Skip to main content
sharethis

ชาวชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินรณรงค์มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ร้องปัญหาข้อพิพาทรัฐกรณีสวนป่าคอนสาร ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.53ล่าสุดถึง จ.นครราชสีมาแล้ว พร้อมออกแถลงการณ์ “ยุบ อ.อ.ป.คืนทรัพยากรให้กับสังคม”

 
ติดตามสถานการณ์การเดินทางไกลของชาวชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวนกว่า 100 คน ที่เริ่มต้นเดินรณรงค์จากในชุมชน มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.53 เพื่อทวงถามความเป็นธรรม กรณีข้อพิพาทเรื่องการประกาศเขตที่ดินสวนป่าคอนสารซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซ้อนทับทำกินของชาวบ้านมากว่า 32 ปี ส่งผลให้เกษตรกรไร้ที่ดินรุกเข้าทำกินในพื้นที่ จนเกิดปัญหากรณี อ.อ.ป.ฟ้องร้องชาวบ้านตามมา
 
 
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554
 
สืบเนื่องจากราษฎรผู้เดือดร้อนจากกรณีพิพาทสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิและสวนป่าพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปลูกต้นยูคาฯ ทับพื้นที่ทำกิน ได้เดินเท้าทางไกล “ประชายาตราตามหาความเป็นธรรม” วันนี้นับเป็นวันที่ 4 ของการเดินทางออกจากชุมชนบ้านบ่อแก้ว ชาวบ้านเดินทางมาถึง จ.นครราชสีมา และปักหลักที่หน้าศาลากลางจังหวัดตั้งแต่เย็น วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554
 
เวลา 9.00 น. เครือข่ายชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนขบวนรณรงค์เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องชาว จ.นครราชสีมา โดยใช้เวลาในการเดินรณรงค์ประมาณ 2 ชั่วโมง และหลังจากที่พักรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้วก็มีการเดินรณรงค์เพื่อทำความเข้าใจต่ออีกในช่วงบ่าย ซึ่งขบวนเดินรณรงค์ได้เคลื่อนผ่านหน้าสำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.นครราชสีมาด้วย
 
ในช่วงเย็นวันนี้ทางเครือข่ายผู้เดือดร้อนจะมีการเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตกสาหกรรมป่าไม้ และกรณีขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐในแต่ละพื้นที่ที่เดินทางเข้ามาร่วมขบวนเดินรณรงค์ รวมทั้งจะมีการเปิดเวทีวัฒนธรรมเพื่อให้กลุ่มผู้เดือดร้อนได้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าหลังจากที่ได้เดินทางแล้วหลายวัน
 
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากกรณีพิพาทสวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางมาสมทบที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อคืนนี้ประมาณ 100 คน นอกจากนี้เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากโนนดินแดง จ.บุรีรัมย์และพี่น้องชุมชนเมืองอำเภอบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา จะเดินทางมาสมทบในช่วงเย็นวันนี้ด้วย
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ฉบับที่ 2
“ยุบ อ.อ.ป.คืนทรัพยากรให้กับสังคม”
 
นับเป็นเวลากว่า 64 ปี (พ.ศ.2490 – 2554) ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้กำเนิดขึ้นในสังคมไทย ภายหลังจากที่บริษัททำไม้จากอังกฤษและบริษัทต่างประเทศอื่นๆ สิ้นอายุการสัมปทานในปี 2497 ทั้งนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่หลักคือ การทำไม้ในเขตสัมปทาน และการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้และการปลูกสร้างสวนป่า
 
ดังนั้น อ.อ.ป. จึงมีรายได้หลักมาจากการสัมปทานตัดไม้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 – 2531 โดยเป็นผู้สัมปทานไม้รายใหญ่ของประเทศประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่สัมปทาน ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 - 2515 อ.อ.ป.มีกำไรสุทธิรวม 1,739.91 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 66.9 ล้านบาท และปี พ.ศ.2516-2533 อ.อ.ป. มีกำไรสุทธิรวม 5,276.41 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 293 ล้านบาท ก่อนรายได้จะลดลงในปี 2534 และประสบภาวะขาดทุนในปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา กระทั่งประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก โดยในปี พ.ศ.2541 อ.อ.ป.ขาดทุนสูงถึง 225.88 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนองค์กรแห่งนี้ปีละไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท
 
ในด้านนิเวศวิทยา อ.อ.ป. คือผู้ทำลายทรัพยากรป่าไม้ที่แท้จริง ตั้งแต่การสัมปทานตัดไม้รายใหญ่ การนำพื้นที่สัมปทานมาปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อตัดขาย โดยพื้นที่สวนป่าในการดูแลของ อ.อ.ป. จำนวน 124 แห่ง เนื้อที่ 1,118,374.935 ไร่ เป็นสวนป่าประเภทที่ปลูกตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ ทั้งสิ้น 597,646.75 ไร่ ซึ่งการทำไม้จากสวนป่าจะทำให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงจากเดิม และ ในสายตาของประชาชนมองว่า อ.อ.ป. คือผู้ทำลายป่าไม้ เนื่องจากปลูกแล้วตัด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โครงการปลูกไม้ ทำลายป่า” นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ อ.อ.ป. ปลูกสร้างสวนป่าเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านถือครองทำประโยชน์มาก่อน ทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสภาพเช่นนี้เป็นมาโดยตลอด กระทั่งปัจจุบัน
 
ในสภาพการณ์เช่นปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า อ.อ.ป.ได้หมดยุคสมัย และหมดความจำเป็นต่อสังคมไทยไปแล้วในทุกด้าน นับตั้งแต่การสิ้นสุดการสัมปทานตัดไม้ในปี พ.ศ.2532 ดังนั้น รัฐบาลต้องยุบองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ แล้วนำพื้นที่มาจำแนกจัดสรรใหม่ทั้งหมด เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมในการสงวนไว้เพื่อสิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนเคยถือครองทำกินมาก่อน ให้นำมาจัดสรรแก่ชาวบ้าน สำหรับบุคลากรของ อ.อ.ป. รัฐบาลควรมีมาตรการดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ รัฐก็จะได้ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปปีละ 1,000 กว่าล้านบาท ที่ดินสวนป่าเดิมกว่า 1,000,000 ไร่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริหารจะมีภาวะผู้นำในการตัดสินใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
 
 
 
 
 
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554
 
เวลา 8.00 น. ก่อนขบวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จะได้เคลื่อนรณรงค์ในตัวจังหวัดชัยภูมิ ได้มีการอ่านแถลงการณ์สนับสนุนพี่น้องชุมชนบ่อแก้วในการเดินเท้าทางไกล จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย       
 
จากนั้น ได้เคลื่อนขบวนรณรงค์และทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวจังหวัดชัยภูมิ เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบที่ชาวบ้าน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ได้รับจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ปลูกยูคาฯ ทับพื้นที่ทำกิน พร้อมทั้งฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความสนใจและให้กำลังใจ พร้อมกับบริจาค เงินเพื่อเป็นค่าเดินทางในการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน รวมทั้งอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของต่างๆ ในการเดินเท้าทางไกลใน
 
เวลา 09.30 น. เครือข่ายผู้เดือดร้อนได้ร่วมกันไหว้ ขอพรต่อเจ้าพ่อพระยาแล อันเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวชัยภูมิที่อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล ซึ่งตั้งอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ในตัวเมืองชัยภูมิ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสร้างพลังในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในครั้งนี้
 
จากนั้นได้เคลื่อนขบวนรณรงค์ออกจาก จ.ชัยภูมิไปที่ อ.จัตุรัส ซึ่งมีพี่น้องจากอำเภอจัตุรัสที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศที่สาธารณประโยชน์โคกหินลาดข้าวโจ้ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมให้กำลังใจและมีการร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ทั้งนี้ พี่น้องเครือข่าย อ.จัตุรัส ได้มอบข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางไกลเพื่อเรียกร้องความเป็นต่อสังคมของพี่น้องเครือข่ายผู้เดือดร้อน
 
หลังจากพักผ่อนเป็นที่เรียบร้อยขบวนประชายาตราได้เดินรณรงค์ใน อ.จัตุรัส เพื่อให้พี่น้องชาวอำเภอจัตุรัสได้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับปัญหาของ อ.อ.ป. ซึ่งเป็นผลกระทบต่อพี่น้องเครือข่ายเกือบทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านบ่อแก้ว สวนป่าพิบูลมังสาหาร และอื่นๆ อีกหลายพื้นที่ ก่อนเดินทางเข้าสู่ จ.นครราชสีมาต่อไป
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net