Skip to main content
sharethis

สภาทนายความทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ปัญหาชาวโรฮิงยาซึ่งเดินทางมาทางเรือที่เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปัจจุบันโดย เน้นการดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์

8 ก.พ. 54 - ตามที่ได้มีชาวโรฮิงยา เดินทางโดยทางเรือ เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สมัยนั้นใช้วิธีการผลักดันออกนอกน่านน้ำไทย  ซึ่งกลับทำให้มีจำนวน ชาวโรฮิงยา เข้ามาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากสามารถเล็ดลอดเข้ามาใหม่ เพื่อเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซียได้

นายสุรพงษ์  กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ  แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ  ความกล่าวว่า

“คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายแก่ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ จนใน   เดือนมกราคม ๒๕๕๒ ได้มีการจับกุมชาวโรฮิงยา ๗๘  คน นำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมจน ศาลจังหวัดระนอง พิพากษาความผิด และส่งมาให้อยู่ในการดูแลของสำนักงานตำรวจตรวจ คนเข้าเมือง ต่อมาในวันที่  ๑๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ชาวโรฮิงยา ซึ่งมาจากประเทศบังคลาเทศ ๒๘ คน ได้เดินทางกลับประเทศบังคลาเทศ หลังจากมีการจับกุมกลุ่ม ๗๘ คน ดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏชาวโรฮิงยา เดินทางผ่านน่านน้ำไทยอีกเลย ตั้งแต่มกราคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา”

แต่ในปี ๒๕๕๔ พบว่ามีกลุ่มเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยา เดินทางผ่านทะเลอันดามัน และเข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศไทย อีกครั้ง โดยจากรายงานสื่อมวลชน ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ มีการจับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาจำนวน ๙๑ คน ในพื้นที่ชายทะเลจังหวัดตรัง  ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๔ ได้จับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยา อีกจำนวน ๖๗ คน ในพื้นที่เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล และล่าสุดในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จับกุมและควบคุมเรือมนุษย์ชาวโรฮิงยาจำนวน ๓๓ คน ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน   สภาทนายความ  ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ,เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มผู้เดินทางโดยเรือชาวโรฮิงยา  ๓  ข้อ ได้แก่

๑. รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของชาวโรฮิงยา แต่ละคนโดยละเอียด เพื่อจำแนกการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักมนุษยธรรมโดย

๑.๑  หากพบว่ามีการเจ็บป่วย ต้องให้การช่วยเหลือ รักษา ตามจรรยาบรรณและหลักมนุษยธรรม
๑.๒ หากพบว่าเป็นผู้อพยพแสวงหาที่ลี้ภัย ต้องให้หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยเข้ามาช่วยเหลือดูแล
๑.๓ หากพบว่าเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หรือขบวนการค้าแรงงาน ต้องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ดูแล

๒. รัฐบาลโดยเฉพาะสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท้องที่ และกองทัพเรือ ต้องไม่ผลักดัน  ชาวโรฮิงยาโดยผิดกฎหมาย  เนื่องจากขัดต่อหลักการระหว่างประเทศ  คือ การผลักดันกลับไป             สู่ความตาย ( Non Refoulement ) ซึ่งห้ามผลักดันไปสู่อันตรายที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต และร่างกาย  นอกจากนี้การผลักดันส่งกลับของผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรา  ๕๔ พระราชบัญญัติ            คนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ทำได้เฉพาะชาวพม่า ลาว และกัมพูชา ที่รับสารภาพเท่านั้น หากเป็นสัญชาติอื่นต้องนำขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาตัดสิน

๓. รัฐบาลต้องดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา อย่างจริงจัง  ซึ่งเป็นองค์กรอาชญากรรมค้ามนุษย์ มีเครือข่ายทั้งใน และต่างประเทศ  เนื่องจากพบว่าชาวโรฮิงยาเหล่านี้มีขบวนการนายหน้าชักนำ และมีการจ่ายเงินจำนวนมาก  ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยาที่มีกลุ่มบุคคลหลายสัญชาติร่วมกันโดยมีเป้าหมาย ที่ประเทศมาเลเซีย

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า  “หน่วยงานรัฐต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหานี้ และไม่เพียงผลักดันออกไปเหมือนที่ผ่านมา เพราะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์  เนื่องจากขบวนการนี้จะไปเก็บเข้ามา และใช้ประเทศไทยทางบก เป็นทางผ่านไปประเทศมาเลเซีย  โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่รับรู้ โดยอ้างว่าผลักดันไปแล้ว และจะมีกลุ่มใหม่เข้ามาให้ผลักดันอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  จึงควรเก็บข้อมูล และกัน      ชาวโรฮิงยาเหล่านี้ เป็นพยาน เพื่อดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้อย่างจริงจัง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net