Skip to main content
sharethis

ประชาชาติธุรกิจสัมภาษณ์ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ฟันธง รอบนี้ พันธมิตรฯปลุกไม่ขึ้น “ผู้สนับสนุนรายใหญ่ ยังพอใจอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์”

อาจารย์ คิดว่าการปะทะกันบริเวณชายแดนที่เริ่มเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์และต่อเนื่องหลังจากนั้น เป็นความบังเอิญหรือจงใจ ไปพ้องกับข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ในเรื่อง “การแสดงแสนยานุภาพ”
 
คง ปนๆ กันไป...ผมไม่มีข้อมูลพอที่จะพูดได้ชัดเจน เพียงแต่ตอนนี้ เป็นการแบ่งระหว่างฝ่ายที่ต้องการ “สันติภาพ” และฝ่ายที่ต้องการ “สงคราม” (สายเหยี่ยว กับสายพิราบ) ดูจะชัดเจน  ที่ทำให้ต้องมาแก้ตัวกันพัลวัน  ว่าใครกันแน่ที่ต้องการ “สันติภาพ” ใครกันแน่ยุยงและกระหาย “สงคราม” และพันธมิตรฯ ก็ปฏิเสธไม่ได้ในจุดนี้ว่า มีส่วนผลักดันทางการเมืองภายในกรุงเทพฯ เอง  จนบานปลายนำไปสู่การสู้รบที่ชายแดน  แม้มหาจำลอง จะออกมาแก้ตัวว่าฝ่ายตนไม่ใช่สาเหตุของความสูญเสียจากการปะทะ  ส่วนในอีกแง่หนึ่ง ทหารบางกลุ่มก็คงต้องการแสดงแสนยานุภาพ ใช้อาวุธถล่มให้ดู หลังจากที่โดนพันธมิตรฯ ด่าลบหลู่ศักดิ์ศรีของทหารมาหลายคืน
 
ผลทางการระหว่างประเทศ จากการปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา ในรอบนี้

ฝ่ายกัมพูชาได้เปรียบโดยอัตโนมัติ  เพราะไทยทะเลาะกันเอง เล่นเกมประหัตประหารกันเอง เป็นเกมอันธพาล ชาวบ้านที่ภูมิซลอลตาย แต่คนในกทม. ไม่เป็นอะไร แบบนี้อารยชนเขาไม่ทำกัน

ในทางการระหว่างประเทศ  ไทยเราก็เสียหาย  เครดิตเราต่ำมาก ดูจากเนื้อหาของจดหมายที่ นายฮอร์ นัมฮง ส่งเรื่องไปยังสหประชาชาติ เทียบกับแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว หนังสือของฝ่ายกัมพูชาเหมือนเขียนโดยคนจบปริญญาเอก มีความชัดเจน มีข้อมูลหนักแน่น  ในขณะที่แถลงการณ์ฝ่ายไทยเหมือนเขียนโดยนักศึกษาปี 1 เทียบกันแล้ว คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไทยเสียเปรียบมาก

การทูตการต่างประเทศของกัมพูชาไปได้ไกลมาก  มีการทำงานที่รัดกุม ส่วนของไทยบอกว่ามีจดหมายถึงสหประชาชาติแต่ยังเปิดเผยไม่ได้  อะไรทำนองนั้น  เป็นการเล่นเกมกำกวมอึกๆ อักๆ ยิ่งสร้างความไม่รู้ ไม่เข้าใจให้กับประชาชนชาวไทย  ถ้าดูจากแถลงการณ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาแล้ว ก็จะเห็นความตกต่ำของผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศไทย เสียเกียรติยศชื่อเสียงมหาศาล  ราชการการต่างประทศของสยามและของไทยเคยนำมาตลอด เป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตอนนี้เพราะเราไม่ได้เล่นการเมืองระหว่างประเทศ  แต่เล่นการเมืองภายในประเทศ  ทะเลาะกันเอง  ก็เลยตกต่ำ ย่ำแย่
 
กรณีทูตกัมพูชากล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ เป็นการบอกทิศทางที่กัมพูชาจะเดินหน้าในเวทีระหว่างประเทศหรือไม่
 
ทูตกัมพูชาซึ่งเป็นผู้หญิงท่านนี้ น่าสนใจมาก ประวัติท่านทูตมาจากกัมปงธม เป็นเขตจังหวัดที่อยู่ระหว่างกัมปงจาม (บ้านเกิดฮุนเซน) กับเสียมเรียบ น่าจะเป็นคนที่สมเด็จฮุนเซน ให้ความไว้วางใจให้มาอยู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่กรณีสำคัญกับกัมพูชา
 
ประเด็นสำคัญ ท่านทูตได้พูดถึงคำพิพากษาศาลโลก ข้อที่ 2 ที่มักจะถูกละเลยโดยผู้นำไทย ที่พิพากษาว่า “ประเทศไทยมีพันธะ  ที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ  ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทย  ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”

ปัญหาคือคำว่า “บริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา” มันกินพื้นที่แค่ไหน  เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ (ตรงบริเวณ 4.6 ตร.กม.) กันอยู่ (หนึ่ง. จะต้องใช้การ “เจรจา” สองฝ่าย หรือสอง. จะกลับไปให้ศาลโลกตีความใหม่ หรือสาม. จะใช้ สงคราม แก้ปัญหา)

ไทยต้องการให้เจรจาทวิภาคี เพราะรู้ว่าหากขยายเวทีออกไปจะเสียเปรียบใช่หรือไม่
 
ลึกๆ แล้วคนที่ปลุกระดมก็รู้ว่า ไทยเราเสียเปรียบ  และเป็นผลเสียต่อประเทศตัวเอง เมื่อนำเอาเรื่องปราสาทพระวิหารมาทำให้ประเด็น  เรื่องมันก็เลยชัดขึ้นๆ  ข้อมูลออกมาอีกมากมาย  ว่าไปเรื่องบางเรื่อง  ถ้าปล่อยให้มันคลุมเครือจะมีประโยชน์มากกว่า  เมื่อก่อนต่างฝ่ายต่างก็เข้าไปในบริเวณนั้นได้ ทหารไปลาดตะเวนร่วมกันได้  ของบางอย่างถ้าแก้ไม่ได้ ก็ต้องเก็บเอาไว้  แล้วทำงานร่วมกัน  ที่ปราสาทพระวิหาร  แต่ก่อนก็เคยเก็บค่าผ่านแดน  ไปขึ้นตัวปราสาท  ไทยกับเขมรก็แบ่งผลประโยชน์กัน ทั้ง 2 ประเทศ ออกจากเขตแดนไทย เสีย 20 บาทให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย  เข้าไปขึ้นปราสาทพระวิหารเสียอีก 50 บาทให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา  แต่การเอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นการเมือง  เกิดสงครามการสู้รบ  ก็พินาศกันไปหมด

มองการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างไร
 
คิดว่าเขามีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “นอก” ระบอบประชาธิปไตย  เพราะคนกลุ่มนี้  เขาไม่เล่นเกมประชาธิปไตย ไม่ชอบการเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ได้ทำให้พวกเขาได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้เก้าอี้ ส.ส.จากการเลือกตั้ง ดังนั้น เขาคงหวังว่าเมื่อมี “รัฐประหาร” มีการยึดอำนาจแล้ว เขาจะได้ส่วนแบ่ง ได้ “ส้มหล่น” 
 
ถ้าพันธมิตรฯ ไม่ถอย แล้วรัฐบาลจะมีทางออกอย่างไร

พันธมิตรฯ อาจจะถูกคนที่เคยเป็นพรรคพวกเดียวกันตลบหลัง เพราะสาเหตุชุมนุม  ก็มาจากเรื่องทะเลาะกันเอง เป็นความแค้นส่วนตัวเยอะเลย ฝ่ายคุณสนธิ ลิ้มทองกุล กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็คิดว่าเขามีบุญคุณกับ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้ได้เป็นนายกฯ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องเป็นฝ่ายค้านต่อไป  แต่คุณอภิสิทธิ์ ไม่กตัญญู ซึ่งที่จริง “ความกตัญญูกตเวที” มันไม่มีในการเมืองอยู่แล้ว... แน่นอนว่า  แม้เป็นแค้นส่วนตัว แต่แกนนำพันธมิตรฯ ก็ต้องพูดในนามของความรักชาติ ของประชาชน และของประชาธิปไตย

ในรอบนี้จำนวนมวลชนพันธมิตรฯ น้อยลง อาจารย์ให้ความสำคัญกับจำนวนมวลชนเป็นตัวชี้วัดหรือไม่

จำนวนมวลชนสำคัญ แต่จำนวนต้องมากมหาศาล ถึงจะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในกรณีนี้ คนเสื้อเหลืองไม่ใช่สีเฉดเดียวอีกแล้ว มีคนจำนวนไม่น้อย หันไปใส่เสื้อสีชมพู เสื้อสีต่างๆ หลากสี ความเข้มข้น ความขลังก็ลดลง  ถ้าเราดูแล้ว ไพ่ที่ผู้นำพันธมิตรเสื้อเหลืองเคยใช้เรียกความสนับสนุนทางการเมือง ทั้ง 3 ข้อหา คือ (หนึ่ง) ไม่จงรักภักดี , (สอง) ทุจริตครัปชั่นผลประโยชน์ทับซ้อนและ (สาม) ชาตินิยม-วาทกรรมเสียดินแดน  แต่งานนี้ผู้นำพันธมิตรฯ ใช้ประเด็นเดียว คือชาตินิยม ไม่ได้ใช้เรื่อง “สถาบัน” กับเรื่อง “ทุจริตคอรัปชั่น” น้ำหนักจึงไปอยู่ที่ไพ่ใบสุดท้ายคือชาตินิยม การเสียดินแดน

ผมคิดว่าอาจจะปลุกยาก แม้จะมีมวลชนมาในระดับหนึ่งก็ตาม แต่คนจำนวนเยอะ ที่เคยสนับสนุนมาก่อนก็ไม่เล่นด้วย

ผมคิดว่า ชาตินิยมเวอร์ชั่นที่สองนี้ ที่เรียกว่า “อำมาตยาเสนาชาตินิยม”  (military-bureaucratic nationalism) ที่เคยใช้ได้ผลโดยผู้นำประเทศรุ่นที่เปลี่ยนชื่อจาก “สยาม”เป็น “ไทย” (Siam to Thailand) คือ รุ่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ ยุค 40s สมัยสงครามโลก(ที่มีทีมงานกรมศิลปากร เช่น นายธนิต (กี) อยู่โพธิ์ นายมานิต วัลลิโภดม หรือนักพูดนักเขียนอย่าง นายมั่น/นายคง นายหนหวย สืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุค 60s ฯลฯ) นั้น

มีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นของกลุ่มผู้นำดั้งเดิมของสยาม  ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแรก คือ  “ราชาชาตินิยม” (หรือ Royal Nationalism ของรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6 กับสมเด็จกรมฯ เทววงศ์ และสมเด็จกรมฯ ดำรง) เวอร์ชั่นนี้ของ “ราชอาณาจักรสยาม” หรือ Siam ของ “พระราชา” ต้องการและยอมรับเขตแดนหรือพรมแดนของ “สยาม” ที่ “จำกัด” limited boundary-border เพื่อรักษาเอกราช  แต่เวอร์ชั่นหลังของ “ประเทศไทย” หรือ Thailand ของ “อำมาตยาเสนา” ต้องการขยายดินแดน เรียกร้องดินแดน คือ expanded boundary-border

ตอนนี้พันธมิตรฯ เล่น ในเกมไหน
              
พันธมิตรฯกลุ่มนี้ เล่นเกมของ “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” คือ expanded not limited เล่นเกมรักชาติ ปลุกระดมชาตินิยม เคลื่อนไหวโจมตีประเทศเพื่อนบ้าน บางคนถึงกับ “เรียกร้องดินแดน” ในเสียมเรียบ พระตะบองศรีโสภณ และเกาะกง “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ซึ่งนำไปสู่การปะทะ ยกระดับกลายเป็น “เปลี่ยนสนามการค้า ให้เป็นสนามรบ” เป็นเกมเดียวคล้ายคลึงกับที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่นเมื่อปี 2483-2484 สมัยสงครามโลก  จนเกิดการปะทะสู้รบ ที่เราเรียกว่า “สงครามอินโดจีน” มีการรบทั้งทางบกทางเรือ มีทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก  ถึงกับต้องมาสร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เอาไว้ ที่ที่เพิ่งจัดงานวันทหารผ่านศึกเมื่อเร็วๆนี้ นั่นแหละ

เกมชาตินิยมนี้  จะเล่นได้ดีต้องอ้างทั้ง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่ตอนนี้ถ้าพันธมิตรฯ จะอ้างศาสนาและพระมหากษัตริย์ ก็ลำบาก จึงต้องอ้างชาติ ก็คือ ต้องเล่นเกมว่าจะ “เสียดินแดนไม่ได้แม้กระแต่ 1 ตารางนิ้ว” ส่วนไพ่ใบอื่นที่เขาเล่นได้มีประสิทธิภาพมาก่อน คือเรื่องของสถาบัน เรื่องทุจริตคอรัปชั่นผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตอนนี้ ก็เลยทำให้ขบวนการอ่อนไป

การเล่มเกมนี้ในรอบนี้พันธมิตรฯ จะทำสำเร็จผลบรรลุเป้าหมายหรือไม่

เขาคงอยากให้สำเร็จ...แต่ความจริงแล้วสำเร็จยาก เพราะกำลังไม่พอ จุดแล้วไม่ติด เช่นล่าสุด แม้มีการปะทะ มีสงครามชายแดนแล้ว  แต่กองทัพก็ดูจะไม่เล่นด้วยอย่างเต็มที่  เช่นไม่มีการส่งกองกำลังเข้าไปยึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ให้รู้แล้วรู้รอดไป

สำหรับเกม “อำมาตยาเสนาชาตินิยม” เช่นนี้ จะเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเล่นโดยผู้กุมอำนาจรัฐ(หรือผู้หวังกุมอำนาจรัฐ) และต้องกุมกองทัพเอาไว้ให้ได้ เช่นในอดีต สมัยจอมพล.ป พิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งมีทีมงานจากกรมศิลปากร กรมโฆษณาการ (ชื่อเดิมของกรมประชาสัมพันธ์) คือการเล่นเกมโดยคนที่กุมอำนาจรัฐ พูดง่ายๆ เล่นโดยเสนาอำมาตย์เอง
              
แต่พอถึงมาตอนนี้ คนที่เล่นเกมนี้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่าง พันธมิตรฯ คนไทยหัวใจรักชาติ สันติอโศก เขาไม่ได้กุมเครื่องมือ หรือกุมอำนาจของรัฐ เพียงแต่เขามีสื่อ มีโทรทัศน์ วิทยุ นสพ.  ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้ยืดยาว

แต่ผมคิดว่าพลังอาจจะไม่มีพอ  และถ้าเผื่อไม่ได้ความสนับสนุนจากฐานเสียงคนชั้นกลางใน กทม.  จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กำลังช่วยจากผู้กุมอำนาจรัฐ  จากกองทัพ จากข้าราชการส่วนกลางหรือท้องที่  ผมว่ายาก  เพราะฉะนั้น ไพ่ใบนี้ ไพ่รักชาติ ไพ่เสียดินแดน ปลุกให้ติดยากมาก เป็นการ “เข็นครกขึ้นภูเขา”

และที่สำคัญ คือ “เป้า”  ก่อนหน้านี้ก็ชัดเจนมาก คือเป้าอยู่ที่คุณทักษิณและรัฐบาลคุณสมัคร และคุณสมชาย ที่พันธมิตรฯ ล้มได้สำเร็จ ก็เพราะมี “ผู้สนับสนุนรายใหญ่ๆ” ช่วยหนุนให้โค่นรัฐบาล 3 ชุดนั้น แต่ตอนนี้รัฐบาลเป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์  และคุณอภิสิทธิ์ ที่แม้เคยร่วมมือกันมาก่อน  และก็กลายเป็น “เป้า” ไปแล้วนั้น  ยังอาจทำได้ไม่ถนัดนัก ถ้าผู้สนับสนุนรายใหญ่ “พลังต่างๆเดิมๆ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ ยังไม่เอาด้วย

ทำไมรัฐบาลชุดนี้ ไม่อยู่ในชะตากรรมเดียวกับกลุ่มคุณทักษิณ

เพราะข้อกล่าวหาต่อคุณอภิสิทธิ์ว่า “ขายชาติ” หรือมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ต่อคนกรุง-คนชั้นสูง-ชั้นกลาง  ฟังดูไม่น่าเชื่อ หรือไม่อยากจะเชื่อถือ เหมือนการกล่าวหาต่อคุณทักษิณและพรรคพวก ถ้าเป้าในการถูกโจมตี เป็นคุณทักษิณ คุณสมัคร คุณสมชาย หรือคนเสื้อแดง  อาจจะเป็นเป้าที่ชัดเจนในสายตาของคนกรุงหรือคนเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อ เหลือง เสื้อชมพู เสื้อซาหริ่ม

เหมือนๆคราวที่แล้ว พันธมิตรฯ โจมตีรัฐบาลฝ่ายคุณทักษิณ โดยใช้เรื่องกัมพูชาและปราสาทพระวิหารเป็นข้ออ้าง เป็นวาระซ่อน  ซึ่งว่าไปแล้วไม่ใช่การโจมตีกัมพูชาโดยตรง แต่มาถึงตอนนี้พันธมิตรฯ จะทำให้รัฐบาลชุดนี้กลายเป็นเป้านิ่งแบบนั้น ไม่ง่าย...

ใครเขาจะยอมให้ตีพวกของเขาเองคนของเขาเอง คุณอภิสิทธิ์ เขาก็มีคนรัก คนหลงอยู่เยอะแยะ และผมคิดว่า “ผู้สนับสนุนรายใหญ่” ของคุณอภิสิทธิ์กับประชาธิปัตย์ ยังพอใจคุณอภิสิทธิ์ พอใจกับประชาธิปัตย์อยู่  เพราะอาจจะดีที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง  เลวน้อยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในมือตอนนี้

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเขาไม่น่าจะเล่นกับการเปลี่ยนแปลงแบบใช้วิถีทางที่ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” เขาไม่น่าจะเล่น ในทางตรงข้ามเขาคงเล่นเกมที่นำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งมันก็อีกไม่นานแล้ว วาระของรัฐบาลก็จะหมดแล้วในปี 2554 เพราะฉะนั้น รออีกไม่กี่เดือน มันคุ้มกว่าที่จะไปเล่นเกมนอกระบบ

โอกาสรัฐประหารยังเป็นไปได้หรือไม่

โดยเหตุผลโดยผล โดยตรรกะ  ไม่น่าจะมีรัฐประหาร แต่การเมืองไทยคาดการณ์ยาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะการเมืองบ้านเรา  ขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของคนเพียงไม่เกินห้าคนสิบคน  ดังนั้น  อะไรๆ ที่เราไม่คาดคิด  ก็เกิดขึ้นได้เสมอๆ  อย่างที่เห็นกันมาแล้วในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้  แต่ผมว่าเกมน่าจะมุ่งไปสู่การเลือกตั้งมากกว่า เพราะอายุรัฐบาลจะหมดแล้ว ในวาระในปีนี้ ฉะนั้น เกมน่าจะไปจุดนั้น
              
แน่นอนคนจำนวนหนึ่งที่คิดแบบอำมาตย์   คิดแบบคนที่ได้เปรียบ จะไม่ชอบการเลือกตั้งเพราะมันเหนื่อย มันต้องลงทุนเยอะ ต้องบากหน้าไปไหว้คน ต้องทำตัวว่า “รักชาวบ้าน รักประชาชน”

ถ้าอย่างงั้น การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อฝ่ายอำมาตย์มิใช่หรือ

แต่อำมาตย์ไม่เล่นเกมนั้น เพราะตอนหลังคงพบว่ามันไม่ง่าย  และสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำตอนแรกมีคนสนับสนุนเขาเยอะ แต่ตอนหลังมันล้ำเส้น อาจจะไม่ไตร่ตรองให้ดี ทำให้มวลชนหายไปเยอะ

การออกมาเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบนี้ อาจารย์คิดว่าได้รับใบสั่งหรือไม่

              
ผมไม่คิดว่าเขาได้รับใบสั่งนะ ทั้งคุณจำลอง คุณสนธิ, โพธิรักษ์ ก็เป็นคนที่มีความคิดความอ่านของตนเอง เชื่อมั่นตนเองสูง แต่ผมคิดว่าตอนนี้เขาประเมินสูงเกินไป “ล้ำเส้น” หรือ “สุดโต่ง” เกินไป ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนเก่า แฟนเก่าๆ หายไปเยอะ

แต่การออกมาเคลื่อนไหวของ คุณจำลอง ศรีเมือง ถูกมองว่าต้องบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่ง มิเช่นนั้นแกนนำผู้นี้จะไม่ออกมานำ อาจารย์ประเมินอย่างไร

ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าดูจากประวัติการทำงานทางการเมืองของคุณจำลองที่ “ไม่กลับบ้านมือเปล่า”  ทั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 ก็ไปถึงจุดเกิดการนองเลือด เกิดความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลสุจินดาล้ม และล่าสุดการประท้วง รัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผลักดันจนกระทั่ง ชนชั้นนำหรือพลังเดิมๆต้องใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ เข้ามาจัดการ คือใช้อำนาจศาลมายุติสถานการณ์ความปั่นป่วนทางการเมืองชั่วคราว

ฉะนั้น ความพยายามผลักดัน ของ 3 องค์กรของ คุณจำลอง ศรีเมือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และโพธิรักษ์ ก็น่าจะต้องการผลักดันไปสู่การที่มีการเปลี่ยนแปลง “นอก” ระบอบประชาธิปไตย คือผลักดันให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือการยกเว้นให้ไม่ใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่นว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง คล้ายๆ กับเรื่อง “มาตรา 7. หรือที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเคยทำในปี 2476  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็อาจเป็นไปได้  แม้จะยากและบรรยากาศ “สากล” ไม่อำนวยก็ตาม                       

ผลจากการที่คุณอภิสิทธิ์ ถูกโจมตีจากฝ่ายเสื้อเหลืองจะเป็นอย่างไร

จะทำให้คุณอภิสิทธิ์ แข็งแรงขึ้นและจะลอยตัวได้  ไม่งั้นจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายเดียวกับ “คนเสื้อเหลืองกลายชมพู” ก็กลายเป็นเป้านิ่งให้ “คนเสื้อแดง” โจมตีได้ถนัด

การเคลื่อนของพันธมิตรฯ กลับกลายเป็นช่วยคุณอภิสิทธิ์ ให้ไม่ถูกโจมตีจากเสื้อแดง งั้นหรือ

ไม่ใช่จะทำให้ไม่เป็นเป้าเสียเลย แต่ดีกรีในการโจมตีมันจะอ่อนลง ถ้าคุณอภิสิทธิประคองสถานการณ์ได้ ดึงเกมไปให้ยาว แล้วค่อยยุบสภา  ให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นนิดๆหน่อยๆ  ก็อาจจะอยู่รอดก็ได้ คือ สามารถ survive นั่นแหละ          

ก่อนการสู้รบปะทะกันชาย แดน  พันธมิตรฯ เคยเสนอให้กองทัพ แสดงแสนยานุภาพ ซ้อมรบให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็น เอาเครื่องบินไปบินขู่  วิธีคิดแบบนี้ เก่าไปหรือเปล่า

ก็เป็นการขู่เท่านั้นเอง   แสดงแสนยานุภาพขู่ฮุนเซน ขู่คนกัมพูชา  ใช่ไหม? ถามว่าแล้วเขาจะกลัวไหม ฮุนเซน อยู่ในตำแหน่งนายกฯ มากี่ปี ? ฮุนเซนรู้จักนายกรัฐมนตรีของไทยมากี่คน? นับตั้งแต่คุณชาติชาย ชุณหวัณ มาถึงคุณอานันท์ (หนึ่งและสอง)-คุณชวน (หนึ่งและสอง)-คุณบรรหาร-คุณชวลิต-คุณทักษิณ-คุณสมัคร-คุณสมชาย  จนกระทั่งถึงคุณอภิสิทธิ์ในปัจจุบัน ผมว่า “เขารู้เรา” มากกว่า “เรารู้เขา”  ผมเชื่อว่า “เราไม่รู้เขา” หรอก  เราหลง “เพ้อเจ้อ” กับอะไรๆที่เป็นเรื่องโบราณโบราณไปหมดแล้ว กลายเป็น “ฟอสซิลทางการเมือง” เป็น “ฟอสซิลทางประวัติศาสตร์” เป็น “ฟอสซิลทางโบราณคดี” สร้างความ “ล้าหลัง” สร้าง “ความเสียหาย” ให้ประเทศชาติและประชาชน (ชายแดน)

ปีนี้ สมเด็จฮุนเซน ไม่ได้ถูกนักการเมืองของไทยพูดถึงในฐานะมิตรของคุณทักษิณ

ฮุนเซนเขาก็รักษาผลประโยชน์ของเขา เขาจะเป็นมิตรกับทักษิณ หรือยังไงก็แล้วแต่  ยังไงเขาก็ต้องเล่นกับผู้นำรัฐบาลไทย เขาก็ต้องเล่นกับคุณอภิสิทธิ์ ถ้าเปลี่ยนจากคุณอภิสิทธิ์ เขาก็ต้องเล่นกับผู้นำไทยคนต่อไป เพราะฉะนั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ พาคุณอภิสิทธิ์ ไปหา ฮุนเซน แป๊บเดียวก็จัดคอนเสิร์ต ไทย-กัมพูชาที่กรุงเทพฯ อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ก็จัดคอนเสิร์ตกัมพูชา-ไทย ที่พนมเปญ หมายความว่า เขาก็ต้องเล่นด้วย แต่ไม่รู้ว่าอุบัติเหตุ หรือความตั้งใจ ที่ทำให้สถานการณ์พลิกผันไป ไปอีกอย่าง ตอน 7 คนถูกจับ

ความจริงความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา  กำลังฟื้นตัว  กำลังเดินมาอย่างดีขึ้นแล้ว หมายความว่าเขาได้หาทาง “เกี้ยเซี๊ย” กันในเรื่องการเมืองการ  ต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ก่อนมีเหตุการณ์ 7 คนถูกจับ

ที่ปล่อยให้ 5 คนไทยได้รับการประกันตัวออกมาก่อน เพราะอะไร

เขาเล่นไพ่เหนือ เขาฉลาดมาก โดยการปล่อยทีละเล็กทีละน้อย เก็บตัวประกันสำคัญๆ เอาไว้ และผมว่าฮุนเซน หรือกัมพูชา ยังมีไพ่อีกเยอะเลย เราไม่รู้ใช่ไหม คนเสื้อแดง ที่หายไปจากราชดำเนินและราชประสงค์ ใครบ้างที่หนีไปอยู่กัมพูชา

หมายถึงแกนนำคนเสื้อแดงหรือเปล่า

ใช่ ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ยิ่งเล่นไป กัมพูชาก็ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งเล่นไปไทยก็ยิ่งเสียเปรียบ เพราะเราเล่นเกม “โบราณ” ล้าสมัย  ตกรุ่น  และไม่ได้ใช้ “สติสัมปชัญญะ” สักเท่าไหร่ แต่ใช้แต่ “อารมณ์” ความรู้สึก  และความ “สุดโต่ง”เสียมากกว่า

แกนนำม็อบเสื้อแดงที่ อยู่ในกัมพูชาตอนนี้ จะกลายเป็นไพ่หรือข้อต่อรองที่ถูกเล่น เมื่อฝ่ายคุณทักษิณหรือฝ่ายประชาธิปัตย์กลับมามีอำนาจรัฐ

ยุคไหนก็ได้  เขาเก็บ “หนีร้อนไปพึ่งเย็น” เอาเป็นไพ่ต่อรองไว้ เหมือนๆในอดีตเราก็เคยเล่นไพ่ใบนี้มาแล้ว  ในประวัติศาสตร์แต่ก่อนเมื่อเขมรแตกแยกขัดแย้งกันเอง  ไทยเราก็เคยเอาเจ้านโรดม เอาเจ้าศรีสวัสดิ์ที่ “หนีร้อนมาพึ่งเย็น” เอามาเก็บไว้ในกรุงเทพฯ แล้วตอนหลังก็ส่งกลับไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรก็ยังเคยมี... ผมว่าตอนนี้เขาก็เล่นเกมนั้นนั่นแหละ แต่กลับตาลปัตกัน เพราะแทนที่จะเป็นเขมรแตกสามัคคีกัน  ไทยเองกลับแตกแยกยิ่งกว่า “สามก๊ก” กลายเป็น “โป๊ยก๊ก” ดังนั้นบางส่วนก็เลย “หนีร้อนไปพึ่งเย็น”  ตกไปเป็น “ตัวประกัน” ของเขมรไปโดยอัตโนมัติ หรืออาจจะเป็นที่ลาวด้วยก็เป็นได้

ความเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในปีนี้ จะรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่

ถ้าใช้ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เป็นตัวไล่เรียงมา คำตอบน่าจะเป็น “ความรุนแรงไม่ลด” มีแต่ “เพิ่มขึ้น”  เพราะคนระดับ “ล่าง” เปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้เกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ  และคนหนึ่งอาจจะมีสองสามเครื่อง แปลว่าข้อมูลข่าวสารมันไหลถ่ายเทมากๆ คนระดับล่างหาใช่มวลชนที่ไร้จิตสำนึก หรือยอมสยบอีกต่อไปไม่  ข่าวสารข้อมูลที่เราๆท่านๆมี ที่เราๆท่านๆ ที่เป็นคนชั้นกลาง อยู่ในกรุง อยู่ในเมือง  หรือแม้แต่เรื่อง “ซุบซิบๆๆนินทาว่าร้าย” ก็ดูเหมือนว่าในระดับ “คนชั้นกลางระดับล่าง” หรือแม้แต่“คนชั้นล่าง” คนนอกเมือง คนในชนบท  ดูจะมีเหมือนๆกัน ดูจะเป็นความ “เสมอภาคเท่าเทียม”อย่างประหลาดๆๆ

แกนนำเสื้อแดง ประกาศต่อมวลชนไม่ต้องการให้ไปปะทะ  และต้องก้าวข้ามกลุ่มเสื้อเหลือง การเมืองขณะนี้ รู้หรือไม่ว่าใครเป็นศัตรูกับใคร

รู้ ผมคิดว่าวาระของคนเสื้อแดงเขาชัดเจน และส่วนหนึ่งเสื้อแดงก็มีอะไรแปลกใหม่น่าสนใจ คือมีผู้หญิง มาเป็นคนนำ โดยอาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มาเป็นแกนนำ ซึ่งในเวลาที่สังคมมีวิกฤต ผู้หญิงจะมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงถูกเลี้ยงมาให้มีความอดทน และมีสติปัญญาที่มั่นคงมากกว่าผู้ชายนะ ดูในจุฬา ในธรรมศาสตร์สิ ผู้หญิงสอบเข้าได้มากกว่าผู้ชายหลายช่วงตัว  นี่ยังไม่นับรวมเพศสามหรือเพศสี่  ผมคิดว่างั้น การที่อาจารย์ธิดามาเป็นแกนนำ เป็นความแปลกใหม่น่าสนใจติดตามดู อย่างน้อยมีน้ำใหม่มาในการเมืองที่มันเป็น “น้ำเน่า” ดักดานมาหลายทศวรรษ

แกนนำเสื้อแดงที่ยังอยู่ในคุก จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อรัฐบาลประชาธิปัตย์

ยิ่งเก็บไว้นาน ก็จะยิ่งเป็นผลเสียต่อรัฐบาล ต่อระบบยุติธรรม ถ้าพูดแฟร์ๆ ก็ควรจะให้เขาได้รับการประกันตัวออกไป เพราะอยู่ในคุกนานแบบนี้  มันทำให้ข้อกล่าวหาเรื่อง “สองมาตรฐาน” ยิ่งชัดขึ้น วันดีคืนดี ถ้าแม่ยก 50-100 คนบุกไปที่คุก คงจะเป็นภาพที่น่าวิตกและน่าสนใจอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้า เก็บ 7 ผู้นำแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เอาไว้  ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงมีประเด็นในการเคลื่อนไหวได้เยอะเลย  ขอให้ติดตามดูบทบาทของ “แม่ยก” ที่จะเรียกร้องให้ถอดโซ่ตรวนนักโทษไทย ขณะที่แม้ในกัมพูชา กรณีของคุณวีระ สมความคิด และคณะก็ยังไม่ถูกตีตรวน นี่เป็นภาพอัปลักษณ์อย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมไทย

จำได้ไหม หลัง 6 ตุลา 2519  เด็กๆนักศึกษาอย่างวิโรจน์ อย่างอภินันท์  อย่างสุธรรม ฯลฯ ก็ถูกล่ามโซ่ออกมาขึ้นคดีในศาล  สร้างความตกตะลึงงันไปทั่วโลก  เกือบ 40 ปีผ่านไป ไทยเราก็ยัง “ย่ำ” และ “อนารยะ” อยู่ “เหมือนเดิม” อย่างน่าพิศวง

หากเสื้อแดงยังชุมนุมหลังเลือกตั้ง จะกลายเป็นไม่ยอมรับระบบรัฐสภาหรือเปล่า

ถ้าไม่ปล่อยตัวณัฐวุฒิกับผู้ต้องหาแดงๆ  คนเสื้อแดงก็จะประท้วงต่อไป โดยจะยอมรับหรือไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็ตาม  การชุมนุมต่อไป  ทำได้  ไม่ขัดกันในวิธีคิดของเขา

ถ้าพรรคเพื่อไทย ถูกยุบพรรคอีก พรรคการเมืองของเสื้อแดงจะสูญพันธ์ไปหรือไม่

ถ้ามองโดยภาพใหญ่ ภาพรวมแล้ว เกมหลายเกมเล่นซ้ำไม่ได้ มันจืด มนุษย์ไม่เอา ทำซ้ำไม่ได้ ยุบพรรคอีกก็ไม่น่าได้  แต่ก็นั่นแหละอย่างที่ผมพูดไว้   อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะการเมืองบ้านเรา  ขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของคนเพียงไม่เกินห้าคนสิบคน  ดังนั้น  อะไรๆ ที่เราไม่คาดคิด  ก็เกิดขึ้นได้เสมอๆ  อย่างที่เห็นกันมาแล้วในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

แนวโน้มสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เราไปมองว่าสถานการณ์การเมืองไทยและสังคมไทยสถิต  นิ่งอยู่กับที่  ไม่มีความเปลี่ยนแปลง  แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมาก รอความเปลี่ยนแปลง ความไม่พอใจของคนจำนวนมาก จะจุดประเด็นได้ ตอนนี้น่าจะเรียกได้เป็น waiting game และเป็น “การเมืองตัวแทน” politics of nominees เสียมากกว่า “ตัวเอก ฉากเอก เวลาจริง” ยังไม่ถึง ยังไม่ออก

จะถึงขั้นก่อจลาจล เหมือนภาพที่เกิดในต่างประเทศหรือไม่

เป็นไปได้ เพราะสิ่งที่คนพูดถึง “กาลียุค” ก็เกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งโพธิรักษ์ เมื่อเริ่มการเคลื่อนไหวหลัง 7 คนถูกจับไม่นานนี้ ท่านก็ใช้คำว่ากาลียุค ดังนั้น เผลอๆ คนจำนวนมาก กำลัง “รอ” ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และอะไรจะเกิดขึ้น  จริงๆแล้ว “กาลียุค” ไม่ได้แปลว่า “สิ้นสุด”  แปลว่า “จบ” แปลว่า the end  แต่มีความหมายมากกว่านั้น คือ “ยุคใหม่ สมัยใหม่กำลังจะเกิดขึ้น”

ฉะนั้น จะต้องมีความปั่นป่วน มีจลาจล มีการเสียเลือดเนื้อ แล้วถึงจะมีสิ่งใหม่เกิด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดมาตั้งแต่สมัย “พระเวท” เป็นความเชื่อทางศาสนาฮินดู พราหมณ์ ที่เป็นศาสนาเก่าแก่และใหญ่ที่สุดศาสนาหนึ่ง

ในความเชื่อแบบนี้ ที่ก็แทรกเข้ามาในพุทธศาสนาด้วยนั้น  จะปรากฏอยู่ในตำนานของ “ศิวนาฏราช” ที่ทรงเริงระบำเต้นอยู่เหนือหน้าบันของปราสาทพนมรุ้ง  เหนือปราสาทพระวิหาร ที่พระอิศวรจะทรงทำลายล้าง บังเกิดมีเจ้าแม่กาลี (ปางหนึ่งของพระอุมา) ขึ้นมาเผด็จยุคเก่าสมัยเก่าให้สิ้นซากไป  แล้วเบื้องล่างตรงทับหลัง  พระนารายณ์อนันตศายิน  ก็จะบันดาลให้ดอกบัวผลุดออกมาจากพระนาภี จากสะดือ บานออกเผยให้เห็น “พระพรหม” ที่จะสร้างโลกใหม่สมัยใหม่ในบั้นปลาย.

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net