เสียงคนอีสาน: คนอุบลค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


21 ม.ค.54 เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มประชาชน นักศึกษา คณาจารย์จาก ม.อุบลราชธานี และ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ในนามเครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ ได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (หลังเก่า) ถ.อุปราช ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี กว่า 500 คน เดินขบวนถือป้ายคัดค้าน และ ป้ายประชาสัมพันธ์ผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แห่ไปตามถนนสายหลักในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ก่อนไปสิ้นสุดที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (ชั่วคราว) ถ.แจ้งสนิท ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1 เรื่องขอคัดค้านแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
 

การชุมนุมครั้งนี้ มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองอุบลราชธานี นำแผงรั้วเหล็กกั้นมาตั้งไว้โดยรอบ พื้นที่หน้าอาคารศาลากลางเพื่อป้องกันไม่ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในอาคารศาลากลาง ทั้งนี้ก่อนที่กลุ่มเครื่อข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จะเดินทางมาชุมนุมที่หน้าศาลากลาง ก็ได้มีกลุ่มสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล มาปักหลักชุมนุมเรียกร้องเปิดเขื่อนถาวร กินนอนอาศัยอยู่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง กว่า 700 คน มาตั้งแต่วันที่ 12 มค.รวมทั้งยังเข้ามาร่วมชุมนุมคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย

น.ส.สดใส สร่าสงโศรก อายุ 44 ปี หนึ่งในแกนนำเครือข่ายคนไทยไม่เอาไฟฟ้านิวเคลียร์ เผยว่า ตามที่รัฐบาลอนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง และ กฟผ. ได้ศึกษาเรื่องสถานที่ตั้งที่เหมาะสมไว้ 5 แห่ง โดย 1 นั้นคือที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี จึงทำให้พวกเราภายใต้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ออกมาต่อต้านการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ เพื่อเป็นรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรอบด้าน เพราะที่ผ่านมาภาคราชการ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลด้านดีแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว แต่ไม่พูดถึงผลกระทบที่ตามมาภายหลัง

 

แกนนำเครือข่ายคนไทยไม่เอาไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวต่อว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าถึง 2 แห่ง ทั้งเขื่อนปากมูล และเขื่อนสิรินธร โดยทั้ง 2 เขื่อนนี้ก็ได้สร้างผลกระทบแก่ชาวบ้าน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ปัญหาเดิมยังคงอยู่ กลับมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาซ้ำเติม อีกนอกจากนี้ทางเครือข่ายฯเห็นว่า เหตุใดประเทศไทยยังคงต้องสำรองไฟฟ้า หรือ วางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่อีก ทั้งๆ ที่พลังงานยังมีอยู่อย่างล้นเกิน และยังมีแผนจัดซื้อกระแสไฟจากประเทศเพื่อนบ้านอีกเป็นอันมาก

“หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี แล้วเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ดั่งตัวอย่างจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เมื่อ 24 ปีก่อน ทำให้สารกัมมันตรังสีทำลายสิ่งแวดล้อม มากกว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่ากันถึง 200 เท่า และส่งผลกระทบทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือบางส่วน รัฐบาลจะรับมือได้หรือ” น.ส.สดใส กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า พ.อ.ปรีดา บุตรราช รอง ผอ.รมน.(ฝ่ายทหาร) จ.อุบลราชธานี ได้เป็นตัวแทน นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งติดราชการ มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้นำสัญลักษณ์ถังปรมาณูนิวเคลียร์ ไปจุดไปเผาทำลายที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการไม่เอา โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แม้ พ.อ.ปรีดา จะได้ห้ามปราม และเจรจาขอร้อง กลุ่มผู้ชุมนุมแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล จนเวลาประมาณ 12.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกันกลับไป

 
000000

 
จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 1
เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี

เรื่อง ขอคัดค้านแผนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

ตามที่รัฐบาล (นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อนุมัติแผนพีดีพี 2010 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2554-2573 นั้น มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 โรง และโรงไฟฟ้าก๊าซ 20 โรง


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ว่าจ้างบริษัท เบิร์น แอนด์ โลวส์ เป็นที่ปรึกษาเตรียมข้อมูลความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม 5 พื้นที่ ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด สุราษฎร์ธานี ชุมพร ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีถูกเลือกเป็นอันดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากด้าน วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และการประเมินต้นทุนก่อสร้างของโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินการด้านข้อมูลเสร็จแล้ว และได้จัดส่งให้ สพน. แล้ว ดังนั้น ต่อจากนี้ กฟผ. จะจัดเตรียมร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่าจ้างที่ปรึกษากำหนดคุณสมบัติ (สเปค) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หาก ครม. อนุมัติให้ก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาในการประกวดราคาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และใช้เวลาก่อสร้างอีก 6 ปี และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี2563

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนที่เก่าแก่ ได้รับการสถาปนาเป็น “เมือง” แห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อกว่า 200 ปี มีพื้นที่ 18,906.1 ตารางกิโลเมตร มีประชากรจำนวน1,803,754 คน ด้วยมีที่ตั้งอันเหมาะสม และมีประวัติความเป็นมายาวนาน ทำให้เมืองอุบลราชธานี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร มั่งคั่งด้วยมรดกทางอารยธรรมและมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างลึกซึ่ง มีความสงบสุขและเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ อุบลราชธานียังมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้า 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งได้สร้างผลกระทบแก่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพมากพออยู่แล้ว และรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ปัญหาเดิมยังดำรงอยู่และยังเพิ่มทวีความรุนแรงจากการหมักหมมของปัญหา กลับจะมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์และทำให้ปัญหาซับซ้อนและแตกมิติให้ยากต่อการแก้ไขปัญหาขึ้นไปอีก หายนะเดิมอันเกิดจากจากความผิดพลาดของการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งชาวอุบลราชธานีได้ต่อสู้คัดค้าน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติไปแล้ว และปัญหาก็ยังคาราคาซังอยู่จนปัจจุบัน การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะมีอันตรายมากกว่าปัญหาเดิมหลายต่อหลายเท่า ชาวอุบลราชธานีจึงไม่อาจยอมเสี่ยงอีกต่อไป

และขณะที่ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ดำเนินการอย่างผิดพลาดและก่อให้เกิดขบวนการต่อสู้ของประชาชน ซึ่งบาดแผลและความเจ็บปวดของชาวอุบลราชธานียังไม่ได้รับการเยียวยา การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในครั้งนี้ ยังใช้กระบวนการที่ซ้ำรอยเดิมของการสร้างเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็นกระบวนที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว และประชาชนเจ้าของพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

อนึ่ง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี) อันเป็นแผนแม่บทในการลงทุนจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนการวางแผน คือ คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตระยะ 15 ปี และการกำหนดว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าประเภทใด เมื่อใด และกำลังผลิตเท่าใด ซึ่งค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอันเกิดจากการวางแผนพีดีพีนั้น ได้ก่อปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากค่าพยากรณ์ “สูงเกินจริง” ดังจะเห็นได้จากกำลังผลิตและการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี (2541-2553) ปี 2553 มีโรงไฟฟ้าที่เกินความจำเป็นถึง 3,738 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลถึง 28 โรง หรือต้องสร้างเขื่อนปากมูลอีก 28 เขื่อน

คำถามมีว่า แล้วเหตุใดประเทศไทยยังต้องสำรองไฟฟ้า หรือวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่อีก ทั้งๆ ที่พลังงานยังมีอยู่อย่างล้นเกิน และยังมีแผนจัดซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกเป็นอันมากและผูกพันในอนาคตอีกหลายปี ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งปัญหาอันเกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ทั่วโลก

ทางเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี มีความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นกรณีตัวอย่าง การระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nuclear Power Plant) ที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน ที่ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ระเบิด สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดแพร่กระจายสู่บรรยากาศในรัศมี 30 กิโลเมตร มีการเปรอะเปื้อนรังสีสูง จนต้องประกาศเป็นเขตอันตราย (Zone of Alienation) สารกัมมันตภาพรังสีลอยออกไปปนเปื้อนทั้งในอากาศ แม่น้ำ ผืนดิน ทั่วทวีปยุโรปกว่า 3.9 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องอพยพประชาชนประมาณ 336,000 คน ซึ่งในปี 2545 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สรุปผลความเสียหายว่า มีผู้เสียชีวิตจากแรงระเบิดโดยตรง 47 ราย และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 9,000 คน จากจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดประมาณ 6.6 ล้านคน ซึ่ง 4,000 คนมีสาเหตุจากโรคมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ ที่เหลือจากโรคมะเร็งชนิดอื่น และโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอีกจำนวนมาก นับว่าเป็นหายนะภัยจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในโลก นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หายนะภัยเชอร์โนบิลทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 200 เท่า ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการระเบิดและผลกระทบที่ตามมาของโรงไฟฟ้าที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับประเทศไทย แม้เพียงการปนเปื้อนอันเกิดจากกัมมันตภาพรังสีจากคนเก็บของเก่าขายที่คลองเตยยังทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย สร้างความสะพรึงกลัวแก่ประชาชน โดยที่ทางการไม่มีขีดความสามารถในการระงับยังยั้งภัยได้ทันท่วงที นั่นเป็นแต่เพียงชิ้นส่วนเพียงชิ้นเดียวจากขยะ ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีเกิดระเบิด และจะแผ่รัศมีทำลายล้างกว่า 490 กิโลเมตร อันจะทำให้จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีเนื้อที่เพียง 18,906.1 ตารางกิโลเมตร จะต้องหายไปจากแผนที่ประเทศไทย ทั้งนี้รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น ศรีสะเกษและอำนาจเจริญด้วย หน่วยงานรัฐและรัฐบาลไทยจะรับมือได้หรือ

อันที่จริง การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มีเพียงบริษัทข้ามชาติเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ชาวไทย ชาวจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียงต้องสูญเสียชีวิต สูญสิ้นวิถีชีวิตที่ดำรงมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อกรณีปัญหาดังกล่าว รัฐควรมีหน้าที่เพียงการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนการตัดสินใจในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ควรอยู่ที่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาและยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐ โดยกระทรวงพลังงาน ได้โหมโฆษณาทางสื่อทุกแขนง โดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว อันจะทำให้ประชาชนทั่วไปซึมซาบแต่เพียงด้านดีของพลังงานนิวเคลียร์ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการกันและตีตราประชาชนในพื้นที่ที่ทำการต่อสู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญ เป็นการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนในชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง และที่สำคัญ เป็นการผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุ แนวทางที่ถูก รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาดีกว่าสร้างปมปัญหาจากการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่ออย่างที่กระทำอยู่

จากประสบการณ์ของชาวอุบลราชธานีที่มีต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนในการดำเนินการด้านพลังงาน กรณีเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร พวกเราจึงไม่เชื่อมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีได้

ดังนั้น เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนพี่น้องชาวอุบลราชธานี จึงขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ ท่าน ได้โปรดพิจารณายกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ขอให้ยุติการให้ข้อมูลด้านเดียวของหน่วยงานรัฐ และขอให้คนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ตัดสินใจ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยด่วน จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี
นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา
คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ(คป.สม.)
เครือข่ายคนฮักน้ำของ
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนสิรินธร
กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไซย อ.สว่างวีระวงศ์ อุบลราชธานี
พ่อค้าประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี

ณ ศาลากลาง(ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 21 มกราคม 2554

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท