Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ในเดอะเนชั่น, 4 กุมภาพันธ์ 2554 http://www.nationmultimedia.com/2011/02/04/life/The-truth-about-discrimination-30147884.html

 

ข่าวสายการบินพีซีแอร์เปิดรับสมัครผู้หญิงข้ามเพศเป็นแอร์โฮสเตสกลายเป็นประเด็น โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะรู้สึกยินดีที่พวกเธอเหล่านั้นได้รับการยอมรับให้ทำ งานเคียงข้างแอร์โฮสเตสและสจ๊วตอื่นๆ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ให้รอบด้าน เพราะหากว่าคิดให้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว น่าจะมีความรู้สึกเหมือนถูกตบหน้ามากกว่า เนื่องจากข่าวนี้ได้ทำลายความเชื่อที่ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของผู้มีความ หลากหลายทางเพศลงอย่างสิ้นเชิง

ลองคิดดูว่าหาก “ประเทศไทยเปิดกว้างต่อ ‘เพศที่สาม’อย่างเต็มที่” ตามที่เชื่อกัน แล้วทำไมการที่สายการบินหนึ่งไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศถึงกลายเป็น หัวข้อข่าวใหญ่ได้ ถ้าประเทศไทย “ยอมรับ” ผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงๆ แล้ว หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนต่างๆ ก็น่าจะรับพวกเธอเข้าทำงานอยู่แล้วอย่างปกติใช่หรือไม่

ความจริงก็คือ ผู้หญิงข้ามเพศหรือกะเทยนั้น แม้ว่าจะเห็นกันอยู่ทั่วไป แต่กลับถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่ามีความบกพร่องทางจิตหรือหนักยิ่งกว่านั้นคือ ถูกหาว่าผิดศีลธรรม คำถามที่ควรถูกถามก็คือ เมื่อประตูโอกาสบานหนึ่งเปิดออก ยังมีอีกกี่บานที่ถูกปิดกระแทกใส่หน้ากะเทยหรือคนรักเพศเดียวกันที่เปิดเผย ตนเอง ธัญญรัศม์ จิราภัทร์ภากร หรือ ฟิล์ม ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นแอร์โฮสเตสข้ามเพศคนแรกอย่างเป็นตัวของตัวเองเล่า ให้ฟังว่า “ตอนแรกก็คิดว่า เค้าคงรับสมัครไปอย่างนั้น แต่คงไม่เรียกตัวมาทำงานจริงๆ เหมือนหลายๆ ที่ที่เคยไปสมัครมา” ประสบการณ์ของฟิล์มนั้นไม่ได้ผิดแปลกไปจากสิ่งที่ผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมาก ประสบ วันนี้ผู้เขียนเองเพิ่งได้ยินเรื่องของเกย์คนหนึ่งถูกกดดันให้ลาออกจากงาน หลังจากเปิดเผยตัวให้เจ้านายได้รู้ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่แสดงให้เห็นถึงอคติที่มีอยู่อย่างเป็นระบบในสังคมไทย

ในขณะที่พีซีแอร์ทะยานสู่ความเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน สายการบินอื่นๆ กลับให้ความเห็นต่อกรณีนี้อย่างเอาหัวโหม่งโลก บางสายการบินพูดได้อย่างหน้าตาเฉยว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อ “สาวประเภทสอง”แต่ไม่มีนโยบายจ้างคนเหล่านั้น (อ้างอิงจากข่าวนี้ในข่าวสด) ผู้พูดเช่นนี้ควรลองพูดประโยคเดียวกันนี้ออกมาดังๆ ต่อหน้าสื่อ โดยแค่เปลี่ยนคำว่า “สาวประเภทสอง” เป็น “ผู้หญิงอายุเกิน 35” หรือ “ผู้มีเชื้อชาติจีน” รับรองว่าศาลปกครองจะหัวกระไดไม่แห้งด้วยคดีฟ้องร้องเลือกปฏิบัติ

ที่น่าอดสูใจที่สุด คือ การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ที่ “แหล่งข่าวระดับสูง” ให้เหตุผลว่า ผู้หญิงข้ามเพศจะมีปัญหาในการทำงานเมื่อต้องผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองใน บางประเทศ แต่นั่นก็เป็นข้ออ้างโหลยโท่ย เพราะมีประเทศอีกมากมายหลายประเทศที่ไม่มีปัญหากับความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น การบินไทยสามารถที่จะให้ผู้หญิงข้ามเพศปฏิบัติหน้าที่ในเส้นทางไปยังประเทศ เหล่านั้นหรือเส้นทางภายในประเทศ ไม่ใช่ปฏิเสธไม่รับอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ดูความสามารถเสียก่อน นับเป็นเรื่องขำไม่ออกที่การบินไทยมีรหัสสายการบินว่า TG แต่กลับไม่เป็นมิตรต่อบุคคลข้ามเพศทั้งหลายซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า ทรานสเจนเดอร์ หรือตัวย่อ TG เช่นกัน

บ่อยครั้งที่เราได้ยิน ว่า มีชายรักชายหรือหญิงรักหญิงทำงานในการบินไทยจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่าการบินไทยให้สิทธิประโยชน์ต่อพนักงานเหล่านี้และคู่ ชีวิตของพวกเขาอย่างเท่าเทียมกับคู่ชีวิตต่างเพศแต่อย่างใด

การที่ “แหล่งข่าวระดับสูง” ของการบินไทยอ้างถึงวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมยิ่งน่าสมเพช หากการบินไทยอนุรักษ์ค่านิยมโบราณจริงๆ ก็น่าจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจเดินเส้นทางเกวียนจะดีกว่า เพราะธุรกิจการบินนั้นไม่ใช่ธุรกิจอนุรักษ์นิยมมาแต่แรก ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนไม่เคยเห็นว่า การบินไทยจะอ้างความเป็นอนุรักษ์นิยมแต่อย่างใด เมื่อต้องบินเหนือวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมๆ ไปกับเท้าผู้โดยสาร 300 คู่กับส้วมอีกจำนวนหนึ่ง (ถ้าการบินไทยวางแผนเส้นทางการบินเพื่อหลีกเลี่ยงวัดวาอารามที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน)

ความจริงคือ การบินไทย ก็เหมือนกับสังคมไทยส่วนใหญ่ ที่จะอ้างความเป็นอนุรักษ์นิยมวัฒนธรรมเก่าแก่ เมื่อสอดคล้องกับอคติของตน แต่ก็พร้อมที่จะเลิกอนุรักษ์ได้ทันทีที่สะดวก ประเทศไทยไม่อายที่จะโปรโมตการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการด้วยการใช้คาบาเรต์ กะเทยพัทยามาโฆษณาหากิน แต่กลับไม่เคยมีหน่วยงานรัฐไปถามความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนเหล่านี้ ไม่มีกฎหมายรับรองการแปลงเพศ ไม่มีแม้แต่การสนับสนุนให้ความรู้เรื่องการใช้ยาหรือฮอร์โมนอย่างปลอดภัย ไม่ต้องพูดไปถึงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการแปลงเพศ ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศถือเป็นสวัสดิการรัฐ

ถ้าการบินไทยมีความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยในการบินได้ การบินไทยก็ต้องมีความสามารถในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ของประเทศได้เช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 30 ห้ามการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมทั้งด้วยเหตุแห่งอายุและเหตุแห่งเพศ ซึ่งคุ้มครองคนทุกวัยและทุกเพศ รวมถึงผู้หญิงข้ามเพศ

หญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ ทุกคน ควรใคร่ครวญเสียใหม่ก่อนที่จะอุดหนุนบริษัทใดๆ ก็ตามที่เห็นพวกเราไม่ใช่มนุษย์ที่เท่าเทียม แต่เป็นแค่กระเป๋าตังค์ใบหนึ่ง ส่วนในระหว่างนี้ คงเป็นการนับถอยหลัง เพราะไม่ช้าก็เร็วต้องมีผู้หญิงข้ามเพศ หรือแม้แต่ผู้หญิงอายุเกิน 35 ถูกปฏิเสธจากการบินไทยแล้วเอาเรื่องไปฟ้องศาลปกครอง หวังว่าการบินไทยจะมีทนายและประชาสัมพันธ์เก่งๆ ไว้รอแก้ต่างเมื่อถึงเวลานั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net