Skip to main content
sharethis

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์ (ที่มาของภาพ: ฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล)

ปัญหาเด็กติดเกม หนีเรียน ความรุนแรงในสังคม อาจทำให้การเล่นเกมกลายเป็นจำเลยของสังคม วันนี้มีบทพิสูจน์จากเด็กเล่นเกมที่ผันตัวเองมาเป็นคนสร้างเกม หลายแง่มุมความคิดจากหนุ่มน้อย นายพีรพัทธ์ นันนารารัตน์ หรือ“น้องฮง” นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนเพ็ญสมิทธ์ กรุงเทพฯ เจ้าของหลายรางวัลจากการทำเกมคุณภาพ อาจให้คำตอบของการเล่นเกม...เป็นมากกว่าที่หลายคนเคยมอง

น้องฮง เล่าว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นถนนคนทำเกมจากการเป็นคนเล่นเกมมาก่อน ทำให้สนใจอยากมีเกมเป็นของตัวเอง จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อเรียนรู้และทำเกมแอคชั่นขึ้นเป็นเกมแรกด้วยเทคนิคไม่ซับซ้อนมากนัก คือ เกม Confuse way เกมสะท้อนแนวคิดการแก้ไขปัญหาภาวะ โลกร้อนในรูปแบบที่วัยรุ่นเล่นได้ไม่เบื่อ ผูกเรื่องให้เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของนักสร้างเกมหนุ่มน้อยวัย 18 ปีที่มีแนวความคิดในการทำเกมอย่างสร้างสรรค์

 “สำหรับตัวผม การที่เป็นคนชอบเล่นเกมมาก่อทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงบ้าง เห็นนักออกแบบเกมดังๆในโลก เช่น ชิเงะรุ มิยะโมะโต , วิลล์ ไรท์ และ คริสโตเฟอร์ เทย์เลอร์ การทำงานของเขาแทนที่จะมานั่งจดจ่อกับการเขียนเกมอย่างที่ผมเคยเป็น เขาก้าวข้ามจุดนั้นโดยใช้แต่ความคิดเมื่อพัฒนาความคิดมาถึงจุดหนึ่งแล้วเขา จะประยุกต์ได้เองว่าควรทำอย่างไร ประเด็นหลักในการคิดเกมอาจไม่ต้องคำนึงถึงโปรแกรมมากนัก แต่ให้ความสำคัญที่แนวความคิดที่จะนำเสนอ”

เกม BKK TaXo MeTroN ที่พีรพัทธ์เป็นผู้สร้างสรรค์ (ที่มาของภาพ: ฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล)

จุดเริ่มต้นของเด็กเล่นเกมที่มีความฝันอยากมีเกมเป็นของตัวเองทำให้ น้องฮงไม่ หยุดยั้งได้สร้างสรรค์เกมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเกมต่อมาที่ทำ คือ เกมเกี่ยวกับการขับแท็กซี่ท่องไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ชื่อ เกม BKK TaXo MeTroN มีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ

“เกมนี้จำลองฉากเกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นรูปแบบของเกมซึ่งมีความ เสมือนจริง ก่อนทำเกม ผมและเพื่อนๆ ได้ไปสำรวจรอบเกาะรัตนโกสินทร์ทั่วบริเวณพันกว่าไร่ ฉากของเกมนี้ รถแท๊กซี่จะรับผู้โดยสารขึ้นมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังสถานีตำรวจ นครบาลพระราชวัง จากทางเหนือสุดไปใต้สุด รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง ศาลหลักเมืองไปจนเกือบถึงปากคลองตลาด ฯลฯโดยเกมนี้ได้แนวคิดมาจากนครวาติกัน และอีกหลายๆ มหานครของโลก ที่ทำให้กลับมาคิดว่าสถานที่เที่ยวของประเทศไทยก็ติดอันดับโลกมากมาย เกมในลักษณะนี้เราน่าจะทำออกมาได้ โดยเฉพาะเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าสนใจไม่แพ้กัน”

พีรพัทธ์กับบทบาทการเป็นวิทยากรอบรมการเขียนโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ (ที่มาของภาพ: ฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล)

จากการทำเกมร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆในโรงเรียนเก่าคือโรงเรียน นวมินทราชินูทิศ น้องฮงยังมีโอกาสเข้าร่วมงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ครั้งที่ 1 เมื่อ ปี 2552 ที่ผ่านมาโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในครั้งนั้น

ในงานมหกรรมพลังเยาวชนฯ ผมได้มีโอกาสเปิดอบรมการเขียนเกมภายใน 1 ชั่วโมง ปรากฎว่าได้รับการตอบรับดีมาก จึงมาจัดกิจกรรมนี้อีกครั้งโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงปรากฏว่าภายในงานทุกคนสามารถเขียนเกมและมีเกมเป็นของตนเองได้จริง มีผู้สนใจเข้าเรียนเยอะมาก ทั้งที่ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาเรื่อยไปจนถึงผู้สูงอายุวัย 60 ปี”  

น้องฮง เล่าด้วยว่า จากการเข้าร่วมแสดงพลังในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคมฯ นั้นยังทำให้เขามีโอกาสทำงานด้านเกมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า โดย นาวาตรี ดร. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้เปิดโอกาสให้น้องฮงได้ทำโครงการเมฆา (Mekha) เพื่อรวบรวมเกมที่มีประโยชน์ อาทิ เกมเพื่อการเรียนการสอนที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี เป็นโอเพนซอร์ส ทุกคนสามารถดัดแปลงและแก้ไขเกมเหล่านี้ได้ โดยจัดทำเป็นคู่มือภาษาไทย และมีการปรับลดความรุนแรงในเกมเพื่อทำให้เกมเหล่านั้นสามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย

นอกจากนั้นทาง SIPA ก็ยังจัดให้มีการอบรมการพัฒนาเกมด้วย Mekha โดยผมก็เป็นวิทยากร หลายครั้ง เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา และ ที่ศูนย์ฝึกอบรมของ SIPA เอง เนื้อหาที่สอนก็จะเริ่มตั้งแต่การออกแบบเกม การออกแบบตัวละคร และการพัฒนาทุกๆ ส่วนจนได้เกมขึ้นมา ในระหว่างการสอน ผมก็จะแทรกประสบการณ์ที่ได้รับผู้เข้าอบรมทั้งอุปสรรคปัญหา ข้อผิดพลาด ในการทำงาน และการแก้ปัญหาที่ผ่านมาแล้ว”น้องฮงเล่า

จากการที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่นี้เอง ทำให้น้องฮงเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เขาพัฒนาผลงานขึ้นตามลำดับ จนสามารถสร้างสรรค์เกมได้ด้วยการทำงานเพียงคนเดียว ล่าสุดคือX-Step เกมผจญภัยที่ผู้เล่นต้องใช้สมาธิมาก ทั้งยังแฝงแนวคิดเรื่องการใช้เวลาให้คุ้มค่าไว้อีกด้วย

แรงบันดาลใจในการคิดเกมนี้คือ หลายคนมักมองว่า การเล่นเกมทำให้สมาธิสั้น แต่จริงๆแล้วการเล่นเกมต้องอาศัยสมาธิมาก ต้องจดจ่อและเข้าใจ ที่สำคัญต้องสนุกและมีสาระในการใช้ความคิดเพื่อหาเส้นทางที่จะไปถึงจุดหมายโดยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หรือวันแห่งความรักที่จะถึงนี้ น้องฮงจะเปิดตัวเกม X-Step Episode 2 เป็นเกมเวอร์ชั่นใหม่ที่มีเนื้อหาสอดรับกับวันวาเลนไทน์ โดยเปิดให้ผู้สนใจดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.thaiopengames.org เพื่อส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้ว่า “เกมดีๆ มีคุณภาพฝีมือคนไทยมีให้จับจองอีกมาก”

ก่อนจากกันไป น้องฮง ยังได้ตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าเกมมีประโยชน์อย่างไรไว้อย่างน่าฟังอีกด้วย

ถ้าคนเล่นเกม 1 ล้านคนในเมืองไทยเพียง 1% กลายมาเป็นคนทำเกม เท่ากับว่าเราจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างอดีตนายกฯ อังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ เคยพูดไว้ว่า Video game industry stock is a better investment than gold หรือ การลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเกมน่าลงทุนกว่าทองเสียอีก”

นอกจากนี้เกมหลายเกมยังสร้างมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ เช่น เกมสามก๊ก จึงสามารถใช้เป็นช่องทางเรียนรู้ใหม่ที่ไม่ใช่เพียงการเปิดอ่านจากตำราเล่ม โต และหากมีการประยุกต์เข้ากับเนื้อหาวิชาการอื่นๆ อาทิ การเงินการธนาคาร การบริหารธุรกิจ ฯลฯ เกมก็จะเป็นดั่งหน้าต่างบานโตเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นได้โดยง่าย โดย ในส่วนของน้องฮงเอง เวลานี้สอบติดที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม หลักสูตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต การออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อหวังจะศึกษางานด้านนี้อย่างต่อเนื่องจริงจังมากขึ้น

ผมอยากทำเกมไทยๆ เช่น ศิลปะการต่อสู้ ประวัติศาสตร์ หรือการละเล่นแบบไทย นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่น่าสนใจและมีเนื้อหาพอที่จะทำเป็นเกมได้อีก หลายอย่าง อยากสื่อถึงความเป็นไทยให้ทุกคนได้เข้าใจ” น้องฮง อีกหนึ่งเยาวชนคนเก่งกล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net