เวทีสันติภาพโลกที่ปัตตานี : มุสลิมเอเชียดันเจรจาแก้ความขัดแย้ง

 

ระหว่างวันที่ 26- 28 มกราคม 2554 เครือข่ายมุสลิมเอเชีย หรืออามาน (AMAN) ร่วมกับมูลนิธิทรัพยากรเอเชีย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการสมัชชา AMAN ครั้งที่ 4 และการประชุมนานาชาติ เรื่อง “พหุวัฒนธรรมและสันติภาพโลก” ขึ้นที่ห้องประชุมวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ประกอบด้วย  นักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ในการประชุมได้มีการอภิปรายประเด็นเรื่องการสร้างสันติภาพและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะในลายประเทศของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงมีการนำเสนอข้อมูลและสถานการณ์ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ อันเนื่องมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ความขัดแย้งในโลก

นายเอกราช ซาบูร์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายมุสลิมเอเชีย หรือ AMAN เปิดเผยว่า การจัดประชุมครั้งนี้มีขึ้นในวาระโอกาสครบรอบ 20 ปี ของ AMAN เหตุที่เลือกปัตตานีเป็นสถานที่ประชุม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เผชิญกับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการถดถอยในการพัฒนา
นายเอกราช เปิดเผยต่ออีกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสมัชชาอามาน ซึ่งจัดทุก 4 ปี เป็นการนำสมาชิก องค์กรและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันที่มีอยู่ทั่วโลก มาประชุมร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของในแต่ละพื้นที่ เพื่อมาดูทิศทางว่าอามานควรจะทำงานไปในทิศทางไหน และสร้างความตระหนักและจิตสำนึกในพื้นที่ความขัดแย้งในเรื่องการสร้างสันติภาพ

นายเอกราช เปิดเผยต่อไปว่า การจัดประชุมสมัชชาอามานจะจัดในพื้นที่ขัดแย้ง โดยปีที่แล้วจัดที่อินโดนีเซีย เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยนำผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาความขัดแย้งมาสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นระหว่างคนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยกันทั่วโลก เป็นการเรียนรู้การแก้ปัญหาได้ โดยต้องผ่านการเจรจา

“เราต้องการให้เกิดการเรียนรู้ในภาคประชาสังคม และผลักดันเป็นนโยบายออกมาในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยนำคนในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกมาร่วมประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการอยู่กับความขัดแย้ง ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นประโยชน์ในการสร้างสันติภาพ และเป็นการเสริมสร้างกำลังใจและความเป็นหนึ่งเดียว” นายเอกราช กล่าว

นายเอกราช กล่าวว่า นอกจากการการเรียนรู้ว่า กระบวนการสร้างสันติภาพมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรแล้ว ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้คนต่างชาติได้มาเรียนรู้ในพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรงของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาต่างชาติจะรู้จากเอกสารและข่าว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตอนนี้มีองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เยอะ เพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ได้รับข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากคนในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ปัญหาสันติภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพได้” นายเอกราช กล่าว

นายเอกราช เปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา AMAN มีบทบาทจนสามารรถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ ในอินโดนีเซียและในติมอร์ตะวันออก เนื่องจากโดยตัวของเลขาธิการ AMAN มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำติมอร์ตะวันออกคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาก่อน ขณะเดียวกันผู้ก่อตั้ง AMAN คือ นายอับดุลเราะมาน วาฮีด ก็เป็นอดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย

“ในช่วงที่อินโดนีเซียกำลังมีปัญหาอยู่กับติมอร์ตะวันออก AMAN ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการเจรจาของทั้งสองประเทศ โดยใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่เจรจาบ้าง” นายเอกราชกล่าว

นายเอกราช กล่าวว่า AMAN มีความเชื่อในกระบวนการสร้างสันติภาพ คือการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เน้นที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เพราะกระบวนการเป็นตัวที่จะทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคประชาสังคมจะมีความสำคัญมาก เพราะถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มีความต้องการหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน กระบวนการหรือยุทธศาสตร์ในการสร้างสันติภาพก็จะชัดเจนด้วย

“ในบางประเทศมีกระบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอธิปไตย แต่เมื่อได้รับอธิปไตยมาแล้ว กระบวนก็หยุดชะงัก ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ มีปัญหามากมาย เพราะไม่รู้ว่าข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคืออะไร เนื่องจากพื้นฐานของหลายคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เรียกร้องดังกล่าว เข้ามาเพราะความโกรธแค้น โดยไม่มีความชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์ความคิด เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์จึงสำคัญในการที่จะทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ซึ่งจะนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงาน”

นายเอกราช กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ภาคประชาชนจำเป็นต้องยกระดับการมีส่วนร่วมขึ้นมา โดยต้องมานั่งคิดกันให้มาก รู้จักวิเคราะห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำ ตัวอย่างในบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่กลุ่ม MNLF ที่ได้รวมกลุ่มและเรียกร้องให้มีการเจรจากับรัฐบาล โดยมีหลายประเทศให้ความช่วยเหลือ จนสุดท้ายก็ได้เขตปกครองพิเศษขึ้นมาในทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้กลุ่ม MORO ได้มีอำนาจขึ้นมาบริหารเขตปกครองพิเศษ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่โดยคนในพื้นที่เอง ซึ่งเจ็บปวดมากกว่า จึงทำให้เกิดกลุ่มที่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มคนชาติพันธ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นบทเรียนเหล่านี้ จะทำอย่างไรที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย” นายเอกราช กล่าว

“อีกอย่างที่เราเชื่อ คือ การเจรจาสันติภาพไม่ใช่สันติภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งต้องดูผลของการเจรจาว่า นำไปสู่การปฏิบัติด้วยหรือเปล่า การเจรจาที่ได้ผลคือการเจรจาที่สร้างกลไกที่ทำให้ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมสามารถพูดและนำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนได้ ไม่ใช่ประโยชน์ของกลุ่มการเมืองหรือผู้นำ” นายเอกราช กล่าว

“ส่วนการเจรจาที่ล้มเหลมก็คือการเจรจาที่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานผลประโยชน์ของผู้นำหรือกลุ่มการเมือง เพราะฉะนั้นการเจรจา ต้องตอบโจทย์ของประชาชนให้ได้” นายเอกราช กล่าว

นายเอกราช กล่าวด้วยว่า การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในพื้นที่ความขัดแย้งของ AMAN ต้องเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนหรือภาคประชาสังคมเป็นตัวคุมเกมให้ได้ในระหว่างประเทศ ในประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

“ในกระบวนการในการต่อสู้ ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองประชาชนต้องมีกลุ่มการเมืองเดียวในการเลือกตั้ง แต่ในประเทศไทยมีหลายพรรค มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปอยู่ในหลายกลุ่มการเมืองในระบบเลือกตั้ง ทำให้ตัวแทนของเขาไม่มีพลังพอ และไม่มีความเป็นเอกภาพพอ ส่วนกลุ่มการเมืองเองก็ไม่ได้จับกลุ่มกับประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นการสร้างกระบวนการนี้ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนและต้องยกระดับขึ้นมา“

นายเอกราช เปิดเผยด้วยว่า หลังการประชุมสมัชชา AMAN จะทำเป็นแผนยุทธศาสตร์และกำหนดอนาคตการทำงานของ AMAN ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อ แม้องค์กรแต่ละกลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ไม่ใช่เรื่องลำบากในการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน เนื่องจาก AMAN ทำงานหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ความยากจน ผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันหมด เพราะฉะนั้น AMAN จึงต้องทำงานในเชิงองค์รวม

สำหรับหัวข้อที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ เช่น พหุวัฒนธรรมและสันติภาพ : ความท้าทายในการส่งเสริมสานเสวนาภายในและระหว่างศาสนา และ ความร่วมมือเพื่อสันติภาพโลก ทำความเข้าใจชายแดนใต้ : วิสัยทัศน์ของประชาชนและวาระแห่งสันติภาพ ประเด็นสันติภาพในเอเชียตะวันออกโดยความเชื่อมโยงพิเศษต่อมาตราก้าวของรัฐธรรมแห่งญี่ปุ่น
ประเด็นสันติภาพและการพัฒนาในเอเชียใต้โดยความเชื่อมโยงพิเศษต่ออัฟกานิสถานและปากีสถาน ประเด็นสันติภาพและการพัฒนาในโลกอาหรับโดยความเชื่อมโยงพิเศษต่อปาเลสไตน์และการเปลี่ยนเป้าจากอิรักสู่อิหร่าน

สตรีในพื้นที่ความขัดแย้ง:ภาวะผู้นำของผู้หญิงในการเยียวยาและสร้างสันติภาพ แนวคิดด้าน “มหาอำนาจประชาสังคม” : วิสัยทัศน์เยาวชนเพื่อขบวนการเยาวชนเพื่อสันติภาพระดับโลก คุณค่าทางศาสนาและจริยธรรมในการตอบสนองต่อความท้าทายของภาวะโลกร้อน เป็นต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท