภาค 2 (ตรงกับสมัย ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรี)

ปี พ.ศ. 2539

-เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนน้ำอูน ได้เข้าร่วมกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสาน (สกย.อ.) นายบำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการและเครือข่าย ผรท. เพื่อจัดทำเอกสารข้อร้องเรียน และนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ผ่านสำนักงานเลขาฯ

ปี พ.ศ. 2541

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 เรื่องราษฎรร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน (ตั้งแต่ปี 2539 ข้างต้น) คือ

1.ให้คณะกรรมการที่ทางราชการได้แต่งตั้งขึ้นที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง

2.หากคณะกรรมการเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจริงให้แจ้งผลการพิจารณาไปให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

ปี พ.ศ. 2546

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 เห็นชอบในหลักการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน

-ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสได้รับที่ดินสำหรับการประกอบอาชีพ

ปี พ.ศ. 2547

-มติคณะรัฐมนตรี (สมัย ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 อนุมัติในหลักการให้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) จัดหาที่ดินส่วนเกินสิทธิ์จากผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิม และส่วนที่ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิมขาดคุสมบัติที่จะได้รับที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน

-จัดที่ดินให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รายละ 15 ไร่ และขออนุมัติงบประมาณ (กลาง) เพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการทำประโยชน์จากที่ดินที่รัฐตกลงจะจัดสรรให้หลังจากการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม อัตราไร่ละ 10,000 บาท (ข้อเรียกร้องสิทธิ์ของราษฎร และมติกรรมการที่เกี่ยวข้อง คือ อัตราไร่ละ 30,000 บาท ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับมติ ครม. ในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรในพื้นที่ได้รับผลกระทบเขื่อนอื่นๆ เช่น ยายไฮ, เขื่อนปากมูล, เขื่อนราษีไศล)

-มติมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน รายละ 15 ไร่ๆ ละ 10,000 บาท (นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีเสนอให้จ่าย 32,000 บาท/ไร่ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ)

ปี พ.ศ. 2548

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เห็นชอบในการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่ขอรับเป็นเงินทดแทนที่ดิน ไร่ละ 10,000 บาท (15 ไร่/ราย รวม 150,000 บาท) (ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของราษฎร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้มีมติ และนำเสนอให้จ่ายค่าชดเชยไร่ละ 30,000 บาท รวม 450,000 บาท/ราย)

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 894 ราย (จากการเสนอรายชื่อราษฎรผู้เดือดร้อนรอบแรกทั้งหมด 895 ราย) ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม)

ปี พ.ศ. 2550

-จังหวัดสกลนคร ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

ปี พ.ศ. 2551

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 888 ราย  ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย

-ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 179 ราย  ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย เช่นเดียวรุ่นก่อนๆ

ปี พ.ศ. 2552

-วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับตัวแทนราษฎรผู้เดือดร้อน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงความเดือดร้อน

-วันที่ 24 มิถุนายน 2552 กรมชลประทาน ได้มีการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหารายชื่อราษฎรที่ตกค้างถึงจังหวัดสกลนคร ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา

-วันที่ 27 สิงหาคม 2552 หนังสือแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงแก้ไขปัญหา ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน รวม 2,653 ราย เท่านั้น

ปี พ.ศ. 2553

-วันที่ 24 มิถุนายน 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายก เพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่มปัญหา (ดูข้อมูลจากสรุปข้อเท็จจริงปัญหาเขื่อนน้ำอูน)

-เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน ได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาแบบยืดเยื้อ วันที่ 23 พฤศจิกายน-17 ธันวาคม 2553 และมีตัวแทนรัฐบาลลงมารับเรื่องร้องเรียน คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

-วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปข้อเท็จจริงปัญหาเขื่อนน้ำอูน

1. โครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไม่สามารถจัดหาที่ดินแก่ราษฎรที่ถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมตามนโยบายได้ 15 ไร่/ราย (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ทำกิน 13 ไร่) เนื่องจากไม่มีที่ดินเพียงพอ และปัญหาซ้อนทับสิทธิ์ในที่ดินกับราษฎรในพื้นที่เดิมก่อนการดำเนินการโครงการ

2. ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินทดแทนที่ดินที่ไม่ได้รับหลังจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐได้ให้ความช่วยเหลือ เช่น กรณียายไฮ และเขื่อนอื่นๆ

3. การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินของท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในราคาไร่ละ 10,000 บาท

4. การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนวณค่าเสียโอกาสทางด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคมของราษฎรผู้เดือดร้อนที่ต้องสูญเสียโอกาสไป รวม 43 ปี (2510-2553) เนื่องจากรัฐไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้ตามนโยบาย และเลือกปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเขื่อนน้ำก่ำ 50,000-100,000 บาท/ไร่, เขื่อนห้วยหลวง ไร่ละ 30,000 บาท/ไร่, เขื่อนราศีไศล 32,000 บาท/ไร่ และยายไฮ ที่ได้รับทั้งที่ดินคืน ค่าเสียโอกาสในการทำกิน และค่าเสียโอกาสทางการศึกษาของบุตร

5. ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนบางส่วนได้อพยพย้ายครอบครัวหนีไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่อื่นๆ หลังจากถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมของโครงการชลประทานน้ำอูน และไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ และโอกาสที่ควรจะได้รับ

6. ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร จำแนกออกได้ 2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 2,798 ราย คือ

1) ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเวนคืนที่ดิน และให้เป็นเขตชลประทานน้ำอูน รวม 75,000 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

- ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และตกสำรวจข้อมูลจาก กรมชลประทาน เนื่องจากที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อาจจะสาเหตุจากการไม่รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารของราษฎรที่ประกอบด้วยชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ) รวมประมาณ 1,076 ราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ

- ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และมีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน ที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ หรือบางส่วนได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง ยังคงหลงเหลืออีก รวม 527 ราย (จากทั้งหมด 3,351 ราย)

2) ราษฎรที่สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน และไม่ได้รับ หรือได้รับการจัดสรรที่ดินได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง รวม 1,195 ราย

7. แม้ว่าราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน จะได้รับความช่วยเหลือจากค่าชดเชยที่ดินไปแล้ว รวม 1,961 ราย แต่ไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้ เพราะการอนุมัติจ่ายค่าชดเชยไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ จึงมีเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยในมาตรฐานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น และสอดคล้องกับราคาที่ดินในปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net