Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาสั่ง สตม. ปล่อยแรงงานพม่าเหยื่ออุบัติเหตุที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายทันที พร้อมจ่ายค่าเสียหายหลังถูกควบคุมตัว 16 วัน

 


"ชาลี" แรงงานชาวพม่า ผู้ป่วยหลังประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 54 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ถูกโรงพยาลแจ้งตำรวจจับ ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และส่งไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยถูกโซ่ล่ามไว้นั้น ล่าสุดได้รับการประสานให้ปลดโซ่แล้ว ล่าสุดเมื่อ 10 ก.พ. นายชาลียังคงถูกควบคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานแล้วว่าใบอนุญาตทำงานของเขา ไม่หมดอายุ (ที่มาของภาพ: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา) 

วันนี้ (15 ก.พ. 54) เวลา 15.00น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ทนายผู้ร้องคดีและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายชาลี ดีอยู่ ในฐานะพยาน ร้องต่อศาลให้มีคำสั่งปล่อยตัวนายชาลีทันที และเรียกร้องค่าเสียหายจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2554 โดยศาลได้สั่งให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลีทันที และจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท

นายชาลี ดีอยู่ อายุ 33ปี แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานจนบาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออกมาแขวนไว้นอกช่องท้อง และกระดูกสะโพกขวาหัก และนายจ้างทอดทิ้ง นายชาลีถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานีแจ้งจับและถูกนำไปควบคุมที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า มสพ. จึงร้องขอ สตม.จึง ได้ส่งตัวนายชาลีไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่นายชาลียังคงถูกควบคุมตัวไว้ในห้องคนไข้ที่เป็นห้องขัง ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียง จนองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)นายชาลีจึงได้รับการปลดโซ่ จากนั้น มสพ. ได้ตรวจสอบพบว่าใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ มสพ. จึงส่งหนังสือขอให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ถอนอายัดตัวนายชาลี แต่ไม่เป็นผล มสพ. ใน ฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายชาลี จึงร้องเรียนไปยังสภาทนายความ ต่อมาจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อมีคำสั่งปล่อยตัวดังกล่าว

นายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า "กรณีของชาลีแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บางคน ยังใช้อำนาจโดยมิชอบระหว่างการจับกุมและกักขัง โดยเฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ เสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีคนไทย หรือคนต่างชาติ เจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันให้ถี่ถ้วน”

นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า "กรณีนี้แสดงให้เห็นความบกพร่องของระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะระบบคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การรักษา และระบบกองทุนเงินทดแทน แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานยังไม่ได้รับการคุ้มครอง และตกหล่นจากระบบคุ้มครองของรัฐกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ที่โดยหลักแล้วต้องคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทย รัฐบาลยังปฏิเสธมิให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน แม้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติเรื่องแรงงานข้ามชาติ และผู้รายงานพิเศษเรื่องการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยได้ทักท้วงมาตลอด”

ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่ง ประเทศไทย (WEPT) ได้ริเริ่มตั้งกองทุน เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลนายชาลี จำนวน 70,000 บาท นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าวว่า "ใน เมื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข กองทุนเงินทดแทน ของกระทรวงแรงงาน และนายจ้าง ยังไม่มีใครรับผิดชอบค่ารักษาของนายชาลี กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานไม่อาจดูดายได้ จึงพยายามรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือนายชาลีต่อไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net