Skip to main content
sharethis

ที่วัดพระธาตุสิริมงคล อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คนไทยพลัดถิ่นจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด กว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความให้ฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีของการยื่นเรื่องเรียกร้องขอสัญชาติไทยแต่ไม่ได้รับการตอบรับหรือดำเนินการใดๆ จากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

นางจันทร์  สุทวงษ์  อายุ 44 ปี คนไทยพลัดถิ่น  บ้านแม่กุ ตำบลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยกับกระทรวงมหาไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30  ปีแล้ว กล่าวว่า  ตนหวังว่าวันนี้จะได้สัญชาติไทยหลังจากที่รอมานานกว่า 30 ปี เพราะสิ่งที่ตนหวังและอยากได้มากที่สุดในชีวิตคือสัญชาติไทย ในบางครั้งตนก็รู้สึกน้อยใจเพราะเดินเรื่องมาหลายครั้ง และต้องรอคำตอบตลอดมา โดยที่ไม่รู้ว่าจะได้สัญชาติเมื่อไหร่ ตนขอยืนยันว่าเป็นคนไทย ถึงแม้จะเกิดที่ฝั่งพม่าแต่ก็กลับมาอยู่ฝั่งไทยกว่า 30 ปีและมีสามีเป็นคนไทย มีลูกเป็นคนไทย  ตนพูดภาษาพม่าไม่ได้ พูดกระเหรี่ยงไม่ได้ แต่พูดไทยได้ชัดเจน นี่คงเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นคนไทยได้สำหรับตน

“วันนี้ที่มารวมตัวกันเพราะคิดว่า การรอของพวกเราจะต้องมีความหมาย เพราะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการใด ๆ เลยแม้พวกเราจะยื่นเรื่องไปเป็นระยะเวลานานก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอาจจะเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้เราได้สัญชาติไทยได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้”คนไทยพลัดถิ่น  บ้านแม่กุ ตำบลแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยกับกระทรวงมหาไทยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30  ปี กล่าว

ด้านนายชัยรัตน์  อ่อนแก้ว อายุ 38 คนไทยพลัดถิ่น  บ้านห้วยไม้แป้น หมู่ 5 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า  ตนเป็นคนไทย มาวันนี้ก็อยากได้สัญชาติไทย เพราะได้ดำเนินการเดินเรื่องขอสัญชาติมาเป็นเวลานานมากแล้ว ตั้งแต่ย้ายกลับมาฝั่งไทยเมื่อ 2519 เพราะตอนนั้นเกิดสงคราม พ่อกับแม่ของตนย้ายไปทำไร่อยู่ที่ฝั่งพม่าเดิมทีครอบครัวเราเป็นคนไทย ตนเรียนจบชั้นป.6 ที่ไทยแต่ต้องย้ายตามพ่อและแม่ไป โดยไม่ได้ทำบัตรอะไรสักอย่าง พอกลับมาอยู่ประเทศไทยก็กลายเป็นคนไทยพลัดถิ่น มีหลักฐานที่ทางราชการออกให้คือพาสปอร์ตสองเล่ม สีแดงและสีน้ำเงินซึ่งต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา บางครั้งก็เกิดความน้อยใจที่ตนเองไม่มีสิทธิเท่าเทียมเหมือนกับคนไทยทั่วไป คือไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่มีสิทธิในการกู้ยืมเงิน ครั้งนี้มาเป็นตัวแทนของคนที่หมู่บ้านที่ตอนนี้กำลังรอฟังความคืบหน้าจากทางราชการ และรอวันได้สัญชาติไทยอีกกว่า 30 คน

ขณะที่นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า  ชาวบ้านกลุ่มนี้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาให้สัญชาติกับคนเหล่านี้ ควรพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว การให้ปล่อยให้ เรื่องล่าช้ามาถึงสิบปี นับว่าเป็นการปฏิบัติราชการที่ล่าช้าเกินสมควรมาก ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองยื่นฟ้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว และประชาชนอาจเรียกร้องค่าเสียหาย จากการปฏิบัติงานที่ล่าช้าเกินสมควรได้  ทั้งนี้ทางสภาทนายความกำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่มาประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องฟ้องกระทรวงมหาดไทยหลังจากที่ได้รับการอนุมัติและปฎิญาณตนตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้ว แต่เรื่องกลับเงียบหาย  กลุ่มที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนและต้องการยื่นฟ้อง และกลุ่มปัญหาอื่นๆคือมีบัตรผู้ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือบัตรหมายเลขศูนย์แล้วแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องรอการพิสูจน์อีกหลายขั้นตอนจากราชการ    ทั้งนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทยพลัดถิ่นคือ ความล่าช้าของทางราชการ ในการดำเนินการเรื่องสัญชาติที่ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่าสิบปีหรือมากกว่านั้น กำหนดเวลาที่ชัดเจนในการได้สัญชาติ และสิทธิอื่นๆที่สมควรได้รับตามสถานะของการเป็นคนไทย

อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ชี้แจงขั้นตอนการขอสัญชาติและรับสิทธิต่างๆ ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติในทุกกรณี ให้ความรู้ คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและการดำเนินการแก้ไขกฎหมายบางมาตราที่ยังไม่เป็นธรรม เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นหรือคนไร้สัญชาติสามารถมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยได้ตามความเป็นจริงต่อไปอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net