Skip to main content
sharethis

ทนายความผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2527 และอดีตนักโทษการเมือง "คุกลาดยาว" เสียชีวิตแล้วด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ในวัย 84 ปี โดยวันนี้เวลา 16.00 น. จะมีพิธีรดน้ำที่ศพวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2527 (ที่มาของภาพ: http://learners.in.th/)

ทองใบ ทองเปาด์ สมัยเป็นนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภาพนี้ยังเป็นภาพประกอบปกหลังของหนังสือ "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" ซึ่งเขาเป็นผู้เขียน หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์เมื่อปี 2517

ภาพนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในภาพแถวกลาง คนที่สองจากซ้ายคือทองใบ ทองเปาด์ ส่วนคนที่สามจากซ้ายซึ่งนั่งติดกับทองใบ คือ จิตร ภูมิศักดิ์ (ภาพได้รับการเอื้อเฟื้อจาก http://bit.ly/jit_phumisak)

 

เมื่อเวลา 6.45 น. วันนี้ (24 ม.ค.) นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความซึ่งเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ และอดีตนักหนังสือพิมพ์ เสียชีวิตแล้ว ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว รวมอายุ 84 ปี โดยวันนี้จะมีพิธีรดน้ำศพเวลา 16.00 น.ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน

นายทองใบ ทองเปาด์ เกิดวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2469 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คนของ นายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นประถม 4 โรงเรียนเทศบาลเมือง จบชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนราษฎร์ ประสาทศิลป์ จังหวัดมหาสารคาม และมาเรียนต่อจนจบชั้นเตรียมอุดม ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาเข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากฐานะครอบครัวที่ลำบาก ทำให้ระหว่างศึกษาในกรุงเทพ นายทองใบอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงครามมาตลอด

ต่อมา หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง"เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ

สมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 นายทองใบได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปประเทศจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาในเดือนธันวาคม คณะที่เดินทางไปประเทศจีนรวมทั้งเขาจึงถูกจับขังในคุกลาดยาวหลายปีโดยไม่มีการตั้งข้อหา

ทองใบได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ. 2509 และออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

จากการที่ทองใบถูกจับกุมในคุกลาดยาว ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองหลายร้อยคน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในช่วงการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เขาตีพิมพ์ผลงาน "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" บันทึกเรื่องราวของบุคคลในวงการต่างๆ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำลาดยาว ตั้งแต่ชีวิตของชาวนา นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงนักการเมือง เช่น ปาน โนนใหญ่, ธรรมชาลี จันทราช, สุวัฒน์ วรดิลก, เทพ โชตินุชิต, พล.ต.ทหาร ขำหิรัญ, อิศรา อมันตกุล, ทวีป วรดิลก, อุทธรณ์ พลกุล, สังข์ พัธโนทัย, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

ทองใบ ทองเปาด์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - 2529 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่ทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน สามีของนางคอราซอน อากีโน เมื่อ พ.ศ. 2526

 


ข้อมูลประกอบ - ทองใบ ทองเปาด์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net