เปิดจดหมาย นปช. ถึงผู้พิพากษาทั่วประเทศ

30 ม.ค.54 นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำ นปช. ระบุว่า นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เจ้าของสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมจะมีการวิดีโอลิงก์จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 31 มกราคม เวลาประมาณ 11.30 น. มายังชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เพื่อพูดคุยกับคนเสื้อแดงถึงรายละเอียดการยื่นฟ้องร้องรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีการสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ เมื่อปีที่ผ่านมาต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
 
ส่วนการชุมนุมวันที่ 13 ก.พ.ที่จะถึงนั้นเปลี่ยนสถานที่จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาเป็นที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป เพื่อเรียกร้องและขอความยุติธรรมใน 5 ประเด็นที่รัฐบาลดำเนินการ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและแกนนำพันธมิตร คือ 1.การตั้งข้อกล่าวหา 2.การสั่งฟ้องคดี 3.กระบวนการพิจารณาคดี 4.สิทธิการประกันตัว และ 5.สิ่งที่เรียกว่า 2 มาตรฐาน แต่ยืนยันว่าการชุมนุมจะไม่ปักหลักเหมือนกลุ่ม พธม.
 
ขณะที่นายสลักธรรม โตจิราการ ลูกชายของหมอเหวงและนางธิดา ได้เผยแพร่เอกสารจดหมายถึงผู้พิพากษาทั่วประเทศ ใน facebook ส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้
 
 
 
จดหมายถึงผู้พิพากษาทั่วประเทศ
 
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เลขที่ 33 ถนนงามวงศ์งาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 
 
วันที่ 28 มกราคม 2554
 
เรียน ท่านผู้พิพากษาที่เคารพ
 
ด้วยกระผมแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน(ดังรายนามที่ปรากฏท้ายจดหมายฉบับนี้)ผู้ต้องหาคดีร่วมก่อการร้าย จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2553 ซึ่งถูกควบคุมตัวและจำขังเป็นเวลากว่า 8 เดือนตั้งแต่ยุติการชุมนุมและยังไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวจนถึงขณะนี้ มีความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการไร้อิสรภาพ ทั้งยังรู้สึกคับแค้นไร้ที่พึ่งจากกระบวนการยุติธรรมในคดี จึงเขียนจดหมายมาปรับทุกข์กับท่าน เพื่อให้ความจริงดังจะกล่าวต่อไปนี้ปรากฏต่อผู้ทรงภูมิรู้ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหากท่านจะกรุณามีข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำอันเป็นประโยชน์ทั้งต่อพวกกระผมและประชาชนอีกกว่า 100 ชีวิตที่ยังคงถูกจำขังจากเหตุการณ์เดียวกันก็จะน้อมรับด้วยความยินดี หรือ หากเพียงท่านจะรับทราบความเป็นมาแห่งความทุกข์ของประชาชนในกรณีนี้ก็น่าจะเกิดประกายแห่งแสงสว่างมิให้ประเทศไทยมืดมนจนเกินไปนัก
 
1. การตั้งข้อกล่าวหา แม้จะยินดีเข้าสู่กระบวมการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามพยานหลักฐานแต่พวกกระผมก็ยังมิอาจทำใจยอมรับข้อกล่าวหาก่อการร้ายได้ เพราะการชุมนุมของ นปช.เป็นการต่อสู้ทางการเมืองโดยมีอุดมการณ์สูงสุดคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยยึดหลักสันติวิธีในการต่อสู้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปแบบ วิธีการ และเป้าหมายของขบวนการก่อเหตุใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ นปช. ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายขณะที่กลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงผู้ก่อความไม่สงบ ตลอดช่วงเวลาหลังยุติการชุมนุมรัฐบาลใช้วาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” เป็นเครื่องมือในการจับกุม คุมขัง คุกคาม และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดข้อสงสัยว่าข้อหาก่อการร้ายตั้งขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักกฎหมาย หรือตั้งขึ้นเพื่อความถูกใจของรัฐบาลเพื่อใช้จัดการกับผ่ายตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น
 
2. การสั่งฟ้องคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ในฐานะพนักงานสอบสวนแถลงข่าวรายวัน ยืนยันตลอดเวลาว่าสั่งฟ้องคดีนี้อย่างแน่นอน ทั้งที่ขณะนั้นขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานยังไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นการปักธงคดี ไว้ล่วงหน้าโดยไม่แคร์สายตาประชาชน ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาคย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำหนังสือราชการถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเร่งรัดให้เจ้าพนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องให้ทันก่อนครบกำหนดฝากขังซึ่งไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในกระบวนการยุติธรรมชั้นอัยการ ในที่สุดเจ้าพนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้องในวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ตามกรอบเวลาที่ รมว.ยุติธรรมกำหนด ทั้งที่ทนายจำเลยยื่นร้องขอความเป็นธรรมให้สอบปากคำพยานเพิ่มเติมแต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาแม้แต่ปากเดียว ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมตามที่จำเลยร้องขอก็จะสั่งฟ้องคดีไม่ทันตามนโยบายของ รมว.กระทรวงยุติธรรม ระหว่างความยุติธรรมตามข้อกฎหายกับนโยบายของผู้มีอำนาจการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ต้องยึดหลักเกณฑ์ใด
 
สำนวนฟ้องของดีเอสไอ ระบุว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ แต่ในการแถลงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ดีเอสไอ ระบุว่าเหตุเสียชีวิตอย่างน้อย 13 รายเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องฝ่ายเจ้าหน้าที่เพราะต้องส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากยึดตามประมวลกฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะมาตรา 129 วรรคท้าย “ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล” การมิได้ชันสูตรพลิกศพอย่างถูกต้องและครบถ้วน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จนั้นส่งผลให้การสั่งฟ้องพวกกระผมในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ในการแถลงวันเดียวกันอธิบดี ดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า “เหตุการณ์เสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่เกิดท่ามกลางการจลาจลเป็นเหตุสับสนวุ่นวายอย่างวิกฤต การแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงจึงมีข้อจำกัดเป็นอย่ายิ่ง” (มติชน 21 ม.ค. 2554) นับเวลาจากวันที่สั่งฟ้อง 11 สิงหาคม 2553 ถึงวันแถลงข่าว 20 มกราคม 2554 รวมเวลากว่า 5 เดือน ดีเอสไอ ยังระบุว่าการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปอย่างยากลำบากน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2553 พวกกระผมถูกสั่งฟ้องด้วยหลักฐานใด และหลักฐานที่มีอยู่ขณะนั้นเพียงพอต่อการสั่งฟ้องในคดีก่อการร้ายหรือไม่
 
3. กระบวนการพิจารณาคดี มีการนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งแรกในวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยทุกคนไปศาลแต่เนื่องจากบัญชีพยานหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่ายมีเป็นจำนวนมากไม่อาจหาข้อยุติได้ในวันดังกล่าว ศาลจึงเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นที่ทราบในทางปฏิบัติว่าช่วงเวลาก่อนและหลังเทศกาลขึ้นปีใหม่มักจะไม่มีการดำเนินการะบวนการพิจารณาคดีนอกจากเป็นงานธุรการทั่วไปของศาลเท่านั้น ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเบิกตัวจำเลยมาศาลแต่ศาลไม่อนุญาตและเมื่อถึงวันนัดก็สั่งเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 17 มกราคม 2554 ด้วยเหตุผลว่าผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนติดภารกิจ 17 มกราคม 2554 ศาลอนุญาตให้เบิกตัวจำเลยตามคำร้องของทนายแต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไม่อนุญาตให้นำตัวจำเลยมายังหน้าบัลลังก์ศาล จำเลยจึงต้องนั่งรอบริเวณใต้ถุนศาลอาญารัชดา ทนายจำเลยร้องขอให้เบิกตัวจำเลยขึ้นมาเพื่อได้มีโอกาสปรึกษาหารือหากมีการปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงบัญชีพยานหลักฐานแต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังระบุว่าจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ต้องให้จำเลยมาศาลหากจะนำสืบจำเลยคนใดก็ให้เบิกมาเฉพาะบุคคล พร้อมทั้งสั่งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจบัตรประจำตัวประชาชนผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและเชิญผู้ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณา มีการจดรายชื่อเอาไว้และบอกว่าคราวต่อไปไม่ให้มาร่วมฟังการพิจารณาอีกคงเหลือแต่บุตร-ภรรยาจำเลยเท่านั้น ในที่สุดก็เลื่อนนัดตรวจพยานอีกครั้งเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554
 
คดีนี้มีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ กระบวนการพิจารณาและผลการตัดสินคดีจะเป็นอย่างไรย่อมถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่จำเลยกลับไม่มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี ประชาชนผู้สนใจซึ่งแน่นอนว่าจะเพิ่มมากขึ้นในขั้นตอนนำสืบพยานโจทก์ และจำเลยก็มีแนวโน้มถูกจำกัดสิทธิ์ในการติดตามการพิจารณาคดีเช่นเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นการตัดสินคดีไปเลยจะรวบรัดกว่าหรือไม่ นับจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานวันแรก 27 กันยายน 2553 ถึงวันกำหนดนัดครั้งที่ 4 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 รวมเวลากว่า 5 เดือนการพิจารณาคดียังไม่มีอะไรคืบหน้า แล้วชะตากรรมของพวกกระผมจะเป็นอย่างไรต่อไป
 
4. สิทธิการประกันตัว พวกกระผมเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่โดยทราบชัดเจนว่าถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้ายและจากประวัติการต่อสู้ทางการเมืองในสถานการณ์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยปรากฏพฤติการณ์หลบหนีในทุกคดีที่ถูกกล่าวหา และหากพิจารณาเหตุผลตามข้อกฎหมายว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ไม่น่าเป็นอุปสรรคใดๆในการได้รับสิทธิ์ประกันตัว แต่พวกกระผมก็ยังคงถูกจำขังทั้งที่ยื่นขอประกันตัวไปแล้วทั้งศาลชั้นต้น และอุทธรณ์รวมหลายครั้ง ในขณะที่นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิ์ประกันตัวจากการไต่สวนและลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์โดยศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวไว้หลายข้อและนายวีระ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นายวีระ ได้รับการประกันตัวด้วยเหตุผลใด และทำไมจำเลยคนอื่นซึ่งมีสถานะรองจากนายวีระในองค์กร นปช. จึงไม่ได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรมแบบเดียวกัน
 
ยิ่งไปกว่านั้นคือกรณี นายสมชาย ไพบูลย์แกนนำ นปช. อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี ก็ยื่นประกันตัวไปแล้วหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน พวกกระผมควรทำความเข้าใจกรณีเหล่านี้อย่าไร นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศในเรื่องการให้อนุญาตประกันตัวผู้ต้องหาในคดีนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในชาติ โดยเฉพาะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความปรองดอง คอป. ซึ่งยืนยันเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีข้อเสนอในเรื่องเดียวกันแม้กระทั่ง ศอฉ. ก็เคยออกหนังสือลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธาน ศอฉ. ในขณะนั้น ระบุว่า ไม่ขัดข้องหากศาลอนุญาตให้ประกันตัว รัฐบาลเองก็มีความมั่นใจในสถานการณ์โดยการประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ทุกครั้งที่ผ่านมาก็อยู่ในความสงบเรียบร้อยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ จากทั้งหมดที่กล่าวมาจึงสรุปเป็นคำถามได้ว่า แล้วพวกกระผมต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับสิทธิ์ประกันตัว
 
5. สิ่งที่เรียกว่า 2 มาตรฐาน ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเป็นลำดับจนวาทกรรม “2มาตรฐาน”กลายเป็นสาระหลักอย่างหนึ่งเมื่อพูดถึงสาเหตุของความขัดแย้งที่ยังไม่เห็นช่องทางยุติในสังคมไทย รูปธรรมของ 2มาตรฐาน มีหลากหลายตามความสนใจและความเข้าใจของผู้ที่จะหยิบยกมาอธิบาย ในที่นี้จะขอเปรียบเทียบแนวปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมต่อกลุ่ม นปช. และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพอให้เกิดความเข้าใจ ดังนี้ - แกนนำ นปช. ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย มีการจำขังทันทีจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัว แต่แกนนำพันธมิตรถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายมากว่า 2 ปี คดียังอยู่ในชั้นตำรวจ ทุกคนได้ประกันตัวและสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองชุมนุมขับไล่รัฐบาลได้โดยสะดวก ส่วนที่ไม่มอบตัวถูกออกหมายจับ เช่น นายการุณ ใสงาม ก็สามารถเดินทางผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ผู้ถูกคุมขังที่ประเทศกัมพูชาแล้วกลับเข้าประเทศโดยที่หมายจับไร้ศักดิ์ศรีทางกฎหมายอย่างสิ้นเชิง นายวีระ สมความคิด อีกหนึ่งผู้ถูกออกหมายจับคดีก่อการร้ายสามารถร่วมคณะกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปเกิดปัญหาที่กัมพูชา ไม่มีแกนนำพันธมิตรคนใดถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำประเทศไทย ต้องใช้ความพยายามดิ้นรนในระดับนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ จึงจะได้ใช้ชีวิตในเรือนจำ และในที่สุดในวันที่ 27 มกราคม 2554 นายไชยวัฒน์ สินสุวงค์และนาย สมบูรณ์ ทองบุราณก็ได้รับการประกันตัวไปเรียบร้อยแล้วโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดรวมสำหรับ 2 คน 8 แสนบาท ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นจริงหรือ - ผู้ชุมนุมพันธมิตรขับรถทับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ในเหตูการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ศาลพิพากษาจำคุกแต่ให้รอลงอาญา การ์ดพันธมิตรหลายสิบคนบุกเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBT ศาลพิพากษาจำคุกแต่อนุญาตให้ประกันตัวครบทุกคน ผู้ชุมนุม นปช. โดนข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน ปิดเส้นทางจราจรก่อความวุ่นวาย ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน 1 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือนไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้อยู่ในเรือนจำหลายจังหวัด
 
จากตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่หยิบยกมาท่านผู้พิพากษาเห็นว่า 2 มาตรฐาน ที่ประชาชนพูดกันโดยทั่วไปมีจริงหรือไม่ หากมีจริงเราจะนำพาสังคมไทยออกจากภาวะตกต่ำเช่นนี้ได้อย่างไร มีเสียงเรียกร้องสันติภาพจากทุกมุมของประเทศแต่ถ้าไม่มีความยุติธรรมเป็นพื้นฐานสันติภาพนั้นจะเกิดได้อย่างไร การเอาตัวอาชญากรมาจำขังไว้ย่อมได้ผลในการลดอาชญากรรม แต่การเอาตัวผู้ต้องหาทางการเมืองมาจำขังจะได้ผลตรงกันข้าม นั่นคือเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้ขยายตัวมากขึ้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้มิได้ส่งผลให้ประชาชนหมดทางสู้ หากแต่จะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ท่านผู้พิพากษาคิดว่าท่านจะมีส่วนผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทย และมีความเท่าเทียมกันภายใต้กรอบแห่งกฎหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤตแห่งความขัดแย้งนี้ได้หรือไม่ พวกกระผมมั่นใจว่าท่านทำได้ จึงเขียนจดหมายมาปรับทุกข์ในวันนี้
 
ด้วยความเคารพ
 
แกนนำ นปช.
 
 
รายนามแกนนำ
นาย ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ
นาย เหวง โตจิราการ
นาย ก่อแก้ว พิกุลทอง
นาย นิสิต สินธุไพร
นาย ขวัญชัย สาระคำ
นาย วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย
นาย ยศวริต ชูกล่อม
นาย สมชาย ไพบูลย์
และผู้ต้องหา นปช. คดีอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท