แรงงาน/เอ็นจีโอเผยประเด็นสุขภาพ “สหภาพแรงงาน” ต้องขับเคลื่อน แนะให้บรรจุในข้อเรียกร้อง

 
15 .. ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสรุปบทเรียนการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน จัดโดยโครงการวิจัย “บทบาทสหภาพแรงงานในการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัย” * มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง, อรุณี ศรีโต อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทยเกรียง, ทวีป กาญจนวงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสพรั่ง มีประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดยวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยในโครงการฯ  
 
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ก่อนหน้านี้เมื่อกล่าวถึงความสนใจต่อประเด็นสุขภาพความปลอดภัยของขบวนการแรงงาน พบว่าความสนใจและการเรียกร้องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ไม่ค่อยมีการเรียกปัญหาเชิงโครงสร้างมากเท่าไร
 
สืบเนื่องมาจากกรณีโรงงานเคเดอร์และกรณีโศกนาฏกรรมอื่นๆ ที่คนงานต้องบาดเจ็บ ล้มตาย ทุพพลภาพ ในปี 2537 ขบวนการแรงงานก็ได้เสนอกันให้ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงาน” ซึ่งโครงสร้างประกอบไปด้วย สหพันธ์แรงงาน, กลุ่มย่าน, กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และนักวิชาการ
 
โดยมีประเด็นข้อเรียกร้องคือ 1.มีการเรียกต่อ BOI ให้สนใจเรื่องสุขภาพคนงานด้วย ไม่ใช่ว่าให้ความสำคัญต่อผู้ลงทุนเพียงอย่างเดียว 2.เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน เน้นประสิทธิภาพเรื่องการตรวจสอบ โดยให้คนงานมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบในโรงงาน ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยในโรงงาน โดยลูกจ้างมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ให้แก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย 3.ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณะสุข ให้มีการตั้งคลินิกอาชีวะเวชศาสตร์ให้หมอที่เชี่ยวชาญโรคจากการทำงานมารักษา
 
ซึ่งถือว่าครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ขบวนการแรงงานเริ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบในเรื่องของสุขภาพความปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านั้นขบวนการแรงงานมักจะให้ความสนใจไปที่เรื่องค่าแรงและรายได้จากการทำงานเสียมากกว่า
 
อรุณี ศรีโต อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทยเกรียง ช่วงก่อนปี 2537 นั้นปัญหาของแรงงานมีหลายเรื่อง เช่นกรณีการเรียกร้องเรื่องลาคลอด 90 วันโดยกลุ่มแรงงานหญิงที่มีการเคลื่อนไหวหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยก่อนเหตุการณ์เคเดอร์นั้น คนงานยังไม่รู้เรื่องและละเลยเรื่องความปลอดภัย พอเกิดเหตุโศกนาฏกรรมนี้ คนงานจึงเพิ่งมาตื่นตัวเรื่องความปลอดภัย กระแสสังคมเองก็เริ่มมีการเห็นอกเห็นใจคนงานมากขึ้น โดยหลังจากการรณรงค์เคลื่อนไหวกรณีเคเดอร์จบแล้ว ขบวนการแรงงานก็เริ่มมีการขยับมาถึงเรื่องระยะยาว เริ่มหยิบประเด็นของผู้ป่วยจากการทำงาน เริ่มหยิบประเด็นเรื่องความปลอดภัยมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง
 
อรุณีเห็นว่า สิ่งที่ขบวนการแรงงานต่อสู้มาได้ คือการมีคณะกรรมการความปลอดภัยระดับโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ประสบการณ์ที่เจอคือ มีการตั้งคนงานเป็นคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายจริง แต่ปัญหาคือ เราไม่มีความรู้พอ เสียงดังไม่เกิน 90 เดซิเบลมันคือเท่าไร ไม่รู้ก็เจรจากับนายจ้างไม่ได้ ถ้าไม่อบรม ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็ไม่ได้อะไรเลย และแม้กระทั่งองค์กรที่ต้องชี้เป็นชี้ตาย เช่น ศาลแรงงาน เวลาสู้คดีเหมือนเอาคนมานั่งเถียงกัน ฝั่งแรงงานก็มีหมอซึ่งมีภาพลักษณ์ดีมีแค่ไม่กี่คน ดังนั้นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการร่วม หรือเป็นที่ปรึกษาคนงานด้วย
 
สพรั่ง มีประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย ในส่วนของสหพันธ์ฯ ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2529 - 2530 มีการอบรม จัดทำคู่มือ ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นส่วนใหญ่บริษัทจะเน้นเรื่อง “ความปลอดภัยในการทำงาน” เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือป้องกันต่างๆ แต่ยังไม่เน้นเรื่องสุขภาพของคนงาน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ความเจ็บป่วยต่อคนงานอาจไม่เกิดขึ้นได้ทันที แต่จะสะสมในระยะยาว
 
ทวีป กาญจนวงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กรณีสหภาพการท่าเรือ คนตื่นตัวมากกว่า เป็นมาก่อนเคเดอร์ สภาพการทำงานมันบังคับไปในตัว เพราะสินค้าอันตรายมาผ่านการท่าเรือทั้งนั้น (ในปี 2534 เคยเกิดไฟไหม้สารเคมีระเบิด) สหภาพแรงงานได้เสนอให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยแก่คนงาน เช่น การติดป้ายสัญลักษณ์สินค้าอันตรายให้ชัดเจน คนที่ต้องแบกสินค้าต่างๆ ต้องมีการให้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
 
จะเด็จกล่าวถึงคำถามที่ว่าสหภาพแรงงานเป็นปัจจัยของการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องสุขภาพความปลอดภัยที่กล่าวมาใช่หรือไม่นั้น พบว่าแท้จริงแล้วส่วนใหญ่มักจะเป็นแกนนำแรงงานระดับหัว ในระดับสหภาพในสถานประกอบการณ์นั้นยังคงให้ความสนใจและมุ่งประเด็นไปที่การเจรจาต่อรองเรื่องค่าแรงมากกว่า ด้านอรุณีเห็นว่าก่อนหน้ากรณีเคเดอร์ตนเองก็ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องความปลอดภัย ยังไม่รู้ว่าในโรงงานควรมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ต้องมีทางหนีไฟ ต้องมีไฟส่งสัญญาณ หรือไม่ แต่หลังเหตุการณ์นั้นพบได้ว่าสหภาพเริ่มไปพูดคุยเรื่องความปลอดภัยกับนายจ้าง เมื่อระยะเวลาการทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ สหภาพแรงงานก็เริ่มมีข้อเสนอ มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพความปลอดภัย แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องโบนัสค่าแรงต่างๆ
 
ที่ประชุมอภิปรายถึงสถานการณ์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่าโดยทั่วไป เรื่องสุขภาพความปลอดภัย ปัญหาไม่ได้น้อยลง แต่รูปแบบซับซ้อนขึ้น เช่น กรณีโรงงานทอผ้าห่ม คนงานเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องจักร บริษัทให้คนงานหยุดงานไปแต่ไม่ให้แจ้งว่าเป็นอุบัติเหตุ ให้แจ้งว่าได้รับอุบัติเหตุนอกโรงงานเพื่อให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม แทนที่จะใช้สิทธิกองทุนทดแทน ซึ่งการปกปิดข้อมูลโดยนายจ้างแบบนี้ทำให้สถิติเรื่องอุบัติเหตุความปลอดภัยในโรงงานคลาดเคลื่อน และเมื่อไปดูตามโรงพยาบาลต่างจะเห็นว่ามีคนป่วยเรื่องสารเคมี สุขภาพหนาแน่น จนบางโรงพยาบาลย่านโรงงานถอนตัวจากประกันสังคมเพราะคนงานมาใช้สิทธิเยอะจนเขาไม่มีกำไร และมันขาดหลักฐานทางการแพทย์ที่จะยืนยันด้วย
 
รวมทั้งเทคนิคที่นายจ้างพยายามลดต้นทุน ใช้เครื่องจักรเก่าๆ สภาพการทำงานยังเหมือนเดิม แพทย์ในหน่วยอาชีวะเวชศาสตร์ยังน้อยอยู่เช่นเดิม ส่วนใหญ่ที่ไปอยู่ตามหน่วยต่างๆ แค่ผ่านการอบรม ไม่ได้เรียนมาโดยตรง นอกจากนี้การลงโทษก็น้อย ไม่มีใครกลัว แม้มีโทษทั้งแพ่งและอาญาส่วนใหญ่ก็พิจารณาทางแพ่งอย่างเดียว “นายจ้างไม่มีทางเป็นอาชญากร”
 
ทั้งนี้มันอาจเป็นเรื่องนโยบายการลงทุนของประเทศด้วย BOI ไม่ตอบสนองข้อเสนอของแรงงานเลย เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ จึงยังเน้นเหมือนเดิมคือโรงงานไหนก็มาลงทุนได้ เอาเปรียบคนงานไม่เป็นไร กระทรวงแรงงานก็ไม่สนใจรายงานจำนวนคนป่วยและผลักภาระให้ประกันสังคม
 
ถึงแม้วาระแห่งชาติที่รัฐบาลประกาศ ถ้าจริง ก็ไม่ควรปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ให้ลูกจ้างควรเข้าถึงข้อมูลได้  และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ควรต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้เพียงพอ เพราะโรงงานปัจจุบันมีกว่า 4 แสนแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทั่วประเทศมีประมาณ 200 คน ไม่เพียงพอ ก่อนตรวจบางทีก็แจ้งนายจ้างทราบก่อน ทำให้ง่ายต่อการจัดฉาก
 
ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัยคนงานน้อยมาก ถึงแม้เราสร้างกลไกให้แรงงานมีส่วนร่วมได้ แต่ถ้าบุคลากรของแรงงานไม่มีความรู้ ไม่อิสระจากนายจ้าง มันก็ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกับนายจ้างได้ กลไกอย่างคณะกรรมการความปลอดภัย มันต้องมีมาตรการพิเศษที่จะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้าง อยากให้มองฝ่ายคนงาน มันต้องมีกระบวนการทำให้เขาให้ความสำคัญ
 
ทั้งนี้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยสามารถนำมาเป็นเครื่องมือจัดตั้งสหภาพให้เข้มแข็งได้ โดยวิธีการคือเราต้องจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้คนงานตระหนัก เข้าใจ ใครยังไม่เป็นสมาชิกสหภาพก็ชวนเข้าสหภาพโดยใช้ประเด็นสุขภาพความปลอดภัยนี้ เพราะนายจ้างจะไม่ค่อยขัดขวาง และควรมีการจัดการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
 
โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่าสหภาพแรงงานควรผลักดันเรื่องสุขภาพความปลอดภัยดังนี้
 
-     ต้องผลักดันให้มีการกำหนดในกฎหมายว่า การตรวจสอบด้านความปลอดภัยในโรงงานนั้น ต้องให้สหภาพแรงงานเป็นผู้ร่วมตรวจด้วย
-     สหภาพแรงงานต้องมีนโยบายเรื่องความปลอดภัยอยู่ในแผนงานของสหภาพ เก็บข้อมูลของโรงงานตนเอง เพื่อนำมาสู่การจัดทำข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้าง
-    สหภาพแรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการบริหาร เช่น ในสมาพันธ์รัฐวิสากิจสัมพันธ์เสนอให้สหภาพเป็นบอร์ดด้วย อย่างน้อยได้เข้าไปนั่งฟังและเสนอความเห็นได้
-    ถ้าบริษัทสนใจในเรื่องนี้ จะให้ทุกแผนกมาร่วมประชุมทุกเช้าตรวจเรื่องความปลอดภัยแล้วแก้ไข แต่ตามกฎหมายกำหนดว่าเดือนละ 1 ครั้ง
-    จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในโรงงาน เปิดเผยข้อมูลทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้คนคำนึงถึงเรื่องนี้ โดยนายจ้างกับลูกจ้างร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
-   สหภาพแรงงานควรอบรมเรื่องความปลอดภัยให้คนงานอย่างจริงจัง นอกเหนือจากเรื่องสิทธิแรงงาน
-  สหภาพแรงงานควรบรรจุเรื่องสุขภาพความปลอดภัยเข้าไปในข้อเรียกร้องประจำปี โดยให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการเรียกร้องโบนัส และค่าตอบแทนจากการทำงานต่างๆ
 
ทั้งนี้ ในการประชุมมีการหยิบยกประเด็นปัญหาผลกระทบในด้านสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน โดยสหภาพแรงงานควรเข้ามามีบทบาทเรียกร้องให้บริษัทเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในภาระค่าใช้จ่ายต่อคนงานที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีข้อเรียกร้องหนึ่งของสหภาพแรงงานคนทำยางที่ยื่นต่อบริษัทกู๊ดเยียร์จำกัด (มหาชน) ในปีที่แล้ว ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลคนงานที่เกษียณอายุแล้วต่อไปอีก 5 ปี เนื่องจาก พบว่าคนงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นผู้ที่ทำงานหนักอย่างยาวนาน และหลังเกษียณอายุจะเกิดความเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งบริษัทน่าจะช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ไม่เพียงปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
 
หมายเหตุ *โครงการวิจัย “บทบาทสหภาพแรงงานในการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัย” อยู่ภายใต้ “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท