Skip to main content
sharethis

ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ดินทำกินอยู่อาศัย-คนจน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณพระบรมรูปทรงม้าเป็นวันที่ 2 ยื่น 7 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ ด้านนายกฯ-เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง รับสั่งการต่อ 22 กรณี ส่วนประเด็นเร่งด่วน อาทิ เปิดเขื่อนปากมูล จะนำเข้า ครม. 22 ก.พ.นี้

วันนี้ (17ก.พ.54) กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยและคนจนทั่วประเทศ ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” อันประกอบด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คป.สม.) ได้ปักหลักชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นวันที่ 2 เพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา

ในเวลา14.00 น. ตัวแทนจากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แถลงข่าวระบุข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ เช่น กรณีที่มีมติการแก้ไขปัญหาในระดับอนุกรรมการให้นำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะ รัฐมนตรีเพื่อให้มีมติภายในวันที่ 22 ก.พ.54 กรณีเรื่องโฉนดชุมชนซึ่งล่าช้าเนื่องจากติดขัดด้วยข้อกฎหมายและระเบียบของ หน่วยงานต่างๆ ให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน กรณีคดีความคนจนเรื่องที่ดิน ทรัพยากร และการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง และระงับการบังคับคดี อีกทั้งกรณีเร่งด่วนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยยังไม่มีข้อยุติ รัฐบาลต้องเปิดให้มีการเจรจาเป็นรายกรณีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด

จากนั้นเวลาประมาณ 16.00 น.ตัวแทน 56 คนจากกลุ่มปัญหาต่างๆ ในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เดินทางไปร่วมเจรจากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ผลการเจรจาในเบื้องต้น มีข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาว่า จากกรณีที่ให้มีการสั่งการทันที 22 กรณี ที่คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหามีข้อยุติแล้ว จะมีการสั่งการให้ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการฯ สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 6 กรณีเพื่อขอให้มีมติ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เช่น กรณีเปิดเขื่อนปากมูล 5 ปี พร้อมเงินชดเชยกว่า 600 ล้านบาท และกรณีการจัดทำกองทุนหมุนเวียนในการจัดการที่ดินในการจัดตั้งโฉนดชุมชน ส่วนข้อเสนอในเรื่องการคุ้มครองสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินทำกินเดิม โดยไม่มีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม จนกว่ากระบวนการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อนำไปดำเนินการต่อ

สำหรับเรื่องโฉนดชุมชน มีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ (1) ชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)35 ชุมชน ให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่เพื่อจัดทำโฉนดชุมชน (2) ชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบให้เร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของ ปจช. (3) ชุมชนที่ยื่นเอกสาร และมีการตรวจสอบเอกสารแล้ว ให้ถือว่าเป็นชุมชนที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยทำกินได้ โดยอยู่ภายใต้มติองค์กรชุมชน และมี ครม.รับรอง ให้เข้าครม.วันที่ 22 ก.พ.54 (4) ปรับแก้ระเบียบสำนักนายกที่เป็นอุปสรรค พร้อมไปกับการจัดทำ พ.ร.บ.โฉนดชุมชน และจะมีการทำ MOU ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ปจช.ว่าจะไม่มีการข่มขู่คุกคาม หรือดำเนินคดี (5) คดีความทางอาญา ให้มีมติ ครม.ผ่อนผันให้สามารถทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ และให้มีมติ ครม.ยกเลิกอำนาจทางปกครองในการดำเนินคดีและบังคับคดีเรียกค่าเสียหายในทาง แพ่ง (คดีฟ้องร้องเรื่องโลกร้อน) (6) ให้รัฐฯ นำร่องโดยสนับสนุน “กองทุนหมุนเวียนในการจัดการที่ดิน” ในการจัดตั้งโฉนดชุมชน

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมทั้งหมด 7 ข้อ ที่ประชุมรับข้อเสนอทั้งหมด โดยในการเจรจานายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า นโยบายโฉนดชุมชนมีปัญหาอุปสรรค์ในการบังคับใช้ ซึ่งหากหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องต่างๆ พบปัญหาขอให้รายงานมาเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำไปแก้ไข อีกทั้งให้คณะกรรมการกลุ่มย่อยที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ เร่งจัดทำข้อสรุปของแต่ละกลุ่มเพื่อนำเข้า ครม.ร่วมทั้งเรื่องที่ต้องการให้มีการสั่งการจากฝ่ายนโยบายเพื่อการแก้ไข ปัญหา

อย่างไรก็ตาม จากการเจรจามีหลายกรณีที่ยังไม่มีความคืบหน้า เช่น กรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ที่ดินสาธารณะประโยชน์ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย และกรณีที่ดินทำกินบนหาดราไวย์ของชาวเลซึ่งถูกนายทุนอ้างสิทธิถือครองตาม เอกสารสิทธิ์ โดยที่หลายกรณีมีการนัดพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในสัปดาห์ หน้า

 

กรอบหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหา
ของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
เสนอต่อ
ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

--------------------------

1. หลักการในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดถือหลักการสิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ยอมรับว่าเกษตรกรรายย่อยและคนจนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงที่ดิน โดยชุมชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินของชุมชนได้ตามปกติสุข มีสิทธิได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ ตลอดจนสิทธิในการได้รับการบริการ ส่งเสริมสนับสนุนและการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

2. เรื่องที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานเหล่านั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติแล้ว ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามในทันที

ในกรณีที่ปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดของหน่วยงานหรือกระบวนการแก้ไขปัญหา หยุดชะงัก ก็ให้รัฐบาลเร่งรัดสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๗ วัน

3. เรื่องที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา และคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานเหล่านั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติแล้ว และมีความจำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็ให้รัฐบาลดำเนินการนำเข้าสู่ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

4. เรื่องการดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายก ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการด้วนความล่าช้า อันเกิดจากการติดขัดกับกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม จึงขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการ ดังต่อไปนี้

๔.๑ ชุมชนที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบ ของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้ว จำนวน ๓๕ ชุมชน ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการภายใต้หลักการโฉนดชุมชนตามมติคณะกรรมการฯ (ปจช.)
๔.๒ ชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่ มีมติเห็นชอบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน และมีความพร้อมในการดำเนินงานโฉนดชุมชนแล้ว ให้เร่งรัดนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.)
๔.๓ ชุมชนซึ่งได้ยื่นคำขอเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ต่อสำนักงานโฉนดชุมชนและสำนักงานฯได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของ เอกสารแล้ว ให้ถือว่าเป็นชุมชนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยทำกินและสามารถ ดำเนินการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพตามปกติสุข และให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
๔.๔ให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกฯที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการ ดำเนินงานโฉนดชุมชนฯควบคู่ไปกับการพัฒนายกระดับให้เป็นพระราชบัญญัติโฉนด ชุมชน ในระหว่างที่พระราชบัญญัติยังไม่มีผลบังคับใช้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปรับปรุง กฎระเบียบ หรือแนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๓

5. กรณีคดีคนจน เรื่องที่ดินทรัพยากร และการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

๕.๑ คดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสั่งไม่ฟ้อง
๕.๒ คดีที่อยู่ในชั้นอัยการ ให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง และถอนฟ้อง
๕.๓ คดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล ให้รัฐบาลทำความเห็นแถลงต่อศาลยุติธรรม โดยใช้เหตุผลว่าคดีเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือให้ถอนฟ้อง หรือให้ยกฟ้อง
๕.๔ คดีที่อยู่ในขั้นของการบังคับคดี กรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นโจทก์ ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยุติ หรือยกเลิก การบังคับคดี
๕.๕ กรณีที่ชาวบ้านถูกคุมขังโดยคำพิพากษาของศาล ให้เร่งดำเนินการขอการพักโทษ หรือการอภัยโทษ โดยเร่งด่วน

6. ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ทรัพยากร และสิทธิการชุมนุมเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์การได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ ที่นำมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อกัน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งให้ศาลใช้วิธีการเดินเผชิญสืบในพื้นที่พิพาท โดยต้องให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานอื่น เช่น หลักฐานทางสังคมมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ชุมชนฯลฯ เพื่อให้คนจนเข้าถึงกระบวนการพิจารณาคดีและได้รับความเป็นธรรม ในการต่อสู้ทางคดีมากขึ้น

7. กรณีปัญหาของเครือข่ายที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลและยังไม่มีข้อ ยุติ รวมทั้งกรณีเร่งด่วน (ตามเอกสารแนบ) รัฐบาลต้องจัดให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเปิดการเจรจาเป็นรายกรณีกับรัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net