Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะดูหนังฝรั่งฉากที่คนเป็นแม่กำลังว่ากล่าวตักเตือนลูกชายที่เกกมะเหรก เกเรว่า “อย่าไปมีปัญหากับกฎหมาย” ผมไพล่คิดไปว่าถ้าเป็นกรณีเมืองไทยพ่อแม่จะพูดว่าอย่างไร ผมจำไม่ได้ว่าในหนังหรือละครทีวีไทยเรื่องไหน แต่จำได้ว่าในท้องเรื่องพ่อแม่ซึ่งเป็นคนชนบทยากจนบอกลูกชายซึ่งก็ไม่ได้มี ทีท่าว่าจะออกนอกลู่นอกทางแต่อย่างใดว่า “อย่าไปมีเรื่องกับคนมีอำนาจ” เรื่องเล่าทั้งสองเรื่องชี้ให้เห็นความเข้าใจและความเป็นจริงของชีวิตที่แตก ต่างกันของคนในสองสังคมอย่างสำคัญ 

ตัวละครฝรั่งคิดว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในสังคมที่กฎหมายเป็นแหล่งของระเบียบและ อำนาจ การทำผิดกฎหมายจะนำความเดือดร้อนมาสู่ชีวิต จึงควรเลี่ยงเสีย แต่ตัวละครไทยคิดว่าพวกเขาอยู่ในสังคมที่กติกาถูกกำหนดโดยคนที่มีอำนาจ ฉะนั้น แทนที่จะมัวกังวลว่าจะทำผิดกฎหมายข้อไหน คนธรรมดาหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเขาจำต้องระมัดระวังว่าอย่าไปขวางทางผู้มี อำนาจคนใดเข้า หาไม่แล้วชีวิตจะลำบาก 

แต่การให้ภาพที่ต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นนี้ชวนให้ไขว้เขวและมองไม่เห็นความ สลับซับซ้อนที่แฝงอยู่ เพราะในสังคมฝรั่งมีหลายสถานการณ์ที่ระเบียบไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย เช่น ในย่านคนมีรายได้น้อยมักมี “ขาใหญ่” คุม ในเวลาเกิดความวุ่นวายในสนามกีฬา ตำรวจมักอาศัยความสามารถในการใช้ความรุนแรงในการควบคุมผู้คนแทนที่จะเป็นตัว บทกฎหมาย ฯลฯ ในทำนองเดียวกัน กฎระเบียบของคนที่มีอำนาจในสังคมไทยไม่ได้แยกขาดจากกฎหมาย เพราะนอกจากจะเอื้อให้ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นเจ้าพ่อ และผู้มีอิทธิพล กฎหมายไทยเป็นที่มาของการมีอำนาจนอกกฎหมายที่ถูกกฎหมาย

นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเสนอว่าการทำความเข้าใจ “อำนาจเหนือหัว” (sovereignty ซึ่งมักแปลกันว่าอำนาจอธิปไตย) มักมุ่งไปที่อำนาจในการบังคับใช้กฎระเบียบ แต่ไม่สู้ให้ความสำคัญกับอำนาจในการงดใช้กฎระเบียบ ทั้งๆ ที่ความสามารถในการงดใช้กฎระเบียบคือหัวใจของอำนาจเหนือหัว เพราะคุณสมบัติสำคัญของ “เจ้าเหนือหัว” (sovereign) คือการมีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการยกเว้นการประยุกต์หรือบังคับใช้กฎหมาย นักคิดคนดังกล่าวเสนอว่าเพราะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยกเว้นการบังคับใช้ กฎหมาย เจ้าเหนือหัวจึงวางตัวเองอยู่นอกกฎหมายอย่างถูกกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งคืออยู่นอกและในกฎหมายในเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์กับกฎหมายอย่างขัดกันจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของเจ้าเหนือหัว

คุณูปการสำคัญประการหนึ่งของการพิจารณาอำนาจในลักษณะเช่นนี้คือการชี้ให้ เห็นว่าอำนาจที่เชื่อว่าเป็นของคู่ยุคโบราณไม่ได้เลือนหายไปไหน แต่ยังคงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาในยุคปัจจุบันควบคู่ไปกับอำนาจสมัยใหม่ จำพวกระเบียบวินัยและข้อควรปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานที่จำพวกค่ายผู้อพยพ สถานกักกัน หรือแม้กระทั่งบางส่วนของสนามบิน เพราะถึงแม้ว่าสถานที่เหล่านี้จะดูมีความจำเพาะหรือเป็นข้อยกเว้น แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปฏิบัติการอำนาจประเภทนี้ที่มีให้เห็นโดยทั่วไป

สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับอำนาจประเภทนี้ แต่ก็มีลักษณะจำเพาะที่จำเป็นต้องพิจารณาปัญหาแตกต่างออกไป เพราะความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของระเบียบความ สัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองไทย แทนที่จะจำกัดอยู่ในบางสถานที่หรือบางสถานการณ์เช่นในสังคมฝรั่ง กล่าวในระดับการเมืองการปกครอง “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ” (ซึ่งใกล้เคียงกับ Constitutional Monarchy แต่ก็ไม่ใช่) มีคุณลักษณะสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาทิ จากเดิมที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประหารชีวิต ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเพียงพระองค์เดียวที่สามารถพระราชทานอภัยโทษ ประหารชีวิต หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงสามารถยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ได้ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็บัญญัติให้พระองค์ทรงอยู่พ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย ทุกข้อ หรืออีกนัยหนึ่งคือทรงอยู่นอกและในกฎหมายในเวลาเดียวกัน

การจัดความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทั่วไปก็มีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้น เป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น กฎระเบียบจำนวนมากสงวนไว้สำหรับเด็ก แต่ไม่บังคับใช้สำหรับผู้ใหญ่ เด็กจะไม่สามารถไว้ผมหรือแต่งกายตามที่ต้องการได้ตราบเท่าที่ยังไม่โตเป็น ผู้ใหญ่ หรือไม่ก็ต้องอาศัยอำนาจของผู้ใหญ่ในการได้รับข้อยกเว้น หรือไม่อีกกรณีก็คือต้องฝ่าฝืนกฎระเบียบด้วยตนเอง ซึ่งหากประสบความสำเร็จ เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็น “หัวโจก” หรือเป็นผู้นำของกลุ่มเพราะความที่สามารถยกเว้นการบังคับใช้กฎระเบียบกับตน เองได้ ในทำนองเดียวกัน กฎศีลธรรมจำนวนมากใช้บังคับเฉพาะผู้หญิง ไม่หมายรวมผู้ชาย ผู้หญิงไม่ควรกินเหล้าสูบบุหรี่ ไม่ควรเที่ยวกลางคืน ไม่ควรพูดจาเอะอะมะเทิ่ง ฯลฯ การสวมบทบาท “ชายไทย” จึงกลายเป็นช่องทางของผู้หญิงไทยจำนวนหนึ่งในการที่จะได้รับข้อยกเว้นจากกฎ ศีลธรรมเหล่านี้ และ “ก๊วน” ของผู้หญิงไทยโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากก็ก่อตัวขึ้นภายใต้ เงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการจัดความสัมพันธ์ภายในระบบราชการหรือแม้แต่สถาน ที่ทำงานทั่วไปที่ต่างมีความสามารถในการประกาศสภาวะยกเว้นเป็นองค์ประกอบ สำคัญทั้งสิ้น

แต่ระเบียบทางสังคมเช่นนี้มีปัญหา เพราะข้อยกเว้นหมายถึงความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม ทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนถูกคิดขึ้นบนฐานของการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ สถาบันและอำนาจที่อยู่เบื้องหลังมากกว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเงื่อนไขที่ เอื้อต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ของเด็กนักเรียน คติกุลสตรีไทยก็ไม่ได้คิดบนฐานของสุขภาพหรือสวัสดิภาพของผู้หญิงเท่าๆ กับการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอกันระหว่างเพศ การสวมบทบาทของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “ผู้ใหญ่” หรือ “ชายไทย” โดยเด็กและผู้หญิงเพื่อจะได้รับสิทธิยกเว้นเช่นเดียวกันจึงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่จะทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวัยและเพศขาดสมมาตรยิ่งขึ้น 

ในทำนองเดียวกัน ระเบียบทางการเมืองที่วางอยู่บนสภาวะยกเว้นก็ไม่ใช่คำตอบของคนส่วนใหญ่ และขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยและนิติรัฐที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคของ ประชาชนภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไทยพึงกระทำจึงไม่ใช่ การโหน “รถด่วนขบวน 112” หรือสวมบทบาทของอีกฝ่ายภายใต้ข้ออ้างเพื่อความเท่าเทียมในการดำเนินคดีกับพลเอกเปรมและพวก เพราะจะยิ่งตอกย้ำสภาวะยกเว้นให้หนาแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ควรเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงการเอาผิด ในลักษณะดังกล่าวเสีย หากต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

  

(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 20 วันที่ 14-19 มกราคม 2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net