Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านตะวันออกกลางวิเคราะห์บทบาทของกองทัพอียิปต์ต่อการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุด ทั้งในแง่โครงสร้าง ความเป็นมา และการเชื่อมโยงอำนาจกับรัฐบาล ผ่าน 5 อันดับเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับกองทัพอิยิปต์

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา สตีเฟน เอ. คุก นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องตะวันออกกลาง เผยแพร่บทความเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดของอิยิปต์ ในชื่อ "ห้าสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับกองทัพอิยิปต์" เนื้อหาของบทความมีดังนี้

ในช่วงที่ผ่านมามีผู้คนพูดคุยกันถึงเรื่องกองทัพอิยิปต์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองคิดว่ามันเป็นความคิดที่ดี หากผมจะนำเสนอความเห็นผ่านการจัดอันดับ 5 สิ่งที่ผู้คนควรรู้เกี่ยวกับกองทัพอิยิปต์

อันดับที่ 1

เจ้าหน้าที่ทหารระดับอาวุโสเป็นผู้ที่สืบทอดตำแหน่งโดยตรงมาจาก กามาล อับเดล นัซเซอร์และกลุ่มฟรีออฟฟิศเซอร์ [1] ผู้ช่วยก่อร่างระบอบการปกครองของและรัฐบาลของอิยิปต์ ทางกองทัพจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากความสงบเรียบร้อยทางการเมือง และจนถึงบัดนี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงการเมืองมากนัก เนื่องจากระบบได้ทำงานของมันอย่างดี กองกำลังติดอาวุธโดยเฉพาะระดับผู้บัญชาการเองก็มีส่วนพัวพันอย่างลึกซึ้งในระบบเศรษฐกิจของอิยิปต์

อันดับที่ 2

เป็นเรื่องทีชวนให้รู้สึกหมดห่วงอย่างมาก เมื่อทางกองทัพประกาศว่าจะไม่ยิงผู้ชุมนุม ซึ่งขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็ไม่ถือว่าเกินความคาดหมายนัก กองทัพอิยิปต์ไม่เหมือนกลุ่มกองกำลังของซีเรียที่พร้อมจะสังหารคนเป็นพันเพื่อรักษา ฮาฟิซ อัล ฮาซาด ไว้ในปี 1982 (ประธานาธิบดีซีเรียในสมัยนั้น) เจ้าหน้าที่กองทัพมักโยนให้การสร้างความสงบบนท้องถนนอิยิปต์เป็น "งานสกปรก" ของกระทรวงมหาดไทย

ขณะเดียวกันในเรื่องการประกาศไม่ใช้กำลังนั้นยังเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกายในกองทัพด้วย มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกองทัพระหว่างผู้บัญชาการอาวุโสซึ่งอยู่ฝ่ายหนึ่ง กับเจ้าหน้าที่รุ่นน้องกับทหารเกณฑ์ซึ่งอยู่อีกฝ่ายหนึ่งที่ปฏิเสธจะยิงผู้ชุมนุม ความขัดแย้งภายในนี้เป็น "ส้นเท้าของอะคิลลิส" (เป็นสำนวนเปรียบเทียบถึงสิ่งที่แม้จะแข็งแกร่งแต่ก็มีจุดอ่อนร้ายแรงอยู่) ฝ่ายผู้อาวุโสในกองทัพก็ไม่รู้ว่าประชาชนจะยอมทำตามคำสั่งพวกเขาหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลลัพธ์ตามมาคือแทนที่จะเสี่ยงต่อความแตกแยกของกองทัพ ทหารอิยิปต์จึงเลือกทางที่จะไม่ใช้กำลังในการปราบปรามผู้ชุมนุม

อันดับที่ 3

แล้วยุทธวิธีที่พวกเขาใช้ล่ะ? ยุทธวิธีในการควบคุมการชุมนุมประท้วงให้นานที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้ และเล่นตามบทไปเรื่อยๆ จากมุมมองของมูบารัก รองประธานาธิบดีโอมาร์ สุไลมาน เสนาธิการ ซามี อันนัน และคนอื่นๆ ที่ยังคงเกาะเกี่ยวอำนาจเอาไว้วันต่อวันมีโอกาสในการทำให้กลุ่ต่อต้านอ่อนแรงลงและทำให้พวกเขารู้สึกมีการผูกมัดต่อการประท้วงน้อยลง เป็นเรื่องน่าแปลกใจหรือไม่ที่สุไลมานเริ่มพูดถึงการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ผู้นำกองทัพอาวุโสเชื่อว่าเขาจะอุ้มรัฐบาลไว้ได้ พวกเขาหลงผิดไปเอง? อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเลยในการทำให้เห็นความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งกับรัฐบาล

อันดับที่ 4

หากมีคนสงสัยล่ะก็ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้เผยให้เห็นแล้วว่ากองทัพคือแกนหลักจริงๆ ของรัฐบาล พรรคเนชันแนลเดโมเครติกไม่มีความหมายอีกแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ก็หนีออกไปหมด ส่วนหน่วยงานตำรวจ (ยังจำข้อถแเถียงเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าตำรวจพยายามเข้ามามีบทบาทแทนที่ทหารได้หรือไม่) นั้นก็ล่มสลายไปแล้ว มีเพียงกองทัพเท่านั้นที่เหลืออยู่และดูเหมือนจะไม่อยากขยับออกไปไหนเลย เรากำลังเข้าไปในพื้นที่เรื่องความหมายในการดำรงอยู่ ผลที่เกิดตามมาอาจทำให้เกิดภาวะคุมเชิงกัน ซึ่งในขณะที่กองทัพไม่ใช้กำลังใดๆ หน่วยข่าวของสุไลมานก็คอยทำให้ฝ่ายผู้ต่อต้านแตกแยกกัน คนพวกนี้ถึงจะโหดแต่ก็ไม่ได้โง่

อันดับที่ 5

การสืบทอดอำนาจกำลังมีการดำเนินการอย่างลับๆ อยู่แล้ว การแต่งตั้งสุไลมานเป็นรองประธานาธิบดีเป็นเพียงการย้ำให้เห้นว่าทางสถาบันกองทัพไม่ยอมสละอำนาจอย่างไม่เป็นทางการที่พวกเขามีเชื่อมโยงกับประธานาธิบดีและรัฐบาล หากพวกเขาจัดการกับความยุ่งยากในตอนนี้ได้ พวกเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจควบคุมอยู่ตอนนี้อาจจะสถาปนาให้สุไลมานและอัลเมด ชาฟีค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ทหารอากาศ (เช่นเดียวกับมูบารัก) เป็นผู้นำอิยิปต์คนต่อไป สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการจัดการฉากลงจากตำแหน่งของมูบารัก ซึ่งต้องทำให้ดูสง่างามที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อเกียรติยศแล้ว ผู้มีอำนาจเหล่านี้ไม่มีหนทางอื่น

..................................

[1] - กามาล อับเดล นัซเซอร์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอิยิปต์ ผู้ร่วมมือกับมูฮัมหมัด นาจิบ-ประธานาธิบดีคนแรก ในการปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ในอิยิปต์และซูดาน โดยตั้งกลุ่มขบวนการฟรีออฟฟิศเซอร์ (คณะข้าราชการเสรี) ที่มีการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่กองทัพรุ่นใหม่ในการปฏิบัติการ หลังจากที่อิยิปต์พ่ายแพ้ในสงคราม อาหรับ-อิสราเอล เมื่อปี 1948 รวมถึงการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) ซึ่งส่งผลต่อตะวันออกกลาง รวมถึงการที่กลุ่มอำนาจใหญ่ในตะวันออกกลางพยายามขจัดความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีกลุ่มทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทำให้เกิดรัฐสมัยใหม่ซึ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา
Five Things You Need to Know about the Egyptian Armed Forces, Steven A. Cook, Council on Foreign Relations (Blog), 31-01-2011
http://blogs.cfr.org/cook/2011/01/31/five-things-you-need-to-know-about-the-egyptian-armed-forces/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Gamal_Abdel_Nasser , เข้าดูเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2554
http://en.wikipedia.org/wiki/Free_Officers_Movement , เข้าดูเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net