Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหนุนคนงานเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ จี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย ตรวจสอบสถานประกอบการที่มีปัญหา กระทุ้งรัฐกำกับโรงงานที่มี BOI ให้เคารพสิทธิแรงงานและสหภาพแรงงาน

(6 ก.พ. 54) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการต่อสู้ของคนงานภาคตะวันออก ซึ่งอยู่ระหว่างเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน และปัญหาความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมจาก หลายฝ่าย เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการที่มีปัญหา รวมถึงให้มีการแก้ไขกฎระเบียบกติกาการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มีความเข้มงวด มีบทลงโทษ เมื่อมีการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิสหภาพแรงงานด้วย

----------------


แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

เรื่อง “ข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องภาคตะวันออก”

สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน และปัญหาความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทแรงงานของสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย และสหภาพแรงงานฟูจิซึ ประเทศไทย ที่ทั้งสองสหภาพแรงงานไม่สามารถเจรจาตกลงกับนายจ้างได้ รวมถึงกรณีไฟไหม้โรงงานพีซีบี ประเทศไทย ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓ คน และบาดเจ็บ ๒๐ คน ซึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงในการละเมิดสิทธิแรงงาน นำมาสู่สถานการณ์การเคลื่อนไหวของพี่น้องผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานที่ต้อง เดินเท้าจากจังหวัดระยองเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และตีแผ่สภาพปัญหาให้สังคมเข้าใจ

สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นว่ากลุ่มทุนจำนวนมากได้แสดงความไม่สุจริตใน การแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเรื่องปกติของสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้อง การที่นายจ้างใช้วิธีการยื่นข้อเรียกร้องสวนให้ยกเลิกสวัสดิการพื้นฐานของคน งาน และยังมีกระบวนการกดดันให้คนงานต้องจำยอมรับเงิน หรือลาออก และยังเห็นได้ว่ากลุ่มทุนมีการรวมหัวกัน “ทำลายสหภาพแรงงาน” อย่างเป็นระบบ ดังที่ปรากฏได้เห็นกันต่อเนื่องมาในหลายสถานประกอบการ และใช้นักกฎหมายหาวิถีทางในการข่มขู่ คุกคาม ฟ้องคดีต่อผู้นำ เพื่อให้สหภาพแรงงานอ่อนแอหรือสลายตัวไป

อีกทั้ง รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทุกระดับ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีท่าทีที่เพิกเฉย ไม่มีท่าทีในการเร่งรัดเข้ามาแก้ไขปัญหา ทั้งที่มีคนงานเดือดร้อนจำนวนมาก มีทั้งคนท้อง และมีกรณีโรงงานระเบิดที่ไม่ใช่ความผิดของคนงาน นอกจากนี้ภาครัฐยังไม่ได้กำกับควบคุมให้โรงงานที่มี BOI ดำเนินกิจการโดยเคารพสิทธิแรงงาน และสิทธิสหภาพแรงงาน รวมไปถึงการปล่อยให้สถานประกอบการใช้แรงงานข้ามชาติในการทำงาน ในสภาพที่คนงานไทยยังพร้อมจะเข้าทำงาน และแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นก็ถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบอย่างหนักและไร้อำนาจการต่อรอง

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอ (เร่งด่วน) ด้วยกันดังนี้

1. รัฐต้องตั้งคณะทำงานตรวจสอบสถานประกอบการที่เกิดปัญหา โดยมีองค์ประกอบร่วมของผู้แทนภาครัฐ , กระทรวงแรงงาน , BOI , นิคมอุตสาหกรรม , ตำรวจ และมีผู้แทนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมอยู่ในคณะทำงานนี้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยคณะทำงานนี้ให้ศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังนี้

1) กรณีสหภาพแรงงานแม็กซิส ให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน และให้นายจ้างถอนข้อเรียกร้อง
2) กรณีพีซีบี ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้คนงานตามสิทธิที่ต้องได้รับตามกฎหมาย
3) กรณีเอ็นทีเอ็น นิเด็ค ต้องให้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการเลิกกิจการนั้นมาจากการขาดทุนจริงหรือ ไม่ และภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนงานโดยด่วน

2. การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ปัญหาเชิงโครงสร้าง
1) โดยการแก้ไขกฎระเบียบกติกาการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มีความเข้มงวด มีบทลงโทษ เมื่อมีการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิสหภาพแรงงาน
2) การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ไม่ให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีจุดยืนในการสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องที่กำลังเดินเท้าเข้าสู่กรุงเทพฯ อย่างจริงจัง

แถลงเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net