Skip to main content
sharethis

ปีที่ 7 กับเหตุการณ์ความไม่สงบสำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการบริหารบ้านเมืองมาหลายรัฐบาล ก็ยังไม่สามารถที่จะยุติความรุนแรงลงได้ แต่ที่เห็นได้คือการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารของรัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับการประกาศยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่าง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา อันประกอบด้วย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย และทดลองใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง)แทน เมื่อปี 2553 และล่าสุดนัว่าเป็นของขวัญให้กับชาวอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี ได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แทนหรือไม่ต้องรอฟังมติของครม.ก่อน

ของขวัญชิ้นใหม่และชิ้นสำคัญจากรัฐบาลที่มอบให้แก่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2554 โดยเฉพาะอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี หลังจากที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2548 เพื่อเข้าดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของรัฐและประชาชน

ทางรัฐบาลได้เห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถใช้มาตรการต่างๆ เข้าควบคุม ระงับยับยั้ง และแก้ไขปัญหาได้ตามปกติ

นายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ดั่งประกาศตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๑๕๑ ง ประกาศเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553

นับว่าเป็นงานหนักที่ทางฝ่ายปกครอง และฝ่ายทหารในพื้นที่อำเภอแม่ลานต้องรับผิดชอบ นายปรีชา ชนะกิจกำจร นายอำเภอแม่ลาน ได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนคือการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ถึงการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก และไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดียุยงให้เกิดความแตกแยก มาตรการต่อไปคือการเตรียมการรองรับการป้องกัน ปราบปราม รวมถึงงานมวลชน

นายปรีชา กล่าวว่า นโยบายที่ทางนายอำเภอใช้คือการเมืองนำการทหาร มีการออกไปพบปะเยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ประชาชนหรือกลุ่มพลังต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นายอำเภอแม่ลาน กล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่ได้เป็นการกดดันต่อการทำงาน การยกเลิกกับไม่ยกเลิกก็นับว่าปกติ ถึงอย่างไรก็ต้องทำงานไปอย่างเดิม และก็ทำต่อในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบและต้องทำให้ดีที่สุดสมกับที่รัฐบาลเชื่อใจ แต่การทำงานต้องอาศัยองคาพยพในพื้นที่ นายอำเภอทำตามลำพังไม่ได้ นายอำเภอเป็นเพียงกลไกตัวหนึ่งที่จะทำให้กลไกตัวอื่นขับเคลื่อน

อีกหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความสงบในพื้นที่อำเภอแม่ลานคือทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 21 (ฉก.ปัตตานี 21) ที่รับผิดชอบทั้ง อ.แม่ลาน และ อ.ยะรัง

พันโทสัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผู้บัญชาการเฉพาะกิจปัตตานี 21(ฉก.ปัตตานี 21) ได้กล่าวถึงการทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ว่า เมื่อมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีผลตามกฎหมายเดิมที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อมีปฏิบัติการใดๆ ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะสามารถประสานงานกับกำลังตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าไปดำเนินการได้ทันที  แต่เมื่อมีการยกเลิกบทบาททหารจะเป็นรองกลายเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ตำรวจต้องมาขอกำลังพลจากทหารจึงจะสามารถเข้าไปทำงานได้

ถึงแม้จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจของทหารลดลงไม่มีกฎหมายมาสนับสนุนในการปฏิบัติการ  แต่ทหารยังสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎอัยการศึกได้ ยังสามารถควบคุมตัวผู้กระทำความผิดได้หากกระทำผิดซึ่งๆหน้าภายใน 7 วันตามอำนาจกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตารา 15 ทวิ ซึ่งแต่เดิมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสามารถควบคุมตัวได้ต่อภายใน 30 วัน แล้วจะพาไปที่ศูนย์ซักถาม ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

 

มาตารา 15 ทวิ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็น ราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลดังนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการ ทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน

     ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้

ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้เปิดเผยต่อว่า บุคคลที่มีรายชื่อตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดิม แล้วตอนนี้เมื่อมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงจะต้องมีการยกเลิกหมายทั้งหมด แต่ทางหน่วยยังไม่ทราบในความชัดเจนว่าจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรต่อหลังจากนี้

 

นายอำเภอได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการเรียกผู้ที่เคยมีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประมาณ 30 คน แต่ไม่ได้เรียกตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทางอำเภอได้เชิญผ่าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

 

ในส่วนกองกำลังของทหารยังคงสามารถอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ลานได้อีก แม้ว่ามีประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  แล้วก็ตาม และมาตรการที่ต้องวางไว้เพื่อในอนาคตคือการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ในความเห็นของนายปรีชา อำเภอแม่ลาน กล่าวว่า การเปลี่ยนถ่ายกองกำลังต้องมีการปรึกษานายอำเภอก่อนว่าพร้อมหรือไม่ เมื่อมีการถอนทหารจำเป็นต้องมีหน่วยงานอื่นมาแทนที่ อาจจะเป็นกำลังทหารพราน อส. กองกำลังประจำถิ่นซึ่งเข้าใจปัญหามากกว่ากองกำลังที่มาจากอีสาน เพราะความเข้าใจขนบทำเนียม ประเพณีในพื้นที่ที่ต่างกัน

 

เช่นเดียวกับ พันโทสัมพันธ์ อิสริยเตชะ ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะใช้กองกำลังในพื้นที่อย่างทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.) แต่ยังคงเป็นแนวคิดยังไม่สามารถระบุได้ว่าเมื่อใด ต้องมาดูสถานการณ์ว่าเบาลงหรือว่ารุนแรงขึ้น มาตรการการรักษาความปลอดภัยทาง หน่วย ฉก.21 มีการฝึกกำลังประชาชน อย่าง ชรบ. ลูกจ้าง 4,500 จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ กลุ่มเหล่านี้มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง

 

ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้เปิดเผยถึง 6 ยุทธศาสตร์ที่ทาง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ได้มอบหมายให้หลังได้รับตำแหน่ง คือ

 

การเสริมสร้างความเข้าใจ เป็นการทำให้ประชาชนยอมรับ มีความรู้สึกดีต่อรัฐ โดยใช้กลุ่มผู้นำศาสนาหรือดาอี เป็นตัวแทนในการสร้างความเข้าใจโดยเฉพาะในหมู่บ้านจัดตั้ง

 

การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เพิ่มพูนความรู้ และทักษะด้านสังคม เศรษฐกิจ

 

การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ไม่ให้ปัจจัยอื่นเข้ามาสนับสนุนให้ปัญหาขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น เช่นการส่งเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าโครงการอบรม และติดตามพฤติกรรมบุคคล

 

การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือเยียวยา ให้แก่ประชาชนที่ไดรับผลกระทบจากเหตุการณ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ

 

การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการดำเนินการมาตรการ ป้องกัน ป้องปรามการก่อเหตุร้าย เป็นการจำกัดเสรีและปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ

 

การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ความร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆด้วยความเต็มใจ

 

แต่ที่น่ากังวลคือความเข้าใจในกฎหมายใหม่ที่จะนำมาใช้อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่จะตามมาคือปฏิบัติการต่างๆ ที่จะตามมา ผบ.ฉก.ปัตตานี 21 ได้กล่าวถึงเรื่องของการทำความเข้าใจในกฎหมายใหม่ว่า ทางหน่วยจะจัดการอบรมหมุนเวียนให้ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เข้าใจมากนัก และปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลหรือตัวผู้ปฏิบัติ

 

อำเภอแม่ลานเป็นอำเภอที่มีขนาดเล็กประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ตำบลแม่ลาน ตำบลป่าไร่ และตำบลม่วงเตี้ย มีเพียง 3,000 กว่าครัวเรือน ประชากรประมาณ 1 หมื่นกว่าคน นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ61 และพุทธ ร้อยละ 39 ความง่ายต่อการสอดส่องดูแล แต่ก็นับว่าเป็นแรงกดดันเช่นเดียวกันเพราะว่า อำเภอแม่ลานมีลักษณะภูมิประเทศเสมือนกับไข่แดง ที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่รอยต่อที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง อย่าง อ.ยะรัง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.เมือง จ.ยะลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net