Skip to main content
sharethis

1 ก.พ. 2554 - เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ สภาธรรมาภิบาล เครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความเป็นธรรมทางการศึกษา ออกหนังสือถึงประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย ศ.ดร.ประสาท สืบค้า และ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เรื่อง " วิกฤติเนื่องจากการรับตรง และแอดมิชชั่น" ซึ่งมีเนื้อหาแบบเดียวกัน

ในหนังสือทั้ง 2 ฉบับร้องเรียนให้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของนักเรียนและผู้ปกครองที่เกิดจากระบบการรับตรงของมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศเป็นผู้ตั้งเกณฑ์โดยไม่ได้มีการเปิดรับความคิดเห็น ทำให้เกิดดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนที่จนกับรวย และทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รับนักเรียนได้ไม่ครบตามแผนการสร้างบุคคลากรของชาติ

ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาชนด้านงานการศึกษาจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ หนึ่งคือ ให้มีการรับร่วมกันพร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบเดียวกันและใช้การสอบเดียวกัน โดยให้แต่ละคณะตกลงเรื่ององค์ประกอบของตนเองและส่งตัวแทนไปช่วยออกข้อสอบกลาง สอง กรณีเห็นไม่ตรงกันในเรื่ององค์ประกอบ ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันได้แต่ต้องใช้การสอบเวลาเดียวกัน สาม หากตกลงไม่ได้ทั้งเรื่ององค์ประกอบและคุณภาพข้อสอบก็ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันได้ แต่ทั้ง 3 กรณีควรมีการรับสมัครและการสอบร่วมกัน พร้อมกัน และมีศูนย์สอบอยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาชนด้านการศึกษายังขอให้มองเห็นปัญหาในระบบแอดมิชชั่นกลาง โดยให้ปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบเอ็นทรานซ์ เปลี่ยนเป็นแนวคิดวิเคราะห์มากขึ้นแต่ต้องมีมาตรฐานไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สัดส่วนของวิชาเน้นความสำคัญเข้มเฉพาะสาขานั้นๆ ในมหาวิทยาลัย เนื่องจาก องค์ประกอบเดิมทั้งปี 2548  และ  2552  ดังกล่าวทำให้ได้เด็กไม่ตรงสาขาคณะ

เนื้อหาในหนังสือฉบับเต็มมีดังนี้

 


            เครือข่ายเยาวชนเพื่อการศึกษาไทย  ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ  เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา สมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ สภาธรรมาภิบาล เครือข่ายผู้ปกครองเพื่อความเป็นธรรมทางการศึกษา
             
                                                                      1 กุมภาพันธ์  2554

เรื่อง             วิกฤติเนื่องจากการรับตรง  และแอดมิชชั่น
กราบเรียน     ฯพณฯ    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายชินวรณ์   บุณยเกียรติ 
                        ประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย  ศ.ดร.ประสาท สืบค้า 

เนื่องจากขณะนี้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปอย่างแน่ชัดแล้วว่าการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ (เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ได้เด็กตรงตามสาขาคณะในระบบแอดมิชชันที่ ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศเป็นผู้ตั้งเกณฑ์  โดยมิไดเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อดีข้อเสียของระบบทำให้เกิดปัญหาหลากหลายประการ)  ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียน,ผู้ปกครอง และโรงเรียน ทำให้นักเรียนทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาเพื่อให้มีความรู้จนครบม.4-5-6 เพราะการสอบเป็นการสอบทั้งเนื้อหาของ ม.4-5-6 ในขณะที่โรงเรียนเพิ่งจะสอนให้ได้แค่ม.4-5เท่านั้น ทำให้คุณภาพการศึกษาของชาติตกต่ำ ทำให้เกิดดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนที่จนกับรวย และทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆรับนักเรียนได้ไม่ครบตามแผนการสร้างบุคคลากรของชาติ ดังนั้นกลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามงานด้านการศึกษาจึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวดังนี้

1.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบเดียวกันและใช้การสอบเดียวกัน
โดยให้คณะต่างๆของมหาวิทยาลัยต่างๆตกลงกันให้ได้ว่า  ในแต่ละคณะนั้นจะใช้องค์ประกอบใด เพื่อให้เป็นที่พอใจร่วมกันและให้ใช้ข้อสอบกลางเดียวกันในการคัดเลือก โดยให้คณะต่างๆของแต่ละมหาวิทยาลัยส่งบุคคลากรไปช่วยสทศ.ออกข้อสอบ เพื่อให้ได้ข้อสอบมาตรฐานตามที่ต้องการ

2.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบต่างกันแต่ใช้การสอบเดียวกัน
ในกรณีที่คณะเดียวกันของต่างมหาวิทยาลัยเห็นไม่ตรงกันในเรื่ององค์ประกอบในการคัดเลือกก็ให้ใช้องค์ประกอบที่แตกต่างกันได้แม้จะเป็นคณะเดียวกัน แต่จะต้องใช้การสอบเวลาเดียวกัน

3.ให้มีการรับร่วมกัน,พร้อมกันโดยใช้องค์ประกอบต่างกันและใช้การสอบต่างกัน
ในกรณีที่คณะที่เหมือนกันตกลงกันไม่ได้เรื่ององค์ประกอบและคุณภาพข้อสอบ ก็ให้ใช้องค์ประกอบต่างกันและใช้การสอบที่ต่างกันได้ (มีการสอบหลายรูปแบบ)

ทั้งสามกรณี การรับสมัคร และการสอบต้องมารับร่วมกันและพร้อมกัน   โดยทางไปรษณีย์ หรืออีเมลล์  และมีศูนย์สอบอยู่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ อย่างทั่วถึง หรือช่องทางของโรงเรียนเหมือนวิธีการสอบแบบเอ็นทร้านซ์

อีกประการหนึ่ง ในปัญหาระบบแอดมิชชั่นกลาง น่าจะมีการปรับเปลี่ยนโดยเร่งด่วน เช่นหันไปใช้ระบบเอ็นทร้านซ์ แต่เปลี่ยนแนวข้อสอบเป็นคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น  เช่นเดียวกับ GAT PAT แต่ค่าใช้จ่ายให้น้อยลง  ต้องมีมาตรฐานข้อสอบที่ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา   สัดส่วนของวิชาเน้นความสำคัญเข้มเฉพาะสาขานั้นๆในมหาวิทยาลัย  เนื่องจาก องค์ประกอบเดิมทั้งปี ๒๕๔๘  และ  ๒๕๕๒  ดังกล่าวทำให้ได้เด็กไม่ตรงสาขาคณะและ ทำให้ฉุดคุณภาพการศึกษา  ดังผลการสอบมาตรฐานการศึกษาชาติ  และการวิจัยไอคิวเด็ก  เกรดเฉลี่ยของเด็กที่เข้าด้วยระบบแอดมิชชั่น  รวมทั้งการสร้างภาระแก่ผู้ปกครองและเยาวชน รวมทั้งครูผู้สอน ฯลฯ  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
 
ปัญหาทั้งหมดจึงจำเป็นที่อธิการบดี ทั่วประเทศ ร่วมแสดงความรับผิดชอบ ในเกณฑ์แอดมิชชั่นที่อธิการบดีเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง  ที่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ และ หาทางแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน  โปรดพิจารณาด้วยความเมตตาธรรม และรับผิดชอบต่อเยาวชนอนาคตของประเทศ  และผู้ปกครองที่ถูกระบบกระทำ ด้วยหลักธรรมาภิบาลและหลักวิชาการทางการแพทย์
  
นอกจากนั้นน่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง และรวบรวมข้อมูลผลวิจัยต่างๆที่มีการศึกษาไว้แล้ว ทั้งของสมาชิกวุฒิสภา  ชุดคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ONET ANET ในคณะกรรมาธิการ คุ้มครองสิทธิ คุณสมชาย  แสวงการ ให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน
 
จึงใคร่ขอกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยเร่งด่วน   เพื่อให้ทันการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2555   และขออนุญาตให้ผู้ปกครอง  และ เยาวชนเข้าพบเพื่อพูดคุยและปรึกษาหารือ ในระบบดังกล่าว

                                                                                                       ด้วยความนับถืออย่างสูง

ลงชื่อ 
นายอำนวย  สุนทรโชติ 
พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี
นายคมเทพ  ประภายนต์    
นอ. บัญชา  รัตนาภรณ์    
นายพรพัฒน์ รังสิโย        
นายเรืองศักดิ์ เจริญผล

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net