Skip to main content
sharethis

คนงานถอดบทเรียน "คดีฝุ่นฝ้าย" เผยฟ้องนายจ้างเพราะหวังปรับปรุงสภาพโรงงานให้ดีขึ้น นักสิทธิฯ ชี้คดีนาน 15 ปีสวนทางปรัชญาก่อตั้งศาลแรงงาน ส่วนนักวิชาการด้านกฎหมายระบุวิจารณ์ศาลได้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง เอ็นจีโอเตือนคนงานเตรียมรับมืออุตสาหกรรมหนัก-เปิดการค้าเสรี

(5 ก.พ. 54) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีการจัดเวทีเสวนา "บทเรียน 15 ปีคดีกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบจากโรงงานทอผ้า สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรกับสิทธิทดแทนที่เป็นธรรม" เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์การต่อสู้ของกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบฝุ่นฝ้าย รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

โดยนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ฟ้องร้องคดีนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนตัดสินใจฟ้องคดีว่า สภาพในโรงงานขณะนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นฝ้าย ส่งกระทบต่อสุขภาพของคนงาน เมื่อตรวจรักษาและทราบว่าเป็นโรคจากการทำงาน ได้ร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนนาน 99 วัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในเงินทดแทน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอเพราะเป็นเงิน 60% ของค่าจ้าง ซ้ำยังต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วเบิกทีหลัง ทำให้คนงานต้องไปกู้ยืมเงินมาจ่ายก่อน สุดท้าย เมื่อพวกเธอได้เข้าอบรมกับสภาทนายความจึงตัดสินใจฟ้องร้องเป็นคดีความ โดยหวังให้นายจ้างมีการปรับปรุงโรงงาน รวมถึงได้ค่าชดเชยเพื่อให้ผู้ป่วยแต่ละคนได้กลับไปฟื้นฟูตนเอง อย่างไรก็ตาม ไม่นึกว่าจะต้องนำพาพี่น้องมายาวนาน 15 ปี

อัดกระบวนการพิจารณาคดีสวนทางปรัชญาก่อตั้งศาลแรงงาน
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)กล่าวถึงปรัชญาพื้นฐานในการก่อตั้งศาลแรงงานเมื่อปี 2522 ที่ว่า "ศาลแรงงานก่อตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีผู้พิพากษาที่เป็นผู้ที่มีความรู้มีความเข้าใจในปัญหาแรงงาน ร่วมกับผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ทั้งการดำเนินคดีควรเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อให้คู่ความมีโอกาสประนีประนอมยอมความและสามารถกลับไปทำงานโดยไม่มีความรู้สึกเป็นอริต่อกัน" และว่า เมื่อดูกระบวนการพิจารณคดีที่ยาวนานถึง 15 ปีของคดีฝุ่นฝ้าย ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับปรัชญาข้างต้น

ทั้งนี้ เขาเสนอว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการกลับไปที่ปรัชญาเดิมของศาลแรงงาน ที่มีผู้พิพากษาที่มีความชำนาญในด้านแรงงานโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นทางผ่านของผู้พิพากษาต่อไปยังศาลอื่นๆ รวมถึงปรับกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบเข้าไปเป็นตัวแทนฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง ให้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ดูที่ฐานของคะแนน ทั้งนี้พบว่าบางครั้งมีตัวแทนนายจ้างเข้าไปเป็นผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างด้วย

นอกจากนั้น เข้าใจว่ากระบวนการพิจารณาคดีได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องเป็นระบบไต่สวน เพื่อให้ผู้พิพากษาหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากลูกจ้างมีโอกาสน้อยกว่า นับตั้งแต่การหาทนายความมาสู้คดีจนถึงอำนาจต่อรองในการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่การพิจารณาคดี ดังนั้น หากไม่ใช่ระบบไต่สวน จะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้ตั้งแต่ต้น

นายไพโรจน์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คำพิพากษาคดีนี้สร้างบรรทัดฐาน คือ 1.แม้จะจ่ายเงินจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว ก็ยังจ่ายค่าเสียหายอื่นจากการละเมิดได้ 2.กรณีอายุความว่าจะฟ้องละเมิดได้ภายใน 1 ปีเท่านั้น กรณีนี้ใช้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ก่อให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายต่อร่างกาย จะต้องจ่าย โดยฟ้องได้ในภาย 10 ปี นอกจากนี้ นายจ้างซึ่งจำเลยระบุว่าคนงานไม่ใช่ "ผู้อื่น" เพราะอยู่ในกระบวนการผลิตด้วย (มาตรา 96 ระบุว่า แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ต้องจ่ายและฟ้องได้ใน 10 ปี)ศาลชี้ว่า ผู้อื่นในความหมายนี้ คือไม่ใช่เจ้าของ เพราะฉะนั้นคนงานจึงไม่เกี่ยวข้องด้วย

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตอนฟ้องคดี นอกจากเรียกร้องเงินทดแทนแล้ว ยังมีคำขอในเรื่องสำคัญอีกสามเรื่อง ซึ่งศาลไม่ได้วินิจฉัย นั่นคือ ให้แก้ไขโรงงานให้อยู่ในสภาพปลอดภัยจากมลภาวะภายในเวลาที่ศาลกำหนด และรายงานให้ศาลทราบเป็นระยะพร้อมคำรับรองของหน่วยงาน ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายในกระบวนการผลิต รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันและแจ้งให้ศาลทราบเป็นระยะๆ ซึ่งเขามองว่า คำพิพากษาควรขยายผลเรื่องนี้ไปไกลกว่านี้ เพราะหากมีการกระทำตามข้อเรียกร้องได้จริง ต่อไปก็จะมีการพัฒนาโรงงานอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการแรงงานทั้งหมด

เมื่อศาล(ในอเมริกา)วิจารณ์ได้ และนำมาซึ่งการปรับตัว
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงคดีแรงงานกับกระบวนการทางศาลว่า คดีนี้ สื่อหลายแห่งรายงานว่าผู้ใช้แรงงานชนะ แต่เขามองว่าเป็นความพ่ายแพ้ใน ชัยชนะ ดังคำกล่าวที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือไม่มีความยุติธรรม โจทก์แต่ละรายได้เงินประมาณ 110,000 บาทหลังรอมา 15 ปี หากคิดเป็นเงินต่อปี ตกปีละเจ็ดพันกว่าบาท นี่เป็นปัญหาในการพิจารณาคดี นอกจากนี้ ในคำพิพากษาไม่ได้ระบุว่าบนฐานคิดอะไรจึงจ่ายแค่นี้ ทั้งที่ตอนฟ้องคดี โจทก์แจกแจงว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าไหร่ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ต่อไปเวลาฟ้องคดีจะไม่มีหลักการว่าจ่ายเท่าไหร่ ดังนั้น แม้ว่าแง่หนึ่งศาลตัดสินให้ผู้ใช้แรงงานชนะ แต่มันก็คลุมเครือและยาวนาน

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ถ้าพิจารณาคดีแรงงานที่เกิดขึ้นโดยรวม จะพบว่า คดีบางคดี ศาลตัดสินเร็วมาก โดยเฉพาะคดีของสหภาพแรงงานและคดีเลิกจ้างต่างๆ ดังนั้น จะเห็นว่ากระบวนการทางศาลต่อให้เป็นศาลแรงงาน ก็มีปัญหาอย่างมากในภาพรวม โดยมีความเข้าใจแรงงาน ระบบการจ้างงานต่ำมาก เพราะฉะนั้น จึงควรต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ เมื่อจะใช้กระบวนการทางศาลเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ด้วย

นอกจากนี้ นายสมชายกล่าวถึงงานวิจัยเกี่ยวกับสหภาพแรงงานในสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วง 2-3 ทศวรรษหลัง สหภาพแรงงานในอเมริกาชุมนุมประท้วงน้อยลง โดยหันมาใช้กระบวนการทางศาลมากขึ้น ซึ่งนี่เกิดจากการที่ศาลปรับตัวหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างหนัก โดยก่อนหน้านั้น ศาลในอเมริกาได้ตัดสินว่า การให้สิทธิพิเศษแก่ลูกจ้างหญิงในการทำงานให้ไม่ต้องยกของหนักเป็นการเลือกปฏิบัติ หลังจากนั้น ศาลก็โดนด่าว่าไม่เข้าใจการเลือกปฏิบัติ

"ที่เปลี่ยนแปลงมาก อย่าคาดหวังว่าศาลจะนั่งทางในแล้วบรรลุสัจธรรม แต่เกิดจากการที่สังคมกดดัน วิพากษ์วิจารณ์" นายสมชายกล่าวและว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่บอกว่าต้องวิจารณ์อย่างเป็นวิชาการ ซึ่งเมื่อพูดเช่นนี้ ผู้ที่วิจารณ์ได้ก็มีเพียงนักวิชาการ ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทำไม่ได้

นอกจากนี้ นายสมชาย แนะว่าควรให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ด้วย เพราะระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลสะเทือนต่อความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน โดยลูกจ้างสองกลุ่มในสถานประกอบการเดียวกันไม่ได้มีสหภาพแรงงานร่วมกัน เพราะกลุ่มหนึ่งเป็นแรงงานระยะสั้น อีกกลุ่มเป็นพนักงานประจำ ทำให้การรวมตัวของสหภาพแรงงานแบบเดิมอ่อนกำลั

ทั้งนี้ เวลาที่จะสู้คดีของผู้ใช้แรงงานในคดีประเภทต่างๆ เมื่อผู้ใช้แรงงานจะใช้กระบวนการทางศาล จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จต้อง ใช้ทรัพยากรที่เพียงพอ และมีเครือข่ายหนุนหลังพอสมควร ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล โดยยกตัวอย่างกรณีคดีฝุ่นฝ้าย ว่าหากโจทก์แต่ละคนจ้างทนายกันคนละกัน 15 ปีจะต้องจ่ายค่าจ้างทนายเป็นเงินจำนวนมาก

นายสมชายเสนอว่า หากจะปฏิรูปกระบวนการทางศาล ลำพังพลังของผู้ใช้แรงงานไม่พอ เพราะสถาบันศาลในสังคมไทยมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมาก นั่นคือรักษาสถานะของผู้ได้เปรียบในสังคมไทยเอาไว้ตลอด ดังนั้น ต้องร่วมกับกลุ่มคนจนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่รอบด้าน

เตือนเตรียมรับมือ อุตสาหกรรมหนัก-เปิดการค้าเสรี
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ กล่าวว่า ปัญหาที่คนงานคดีฝุ่นฝ้ายพบในอดีต เกิดจากอุตสาหกรรมทอผ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมล้าหลังที่ประเทศอื่นถ่ายโอนจากประเทศพัฒนาแล้วมาให้ ปัจจุบันก็มีอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ ที่ถูกถ่ายโอนมาเช่นกัน ได้แก่อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งก่อปัญหาสารพิษให้คนในพื้นที่จำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยจากสารพิษในกระบวนการผลิต จนต้องลาออกจากโรงงาน โดยที่นายจ้างอาจทราบหรือไม่ทราบว่ามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีต ปัจจุบันรวมถึงในอนาคตก็ทยอยทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงด้วย ดังนั้น จึงควรมีการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และสารพิษแก่คนงาน เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net