วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 1: แฉรัฐบาลพม่าเมินดูแลสาธารณสุข ทำสถิติโรคภัยพุ่ง

บุคลากรการแพทย์พม่าเผยผลวิจัยภาวะสุขภาพด้านชายแดนพม่าเข้าขั้นวิกฤต เผยสงครามทำสถิติประชากรพม่าด้านตะวันออกมีอายุสั้นเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศ ขณะที่แพทย์ชายแดนระบุโรคบางอย่างที่ไม่เคยพบในไทยมาหลายสิบปีเริ่มกลับมาระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: วิกฤตด้านสุขภาพในพม่า ตอนที่ 2: เมื่อชุมชนในพื้นที่สงครามต้องดูแลสุขภาพเอง, ประชาไท, 30 ม.ค. 54 http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32859

การสัมมนา "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสัมมนาหัวข้อ "ภัยพิบัติจากมือมนุษย์: นัยยะของวิกฤตด้านสุขภาพในพม่าต่อประเทศไทย" โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) เป็นผู้กล่าวเปิดและแนะนำวิทยากรบรรยาย ดร.ชยันต์ กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ชายแดนพม่าประสบกับหายนะที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่พยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว


แพทย์ระบุรัฐบาลพม่าเมินดูแลสาธารณสุข ทำสถิติโรคภัยพุ่ง

โดย นพ.วิทย์ สุวรรณวนิชกิจ จากศูนย์เพื่อสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชน วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิน (Center for Public Health & Human Right, John Hopkins Bloomberg School of Public Health) วิทยากรบรรยาย เริ่มกล่าวถึงโรคบางชนิด เช่น โรคเท้าช้าง (Filariasis) ซึ่งเกิดจากพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย ซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรค ทำให้อวัยวะเช่น ขา แขน บวมโตผิดปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเตือนว่าประเทศไทยจะมีโรคนี้เข้ามา โดยย้อนกลับไปในปี 2004 ในประเทศไทยมีการพบแรงงานจากพม่า 2 รายเป็นโรคเท้าช้าง ซึ่งเมื่อใช้ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง แสดงว่ายังมีผู้ป่วยโรคนี้อีกมากยังไม่โผล่มา การพบผู้ป่วยโรคเท้าช้าง 2 ราย จึงเป็นสัญญาณเตือน ดังนั้น 2 รายสำหรับผมถือเป็นการระบาดแล้ว อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าบอกกับองค์การอนามัยโลกว่า ในพม่าไม่มีโรคนี้ระบาดแล้ว

นพ.วิทย์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศพม่ามีปัญหาด้านการบริการด้านสาธารณสุข แม้หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล มักจะตีพิมพ์ข่าวแสดงความก้าวหน้าด้านการบริการสาธารณสุข ลงรูปโรงพยาบาลที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ แต่คำถามคือ ทำไมลงแต่ภาพอาคาร ภาพโรงพยาบาลที่ปราศจากคนไข้

นพ.วิทย์ แสดงข้อมูลเปรียบเทียบสถิติด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศสิงคโปร์ จีน ไทย และพม่า โดยอัตราการรอดของมารดาหลังคลอดบุตร ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งพม่ามีอัตราการตายสูงกว่าประเทศที่นำมาเทียบเคียง

การเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่อประชากร 1,000 คน โดยประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ 2 ต่อ 1,000 คน จีนอยู่ที่ 18 ต่อ 1,000 คน ไทยอยู่ที่ 13 ต่อ 1,000 คน ขณะที่พม่าตัวเลขสูงมากคือ 71 ต่อ 1,000 คน

นพ.วิทย์ ยังแสดงสถิติค่าใช้จ่ายของรัฐด้านสาธารณสุขต่อประชากรรายหัวต่อปี สิงคโปร์อยู่ที่ 469 เหรียญสหรัฐต่อคน จีนอยู่ที่ 68 เหรียญสหรัฐต่อคน ไทยอยู่ที่ 122 เหรียญสหรัฐต่อคน ส่วนพม่าอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐต่อคน สำหรับงบประมาณสาธารณสุขเทียบกับงบประมาณของรัฐบาล พบว่าสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 8.2 จีนอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ไทยอยู่ที่ร้อยละ 14.1 ส่วนพม่ามีเพียงร้อยละ 0.9 ต่องบประมาณของรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ของงบประมาณรัฐบาลกลับอยู่ที่การทหาร

พบโรคระบาดที่สูญไปแล้วในไทย กลับระบาดเพิ่มด้านชายแดน

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรเปรียบเทียบระหว่างพม่ากับไทย พบว่าในประเทศไทยสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรอยู่ที่โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเอชไอวี ขณะที่พม่า สาเหตุการเสียชีวิตกลับเป็นโรคที่สามารถรักษาได้เช่น มาลาเรีย ท้องร่วง

นพ.วิทย์ ยังกล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายสาธารณสุขของพม่าต่อประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่า นอกจากโรคเท้าช้างที่ยกตัวอย่างไปแล้ว การระบาดของไข้มาลาเรียในประเทศไทย ยังสัมพันธ์กับชายแดนด้านทิศตะวันตก ซึ่งติดกับพม่าด้วย โดยพื้นที่ระบาดของมาลาเรียในไทย กลับเป็นพื้นที่ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี มากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังพบการระบาดของวัณโรค และอหิวาตกโรค ในชุมชนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าด้วย ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะมีโรคระบาดชนิดอื่นอีก แม้แต่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

โดย นพ.วิทย์ กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนพม่าประสบวิกฤตภาวะสุขภาพ ไม่เพียงแค่นโยบายด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลพม่าไม่ให้ความสำคัญแล้ว รัฐบาลพม่ายังไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากหน่วยงานเอกชนเข้าไปทำงานในพื้นที่ๆ มีการระบาดของโรคด้วย เช่น ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปทำงานในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาการระบาดของไข้มาลาเรีย

บุคลากรการแพทย์พม่าเผยผลวิจัยภาวะสุขภาพด้านชายแดนพม่าเข้าขั้นวิกฤต

ภาพปกรายงาน “ผลวินิจฉัยขั้นวิกฤต: ภาวะสุขภาพและสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกของประเทศพม่า” (Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma) ซึ่งสมาคมการแพทย์แห่งพม่า และองค์กรด้านการแพทย์ในพื้นที่ชายแดนพม่า ร่วมกันวิจัยและได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2553

นายซอ เน ทู จากสมาคมการแพทย์แห่งพม่า (Burma Medical Association) กล่าวถึงรายงาน “ผลวินิจฉัยขั้นวิกฤต: ภาวะสุขภาพและสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกของประเทศพม่า” (Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2553 [อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่] กล่าวถึงดัชนีชี้วัดสุขภาพของพม่าเทียบกับประเทศไทย โดยในปี 2552 พม่าเกินดุลการค้า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เอามาใช้ด้านสาธารณสุขร้อยละ 1.8 ของงบประมาณ คิดเป็นประมาณ 7 เหรียญต่อหัวประชากร ถือว่าต่ำที่สุดในโลก

ซอ เน ทู กล่าวถึงพื้นที่ที่รายงานเข้าไปทำการศึกษาดังกล่าวว่า เป็นพื้นที่ด้านตะวันอกของพม่าที่ยังมีการสู้รบอยู่ มีผู้อพยพภายในประเทศราว 4-5 แสนคน นับเป็นภูมิภาคได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุด โดยการวิจัยครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากร 5,700 ครัวเรือนใน 21 อำเภอของพม่า

เปิดสถิติประชากรพม่าด้านตะวันออกมีอายุสั้นเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศ

กราฟที่ ซอ เน ทู นำเสนอ จะเห็นว่าประชากรที่อยู่ในภาคตะวันออกของพม่า (บนสุด) มีอายุสั้นกว่าพื้นที่อื่นของพม่า (ล่างสุด) โดยฐานของกราฟจะเป็นฐานกว้าง และยอดแหลม แสดงว่าคนอายุมากมีจำนวนน้อย ขณะที่ประชากรเพศชายมีน้อยอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม โดยลักษณะด้านประชากรของพม่าในภาคตะวันออก มีลักษณะคล้ายกับลักษณะประชากรในประเทศเซียร์ราลีโอน ในแอฟริกาตะวันตก (ที่มาของกราฟ: งานวิจัย Diagnosis Critical: Health and Human Rights in Eastern Burma หน้า 21)

 

เมื่อเทียบกับข้อมูลเชิงประชากรทั่วพม่า ข้อมูลเชิงประชากรเฉพาะในภาคตะวันออกของพม่า จะพบว่า ประชาชนที่อยู่ในภาคตะวันออกของพม่า ลักษณะของกราฟจะเป็นกราฟฐานกว้างมียอดแหลม ซึ่งต่างจากกราฟของประชากรทั่วพม่า หมายความว่า คนที่อยู่จนถึงอายุสูงๆ มีน้อย ส่วนมากจะตายเสียก่อน ส่วนที่มีฐานกว้างคือมีอัตราการเกิดสูง และพบว่าคนอายุเกิน 45 ปีมีน้อย โดยเฉพาะผู้ชาย เพราะถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม

เรื่องอัตราการเสียชีวิตในประเทศพม่า นับเป็นดัชนีที่เลวร้ายที่สุดในโลก โดยอัตราการเสียชีวิตของแม่ เทียบกับประเทศต่างๆ เทียบกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือซูดาน

โดยโรคมาลาเรีย เป็นสาเหตุหลักแห่งการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 41 ของเด็กอยู่ในภาวะทุโภชนาการ กว่าร้อยละ 13 อยู่ในภาวะขาดสารอาหารระดับกลางจนถึงรุนแรง จะเห็นว่า ภาวะขาดสารอาหารเป็นปัญหาใหญ่ในพม่า หมายความว่าน่าจะมีเด็กที่ป่วยเป็นขาดสารอาหารรุนแรงร้อยละ 10-15 โดยเฉลี่ยสำหรับเด็กทั่วไป

ในเรื่องของอนามัยเจริญพันธุ์ 1 ใน 5 ของผู้หญิงในภาวะเจริญพันธุ์ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร ไม่สามารถเข้าถึงการวางแผนครอบครัว

ชี้ครอบครัวที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีอัตราเสี่ยงประสบปัญหาด้านสุขภาพสูง

นอกจากนี้นี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ รัฐ โดย 1 ใน 3 ของคนที่สำรวจ บอกว่าเคยเจอกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรอบปีที่ผ่านมา และมักพบว่าครอบครัวไหนที่สำรวจแล้วบอกว่าเคยเจอกับการละเมิดสิทธิ จะมีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพสูงกว่าครอบครัวที่ไม่เจอการละเมิดสิทธิ เช่น มีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูงกว่าทั่วไปถึง 1.5 เท่า

ทั้งนี้ จากการวิจัย ทำให้พบดัชนีชี้วัดว่าพม่ามีภาวะสุขภาพต่ำสุดในโลก มีสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคที่น่าจะรักษาได้

โดย ซอ เน ทู เสนอวิธีแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านภาวะสุขภาพของพม่าว่า เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ประชาชนในชุมชนต้องพัฒนาขึ้นมาเอง ทั้งนี้ ชุมชนมีบทบาทในการดูแลเรื่องสาธารณสุขด้วยตนเองเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลไม่ได้จัดสรรอะไร คนในชุมชนต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างไรก็ตามชุมชนยังประสบปัญหาขาดทรัพยากรในการดูแลด้านสาธารณสุข และยังประสบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหาร

โดยเขาเสนอว่าต้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตด้านสุขภาพในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้จำนวนผู้อพยพช่วงที่มีการปะทะระลอกใหม่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงนี้ เพิ่มสูงกว่าหมื่นคนแล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท