Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ขณะนี้ในรัฐสภากำลังมีการพิจารณากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งคือ ร่าง แก้ไข พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวานนี้(๓ กพ.๕๓) เป็นนัดแรกในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ นับเป็นการต้อนรับอายุครบ ๒๐ ปีของกฎหมายฉบับนี้อย่างน่าสนใจและน่าตื่นเต้นด้วยเช่นกัน กฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายที่ขบวนการแรงงานไทย นักวิชาการด้านแรงงาน ได้ร่วมกับผลักดันให้เกิดขึ้นโดยใช้เวลายาวนาน ๓๐ ปีกว่าจะได้กฎหมายนี้ และแน่นอนเมื่อประกาศใช้แล้ว ไม่รู้ว่าลูกจ้างจำนวนเกือบ ๑๐ ล้านคนในปัจจุบันที่ถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎหมายนี้รู้จักและเข้าใจกฎหมายนี้มากน้อยเพียงใด รู้หรือไม่ว่าถูกหักเงินเดือน ๕ เปอร์เซนต์ทุกเดือนไปนั้นเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง สิทธิเหล่านั้นเหมาะสม เพียงพอ และเป็นธรรมเพียงใด มีใครตอบได้บ้าง บางหน่วยงานแม้ถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลยังตอบไม่ได้ละเอียดด้วยซ้ำไป
 
หลักการสำคัญของกฎหมายนี้คือสร้าง “หลักประกันทางสังคม” ให้กับลูกจ้าง  ให้มีหลักประกันว่าหากตกงาน ยังพอมีรายได้ประทังชีวิตไประยะหนึ่งก่อนจะหางานใหม่ หรือตกงานเนื่องจากปิดโรงงาน เปลี่ยนงาน ก็มีฝึกอาชีพอื่นๆให้ด้วย ยามเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษา  เมื่อต้องหยุดงานจากการเจ็บป่วย  ก็ได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ เมื่อลาคลอด ลาเลี้ยงลูกก็มีรายได้ชดเชยให้ได้บางส่วน เมื่อเกิดทุพพลภาพก็ได้รับการช่วยเหลือบ้างพอควร เมื่อมีลูกก็ได้รับเงินเพิ่มรายเดือนต่อเนื่อง ๕ ปีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เมื่อชราภาพก็ได้รับบำนาญ ที่สุดเมื่อตายก็ได้รับเงินสงเคราะห์ช่วยค่าทำศพ นับเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคน แต่กฎหมายนี้บังคับใช้ได้กับคนที่มีรายได้ประจำแน่นอน มีนายจ้างแน่นอนชัดเจน เท่านั้น เนื่องจากตั้งบนหลักการ “ร่วมจ่ายระหว่าง ลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล”  ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่ได้รับอานิสงค์ของกฎหมายนี้  หรืออีกนัยหนึ่ง คนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่มีหลักประกันทางสังคม
 
การแก้กฎหมายประกันสังคมในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล ประกอบกับมีขบวนการแรงงานที่ติดตามเกาะติด กระตุ้น หนุนเสริม เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีการร่างกฎหมายโดยประชาชน หารายชื่อ ๑ หมื่นชื่อมาประกบกับของรัฐบาล มีการทำงานให้ข้อมูลอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้รับรู้ รับทราบ เกี่ยวกับกฎหมายนี้   ทำให้การแก้ไขกฎหมายนี้ย่อมเสร็จได้ในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน  (จบสมัยประชุมนี้ในสิ้นเดือนพฤษภาคม ๕๔)
 
เดิมความมุ่งมั่นของรัฐบาลคือต้องการขยายสิทธิประโยชน์บางอย่างไปให้ครอบครัวของลูกจ้าง  โดยเฉพาะสิทธิเรื่องการรักษาพยาบาล จึงต้องการแก้กฎหมายบังคับให้เอาครอบครัวคือภรรยา สามี ลูก ของลูกจ้างมารับสิทธิการรักษาพยาบาลภายใต้กฎหมายประกันสังคม เท่านั้นเอง แต่ขบวนการแรงงานที่เสนอแก้กฎหมายด้วยเช่นกัน  มีข้อเสนอมากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการบริหารกองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงแรงงาน  มีปลัดกระทรวงเป็นประธานกองทุน มีคณะกรรมการตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง  ที่การได้มาไม่ค่อยมีลักษณะเป็นตัวแทนของลูกจ้างที่อยู่ในประกันสังคมที่กว้างขวางทั่วถึงเพียงพอ ซึ่งในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการคงจะต้องสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงว่าด้วยการทำให้สำนักงานประกันสังคม เป็นสำนักงานอิสระ บริหารจัดการด้วยมืออาชีพด้านกองทุน มีผู้แทนผู้ประกันตนที่หลากหลาย ไม่ใช่ล๊อกกันมาหน้าเดิมๆ ที่ตั้งสหภาพแรงงานลวงๆ มาหลอกกัน 
 
ถึงเวลาแล้วที่  ลูกจ้าง คนงาน ผู้ประกันตน ควรจะได้รับหลักประกันทางสังคมที่ดีขึ้น มีค่ามากขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน เมื่อทุพพลภาพควรได้รับการช่วยเหลือ ชดเชยให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆที่สำคัญเช่น การให้การช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย การมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญควรพึ่งพาได้เมื่อยามชราภาพอย่างแท้จริง นั้นคือเมื่อผู้ประกันตนเกษียณก็สมควรได้รับบำนาญชราภาพที่เพียงพอไปจนสิ้นอายุขัย แต่ทั้งหมดนี้กฎหมายประกันสังคมยังคงสามารถคุ้มครองได้เฉพาะผู้ประกันตนเท่านั้น ที่สามารถหักเงินเดิอนร่วมจ่ายเข้ากองทุนทุกเดือน พร้อมกับนายจ้าง และรัฐสมทบบางส่วน
 
รัฐควรพิจารณาว่าหากไม่สามารถขยายกฎหมายประกันสังคม ให้ครอบคลุมคนทุกคนได้ ก็ต้องเร่งดำเนินการให้เกิด “หลักประกันสังคม”  ให้กับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับเบี้ยยังชีพคนชราให้เป็นกฎหมายบำนาญชราภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนสูงอายุทุกคนในปัจจุบันจะได้รับเงินบำนาญพื้นฐานทันทีจากรัฐให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ  และเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่  คนมีงานทำปัจจุบัน  เริ่มต้นการออมเพื่อชราภาพของตนเอง สำหรับเป็นหลักประกันในอนาคตอีก ๔๐ ปีข้างหน้าจะมีบำนาญชราภาพจากการออมของตน บวกกับ บำนาญพื้นฐานที่รัฐจัดให้ เพื่อให้ดำรงชีวิตยามชราได้อย่างมีคุณภาพ  
 
สิ่งที่น่าคิดต่อของผู้ประกันตนในปัจจุบันคือ  ขณะนี้มีกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นกฎหมายว่าด้วย “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยโดยรัฐใช้ภาษีมาดำเนินการทั้งหมด  การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ มีความเฉพาะคือตั้งอยู่บนหลักการ “ซื้อประกันสุขภาพ”ให้ประชาชนทุกคน  ด้วยการ “เฉลี่ยความเสี่ยง คือทุกคนไม่ป่วยพร้อมกันในแต่ละปี” ทำให้เงินจ่ายไปสำหรับคนที่ป่วยและเงินถูกใช้หมดไปในแต่ละปี เหมือนเราซื้อประกันกับเอกชน ดังนั้น การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ จึงต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และต้องการจำนวนคนทุกเพศ ทุกวัย มาเฉลี่ยความเสี่ยงกันในแต่ละปี 
 
ในอดีตเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมาไม่มีระบบสวัสดิการประกันสุขภาพ  ผู้ประกันตนจึงต้องกันเงินส่วนหนึ่งของการจ่ายสมทบให้ประกันสังคม ไปซื้อประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลให้กับผู้ประกันตน เมื่อยามเจ็บป่วยก็ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่เราเอาเงินไปจ่ายซื้อประกันสุขภาพไว้  เช่นเดียวกัน วิธีคิดคือ ซื้อประกันสุขภาพ เฉลี่ยความเสี่ยงของการป่วยระหว่างกันในหมู่ผู้ประกันตน  แต่ต้องจ่ายเงินเอง  ปัจจุบันรัฐจ่ายให้อยู่แล้วกับคนทุกคนในระบบบัตรทอง ทำไมผู้ประกันตนจึงยังต้องจ่ายอีก  จ่ายซ้ำซ้อน  แถมล่าสุดมีข้อมูลว่าได้รับบริการการรักษาที่ด้อยกว่าระบบบัตรทองอีก 
 
ดังนั้น  การพิจารณาแก้กฎหมายประกันสังคมครั้งนี้  ขบวนการแรงงานควรรักษาสิทธิในการร่วมจ่ายเงินแต่ละเดือนของตนไว้ให้ได้รับสิทธิเพิ่มมากขึ้นในส่วนทุพพลภาพ ว่างงาน  ที่อยู่อาศัย และชราภาพ  ส่วนเรื่องรักษาพยาบาลไม่ต้องจ่าย และไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ดีกว่าหรือ ได้ทั้งบริการ และได้ทั้งการไปเฉลี่ยความเสี่ยงกับพ่อแม่ พี่น้องของเราในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะผู้ประกันตนยังวัยแข็งแรง  ไม่เจ็บป่วยกันมากนัก  ลองคิดดูและติดตามการพิจารณาแก้กฎหมายในรัฐสภากันอย่างใกล้ชิดต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net