Skip to main content
sharethis

วานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554) เวลาประมาณ 8.30 น. ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ชั้น 8 มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบการจากทำเหมืองทั่วประเทศไทย 15 พื้นที่ กว่า 80 คนเข้าร่วมใน “เวทีเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ครั้งที่ 2” โดยมีจุดหมายเพื่อมาฟังแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งหารือปรึกษาถึงการขับเคลื่อนต่อสู้ต่อไปในอนาคต

ในช่วงเช้า เป็นการเล่าสู่กันฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบคือพื้นที่โครงการที่เปิดดำเนินกิจการทำเหมืองแล้ว หรือกำลังจะได้รับผลกระทบคือโครงการอยู่ในระหว่างคำขออนุญาตประทานบัตร (สัมปทาน) หรืออาชญาบัตร (สำรวจ) โดย สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ได้สรุปถึงเหตุความเดือดร้อนและชี้แจงข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมได้ว่า

“การมีเหมืองทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าทางทรัพยากรเปลี่ยนไป จากที่ชาวบ้านเข้าไปปลูกพืชในเขตป่าก็ถูกจับแต่ทำไมนายทุนเข้าไปทำเหมืองใน เขตป่าถึงไม่ถูกจับ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็สูญหาย เช่น ในพื้นที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ มีการขุดเจอซากดึกดำบรรพ์(ฟอลซิล)ของหอยขมน้ำจืดแหล่งใหญ่หลายสิบไร่ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการขุดนำถ่านหินมาใช้ต่อได้ จากพื้นที่โซน C (culture) แหล่งวัฒนธรรมแหล่งประวัติศาสตร์ ก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นโซน E (economic) แหล่งเศรษฐกิจได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งกรณีพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A สามารถกลายเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1B ได้

“ทำไมไม่เปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรมมาเป็นการท่องเที่ยว เพราะในหลายพื้นที่ที่ทำเหมืองหรือจะมีโครงการเหมืองเกิดขึ้นในอนาคตล้วนแต่ เป็นพื้นที่ที่สวยงาม อย่างเช่น พื้นที่โครงการเหมืองทองคำในเขตทิวเขาหินปูนในเขต 4 ตำบลของอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอดีต หรือพื้นที่เหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

“การทำเหมืองต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบอยู่แล้ว เพราะตามปกติธรรมชาติของสายแร่นั้นมักจะมีแร่หลายเกิดขึ้นควบคู่กันอยู่แล้ว เมื่อเราไม่ไปรบกวนแร่เหล่านั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบ แต่เมื่อเราไปขุดมันขึ้นมาแร่หลายชนิดที่เราไม่ต้องการและอันตรายก็จะกลาย เป็นผลพลอยได้นั่นเอง เช่น สายแร่ทองคำและดีบุกมักจะมีสารหนูต้นเหตุโรคมะเร็ง สายแร่สังกะสีมีสารแคดเมียมต้นเหตุของโรคอิไต-อิไต

“หรือแม้แต่ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงก็มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เพราะเมื่อถ่านหินถูกเผาก็จะปล่อยก๊าซกำมะถันออกมา ซ้ำร้ายเมื่อไปสัมผัสกับน้ำจะรวมตัวกลายเป็นกรดซัลฟูริกหรือฝนกรดที่ทำลาย สังกะสีมุงบ้านและพืชพรรณต้นไม้ แม้ว่าโครงการเหมืองแม่เมาะจะลงทุนสูงสร้างระบบควบคุมและป้องกันแล้วอย่างดี ก็ตามแต่ก็ยังหนีไม่พ้นปัญหานี้

“การฟื้นฟูเหมืองเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการถลุงหรือแต่งแร่ หรือแม้แต่ตะกอนของแร่ที่เป็นพิษนั้น การกำจัดที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการนำไปฝังกลบในบ่อขยะที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2 ที่ คือ สระบุรีและระยอง แต่การขนส่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงตันละ 5,000 บาท แล้วจะมีนายทุนที่ไหนมาเสียเงินมากมายกับขยะพิษเหล่านี้

“การมีเหมืองเราจะต้องมองให้ครบทุกมิติ มีเหมืองแร่ทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศลดลงรึเปล่า เราจะต้องรู้ว่าเรายืนอยู่ตรงไหนสามารถที่จะจัดการมันได้รึเปล่า มองทั้งผลดีและผลเสียว่าเราจะยืนคู่กับเหมืองได้หรือไม่ พวกนายทุนเขาจะดูแลเราดีจริงๆหรือ ”

 

ภาคบ่ายชาวบ้านได้ระดมความเห็นเสนอแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายต่อไปในอนาคต ซึ่งสรุปได้คือ
1. ผลักดันให้โครงการเหมืองทุกโครงการเป็นโครงการรุนแรง ตามของประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่ระบุว่าโครงการรุนแรงจะต้องผ่านขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้งต้องได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสียก่อน

2. ปรับปรุงและแก้ไขนโยบายและข้อกฎหมายที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยกับนายทุนจนกลายเป็นการรังแกชาวบ้าน

3. การมีส่วนร่วมของชุมชนที่สามารถเข้าไปร่วมในการตัดสินใจที่จะมีโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชนของตนหรือไม่

4. กำหนดขอบเขตระยะปลอดภัยของการทำเหมืองให้มากกว่าเดิม คือ 20 กิโลเมตร ด้วยระยะเดิมเพียง 5 กิโลเมตรนั้นไม่เพียงอีกต่อไปแล้ว อีกทั้งค่าชดเชยความเสียหายก็ต้องชัดเจน

5. อยากให้มีการหนุนเสริมความรู้ในด้านข้อมูล ทั้งข้อมูลการดำเนินการอนุญาตทำเหมือง ข้อผลเสียผลกระทบจากการทำเหมือง รวมถึงร้องขอนายทุนให้ชี้แจ้งข้อมูลที่เป็นจริงทั้งผลดีและผลเสียให้กับ ประชาชน รวมไปถึงการอบรมในเรื่องข้อกฎหมาย
6. หนุนเสริมกระบวนการขับเคลื่อน และส่งข่าวสารข้อมูลให้รู้ถึงกันภายในเครือข่ายอย่างรวดเร็ว

ทั้งตอนท้ายของเวที เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูป ให้แนวคิดถึงแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายว่า “เหมืองแร่ เราจะฝ่าฟันไปได้อย่างไรนั้นต้องลองคิดกัน ไม่ใช่ว่าเอะอะก็ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมันเป็นไปได้ยาก เราต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง ผมยังคิดว่าเราต้องพึ่งองค์กรภาคประชาชนของเราเองซึ่งมันยังอ่อน เราต้องสร้างความเข็มแข็งให้มากขึ้นกว่านี้ อีกทั้งต้องมีมิติทางด้านการศึกษาและวิเคราะห์ให้มากขึ้นเพื่อจะได้รู้ว่าดี ไม่ดีอย่างไร

“กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้เป็นที่พึ่ง อย่างเช่น กรณีแม่เมาะ เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าเราได้รับผลกระทบจริงๆ เป็นเรื่องยากในศาลเพราะศาลใช้ระบบกล่าวหาในการไต่สวน การวิเคราะห์ การตรวจสอบนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญ เราจึงต้องกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ในอนาคตว่าเราจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะแร่มันไม่ใช่ผักใช่ปลาที่จะเน่าเสียกันในวันสองวันนี้ เราจำเป็นที่จะต้องขุดแร่มาใช้จริงๆ หรือ และต้องสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ สร้างบุคลากรให้เข้าไปป้องกัน ควบคุม และตรวจสอบในอนาคต

“ถ้ากระบวนการตัดสินใจวางรากฐานจากความต้องการของประชาชน แม้ว่ามีปัญหาเราก็สามารถที่จะแก้ปัญหานั้นได้อย่างแน่นอน”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net