Skip to main content
sharethis

'หมอประเวศ' เสนอในเวทีสัมมนา เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 “ไทย-ทัน-สื่อ” ยก 5 แนวทางพัฒนาสื่อไทยให้สร้างสรรค์ อัด มหาวิทยาลัย มีศักยภาพพัฒนาประเทศได้สูง แต่กลับเมินดูแลสังคม

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ - เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 นายโคทม อารียา ประธานคณะกรรมการบริหารแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวเปิดการสัมมนา เท่าทันสื่อ ครั้งที่ 1 “ไทย-ทัน-สื่อ” ว่า ปัจจุบัน สื่อมีอิทธิพลต่อความคิด และการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถแยกแยะสารที่เป็นข้อเท็จจริง หรือ เรื่องที่สื่อปรุงแต่งออกจากกันได้ จนเกิดคล้อยตามสื่อโดยไม่รู้ตัว และกลับต้องตกเป็นเหยื่อของสื่อ ดังนั้นการจัดเวทีภาคประชาคม จึงเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ ที่จะทำให้คนไทย มีภูมิคุ้มกันและกระบวนการเรียนรู้ให้เท่าทันสื่อด้วยการใช้สติปัญญาในการแยกแยะ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับให้ได้ รวมทั้งจะนำผลการอภิปรายและข้อเสนอแนะแปลงเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสื่อที่ดีในสังคมต่อไป

ด้าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เท่าทันสื่อสู่การปฏิรูปประเทศไทยว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติการณ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนไม่มีทางออก แต่ส่วนตัวคิดว่าทางออกของวิกฤติการณ์ดังกล่าว คือ การใช้สติปัญญา และไม่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในระบบบริโภคนิยม เพราะฉะนั้น สื่อก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาการบริโภคนิยมเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นจะต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้ประเทศไทยมีสื่อที่สร้างสรรค์ให้มากยิ่งขึ้นตามมาด้วย โดยขั้นตอนและกระบวนการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เพียงแต่การเสนอคณะรัฐมนตรีให้เป็นนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาให้สู่การลงมือปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงด้วย

ราษฎรอาวุโส กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น อยากเสนอว่า ควรดำเนินการใน ประเด็นต่อไปนี้ 1. มหาวิทยาลัย ควรดึงนิสิต นักศึกษา จากคณะนิเทศศาสตร์ ทั่วประเทศ ให้ร่วมกันดำเนินการติดตามและประเมินสื่อ เพื่อให้เด็กนักศึกษาได้สามารถเรียนรู้จากการลงมือทำอย่างแท้จริง 2. สถาบันการศึกษา ทั้ง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ควรมีการจัดทำหลักสูตรวิชาการ วิเคราะห์ข่าวสารในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้บริโภคสื่อมีวิจารณญาณ ในการวิเคราะห์ ว่าข่าวสารที่ได้รับในแต่ละวัน มีสารประโยชน์อะไรบ้าง โดยจะสะท้อนการสื่อสารให้มีคุณภาพที่ดี

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า 3.ควรมีการผลิตสื่อที่ดี มีประโยชน์ ให้เผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ได้ 4. ควรจัดตั้งสถาบันส่งเสริมและพัฒนารองรับการผลิตนักข่าว นักสื่อสารมวลชน ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้มีมุมมองในการช่วยนำพาบ้านเมืองให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และ 5.ทางสถานีโทรทัศน์ ก็ควรมีการร่วมมือกันในการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผมคิดว่าขณะนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีมุมมองการดำเนินงานที่ผิดแบบ โดยเฉพาะ การใช้วิชาเป็นตัวตั้ง จนมองไม่เห็นสังคม ที่จริงมหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะสามารถสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นได้อีกมาก แต่กลับไม่สนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลแล้เป็นห่วงต่ออนาคตเด็กไทย ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ก็คิดว่าจะสามารถบริหารจัดการ และบูรณาการส่งเสริมการศึกษาให้คนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น” ราษฎรอาวุโส กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net