Skip to main content
sharethis

ชุมชนบนที่รถไฟสายใต้วิตกรางคู่ สอช.เร่งสำรวจข้อมูลหาทางแก้ เบื้องต้นพบ5พันครัวเรือนจะได้รับผลกระทบ เดินหน้าขอเช่าที่จากรฟท.

นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นชุมชนแออัดบนที่ดินรถไฟสายเก่า ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) เปิดเผยว่า สอช.ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. และชุมชนบนที่ดินรถไฟ กำลังสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)พร้อมกับข้อเสนอในการแก้ปัญหา

นางละออ ชาญกาญจน์

นางละออ เปิดเผยต่ออีกว่า ขณะนี้ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยในส่วนของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ซึ่งตนเป็นคณะทำงานสำรวจและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า มีชุมชนที่อยู่ในระยะ 40 เมตร จากรางรถไฟ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ในอนาคตและการรื้อฟื้นทางารถไฟสายเก่าสายหาดใหญ่ – สงขลา จำนวน 50 ชุมชน รวม 5,354 ครัวเรือน ในพื้นที่ 9 จังหวัดที่มีทางรถไฟผ่าน

นางละออ เปิดเผยอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าว มีขึ้นเนื่องจากมีกระแสว่า รัฐบาลมีข้อตกลงกับต่างประเทศเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยสำรวจ เพื่อหาทางแก้ปัญหาก่อนจะไม่ทันการ ชุมชนต้องไปอยู่ที่ไหน การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่รับผิดชอบ สอช.จึงรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย

“ที่วิตกคือพี่น้องได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ เพราะบางคนอยู่ในที่ดินรถไฟมานาน ถ้าถูกไล่รื้ออะไรจะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะมีที่ไปไหม จะทำอาชีพอะไร จะอยู่กินอย่างไร นี่จะเป็นผลกระทบสำหรับคนมีรายได้น้อย” นางละออ กล่าว

นางละออ เปิดเผยต่อว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการเช่าที่ดินนั้น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ พอช.เป็นคู่สัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วให้ชุมชนเช่าจากพอช. เป็นเวลา 30 ปี ยกเว้นในเขตห้ามเช่า คือ ในรัศมี 40 เมตรจากรางรถไฟ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องหาสถานที่แห่งใหม่รองรับในระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร

“ในการขอเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น มีเงื่อนไขว่าชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มเช่าที่ดินต่อจากพอช. จากนั้นกลุ่มออมทรัพย์ก็ให้สมาชิกมาเช่าที่ดินที่อยู่อาศัยต่อ” นางละออ กล่าว

นางละออ เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 22 มกราคม 2554 นี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม เป็นประธานจะลงพื้นที่ชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อสำรวจความเข้มแข็งของชุมชนก่อนที่จะอนุญาตให้เช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยต่อไป จากนั้นในวันที่ 23 มกราคม 2554 คณะกรรมการชุดนี้ก็จะเดินทางมาสำรวจชุมชนในอำเภอเมืองสงขลาต่อ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net