Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสท์รายงานเรื่องกรณีที่มีการประกาศกฏหมายฉบับใหม่ของกัมพูชาเกี่ยวกับสหภาพแรงงาน จนเป็นเหตุให้กลุ่มประชาสังคมและตัวแทนสหภาพฯ ในกัมพูชาแสดงความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว

Moeun Tola หัวหน้าโครงการแรงงานประจำศูนย์การศึกษากฏหมายชุมชน กล่าวว่าร่างกฏหมายฉบับล่าสุดนั้นแย่กว่าเดิมในแง่ของการการจำกัดสิทธิการจัดตั้งตนเองของกลุ่มแรงงาน

"ผมอยากย้ำว่าเสรีภาพของสหภาพแรงงานในตอนนี้กำลังอยู่ในอันตราย" Moeun กล่าว เขาบอกอีกว่ากฏหมายฉบับนี้จะทำให้สหภาพฯ มีความยากลำบากมากขึ้นในการจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน และหากมีการผ่านร่างกม.ฉบับนี้ พวกเขาจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของสหภาพฯ ได้อย่างอิสระ เพราะพวกเขาจะ "ถูกยุบเมื่อไหร่ก็ได้ตามคำสั่งศาลหรือกระทรวงแรงงาน"

เสียงวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายฉบับนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว (2553) โดยนักวิจารณ์แสดงความกังวลต่อบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแต่งตั้ง "ตัวแทนสูงสุด" ของสหภาพฯ ซึ่งจะมี "สิทธิพิเศษ" ในการต่อรองแทนคนงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์เรื่องข้อบังคับที่ระบุให้สหภาพฯ ต้องรายงานทางการเงินต่อรัฐบาลทุกปี บางส่วนก็แสดงความเป็นห่วงว่าร่างกฏหมายฉบับนี้ที่สั่งห้ามการประท้วงหยุดงาน "อย่างผิดกฏหมาย" อาจทำให้นักสหภาพฯ บางคนถูกฟ้องดำเนินคดี

Rong Chhun หัวหน้าสมาพันธ์สหภาพแรงงานกัมพูชาแสดงความไม่พอใจหลังจากการหารือเรื่องกฏหมายในวันนี้ (17 ม.ค.) โดยกล่าวว่า ข้อเสนอที่แกนนำสหภาพฯ ร่วมกันเสนอในปีที่แล้วไม่มีอยู่ในข้อกฏหมายล่าสุดนี้เลย

"ผมอ่านร่างกฏหมายฉบับนี้แล้วไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลยหลังจากที่เราเสนอให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงบางจุดไปแล้ว" Rong กล่าว "ผมคิดว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวจากสหภาพหรือจากคนงานเรียกร้องให้แก้ไขกฏหมายฉบับนี้แน่"

Rong เสริมว่ากฏหมายฉบับนี้จะไร้ประโยชน์ต่อแรงงานและตัวแทนของพวกเขาหากกระทรวงแรงงานไม่ยอมรับข้อเสนอของพวกเขา "ผมคิดว่าเสรีภาพของสหภาพฯ จะหมดลงเมื่อมีการผ่านร่างกฏหมายนี้ หากมันไม่ได้รับการปรับปรุงผ่านทางข้อเสนอของนักสหภาพฯ"

Ken Loo เลขาธิการสหพันธ์ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มกล่าวถึงการหารือในวันนี้ว่าพบเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มาตราอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับร่างฉบับที่ใช้หารือในปีที่แล้ว (2553) และคิดว่าร่างกฏหมายฉบับล่าสุดนี้ไม่เหมาะสม และเขาอยากเสนอให้ตัวกฏหมายมีการคุ้มครองทั้งแรงงานและนายจ้างให้ดีกว่านี้

ขณะเดียวกัน Huon Soeur รักษาการผู้อำนวยการกรมพิพาทแรงงาน กระทรวงแรงงานของกัมพูชา กล่าวว่าสัปดาห์นี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ตัวแทนจากสหภาพฯ หน่วยงานอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม จะร่วมหารือเรื่องกฏหมายกับภาครัฐ เขาบอกอีกว่าพวกเขาได้ยอมรับข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพฯ ที่เรียกร้องให้มีการหารือร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันเขาก็ปฏิเสธจะให้ความเห็นเรื่องว่าจะนำข้อเสนอของนักสหภาพฯ บรรจุเข้าไปในกฏหมายหรือไม่ รวมถึงไม่ทราบแน่ชัดว่าร่างกฏหมายฉบับนี้จะเสร็จสิ้นเมื่อใด

ทางด้าน John Ritchotte ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานสัมพันธ์จากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่ทาง ILO จะมีการเสนอความเห็นต่อกระทรวงแรงงานกัมพูชาอย่างเป็นทางการในกรณีนี้ภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

"ทางกระทรวง(แรงงานกัมพูชา) เองก็บอกกับทาง ILO แล้วว่าพวกเขาขอความเห็นอย่างเป็นทางการจาก ILO" John กล่าว "เป็นกระบวนการมาตรฐานของ ILO ในการเสนอความเห็นต่อร่างกฏหมายหากมีการร้องขอมาจากประเทศสมาชิกภาพของ ILO"

David Welsh ผู้อำนวยการศูนย์สมานฉันท์แรงงานนานาชาติของสหรัฐฯ ประจำประเทศกัมพูชา ให้ความเห็นว่าความเข้มงวดของกฏหมายสหภาพฯ จะเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงนัดหยุดงนในวงกว้างเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา (2553) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นไปตามที่สหภาพฯ เรียกร้อง

ที่มา
Critics take aim at union law, 17-01-2011,The Phnom Penh Post

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net