Skip to main content
sharethis
 
การพูดถึงรัฐชาติในแง่ของความเป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ที่โลกทั้งใบมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น... การดำรงอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของชาติพันธ์ การเลื่อนไหลของผู้คน สินค้า วัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ คำถามก็คือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
 
000
 
ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ปาฐกถาพิเศษในงานโครงการฝึกอบรม "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554ที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของพื้นที่ที่เรียกว่าชายแดน ในมิติของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการนิยามความหมาย ทั้งจากส่วนกลางและผู้คนบริเวณชายแดน
 
.......................................................................
 
ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเขตแดนเท่าไหร่ ฉะนั้นผมจะพูดเรื่องชายแดนที่ผมพอรู้บ้าง ผมจะพูดเกี่ยวกับงานวิจัยที่ทำในมช. ไม่ได้ไปทำข้ามประเทศ แต่ข้ามฝากเหมือนกัน ประเด็นแรกที่อยากแลกเปลี่ยน คือ เรื่องความหมาย โดยปกติแล้วเมื่อเราพูดถึงชายแดน เรามักจะใช้คำอยู่ 2 คำ ชายแดนถ้าเป็นภาษาทางการของอเมริกันสมัยก่อนจะใช้คำว่า Frontier ตลอด ซึ่งหมายถึงพื้นที่ชายขอบริมอารยธรรม คนอเมริกันจะไปบุกรุกพวกอินเดียแดง ก็จะบอกว่าไปในพื้นที่ Frontier เป็นพื้นที่ชายขอบที่ไม่มีคนอยู่ซึ่งจริงๆมันมี 
 
อีกคำหนึ่งที่ใช้คือ พรมแดน หรือ border เวลาเราใช้ border เราหมายถึง เส้นที่ขีดแบ่งระหว่างรัฐชาติ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงชายแดน เราพูดถึงพรมแดนทางภูมิรัฐต่างๆ พูดง่ายๆก็คือ พูดถึงพรมแดนของรัฐต่างๆ ก่อนอื่นเราต้องเขาใจก่อนว่า เมื่อพูดถึงชายแดนมันเป็นโครงสร้างทางการเมือง มันเป็นภาพสะท้อนจินตนาการของชนชั้นนำที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย แต่ในบางยุคเขตแดนของเราอยู่เบตง เพราะผู้นำเราอยากยึดเขา บางครั้งชายแดนมันก็ยืดหดได้แล้วแต่ผู้นำแต่ละยุคสมัยจะจินตนาการอย่างไร 
 
พอมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อรัฐชาติหรือจินตนาการของลุงเบน (Benedict Anderson-ผู้ถอด) เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า nation state หรือรัฐชาติ มันอยู่ลอยๆไม่ได้ ต้องมีพื้นที่ ฉะนั้นอำนาจเหนือพื้นที่ อธิปไตยมันจึงทำให้พรมแดน มีนัยยะสำคัญขึ้นมา อ. ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล-ผู้ถอด) คิดเรื่อง Geo body แล้วก็บอกว่าการขีดเส้นแนวชายแดนหรือพรมแดนลงบนแผนที่อย่างชัดเจน ทำให้รัฐชาติดูสูงส่ง และสามารถสถาปนาอำนาจอธิปไตยทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ได้
 
แต่ว่าในทางปฏิบัติ ไม่ว่าพรมแดนจะถูกวาดบนแผนที่อย่างชัดเจนเพียงใด ไม่ว่าจะมีหลักปักปันเขตแดนมั่นคงสักเพียงใด ไม่ว่าจะมีด่านตรวจคนเข้าเมืองมากน้อยขนาดไหน จะมีกรมศุลกากรเรียงรายคอยเก็บภาษีสักเท่าไร จะมีหอคอยสังเกตการณ์ตามแนวชายแดนสักกี่แห่ง ชาวบ้านก็จะมองข้ามนัยสำคัญของพรมแดนและชายแดน ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพรมแดนในรูปแบบที่ผู้เขียนแผนที่ไม่ได้คาดคิดหรือออกแบบเอาไว้ กองกำลังปฏิวัติหรือบางคนอาจเรียกว่ากองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยก็ผลุบโผล่อยู่ตามแนวชายแดน อยู่หลังพรมแดนเพื่อหลีกเร้นการไล่ล่าของกองกำลังรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็แสวงหาความคุ้มครองในองค์อธิปัตย์อีกฝากฝั่งหนึ่ง
 
ชนชายแดนที่อยู่ริมชายแดน ก็ฉกฉวยโอกาสในการค้าขายกับเพื่อนบ้าน ทั้งสินค้าที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย บางครั้งการหาที่ดินทำการเกษตร เมื่อไม่มีในฝั่งของเขาก็ข้ามมาฝั่งของเรา ไม่มีงานก็ข้ามมาหางานรับจ้างอีกฝากหนึ่งทำ ไปซื้อสินค้าก็ได้ถ้าได้การบริการที่ดีกว่า ไม่ได้หมายความว่าเขามาใช้บริการจากเราฝ่ายเดียว แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยข้ามไปใช้บริการทางฝั่งลาวสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองลาวอยู่เพื่อไปโรงพยาบาลเยอะมาก ถ้าดูประวัติศาสตร์แล้วเราใช้บริการเพื่อบ้านไม่น้อยกว่าที่เพื่อนบ้านใช้กับเรา ประเด็นก็คือว่าการดำรงอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มตรงบริเวณชายแดน และการใช้ประโยชน์จากพรมแดนในรูปแบบที่หลากหลาย ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนแต่ละแห่งมันมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และมีพลวัตรทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
 
โดยปกติแล้วในทางวิชาการเวลามีการศึกษาชายแดน มันต้องเป็นงานของกฎหมายและรัฐศาสตร์เป็นหลัก อะไรก็ตามเมื่อเกี่ยวกับกฎหมายและรัฐศาสตร์ มันมักจะยุ่ง เพราะมักจะไม่ได้เข้าใจพื้นฐานความเข้าใจมนุษย์ ผมเป็นนักมานุษยวิทยา
 
แต่ว่าในช่วง 20-30ปีที่ผ่านมามีคนอพยพย้ายถิ่นมากขึ้น เมื่อมีแรงงานอพยพมากขึ้นก็ได้รับความสนใจมากขึ้น เราก็จะมองว่า เราเป็นเป้าหมายของการอพยพ แต่เราก็ไม่ได้มองว่า คนไทยอพยพไปทำงานนอกบ้านเราเยอะมาก เป็นหลายแสนคนต่อปี เรามักจะมองว่าพม่า ลาว มาทำงานบ้านเราเยอะ แต่ประเด็นก็คือว่างานศึกษาที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการย้ายถิ่นข้ามพรมแดน จะเป็นเรื่องของผู้ลี้ภัยหรืองาน แรงงานอพยพ มักจะเป็นงานมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นงานที่เน้นทำความเข้าใจกับบริบททางประวัติศาสตร์ และก็เน้นผลกระทบของพรมแดนต่อชีวิตและวัฒนธรรมมากกว่ามิติ ทางกฎหมาย ฉะนั้นนักมานุษยวิทยาจึงให้ความสนใจของการต่อสู้ ดิ้นรน ปรับตัวของคน ตลอดจนพลวัตรของแนวชายแดนซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐ เราเชื่อว่าถ้าเราทำความเข้าใจกับผลกระทบทางสังคมทีมีต่อผู้คนที่อยู่ชายขอบจากการขีดเส้นแบ่งพรมแดน โดยเน้นศึกษาระยะยาว มิติ ทางประวัติศาสตร์ และเน้นมุมมองจากศูนย์กลางและชายขอบไปพร้อมกัน เราจะทำความเข้าใจชายแดนได้ดีขึ้น
 
ขอพูดถึงคอนเซ็ปต์ (concept) ตอนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลตะวันตก มีความสับสนเกี่ยวกับคำศัพท์ชายแดนอยู่พอสมควร โดยปกติแล้วเราใช้คำอยู่ 3 คำ คือคำว่าชายแดน (Frontier) พรมแดน (border) และขอบเขต (boundary) ประเทศทางตะวันตกใช้คำเหล่านี้แตกต่างกันพอสมควร อเมริกานิยมใช้คำว่า frontier ในขณะที่อังกฤษ หรือประเทศยุโรปนิยมใช้คำว่า border หรือ boundary
 
ดูจากคำว่า boundary ก่อน คำว่าขอบเขตมักจะใช้ในพิธีทางการทูตในการเจรจาเพื่อกำหนดแนวพรมแดนระหว่างรัฐอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันขอบเขตก็บ่งบอกความหมายของความแตกต่างทางชาติพันธ์ ความแตกต่างทางชาติพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ
 
เราใช้พรมแดน เป็นเส้นแนวเขตระหว่างรัฐชาติ ในขณะที่ชายแดน จะมีนัยยะบ่งบอกถึงการขยายดินแดน หรืออารยธรรมเข้าไปที่รกร้างว่างเปล่า
 
แต่ทั้งหมดนี้เพื่อให้เข้าใจเท่านั้นเอง ผมจึงเสนอนอว่าให้ใช้คำเดียว คือ พรมแดน (border) ใช้มันในลักษณะแตกต่างกันตามลักษณะ คือ 1) พรมแดนภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-political-border) 2)พรมแดนชาติพันธ์ (Ethnic border) 3) พรมแดนวัฒนธรรม ( culture border) ซึ่งจะช่วยทำให้เราสับสนน้อยลง
 
เวลาที่เราพูดถึงพรมแดนทางภูมิรัฐศาสตร์ เราจะพูดถึงอำนาจรัฐ ซึ่งที่มีการตะโกนให้ใช้กำลังทางทหารกัน เป็นมุมมองจากภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นมุมมองแบบเก่าๆ ถ้าเพื่อเราหันมามองทางพรมแดนทางชาติพันธ์ หรือพรมแดนทางวัฒนธรรม เราจะมองเห็นว่า พรมแดนที่เกิดจากชาติพันธ์ มันเกิดจากความรู้สึกเป็นพวกผองเครือญาติ มันเกิดจากใช้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใกล้กัน มันเกิดจากรากทางวัฒนธรรมเดียวกัน หรือ สืบทอดสายเดือดจากกลุ่มบรรพชนเดียวกัน รวมไปถึงการสร้างตัวตน หรืออัตลักษณ์ของกลุ่มที่แยกออกไปผ่านการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเกิดรัฐชาติขึ้นมาพรมแดนทางชาติพันธ์ หรือพรมแดนทางวัฒนธรรมมักจะถูกซ้อนทับและกลบเกลื่อนด้วยพรมแดนของรัฐชาติ เพราะฉะนั้นประเด็นเราต้องพยายามแยกแยะให้ดี จึงเป็นประเด็นหลักที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้ก็คือการซ้อนทับระหว่างพรมแดนของรัฐและพรมแดนทางวัฒนธรรม
 
เมื่อดูแผนที่จะพบกลุ่มใหญ่ คือไทใหญ่ ไทลือ ถ้าดูพรมแดนวัฒนธรรมไทใหญ่ จะพบว่ากินพื้นที่ตั้งแต่จีนทางตอนใต้, รัฐฉานและทางภาคเหนือของไทย หรือพรมแดนวัฒนธรรมของไทลื้อซึ่งถ้าดูประวัติศาสตร์ ลื้อจะทำการค้าครอบคลุมถึงพม่า และบางส่วนของลานนา คือ เชียงคำ เชียงแสน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน บางส่วนของแม่ฮ่องสอน แต่เมื่อเกิดพรมแดนรัฐชาติซึ่งมันเกิดทีหลัง มันเกิดการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ แต่พื้นที่พวกนี้มันไม่อาจะขวางกั้น การไปมาหาสู่ การติดต่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดียวกัน ไม่อาจจะขวางกั้นการไปมาหาสู่ของผู้คนที่มีมาอย่างยาวนานได้
 
อยากจะยกตัวอย่างพื้นที่ เชียงแสน เชียงแสนเป็นเมืองที่มีอายธรรมเก่าแก่ ในทางตอนเหนือ เป็นเมืองที่พม่า กับลานนาต่างแก่งแย่งเพื่อครอบครองขึ้นอยู่กับยุคสมัยว่าใครจะได้ครอบครอง แต่ประเด็นสำคัญก็คือว่า เชียงแสน เป็นบ้านของผู้คนหลากหลายมาก ไม่ได้มีแต่คนลื้อ ไทใหญ่ หรือพม่า แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธ์อีกกว่า 10 กลุ่ม และก็เป็นพื้นที่ที่ผู้คนถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐาน หรืออพยพทำการค้าขายมาตั้งแต่โบราณ แต่เมื่อปี 2518 เมื่อคอมมิวนิสต์ลาวประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบสังคมนิยม ลาวปิดประเทศ ทำให้ชายแดนไทยกับลาวเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น ทำให้เราเห็นความหวาดระแวงกันของรัฐทั้งสอง การเดินข้ามชายแดนเกิดความเข้มงวดมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะเลิกเดินทาง คนก็ยังเดินทางไปมาอยู่ แต่พอสงครามสิ้นสุดลงเราจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองท่า จีนขนสินค้ามาป้อนเราทางเชียงแสนอยู่ตลอดเวลา เกิดการเลื่อนไหลไปมาของผู้คน สินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พรมแดนของรัฐชาติเริ่มยืดหยุ่นมากขึ้น ถ้าไปดูพรมแดนของเชียงแสน จะพบว่าข้ามง่ายมาก จะข้ามไปต้นผึ้ง หรือข้ามไปเล่นการพนัน ข้ามง่ายมาก เพราะ เขาอยากจะสนับสนุนให้ข้ามไปเพื่อผลประโยชน์
 
เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่ชายแดนรัฐชาติ ถูกซ้อนทับด้วยการเป็นพื้นที่การค้า ความสัมพันธ์ทางสังคมจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น และพรมแดนของรัฐชาติจะเริ่มยืดหยุ่นมากขึ้น
 
อยากเทียบให้เห็นอีกเมือง คือ พื้นที่เชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านของผู้คนมากมายหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลื้อ ลาว ไทเขิน ขมุ ม้ง มูเซ่อ เย้า ผู้คนก็ข้ามไปมา เป็นญาติกัน โดยเฉพาะคนลื้อ มีประเพณีที่ต้องไปเยี่ยมไหว้กันเป็นประจำ เชียงของโตในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อน่านเรืองอำนาจขึ้นในล้านนา เพราะว่าน่านเป็นเมืองของคนลื้อ เป็นเมืองท่าสำคัญ มีการกวาดต้อนผู้คนจาก 12 ปันนาไปอยู่น่านและข้ามไปหลวงพระบางด้วย เพราะฉะนั้นผู้คนแทบนี้ก็จะเป็นญาติพี่น้องกันไปหมด และยังเป็นจุดผ่านสำคัญของการค้าในอดีต จึงทำให้การหลั่งไหลของผู้คนเยอะมาก
 
แต่พอถึงปิดพรมแดนในปี พ.ศ.2518 รัฐชาติเริ่มพัฒนาตัวขึ้นอย่างเข้มแข็ง เริ่มเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างฝั่งไทยกับฝั่งลาว เพราะฉะนั้นเมื่อเปิดพรมแดนอีกครั้งในสมัยคุณชาติชาย ก็จะเห็นความแตกต่างของสองฝากฝั่งลำน้ำโขงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้เชียงของจึงเป็นพื้นที่ที่ทำการค้า ส่งน้ำมันไปลาว โดยผ่านท่าเรือที่เชียงของ ขากลับก็มีการส่งถ่านหินเข้ามา ในขณะเดียวกันสิ่งที่แตกต่างออกไป คือชาวบ้านสองฝั่งยังค้าขายกันอยู่ มีการค้าข้ามพรมแดนเยอะมาก มีจุดจอดเรือที่ไม่ใช่เป็นท่าใหญ่ อีก 3-4 แห่งที่ชาวบ้านใช้ข้ามไปข้ามมา และแม่ค้ามีบทบาทสำคัญมากในการติดต่อการค้า ขายนำสินค้าจากฝั่งไทยไปขายที่ลาว ในทำนองเดียวกันถ้าต้องการแรงงานหักข้าวโพด แม่ค้าก็จะเป็นผู้ติดต่อแรงงานให้ ฉะนั้นผู้คนแถบนั้นติดต่อค้าขายโดยไม่เคยคิดว่าแม่น้ำโขงเป็นพรมแดน แต่ใช้ความเป็นชาติพันธ์ ความเป็นญาติพี่น้องในการติดต่อระหว่างกัน
 
แต่ถ้าถามว่าพรมแดนของรัฐชาติมีผลไหม ก็มี เพราะมีการแบ่งแยกเป็นลื้อจีน ลื้อลาว ลื้อไทย และมีการบลั๊ฟกันบ้าง แต่โดยหลักใหญ่แล้วก็จะใช้ความเป็นพี่น้องมากกว่า ผู้คนก็ยังทำมาหากินกับแม่น้ำโขง เวลามีงานศพ ผู้คนจากอีกฝั่งหนึ่ง (ถ้าเป็นญาติกัน) ก็จะมาช่วยงาน
 
ถ้าเราเปรียบเทียบเชียงแสนกับเชียงของ ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่ในความเป็นเมืองชายแดนด้วยกัน คือ เชียงของจะทำการเกษตรเข้มข้น ยังมีสวนส้ม ทุ่งข้าวโพด แต่เชียงแสนจะเปลี่ยนไปเป็นเมืองท่า ทำการค้าขายเป็นส่วนมาก พรมแดนก็เลยยืดหยุ่นมากขึ้น ในขณะที่เชียงของ พรมแดนมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว (เพราะยังไงก็ปิดเขาไม่ได้) แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองฝากฝั่งของเมืองชายแดนเหล่านี้ ความเป็นชาติพันธ์ พรมแดนทางวัฒนธรรม ยังมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน การต่อรองทางการค้าผ่านความเป็นชาติพันธ์ยังคงดำเนินไปย่างเข้มข้น แม้ว่าพ่อค้าจีนจะเข้ามาทำลายการค้าหลายอย่างไป แต่การค้าหลายอย่างยังใช้ความเป็นชาติพันธ์ เช่นการค้าวัว ควาย จากฝั่งจีน ลาวเข้ามาในฝั่งไทย
 
สิ่งที่อยากเสนอจากในสิ่งที่ได้พูดมาทั้งหมดคือ มันมีนัยอย่างไรต่อรัฐชาติ ถ้าเราดูชายแดนให้ดี เราจะเห็นว่ารัฐชาติแม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในระดับหนึ่ง ในการนิยามความหมายที่ศูนย์กลาง (กรุงเทพ) แต่ในบริเวณชายขอบ เช่น ตามพรมแดนหรือบริเวณชายแดน รัฐชาติไม่เคยสถาปนา อำนาจของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
 
ในทางตรงกันข้าม ความเข้าใจหรือการนิยามความหมายของพรมแดนและความเป็นท้องถิ่น มันมีหลายแบบซ้อนทับกันอยู่ เพราะฉะนั้นมันมีความหมายชายแดนตามนัยของรัฐ มันมีความหมายนัยของชนชายแดน แม้ว่าในบริเวณชายแดนเราจะเห็นอำนาจรัฐถูกแสดงอย่างมหาศาล มีการนำเทคนิควิธีในการแสดงอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวน ตรวจบัตรประชาชน การใช้กองกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน แต่ในความเป็นจริงแล้วอำนาจรัฐชาติไม่ครอบคลุม เวลาเราไปชายแดนจะเห็นว่ากรมศุลกากรพูดอย่างหนึ่ง ตำรวจพูดย่างหนึ่ง ทหารพูดอย่างหนึ่ง ไม่เคยตรงกัน
 
ตรงนี้มันทำให้ชายแดนเป็นพื้นที่ซึ่งอำนาจมีความซับซ้อน ยุ่งเหยิง กำกวมและขัดแย้งกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเอาศูนย์กลางเป็นใหญ่ เราจะเห็นได้ว่าอำนาจ ตามแนวชายแดนนั้นยุ่งเหยิง กำกวม แต่ถ้าเราเข้าใจชาวบ้าน เราจะเห็นได้ว่า มันมีความเป็นระเบียบแบบแผน ของชนชายแดน
 
นอกจากนั้นแล้วในโลกของการเคลื่อนย้ายของสินค้า ผู้คนและวัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติอย่างมากมายมหาศาล ทำให้รัฐชาติถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ซึ่งรัฐชาติไม่ได้หายไปไหน แต่รัฐชาติมีความเป็น พหุลักษณ์ หรือมีลักษณะข้ามชาติ multi-culturalism กล่าวคือ มีลักษณะการดำรงอยู่ของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นการพูดถึงรัฐชาติในแง่ของความเป็นหนึ่งเดียวจึงเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ที่โลกทั้งใบมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น
 
อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ในพื้นที่ชายแดนทุกแห่งหนทั่วโลก เราเริ่มจะเห็นการหลั่งไหลของทุนข้ามชาติเข้ามาในท้องถิ่น การหลั่งไหลของทุนข้ามชาติเข้ามาในท้องถิ่นในบริเวณชายแดน มันส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริเวณพื้นที่ชายแดนนั้น ซ้อนทับ และเลื่อนไหลมากขึ้น อันนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐชาติที่จะไปควบคุม
 
นอกจากนั้น เราจะเห็นได้ว่าชายแดนเป็นพื้นที่การแย่งชิงอำนาจในการนิยามความหมายของสถานะพลเมือง
 
เราพยายามไปใช้การกีดกันสิทธิ โดยพยายามบอกว่า ไม่ใช่ "ไทย" กีดกันคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ในบริบทของโลกที่ดึงคนเข้ามาร่วมกัน ที่อินเดีย เขาให้คนอินเดียที่อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เป็นกลวิธีที่แยบยลมากในการดึงคนกลับมาลงทุน จีนใช้มา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคเติ้งเสียวผิ้ง เติ้งพูดว่า "จีนอยู่ที่ไหนเป็นจีน ไม่ว่าจะเป็นแซ่อะไร กลับมาเถอะกลับมาลงทุนในแผ่นดินแม่"
 
นอกจากนี้ชายแดนยังเป็นพื้นที่ของการปรับเปลี่ยนจุดเผชิญหน้า ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ อย่างคนข้ามมาฝั่งไทยเพื่อจะมาซื้อบัตรที่สูง เพื่อเปลี่ยนสถานะภาพของตนเอง ขณะเดียวกัน ชายแดนก็เป็นพื้นที่ของการสร้างและนำเสนอตัวตนที่หลากหลาย คนไทใหญ่ที่เข้ามาบ้านเรา เอาวัฒนธรรมมานำเสนอ และบอกว่าเขาไม่ใช่คนอื่น เขาก็คือลูกหลาน เป็นการนำเสนอตัวตนเพื่อที่จะบอกว่า ไทใหญ่กับไทยเป็นพี่น้องกัน
 
ในขณะเดียวกันชายแดนเป็นพื้นที่ที่อาจความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและอำนาจ ถ้าเมื่อไหร่เกิดกระบวนการรวมศูนย์อำนาจของรัฐชาติ เพราะการรวมศูนย์รัฐชาติกีดขวางและท้าทายความเป็นหนึ่ง เมื่อไหร่ที่คุณไปชายแดน แล้วประกาศว่ากูเป็นหนึ่งเดียว เป็นไทยหมด ปัญหาจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะพรมแดนเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ซึ่งมัยขัดกับหลักธรรมชาติ ขัดกับวิถีชีวิตของผู้คน ขัดกับผลประโยชน์ ขัดกับศาสนา
 
ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะนำเสนอ คือ ชายแดนเป็นพื้นที่ ซึ่งผู้คนเจรจาต่อรองอยู่ตลอดเวลา เสมือนรั้วบ้านที่ถูกรื้อสร้างอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นคุณจะจัดการชายแดนคุณต้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย เพราะเขารู้ว่ารั้วของเขาอยู่ตรงไหน รั้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหลักที่เท่าไหร่เท่านั้น รั้วของวัฒนธรรมมันใหญ่กว่ารัฐชาติ
 
จากทั้งหมดนี้ มีข้อคิดจากชายแดนให้ชวนคิดกันต่อ คือ การดำรงอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของชาติพันธ์ การเลื่อนไหลของผู้คน สินค้า วัฒนธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ คำถามก็คือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ถ้าเรายอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่าชายแดนเป็นพื้นที่ของความยืดหยุ่นในหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนิยามความยืดหยุ่นนี้อย่างไร
 
อุดมการณ์ชาตินิยมที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียวเป็นอันตรายมากต่อผู้คนชายแดน มันลิดรอนวิถีชีวิตของชนชายแดน อันนี้ไม่ต้องพูดถึงว่ามันเป็นอันตรายต่อทั้งประเทศเพราะถ้าชายแดนมีปัญหามันจะครอบคลุมทั้งประเทศ(โดยเฉพาะการเกิดสงคราม ความเป็นชายแดนจะไปทั่วประเทศ) จึงขอเสนอว่า ชายแดนควรเป็น space of exception เป็นพื้นที่พิเศษ น่าจะทำได้ (ขนาดประเทศจีนที่เราบอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ใช้ space of exception เยอะมาก เช่นฮ่องกง เซิ่นเจิ่น) และการเป็นพื้นที่พิเศษจะทำให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการเมือง ทำให้สามารถยืดหยุ่นนโยบาย และไม่ใช่เฉพาะชายแดนที่มีปัญหา ชายแดนที่ยังไม่มีปัญหาก็ใช้ได้
 
สุดท้ายเราควรจะเรียนรู้เรื่องพื้นที่ของการจัดการร่วม (Co management) รัฐชาติและหน่วยงานของรัฐควรเลิกเป็นพระเอกและฟังคนที่ชายแดนให้มากขึ้น ชายแดนควรเป็นพื้นที่ของการจัดการร่วม (Co management) การจัดการพื้นที่ควรเป็นการจัดการขององค์กรท้องถิ่น องค์การค้า และหน่วยงานของรัฐ ไปจนถึงข้ามไปเป็นการจัดการร่วมระหว่างประเทศ รูปแบบจะเป็นอย่างไรแล้วแต่ ในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ก็ไม่ควรมีระบบการจัดการที่เหมือนกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net