Skip to main content
sharethis

"ปริญญา ศิริสารการ" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้ล่ามไต่สวนคดี “วีระ-ราตรี” หมกเม็ดข้อมูล ยกย่อง “วีระ” กล้าหาญกว่า “มาร์ค” ที่สู้กับคนกัมพูชาทั้งประเทศ

2 ก.พ.54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์ไต่สวนคดี นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ และรับฟังคำตัดสินของศาลกัมพูชา ว่า ได้เพียงแค่เห็นหน้า นายวีระ เท่านั้น จึงไม่ได้หารือเรื่องปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ปัญหาที่สังเกตพบ คือ เรื่องการแปลภาษาของล่ามที่มีปัญหา และจับประเด็นไม่ได้ใจความที่สมบูรณ์ แต่ศาลกัมพูชาก็ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนล่ามตามที่ นายวีระ ร้องขอ รวมทั้งเรื่องพยานหลักฐาน และข้อมูลที่ทางเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ต้องการนำไปต่อสู้กับศาลกัมพูชา เพื่อช่วย นายวีระ นั้น ก็ไม่ได้รับการประสานจากรัฐบาลไทย ซึ่งกัมพูชานั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยาน แต่ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยไม่มีการส่งตัวช่วยมาเลย ทั้งนี้ เรื่องการประสานเข้าพบ นายวีระ และ น.ส.ราตรี ในเรือนจำนั้น ตนได้ประสานไปยังสถานทูตไทยในกัมพูชา เพื่อช่วยดำเนินการและขณะนี้ก็กำลังรอคำตอบอยู่ว่าจะได้พบ 2 คนเมื่อใด
      
“ผมขอตำหนิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยเกียร์ว่าง ไม่ยอมส่งพยาน หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วย นายวีระ ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ได้ขอร้อง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และขอชื่นชม นายวีระ ที่กล้าหาญ ที่ยืนยันต่อหน้าศาลกัมพูชาอยู่ตลอด ว่า ตัวเองถูกจับในดินแดนไทย นายวีระ รักชาติเหนือกว่านายกฯหลายเท่า เพราะนายวีระต่อสู้กับคนกัมพูชาทั้งประเทศและต่อสู้กับนักการเมืองไทยบางคน ด้วย” นายปริญญา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ทาง กสม.จะประสานขอเข้าพบนายกฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในกรณีดังกล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร ต่อไป

อนึ่งนาย นายปริญญา ศิริสารการ หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันนั้น อดีตเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรม, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2551 และเป็นกรรมการ (กต.ตร.) สถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนไทย จ.นครราชสีมา ได้รับการลงคะแนนรับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2552 ในอันดับที่ 7 โดยได้รับความเห็นชอบ 76 ต่อ 42 เสียง ไม่ลงคะแนน 18 เสียง

โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน เป็น กสม. ในครั้งนั้นได้แก่
1.ศ.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นชอบ 131 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง 2.นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เห็นชอบ 128 ต่อ 2 คะแนน ไม่ลงคะแนน 7 เสียง
3.นางวิสา เบ็ญจะมโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เห็นชอบ 126 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง
4.นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 123 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง
5.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นชอบ 122 ต่อ 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 9 เสียง
6.นพ.นิ รันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี และประธานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต เห็นชอบ 109 ต่อ 20 เสียง ไม่ลงคะแนน 8 เสียง
7.นายปริญญา ศิริสารการ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา เห็นชอบ 76 ต่อ 42 เสียง ไม่ลงคะแนน 18 เสียง 

ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net