Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเตรียมยื่นเจรจา ฝ่ายการเมืองอีกรอบ ยันต้องสั่งระงับการก่อสร้าง เหตุทำคนเดือดร้อนกว่า 6,000 คน หลังผลเจรจารอบแรก ฝ่ายอุตสาหกรรมยืนกรานไม่มีสิทธิระงับ ทำได้เพียงลงตรวจสอบในพื้นที่ก่อนจัดตั้งกรรมการแก้ปัญหา

สืบเนื่องจากกรณีที่เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล อันประกอบด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย บริษัท จัสมิน กรีน เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นเนอร์จี จำกัด บ้านน้อยสนาม ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ บริษัท สหโคเจนกรีน จำกัด สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ บ้านหนองปลาขอ ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน บริษัท โรงไฟฟ้าบ้านตาก จำกัด บ้านวังไม้สร้าง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแกจำกัด บ้านทุ่งยาว ต.ห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้ยกเลิกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า และเร่งแก้ไขปัญหาการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส การข่มขู่เอาชีวิตแกนนำชาวบ้าน การปะทะกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง และการแย่งชิงน้ำกับประชาชน แต่ไม่สามารถรอคำตอบได้เนื่องจากบริษัทได้เร่งดำเนินงานโดยไม่สนใจการคัด ค้านของชาวบ้าน จึงต้องเข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P Move) เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยปักหลักชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

ล่าสุด เวลา 16.00 น. ของวันนี้ (17 ก.พ.53) รัฐบาลได้เปิดเวทีเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้เดือดร้อนจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการพูดคุยก่อนจะแยกกลุ่มคุยตามประเด็นความ เดือดร้อน ซึ่งในประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวลมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมเจรจา โดยใช้เวลาในการเจรจาร่วม 4 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

น.ส.สดใส สร่างโศรก ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบริษัทโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวภายหลังการเจรจาว่า ข้อเสนอในการเจรจาของเครือข่ายฯ คือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอาไว้ก่อน และขอให้มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางเพื่อตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไข ปัญหา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้คำตอบว่าจะลงไปตรวจสอบ พื้นที่ภายใน 2 อาทิตย์ แต่ทางเครือข่ายขอให้ดำเนินการภายใน 1 อาทิตย์

น.ส.สดใส กล่าวว่า ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการ ทางกรมโรงงานฯ ยืนยันว่าไม่สามารถตั้งได้จนกว่าจะมีการลงตรวจสอบในพื้นที่ ส่วนการระงับการก่อสร้างนั้น ทางกรมโรงงานฯ ยืนกรานว่าไม่สามารถทำได้ ทำให้ทางเครือข่ายตัดสินใจดำเนินการยื่นเรื่องขอคุยกับนายกฯ อีกครั้งเพื่อให้ฝ่ายการเมืองมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้ก่อน เนื่องจากตอนนี้มีประชาชนกว่า 6,000 คน ใน 6 จังหวัด กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net